คมดาบซากุระ 2 : เสื้อแดงได้อะไร ? โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (8 กุมภาพันธ์ 2555)

คมดาบซากุระ 2 : เสื้อแดงได้อะไร ? โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (8 กุมภาพันธ์ 2555)

 
เสื้อแดงได้อะไร ?

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

8 กุมภาพันธ์ 2555





เสรีภาพและความเท่าเทียมกันคือ “จน” เหมือนเดิม
ความกินดีอยู่ดีก็เมื่อเอาคนในครอบครัวไป “ตาย” เท่านั้น



ฝ่ายซ้ายในสังคมทั่วไปน่าจะหมายถึงพวกหัวก้าวหน้าที่มีอุดมการณ์สนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคมเป็นลักษณะสำคัญ แต่ฝ่ายซ้ายของไทยที่เข้าร่วมกับทักษิณนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2549 ในช่วงทักษิณครองอำนาจโดยตรง และช่วงที่อาศัยตัวแทนเข้ามาครองอำนาจตั้งแต่รัฐบาล “ตัวแทน” เช่นสมัครและสมชาย จนถึงรัฐบาล “หุ่นโชว์” ในปัจจุบันกลับไม่สามารถที่จะทำให้สังคมมีเสรีภาพและความเท่าเทียมตามอุดมการณ์ที่โพนทะนาได้แม้แต่น้อย

อาจสามารถแบ่งฝ่ายซ้ายไทยเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ “ซ้ายแก้แค้น” ที่ไม่สามารถก้าวข้ามความสูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ ยินดีและยินยอมร่วมงานกับนายทุนผูกขาดที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามที่ตนเองเคยต่อต้านเช่นทักษิณเพียงเพื่อการแก้แค้นกับ “บุคคล” ที่ตนเองมีความเชื่อว่ามีส่วนรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ยอมละอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายที่ตนเองเคยยึดถือมาก่อนเสียโดยสิ้น



ในส่วนที่สองคือ “ซ้ายฉวยโอกาส” ที่เป็นนักฉวยโอกาสยืมเอาอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายเอาเสื้อสีแดงมาคลุมอำพรางความต้องการของตนเอง ดังจะเห็นได้จากความร่ำรวย มั่งคั่ง และการตอบแทนที่เกิดกับบุคคลเหล่านี้ในทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวปลุกระดมคนเสื้อแดงที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มมวลชนที่แกนนำฝ่ายซ้ายได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานการเมือง



นอกเหนือไปจากทั้งสองกลุ่มนี้แล้ว อาจจัดกลุ่มนิติราษฎร์เป็น “ซ้ายไร้เดียงสา” ที่อาจถือได้ว่าใกล้เคียงกับฝ่ายซ้ายที่แท้จริงมากที่สุด แต่ด้วยพฤติกรรมการเคลื่อนไหวทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเช่นทักษิณโดยอ้างความเห็นทางวิชาการเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ต้องกลายเป็นเบี้ยให้ “ซ้ายแก้แค้น” ได้ใช้เป็นเครื่องมือปลูกฝังความแค้นที่ตนมีเพื่อสืบทอดต่อไป และ “ซ้าย” ไม่ว่ากลุ่มใดก็ถูกนายทุนผูกขาดใช้เป็นเครื่องมืออีกทอดหนึ่ง



สังคมจะมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันขึ้นมาได้อย่างไรจากที่กลุ่มนิติราษฎร์เขียนโต้แย้งศาลเรื่องการยึดทรัพย์ของผู้ที่อาศัยการผูกขาด ฉ้อฉล ปกปิดข้อมูลการผูกขาดเพื่อโกงเงินประชาชนมาอย่างชัดเจน หรือการเสนอแก้ไข ม. 112 ที่เป็นประเด็นแตกหักไม่มีหนทางประนีประนอม หรือการแก้รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่โดยอ้างว่ามาจากรัฐประหารทั้งที่เป็นฉบับเดียวได้รับอนุมัติจากประชาชนโดยตรง มันถูกที่ถูกเวลาถูกหลักการและมีจริยธรรมทางวิชาการแล้วหรือ

ปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันมิใช่อยู่ที่ที่ไม่มีประชาธิปไตยอันเนื่องจากเผด็จการทหารเหมือนเมื่อ 40-50 ปีก่อน หากแต่เป็นเผด็จการรัฐสภาโดยนักการเมืองที่เป็นพลเรือนที่อาศัยเปลือกนอกของประชาธิปไตยด้วย “การเลือกตั้ง” แต่เพียงประการเดียวเป็นพิธีกรรมมาสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจและผูกขาดอำนาจนั้นโดยนายทุนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง



พรรคการเมืองต่างหากที่เป็นปัญหาของประเทศ ในขณะที่เผด็จการทหารกลับกลายเป็นอำนาจฝ่ายหนึ่งที่ต้านอำนาจการผูกขาดของนายทุนอยู่ในปัจจุบัน ข้อเสนออย่างไร้เดียงสาของนิติราษฎร์ในการเอาอำนาจฝ่ายการเมืองมาอยู่เหนือฝ่ายทหาร แม้ในหลักการดูแล้วถูกต้องแต่ก็ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วยว่าอำนาจปวงชนที่ฝ่ายการเมืองชอบอ้างนั้นมีที่มาและนำไปใช้อย่างถูกต้องมากน้อยเพียงใด ส.ส.มีอิสระในการตัดสินใจมากน้อยเพียงใดจากมติพรรคการเมืองที่ถูกบังคับให้สังกัดอยู่ สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอจึงไม่ได้มุ่งไปที่ปัญหาของประเทศแต่อย่างใด



คนเสื้อแดงไม่สงสัยบ้างหรือว่ารัฐมนตรีในรัฐบาล “หุ่นโชว์” ทำไมจึงมีมากหน้าหลายตาที่มีภูมิหลังเป็นนายทุนน้อยใหญ่ เช่น นางนลินี นายบุญทรง นายกิตติรัตน์ หรืออีกหลายคนที่ไม่เคยเห็นยืนบนเวทีเวลาไปชุมนุมทั้งที่ ราชดำเนิน ราชประสงค์ หรือในอีกหลายๆ ที่ พวกเขามีดีอะไรนักหนาหรือจึงได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรี ทำไม เหวง จึงไม่ได้เป็น หรือ เต้น จึงได้เป็นแค่รัฐมนตรีช่วยฯที่ต้อง “เต้น” ตามแต่เขาจะมอบหมายงานให้ แล้วพรรคเพื่อไทยทำไมจึงเป็นของทักษิณและเป็นเจ้าของ ส.ส.ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงเป็นคนเลือก ส.ส.มิใช่หรือ



ในช่วงที่โอกาสเปิดให้ฝ่ายซ้ายสามารถเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี พ.ศ. 2544-2549 ที่ทักษิณเป็นนายกฯ ก็ไม่เห็นมีกฎหมายที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำจากการผูกขาดของนายทุน เช่น กฎหมายปฏิรูปที่ดินหรือการปฏิรูประบบภาษี แต่ฝ่ายซ้ายทั้งหลายกลับไปสนับสนุนโดยนิ่งเฉยไม่คัดค้านนโยบายเกี่ยวกับการผูกขาดให้มีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าฯ CEO ที่รวบอำนาจในท้องถิ่น หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท.และการไฟฟ้าฯ ให้ไปอยู่ในมือของนายทุนมากขึ้น



งบประมาณประจำปีกว่า 2 ล้านล้านบาททำไมต้องให้รัฐบาลที่กรุงเทพฯ โดย “อำมาตย์” ที่เป็นรัฐมนตรีตัดสินใจว่าจะจ่ายให้ใครและอย่างไร ทำไมไม่แบ่งสักครึ่งหนึ่งไปให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดโครงการที่อยากทำและเบิกจ่ายกันเอง การกระจายอำนาจทั้งงานและเงินมันไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน ไม่เท่าเทียมกันตรงไหน ไม่เห็นแกนนำเสื้อแดงเขาเสนอให้ทำเลย



เช่นเดียวกับในรัฐบาล “หุ่นโชว์” นโยบายต่างๆ ที่ได้นำเสนอออกมาก็เพื่อจะให้ได้รับการเลือกตั้งเท่านั้น มิได้มีความตั้งใจว่าจะนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากนโยบายขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทก็บ่ายเบี่ยง ในขณะที่การขึ้นเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทก็เกิดขึ้นเฉพาะภาครัฐเท่านั้นและไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนแต่อย่างใด บ้านหลังแรกหรือรถคันแรกก็ทำได้อย่างจำกัด การประกันราคาข้าวในราคาที่หาเสียงเอาไว้ก็ไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม



ในทางตรงกันข้าม การออก พ.ร.ก. 4 ฉบับ กลับจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับประชาชนทั่วไปรวมถึงคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินได้หรือไม่ ซึ่งน่าจะไม่ได้มากกว่าเพราะพื้นฐานสำคัญของการจัดการน้ำตามที่นายกฯ “หุ่นโชว์” บอกก็เพื่อมิให้กระทบโรงงานของนายทุน เนื่องจากห่วงการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมากกว่าจะคำนึงถึงพื้นที่อยู่อาศัยหรือเพาะปลูกของเกษตรกร



คนเสื้อแดง 15 ล้านคนที่แกนนำฝ่ายซ้ายอ้างอยู่เสมอว่าเป็นผู้สนับสนุนจะได้อะไรขึ้นมา หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่าทำไมประเทศ เช่น ประเทศในแถบละตินอเมริกาในอดีต หรือกรีซในปัจจุบัน จึงประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างแสนสาหัส เหตุก็เพราะการใช้จ่ายเงินเกินตัวของรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยเลือกที่จะกู้มากกว่าขึ้นภาษีเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในโครงการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม หากแต่เป็นโครงการประชานิยมที่สามารถนำมาหาเสียงกับประชาชนได้ดี เพราะเป็นการเหวี่ยง “เงิน” ไปตาม “พื้นที่ทางการเมือง” มากกว่าที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม



ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน กองทุนสตรี ประชาชนและคนเสื้อแดงควรถามตัวเองอย่างไม่ลำเอียงว่า ตนเอง ครอบครัว และสังคมที่ตนเองอยู่ได้อะไรขึ้นมาจากการเหวี่ยง “เงิน” ในลักษณะนี้



คนเสื้อแดงอาจคิดในใจว่าตนเองเป็นพวก “รากหญ้า” มีรายได้น้อย ไม่เคยเสียภาษี และขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน การมีโครงการประชานิยมอย่างน้อยก็ทำให้ตนเองและครอบครัวได้มากกว่าการไม่มีโครงการดังกล่าว แต่คนเสื้อแดงจะรู้หรือไม่ว่าเงินที่มาดำเนินโครงการประชานิยมต่างๆ นั้นไม่ได้เป็นเงินของทักษิณ ไม่ได้ลอยมาจากฟ้า ไม่สามารถเสกขึ้นมาได้



ดังนั้นเมื่อไม่ใช่เงิน “กู” หากแต่เป็นเงิน “กู้” เมื่อกู้มาก็ต้องใช้คืน หากไม่มีจะใช้คืนเขาก็ไม่ให้กู้ต่อ แล้วเงินกู้กองทุนหมู่บ้านที่ตนเองยังไม่ใช้คืนเลยนั้นก็ต้องมีคนใช้คืนแทนอย่างแน่นอน หากคนเสื้อแดงได้ประโยชน์และไม่เสียภาษีแล้วจะให้ใครเสียภาษีแทน จะบอกว่าใครก็ได้แต่ไม่ใช่ข้าก็แล้วกันก็คิดได้ แต่ต่อไปก็จะไม่มีใครยอมจ่ายภาษี แล้วรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาใช้คืนเงินกู้



สำหรับคนเสื้อแดง นโยบายการเก็บภาษีให้มากขึ้นจะเป็นประโยชน์มากกว่าการไปกู้ ทำไมรัฐบาลที่บอกว่ามาจากคนเสื้อแดงนี้จึงเลือกวิธีที่ทำร้ายคนเสื้อแดงโดยการกู้แทนเก็บภาษี



ปัญหานี้จึงมิใช่ปัญหาของคนอื่น หากแต่เป็นของคนไทยทุกคนรวมถึงคนเสื้อแดงด้วย ประเทศกรีซที่ล่มสลายทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งก็มีปัญหาจากเรื่องคนกรีซเองไม่ยอมจ่ายภาษีถึงกับมีการติดประกาศรายชื่อผู้ค้างจ่ายภาษีเพื่อเป็นการประจาน คนเสื้อแดงควรรู้ไว้



คนเสื้อแดงควรถามรัฐบาล “หุ่นโชว์” นี้ว่าไปสนับสนุนกลุ่มนิติราษฎร์ให้แก้ ม. 112 ไปทำไม ทำไมจึงไปคัดค้านวิพากษ์ศาลไม่ให้รัฐบาลยึดทรัพย์ทักษิณ ทำไมถึงยอมไม่อุทธรณ์การเก็บภาษีเมียและพี่เมียทักษิณที่สามารถจะทำให้รัฐบาลมีเงินเพิ่มอีกหลายหมื่นล้านบาท มันทำให้คนเสื้อแดงมีเสรีภาพทำให้คนกินดีอยู่ดีมากขึ้นมาได้อย่างไร ก็ไหนว่าเท่าเทียมกันมิใช่หรือทำไมคนรวยเช่นทักษิณและครอบครัวจึงไม่ยอมเสียภาษี ทำไมครอบครัวเดียวจึงมีความสามารถสืบทอดเป็นนายกฯ ได้สามคน มันเท่าเทียมกันตรงที่ใด



บัดนี้เวลาก็ล่วงเลยกว่า 6 ปีแล้ว รัฐบาลและแกนนำไปทำอะไรอยู่ ทำไมรัฐมนตรีที่หน้าตาไม่รู้จักไม่ริเริ่มออกมาแก้กฎหมายที่ดินหรือเสนอเก็บภาษีคนรวยเพิ่มเพื่อความเท่าเทียมกันให้พวก “รากหญ้า” ตามที่แกนนำเคยพูดสัญญาเอาไว้ว่าจะทำหากเลือกพรรคทักษิณ ก็ให้เลือกมาแล้วตั้งหลายรอบมิใช่หรือ



หากเสื้อแดงเป็นรากหญ้าแต่ไม่ได้กินหญ้าก็ควรพิจารณาว่าได้อะไร ทักษิณก็เป็นนายกฯ มาสองรอบก็แล้ว ผัวน้องจนมาถึงน้องสาวเขาก็เป็นนายกฯ แล้ว ทำไมคนเสื้อแดงจึงยังไม่กินดีอยู่ดีสักทีเหมือนเช่นทักษิณกับรัฐมนตรีในรัฐบาล จะต้องรอให้เขาและพวกเขารวยก่อนถึงเมื่อใด




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้