แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (4) (17/4/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (4) (17/4/2555)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (4)


(17/4/2555)




*แทนที่โลกทัศน์เก่า ด้วยโลกทัศน์ใหม่แบบควอนตัม*



เคล็ดลับการชะลอวัย และการมีอายุยืนอย่างบูรณาการของผม สามารถสรุปสั้นๆ และเรียงลำดับการฝึกฝนปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้



“ก่อนอื่น จะต้อง อบรมความคิดของตนเองให้แหลมคม เพื่อทะลวงข้อจำกัดทางความคิดของตนเอง เกี่ยวกับการชะลอวัย และการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้นให้ได้เสียก่อน จากนั้นก็ต้อง ฝึกฝนร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต เพื่อรองรับความท้าทายที่จะมีอายุยืนถึงร้อยปีหรือกว่านั้นอย่างแข็งแรงและแก่ช้า นอกจากนี้จะต้อง บ่มเพาะพลังปราณและคุณธรรมในตัวเองให้ลึกล้ำยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มพูนพลังบุญบารมีของตัวเองควบคู่กันไปด้วย สุดท้ายจะต้อง ยกระดับจิตวิญญาณของตัวเองให้สูงส่งยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อความรักแด่สรรพชีวิตทั้งปวง”



ข้างต้นนี้คือ บทสรุปรวบยอด เกี่ยวกับแนวทางการชะลอวัย และการมีอายุยืนถึงร้อยปีหรือกว่านั้นอย่างบูรณาการของผมที่จะนำเสนออย่างละเอียดต่อไปในข้อเขียนชุดนี้ของผม จะเห็นได้ว่าการจะท้าทายความแก่ชราอย่างถึงแก่นได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องท้าทายโลกทัศน์เก่า หรือข้อสันนิษฐาน 10 ประการตามกระบวนทัศน์เก่าที่ได้กล่าวไปแล้วด้วยโลกทัศน์ใหม่ หรือข้อสันนิษฐานใหม่ 10 ประการเสียก่อน



ข้อสันนิษฐานใหม่เหล่านี้จะให้ “ความจริง” แก่เราในรูปแบบที่สมบูรณ์กว่า และขยายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าข้อสันนิษฐานใหม่เหล่านี้ก็เป็นเพียงความคิดที่รังสรรค์ขึ้นมาจากจิตใจของมนุษย์ เช่นเดียวกับข้อสันนิษฐานเก่า แต่มันจะทำให้เรามีอิสระ และมีพลังมากขึ้น อีกทั้งยังให้ศักยภาพแก่เราในการสร้างความเชื่อใหม่ของจิตใจที่จะชี้นำร่างกายและเซลล์ในร่างกายของเราใหม่ เนื่องจาก โลกทัศน์ใหม่แบบควอนตัมนี้ เชื่อมั่นว่า จิตใจมีอิทธิพลต่อทุกๆ เซลล์ในร่างกาย เซลล์ของเราคอยแอบฟังความคิดของเราอยู่ตลอดเวลา แล้วเซลล์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดเหล่านั้น ความแก่ชราของมนุษย์จึงไหลไปมาและเปลี่ยนแปลงได้ อาจเกิดเร็วขึ้น ช้าลง หยุดเป็นครั้งคราว หรือกระทั่งย้อนกลับได้ ความแก่จึงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลมากกว่าที่เคยนึกคิดในอดีตมากมายนัก



ข้อสันนิษฐานใหม่ 10 ประการนี้ได้แก่



(1) ข้อสันนิษฐานใหม่ประการที่หนึ่ง “ไม่มีโลกทางภววิสัยที่เป็นอิสระจากผู้สังเกต”

ในมุมมองของควอนตัมฟิสิกส์นั้น ยอมรับว่าแม้ว่าโลกที่ “อยู่ข้างนอกนั่น” ดูเหมือนจะเป็นจริง แต่มันไม่มีข้อพิสูจน์ความจริงนอกจากตัวผู้สังเกตเอง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครเลยที่จะมีส่วนร่วมในจักรวาลเดียวกันอย่างแท้จริง โลกทัศน์ของคนเรา แต่ละคนล้วนรังสรรค์โลกของตัวเองขึ้นมาทั้งสิ้น โลกทางกายภาพของเรา รวมทั้งร่างกายของเราจึงเป็นการตอบสนองของผู้สังเกต เราจึงรังสรรค์ร่างกายของเราตลอดเวลา เช่นเดียวกับที่เรารังสรรค์ประสบการณ์ของโลกเรา



สาเหตุที่เรายอมรับอะไรอย่างหนึ่งว่าเป็นความจริง เพราะเรามองเห็นและสัมผัสสิ่งนั้นได้ คนเราทุกคนจึงมีอคติหรือมายาคติที่จะชอบสิ่งที่มั่นใจว่าเป็นสามมิติที่เราได้รับรายงานจากประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การลิ้มรส และการดมกลิ่น ล้วนทำหน้าที่เสริมกันต่อข่าวสารเดียวกัน สิ่งต่างๆ จึงเป็นอย่างที่น่าจะเป็น แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นจริงเช่นนั้นจริงๆ



แต่ถ้าหากถือตาม “ความเป็นจริง” ดังกล่าวที่รับรู้โดยประสาทสัมผัสทั้งห้าของคนเรา โลกก็จะแบน พื้นดินใต้เท้าจะนิ่งอยู่กับที่ ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก นี่คือ “ความเป็นจริง” ที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรายอมรับโดยไม่มีข้อสงสัย ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้พิสูจน์ออกมาชัดแล้วว่า นั่นไม่ใช่ความจริงที่แท้จริงแต่ประการใด



ทั้งนี้ก็เพราะว่า เวลาและพื้นที่ (space) เป็นแค่ผลิตผลของประสาทสัมผัสทั้งห้าของคนเรา เมื่อเรามองเห็นและสัมผัสสิ่งที่เป็นสามมิตินั้น และเรามีประสบการณ์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามแบบแผนอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่เมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ทำการประมวลเวลาและพื้นที่ขึ้นเป็นรูปแบบทางเรขาคณิตใหม่ที่ไม่มีจุดเริ่มต้น หรือจุดสิ้นสุด ไร้ขอบเขต ไร้ความแข็ง อนุภาคที่เป็นของแข็งทั้งหลายในเอกภพได้กลายเป็นกลุ่มของพลังงานที่มองไม่เห็น และสั่นไหวใน “ความว่าง” อันกว้างใหญ่ไพศาล



ณ ที่นั้นเอง แบบจำลองเก่าของเวลาและพื้นที่ ได้ถูกทำลายไปแล้วแทนที่ด้วยแบบจำลองใหม่ของกระบวนทัศน์ใหม่ที่เป็น “สนามควอนตัม” อันเป็นสนามของการเปลี่ยนแปลงที่เสถียร ซึ่งไร้กาลเวลาและเลื่อนไหล ในมุมมองของควอนตัมฟิสิกส์ สนามควอนตัมนี้ ไม่ได้แยกจากตัวเรา แต่เป็นตัวเราเอง



เพราะในขณะที่จักรวาลดำเนินการสร้างดวงดาว กาแล็กซีควาร์ก (quark) และเลพตอน (lepton) ขึ้นใหม่ทุกๆ วินาทีอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ตัวเราก็ดำเนินการรังสรรค์ตัวเองด้วยเช่นกัน และเป็นการรังสรรค์อย่างมโหฬาร เพราะร่างกายเราก็เหมือนกับทุกๆ อย่างในจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทุกๆ วินาทีอย่างต่อเนื่อง



ต่อให้ประสาทรับความรู้สึกของเรารายงานว่า เราครอบครองร่างกายที่มีความหนาแน่นในกาลอวกาศ แต่นี่เป็นเพียงชั้นเปลือกนอกที่สุดของความจริงเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว ร่างกายของเราเป็นกระแสขององคาพยพ (flowing organism) ที่เปี่ยมไปด้วยพลังที่ได้มาจากเชาวน์ปัญญา (Intelligence) แห่งคอมพิวเตอร์จักรวาล เชาวน์ปัญญาแห่งจักรวาลนี้ทำหน้าที่เฉพาะเพื่อควบคุม ดูแล ความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องถาวรที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา ทุกเซลล์ในร่างกายของเรา เป็นสถานีปลายทางที่ย่อส่วน และเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ของจักรวาล



ความแก่ชรา จึงเป็นสิ่งสะท้อนความสูญเสียของเชาวน์ปัญญาที่มองไม่เห็นของจักรวาลนี้ โดยกระบวนการแก่ชราจะเริ่มจากอายุสามสิบ และดำเนินไปอย่างเชื่องช้าทุก 1% ต่อปี แต่คนที่ร่างกายอ่อนแอ คนที่ใช้ชีวิตอย่างไม่ถนอมรักษาร่างกาย คนที่เครียดบ่อย เครียดง่าย คนที่ป่วยเป็นโรคเสื่อมเรื้อรัง กระบวนการแก่ชราจะมากกว่า 1% ต่อปี และทำให้อายุสั้นลง ส่วนคนที่มีสุขภาพดี การแก่ตัวลงของผู้นั้นจะมีเพียง 1% ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งได้ว่า 99% ของพลังงานและเชาวน์ปัญญาแห่งจักรวาลที่ประกอบขึ้นเป็นตัวผู้นั้น ไม่ถูกกระทบจากกระบวนการแก่ชรานี้



เพราะฉะนั้น การชะลอวัยเมื่อพิจารณาจากมุมมองข้างต้น คือ การขจัด 1% ของกระบวนการแก่ชรานี้ให้ลดน้อยลงไปอีกนั่นเอง แต่การจะจัดการกับ 1% นี้ได้ ผู้นั้นจะต้องค้นพบสวิตช์ที่ควบคุมเชาวน์ปัญญาภายในร่างกายให้ได้เสียก่อน ซึ่งทำได้โดยผ่านการฝึกลมปราณ และสมาธินั่นเอง



ข้อเท็จจริงใหม่ที่ได้จากควอนตัมฟิสิกส์ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะสถาปนา “การแพทย์เชิงควอนตัม” หรือ “การแพทย์เชิงพลังงาน” (energy medicine) เพื่อจัดการกับเชาวน์ปัญญาแห่งจักรวาล ซึ่งคอยกำกับร่างกายของคนเราในระดับที่มองไม่เห็นนี้ หากใช้มุมมองของการแพทย์เชิงควอนตัม มาทำความเข้าใจเรื่องเซลล์แก่ หรือความแก่ในระดับเซลล์ ก็จะเป็นว่า เซลล์แก่ของคนเราคือ แผนที่ประสบการณ์ชีวิตของผู้นั้น ความทุกข์ใจ ความเครียดที่ลืมเลือนไปนานแล้วของผู้นั้นจะประทับไว้ที่นั่น ความวิตก อ่อนล้า กังวล ขุ่นเคือง โกรธแค้น ผิดหวัง ปฏิกิริยาเหล่านี้จักกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้นั้นในระดับเซลล์ สิ่งที่เป็นพิษทางอารมณ์ทั้งหลายที่คนผู้นั้นสะสมมาทั้งชิวต จะอัดอุดอยู่ในเซลล์แก่เข้าสู่เนื้อเยื่อ และอวัยวะของผู้นั้นในที่สุด ยิ่งผู้นั้นแก่ตัวลง การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายที่อยู่นอกเหนือจิตสำนึก ไม่ว่าการหายใจ การย่อยอาหาร การสร้างเซลล์ใหม่ การซ่อมแซมเซลล์เก่าที่เสียหาย การขจัดสารพิษ ฯลฯ จะลดลง



มีทางเดียวเท่านั้น ที่จะต่อต้านกระบวนการแก่ชรานี้ได้ คือการที่ผู้นั้นจะต้องใช้ชีวิตอย่างมีจิตสำนึก เนื่องเพราะความสามารถของ “สนามควอนตัม” (ซุปควอนตัม) ในการทำให้การสั่นสะเทือนแบบดั้งเดิมและไม่เป็นระเบียบ เปลี่ยนเป็นความจริงที่มีความหมาย และเป็นชิ้นส่วนที่เป็นระเบียบยิ่งขึ้นได้ โดยผ่านการกระทำอย่างมีจิตสำนึกของผู้นั้นในการเข้าไปรังสรรค์ร่างกายของตัวเองใหม่อย่างขนานใหญ่ มิใช่ปล่อยให้ร่างกายของตนเป็นไปอย่างนั้นเหมือนที่ผ่านมา โดยตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมแม้แต่น้อย





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้