คมดาบซากุระ 2 : ทักษิณ VS รักไทย : วิพากษ์การศึกษาปรองดอง โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (28 มีนาคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ทักษิณ VS รักไทย : วิพากษ์การศึกษาปรองดอง โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (28 มีนาคม 2555)


ทักษิณ VS รักไทย : วิพากษ์การศึกษาปรองดอง

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

28 มีนาคม 2555

 



ธีรยุทธบอกขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับรากหญ้า


วุฒิสารก็บอกว่าเป็นปัญหาการมองประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน



แต่ที่แน่ๆ คือหาเหตุผลมาสนับสนุนได้ยาก เพราะเป็นการ “หักดิบความจริง”



ข้อเสนอเรื่องการปรองดองที่กลายเป็นประเด็นสร้างความแตกแยกแทนที่จะสร้างความปรองดองนั้นมีที่มาจากรายงานการศึกษา “โครงการวิจัยสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ที่สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดำเนินการ หากจะวิพากษ์ข้อเสนออันเป็นผลก็ควรจะเริ่มที่เหตุคือ ระเบียบวิธีวิจัยอันเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอพิลึกพิลั่นดังกล่าว



โจทย์หรือวัตถุประสงค์ของการศึกษามี 4 ข้อคือ (1) ประมวลและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคม สาเหตุ การจัดการและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (2) ศึกษาเปรียบเทียบประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองที่ประสบความสำเร็จของต่างประเทศ (3) ศึกษาปัจจัยในการเสริมสร้างความปรองดองในบริบทต่างๆ และ (4) จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ



ในขณะที่ได้กำหนดขอบเขตว่าจะศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของไทยในอดีตตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ภาพ 1-1 ที่ปรากฏในที่นี้คือกระบวนการศึกษา



แนวคิดในการศึกษาตั้งอยู่บนกรอบที่ว่า ความขัดแย้งภายในรัฐที่ยืดเยื้อและรุนแรงถึงขั้นสูญเสียชีวิตแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ (1) ความขัดแย้งที่มุ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือโครงสร้างอำนาจรัฐอันเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน (2) ความขัดแย้งที่มุ่งเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองหรือจัดสรรผลประโยชน์ อันเนื่องมาจากกลุ่มอำนาจหรือผลประโยชน์ขัดแย้งกัน และ (3) ความขัดแย้งที่มุ่งแยกตัวเป็นอิสระ อันเนื่องมาจากอัตลักษณ์หรือชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน



ดังนั้นจากกรอบแนวคิดของคณะผู้วิจัยข้างต้นจึงเป็นกล่องที่ 1 จากซ้ายบนแถวแรกของภาพที่ 1-1 ที่จะทำพร้อมไปกับการศึกษาความขัดแย้งของไทย (กล่องที่ 3 จากซ้าย) เพื่อให้ทราบข้อมูล เช่น ใครขัดแย้งกับใคร ในเรื่องอะไร และจะอาศัยการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาจากต่างประเทศตามกล่องที่ 2 เพื่อจัดทำตัวแบบเบื้องต้น นี่คือระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษานี้



ประเด็นที่มีความผิดพลาดมากที่สุดก็คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของไทยที่ละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างเอกชนคือทักษิณกับรัฐไทย มิได้มีพื้นฐานอยู่ในกรอบแนวคิดทั้ง 3 ข้อหรือเป็นปัญหาการมองประชาธิปไตยที่แตกต่างกันตามที่กล่าวอ้างมาแต่อย่างใด



เหตุก็คือ ก่อนการปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย. 49 ทักษิณที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ มีปัญหาอะไร ทำไมจึงเลือกยุบสภาหนีการอภิปรายทั้งที่มีเสียงมากมายท่วมท้นในสภา มิใช่เรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับการไม่ยอมเสียภาษีจากการขายกิจการสื่อสารที่ถูกพิสูจน์โดยคำพิพากษาของศาลฯ ในเวลาต่อมาว่าเป็นของเขาและเมีย ไม่เคยเป็นของใครเลยไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดตั้งแต่รับสัมปทานจากรัฐหรือที่รู้จักในคดี “ซุกหุ้น” มิใช่หรือ? คนเสื้อเหลืองที่ชุมนุมอยู่ที่สนามหลวงขัดแย้งกับทักษิณตามกรอบแนวคิดทั้ง 3 ข้อข้างต้นตรงที่ใด? มีคนเสื้อแดงแล้วหรือยัง? ฝ่ายค้านในขณะนั้นใช้วิธีการนอกสภาเพื่อล้มล้างรัฐบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐหรือไม่?



คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานก็ได้ให้ความเห็นในรายงานว่า สาเหตุของความขัดแย้งจนนำซึ่งความรุนแรงในปี พ.ศ. 2553 มิได้เกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่เป็นผลของการกระทำและเหตุการณ์ต่อเนื่องหลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน (ข้อ 5.8 หน้า 17)



จากการลำดับเหตุการณ์ คอป.ชี้ว่า รากเหง้าของปัญหาส่วนหนึ่ง (ที่น่าจะเป็นหลัก . . .ผู้เขียน) มาจากการละเมิดหลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมอันเกิดจากกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2547 ในคดี “ซุกหุ้น” ที่ พ.ต.อ.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ม. 295 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ในขณะนั้น) จำนวน 2 คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ลงไปวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีทั้งที่เป็นหน้าที่ที่ผู้เป็นตุลาการต้องปฏิบัติ มิหนำซ้ำยังเอา 2 เสียงนี้ไปรวมกับอีก 6 เสียงเพื่อเป็นเสียงข้างมาก (8 ต่อ 7) ชี้ขาดว่าทักษิณมิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา



นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมเกิดความสงสัยเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมของประเทศ และที่ผ่านมารัฐบาลไม่ว่าชุดใดก็ละเลยไม่เข้าไปตรวจสอบถึงรากเหง้าความไม่ชอบมาพากลในเรื่องการวินิจฉัยในคดีนี้ที่เป็นการ “บิดเบือนหรือหักดิบ” กฎหมาย (ข้อ 5.9 หน้า 18-19)



การเลือกกรณีศึกษาในต่างประเทศตามกล่องที่ 2 ดูแล้วเท่ห์แต่กิน (ใช้)ไม่ได้เพราะทั้ง 10 กรณีที่เลือกมาไม่เข้ากับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เกิดระหว่างทักษิณกับรัฐไทยเลย เพราะทั้งหมดล้วนมิใช่เป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับรัฐแต่อย่างใด (ดูจากตารางเปรียบเทียบการสร้างความปรองดองจากกรณีศึกษา 10 ประเทศ) จะให้ทำเหมือนเขาได้อย่างไร



ผลก็คือข้อมูลที่จะนำมาจัดทำตัวแบบเบื้องต้นตามที่ปรากฏในกล่องที่ 2 จากซ้ายในแถวที่ 2 จึงได้มาอย่างไม่ถูกต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เป็นการ “หักดิบความจริง” อย่างน่าละอาย



ความผิดพลาดที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เกณฑ์การคัดเลือก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” เพื่อมาสัมภาษณ์ตามเทคนิคเดลฟายตามกระบวนการที่แสดงโดยกล่องต่างๆ ที่เรียงลำดับลงไปที่มิได้มีเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยกล่าวแต่เพียงว่าจะประกอบไปด้วยคน 4 กลุ่มคือ (1) นักการเมืองอาวุโส (2) ผู้มีบทบาทนำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ (3) ผู้มีบทบาทเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความปรองดอง และ (4) ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลก็คือไม่ว่าจะเลือกใครมาให้สัมภาษณ์ก็ใช้ได้หมดซึ่งเท่ากับไม่มีหลักเกณฑ์เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดเป็นเพียงใช้อัตตาของคณะผู้วิจัยเองเท่านั้น



การไม่ปรากฏรายชื่อและประเด็นคำตอบของ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ทั้งในรายงานและในการแถลงผลการวิจัยทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่ทำก็จะเหมือนดึงกระต่ายออกจากกล่องวิเศษของนักเล่นกลมิใช่งานวิจัยแต่อย่างใด การไม่ระบุว่าเป็นแนวคิดของ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ใดในช่วงการสัมภาษณ์อาจทำได้แต่เมื่อทำเสร็จแล้วนำมาเขียนเป็นรายงานต่างหากที่ต้องเปิดเผย



ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ปรากฏตามการเปิดเผยในภายหลังจากทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และจากบุคคลที่ได้รับการทาบทามให้เป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิ” สนับสนุนว่าไม่มีหลักเกณฑ์เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดเป็นเพียงใช้อัตตาของคณะผู้วิจัยเองเท่านั้นและยังเป็นการเลือกสัมภาษณ์อย่างไม่สอดคล้องถูกต้องกับข้อเท็จจริง



การไปสัมภาษณ์ผู้ที่ต้องโทษที่หนีคดีไม่ยอมมารับโทษ เช่น ทักษิณ นอกจากจะหมิ่นเหม่ขัดจรรยาบรรณของนักวิจัยแล้วจะได้ข้อเท็จจริงทัศนคติหรือมุมมองอะไรขึ้นมานอกจาก “ความอยุติธรรม” ที่เขาได้รับและใครๆ ก็สามารถคาดเดาได้ก่อนใช่หรือไม่ว่าข้อเรียกร้องเพื่อการปรองดองจะเป็นอะไร หรือตามขอบเขตการวิจัยที่กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เรามีนักโทษที่กระทำผิดต่อรัฐแบบทักษิณมากเท่าใด มีเหตุผลใดทำไมจึงไม่ตามไปสัมภาษณ์หรือเรียกว่าเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิ” เช่นเดียวกัน



ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเมื่อระเบียบวิธีวิจัยไม่ถูกต้อง ผลที่ได้ก็ไม่ถูกต้องไปด้วย ข้อสรุป ข้อวิเคราะห์ และข้อเสนอทั้งหลายจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าถูกต้องทางวิชาการมากน้อยเพียงใดอันเนื่องมาจากการขาดพื้นฐานรองรับ



เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากว่าทำไมคณะผู้วิจัยจึงมองไม่ออกวิเคราะห์ไม่ได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เช่น ระหว่างเสื้อแดงกับรัฐ หรือรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากมีที่มาจากการรัฐประหาร หรือแม้แต่ประเด็นเรื่อง ม. 112 ต่างล้วนเป็นความขัดแย้งจอมปลอมที่ทักษิณสร้างขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น หาพวก และอาศัยความขัดแย้งดังกล่าวมาหาทางแก้ไขความผิดของตนเอง เพราะหากเอาความขัดแย้งของตนเองมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสังคมก็จะไม่ได้รับความสนใจเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว คณะผู้วิจัยไม่สงสัยบ้างหรือว่าทำไมทุกครั้งที่เครือญาติทักษิณได้เป็นนายกฯ เหล่าคนเสื้อแดงจึงไม่ก่อความรุนแรงและทำไมในทางกลับกันคนกลุ่มอื่นๆ จึงไม่ก่อความรุนแรงบ้างทั้งๆ ที่ได้รัฐบาล “ตัวแทน” มาโดยตลอด



คณะผู้วิจัยน่ารู้แก่ใจไม่มากก็น้อยว่า การไปรับงานวิจัยนี้มาจากคณะกรรมาธิการฯ ก็หมายความว่าต้องทำรายงานกลับไปให้ ดังนั้นจะให้เขาใช้เกณฑ์อะไรในการรับหรือไม่รับถ้าไม่ใช่มติเสียงข้างมากเพราะการใช้ความเห็นร่วมกันก็หมายความว่าหากมีคนไม่เห็นด้วยเพียงเสียงเดียวงานคุณก็ไม่เสร็จ ผลการวิจัยที่ได้จึงเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา การออกมาแถลงในภายหลังไม่ยอมให้นำผลการวิจัยไปอ้างอิงจึงไม่เข้าท่าสักเท่าไร



เมื่อกล้าทำข้อเสนอให้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมถึงขั้นนิรโทษกรรมให้ผู้ร้ายอย่างไม่มีพื้นฐานอะไรมารองรับแล้ว จะมาออกตัวภายหลังนั้นดูช่าง “ใจไม่ด้านพอ” จริงๆ (ยังมีต่อ)




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้