คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (27) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (3 กรกฎาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (27) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (3 กรกฎาคม 2556)


นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (27)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

3 กรกฎาคม 2556




นอกจาก “ข้าว” แล้ว “น้ำ” ก็เป็นอีกนโยบายที่ล้มเหลว
เพราะเป็นรัฐบาล “NGO” หรืออย่างไร? 
       


       รัฐบาลยิ่งลักษณ์ฉวยโอกาสจากการบริหารจัดการน้ำของตนเองที่ล้มเหลวในปี พ.ศ. 2554 ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทอย่างเร่งด่วนโดยอ้างว่ามาจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างยั่งยืน แต่ ณ วันนี้ ครึ่งปีของปี พ.ศ. 2556 ปัญหาที่อ้างว่าเร่งด่วนนี้ก็ยังมิได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด
       


       นอกจากจะไม่ยอมรับว่าน้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นความผิดของตนเองที่ต้องรับผิดชอบแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังหากินกับความทุกข์ของชาวบ้านอีกทอดหนึ่งโดยจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่ใช้เงินหลายแสนล้านอย่างไม่โปร่งใส (transparency) และขาดการบริหารจัดการที่ดี (good governance)
       


       เหตุก็เพราะโครงการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวไม่มี “เนื้องาน” ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ กล่าวคือใช้วิธีเชิญชวนเอกชนผู้สนใจร่วมเสนอกรอบแนวคิด (conceptual plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำภายในกรอบวงเงินที่กำหนดซึ่งจะครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ การศึกษาความเหมาะสม-> การศึกษาผลกระทบและสิ่งแวดล้อม-> การจัดหาที่ดิน-> การสำรวจออกแบบ->จนถึงก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า วิธีจ้างออกแบบและก่อสร้างพร้อมประกันราคาไม่เกินวงเงินสูงสุด (design-build with maximum price)
       


       เป็นวิธีการที่กลับหัวกลับหาง แทนที่จะศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากมีความเป็นไปได้ (feasible) และไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐจะล่วงละเมิดมิได้แล้วจึงจะมาถึงการสำรวจและออกแบบเพื่อให้ทราบว่าจะทำอะไร ที่ไหน และ อย่างไร ทำให้สามารถคำนวณต้นทุน (ราคากลาง) และว่าจ้างหาผู้รับเหมามาก่อสร้างอย่างคุ้มค่า แต่กลับเลือกที่จะทำจากหลังไปหน้าคือหาผู้รับเหมาเสียก่อนแล้วให้ผู้รับเหมาไปจัดการทำอะไรก็ได้ภายในวงเงินที่กำหนด 3.5 แสนล้านบาทแทน ทั้งๆ ที่ยังรู้เลยว่าสมควรจะทำตามที่เขาเสนอมาหรือไม่ หรือหากสมควรทำรู้หรือยังว่าจะทำอะไรที่ไหน
       


       แบบนี้จะเรียกว่า โปร่งใส หรือการบริหารจัดการที่ดี ได้หรือไม่
       


       ดังนั้น บรรดาโครงการหรือแผนงานที่เอกชนส่งเข้ามาประมูลเป็นเงินหลานหมื่นหลายแสนล้านบาทตามข่าวที่ปรากฏนั้นจึงเป็นเพียงแค่ “กรอบแนวคิด” ว่าเอกชนนั้นๆ จะทำอะไร ก็แค่นั้นเอง จะเป็นไปได้และจะแก้ปัญหาจัดการน้ำสำเร็จตามที่ต้องการหรือไม่ กล่าวได้เลยว่าไม่มีอะไรมารับประกัน เพราะคุณสมบัติและประสบการณ์การทำงานของเอกชนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งเอาไว้ก่อนเข้ามาประมูลงานไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จนี้แต่อย่างใด
       


       หากโครงการนี้ยังไม่เป็น “รูปธรรม” การนำเอา “กรอบแนวคิด” มาถกกันในวงกว้างเสียก่อนก็จะเป็นประโยชน์และเป็นการรับฟังความคิดเห็นไปในตัว
       


       ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากโดยเฉพาะ คนชั้นกลางล่าง ไม่รู้ว่าตนเองกำลังถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตจากการทำโครงการดังกล่าว อย่าลืมว่ายังให้เวลาผู้ประมูลงาน 3-5 ปีในการดำเนินงาน ทำไมจึงไม่สามารถเจียดเวลามาถกกันก่อน
       


       ประเด็นก็คือ มีทางอื่นอีกไหมที่จะแก้ไขปัญหาจัดการน้ำอย่างยั่งยืนกว่าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามจะรวบหัวรวบหางทำขึ้นมา
       


       คำตอบน่าจะอยู่ที่ แผนการจัดการน้ำฯ ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ที่ได้ทำขึ้นจากการร้องขอของยิ่งลักษณ์เอง
       


       กรอบแนวคิดของไจก้าที่เสนอก็เริ่มจากข้อกำหนด หรือ TOR ตามแผนแม่บท กยน.ดังต่อไปนี้คือ
       

       1) การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของเขื่อนที่ปรากฏอยู่
       

       2) การก่อสร้างเขื่อนใหม่
       

       3) การพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อ ชะลอ หน่วง และกักเก็บน้ำ
       

       4) ทางผันน้ำตะวันออกและตะวันตก (ความสามารถในการระบาย 1,500 ลบ.ม./วินาที)
       

       5) ทางผันน้ำตามความยาว ถนนวงแหวนรอบนอก (ความจุ 500 ลบ.ม./วินาที)
       

       6) งานปรับปรุงลำน้ำและทางน้ำ
       


       รูปที่ 21 แสดงถึงการกระจายน้ำหลากเมื่อตอนเกิดน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีปริมาณน้ำตั้งต้นมาจากนครสวรรค์ 4,800 ลบ.ม./วินาทีขณะที่เหลือน้ำผ่านเข้ามาถึง กทม. 4,000 ลบ.ม./วินาทีโดยมีที่มาของน้ำจากบริเวณอยุธยาถึง 3,300 ลบ.ม./วินาที
       


       ส่วนรูปที่ 22 แสดงความต้องการของ กยน.โดยมีความต้องการจัดทำทางผันน้ำ (flood diversion channel) ไปทางตะวันออก 1,500 ลบ.ม./วินาทีขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับน้ำท่วมในบริเวณอยุธยาเนื่องจากยังไม่ได้รับการแก้ไขตามวงกลมสีแดงที่ปริมาณน้ำมิได้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงน้ำท่วมตามรูปที่ 21 ขณะที่การผันน้ำไปทางถนนวงแหวนรอบนอก 500 ลบ.ม./วินาทีทำให้ยังเหลือน้ำเข้า กทม. 3,400 ลบ.ม./วินาที
       
       การจัดสร้างทำทางน้ำผัน

ขึ้นมาใหม่ให้มีความจุ 1,500 ลบ.ม./วินาทีไม่ว่าจะสร้างทางตะวันออก (ตามรูปที่ 22) หรือไปทางตะวันตก (ตามข่าว) ก็จะตรงกับขอบเขตของงานตามโครงงาน หรือ Module A5 ที่บริษัท เค วอเตอร์ประมูลได้ไปนั่นเอง แต่จะเป็นส่วนที่แพงที่สุดของโครงการที่ใช้เงินกว่า 150,000 ล้านบาทขณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอันเนื่องมาจากนำน้ำจำนวนมาก (1,500 ลบ.ม./วินาที) ผ่านระยะทางเกือบ 300 กม.และผ่านลุ่มน้ำจำนวนมากหากทำมาทางตะวันตก
       


       ในขณะที่รูปที่ 23 และ 24 แสดงถึงข้อเสนอของ JICA ทั้ง 2 แบบที่แสดงกรอบแนวคิดที่แตกต่างจาก กยน. แต่ให้ผลได้เหมือนกัน กล่าวคือมีการเสนอทางผันน้ำเลี่ยงเมืองอยุธยา (Ayutthya Bypass Channel) ที่มีความจุ 1,400 ลบ.ม./วินาทีที่มีระยะทางสั้นกว่าเข้ามาแทนและคง/เพิ่มความจุทางผันน้ำตามแนวถนนวงเหวนรอบนอกจาก 500 เป็น 1,000 ลบ.ม./วินาที


       
       ผลจากข้อเสนอของไจก้าก็คือน้ำท่วมในเขตอยุธยาก็จะบรรเทาลงไปได้เป็นอันมากเพราะปริมาณน้ำจะเหลือแค่ 2,600 จากเดิม 3,300 ลบ.ม./วินาที (รูปที่ 21 และ 22) ขณะที่น้ำผ่านเข้า กทม.จะเป็น 3,800 และ 3,500 ลบ.ม./วินาทีตามแผนแบบที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ข้อดีที่เด่นชัดก็คือใช้เงินน้อยกว่างบประมาณที่ กยน.ตั้งไว้ถึง 60-70% หรือประมาณ 210,000 ล้านบาทขึ้นไปและเวลาทำโครงการที่จะประหยัดได้ขณะที่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับหรือมากกว่า (อยุธยาน้ำลด) ที่ กยน.ตั้งไว้ (อยุธยาน้ำท่วมเช่นเดิม)
       


       กรอบแนวคิดของ กยน. จึงสะท้อนให้เห็นถึง “แนวคิด” ของคนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าใช้แต่เงิน-มิได้ใช้ความคิด เพราะมุ่งเน้นแต่เพียงใช้สิ่งก่อสร้างเพียงลำพังเพื่อรับมือกับน้ำ มิได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำหรืออาศัยมาตรการรับมือที่มิใช่สิ่งก่อสร้างแต่อย่างใด
       


       ในขณะที่กรอบแนวคิดของไจก้าใช้มาตรการแบบผสมผสานรับมือกับน้ำท่วม ใช้ทางผันน้ำเลี่ยงเมืองอยุธยาที่สั้นกว่าพร้อมๆ กับทางผันน้ำตามถนนวงแหวนรอบนอกประยุกต์ร่วมกับมาตรการใช้และไม่ใช้สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ทำให้โครงการตามกรอบแนวคิดนี้มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการลงทุนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
       


       กรอบแนวคิดของไจก้าจะถูกหรือผิดเป็นสิ่งที่นำมาถกเถียงกันได้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงพลาดอย่างฉกรรจ์เช่นเดียวกับนโยบายจำนำข้าวในการเร่งรัดจัดการประมูลทำโครงการนี้ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องรีบหากมีความบริสุทธิ์ใจที่จะแก้ไขปัญหาน้ำอย่างแท้จริงให้กับประชาชนตามคำกล่าวอ้าง
       


       เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ของที่ใช้งานได้เหมือนกันแต่ถูกกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับไม่ซื้อทั้งที่ไปขอร้องให้เขาทำเรื่องมาก่อน แต่กลับไปซื้อของที่แพงกว่าแทน
       


       คนชั้นกลางล่างรู้หรือยังว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พวกคุณอาจเลือกมานั้น นอกจากจะผลาญเงินแผ่นดินที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณด้วยแล้ว พวกคุณที่อยู่ในบริเวณโครงการ เช่น อยุธยา และลุ่มน้ำด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานอกจากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ยังอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในการดำรงชีวิตจากโครงการนี้จากการผันน้ำกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาทีไปให้
       


       การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจึงเป็น “คำโต” ของรัฐบาลนี้ แต่ “คำจริง” ก็คือ “นรก” ของคนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้