คมดาบซากุระ 2 : จะปรองดองไปเพื่ออะไร ? โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (18 เมษายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : จะปรองดองไปเพื่ออะไร ? โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (18 เมษายน 2555)


จะปรองดองไปเพื่ออะไร ? 

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

18 เมษายน 2555




อำนาจออกกฎหมายก็เฉกเช่น “ดาบ”



หากไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมผู้ใช้ดาบก็ไม่ต่างจากโจร




ระยะหลังนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นห้วงเวลาของการปรองดองก็ว่าได้ รัฐบาลหุ่นโชว์ก็อ้างว่าจะมาทำเรื่องปรองดอง ส.ส.พรรครัฐบาลในสภาก็อ้างว่าหาเสียงไว้กับประชาชนให้เข้ามาทำเรื่องปรองดอง หากใครขัดขวางก็อ้างว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน



การปรองดองโดยทั่วไปน่าจะหมายถึง คู่ขัดแย้งที่อาจมีมากกว่าสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาจุดร่วมเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีความขัดแย้งกัน



ตกลงแล้วในประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมามีใครขัดแย้งกับใครบ้าง ระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือรัฐบาลสุรยุทธ์ หรือระหว่างคนเสื้อเหลืองกับรัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย และ/หรือรัฐบาลหุ่นโชว์ หรือระหว่างคนเสื้อแดงกับเสื้อสีอื่นๆ



คำตอบในคำถามข้างต้นน่าจะอยู่ที่ความขัดแย้งในสังคม เกิดขึ้นและมีอยู่ตลอดเวลาในลักษณะที่เป็นพลวัต มิได้หยุดนิ่งอยู่กับสภาวะหรือปัญหาใด ดังนั้นหากความขัดแย้งเป็นประเด็นปัญหาให้แก้ก็เป็นปัญหาที่เพิ่ม/ลดความสลับซับซ้อนไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่ม/ลดในตัวแปรที่เป็นปัญหา



เวลาจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างความปรองดอง เพราะเวลาจะคลี่คลายความจริงให้เห็นเป็นประจักษ์



วิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่อารยะสังคมใช้มาโดยตลอดไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยก็คือ จริยธรรม คุณธรรม และกฎหมาย เพราะสังคมไม่สามารถจะมีความเห็นในเรื่องเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวได้นั่นเอง



จริยธรรมและคุณธรรมเป็นคำยากไปแล้วในปัจจุบัน มิใช่ยากต่อการปฏิบัติเท่านั้นแม้แต่ความเข้าใจก็ยังยากไม่รู้ว่ามันคืออะไรแตกต่างกันอย่างไร ทำไมจึงต้องใช้ควบคู่กันและเกี่ยวข้องกับศีลธรรมอย่างไร ทำไมจึงอยู่เหนือกฎหมาย และจะทำอย่างไรให้นักการเมืองเข้าใจ



พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บรรยายไว้เมื่อช่วงก่อนสงกรานต์ได้อย่างน่าฟังและกระชับตอนหนึ่งว่า “จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติทางกาย วาจา ที่แสดงออกถึงธรรมะที่มีอยู่ในใจ จริยธรรมมักหมายถึงการปฏิบัติในทางดี มักใช้คู่กับศีลธรรม ดังนั้น ถ้าพูดถึงจริยธรรม คือหมายถึงการบังคับ กาย วาจา ใช้บังคับใจไม่ได้ แต่คุณธรรมจะบังคับใจ จึงต้องใช้ควบคู่กัน”



“โดยคุณธรรมหมายถึงความดีที่มีอยู่ในใจของตนหรือของคนก็ได้ ทำให้ประพฤติดี ปฏิบัติดี เป็นธรรมะที่ควบคุมจิตใจของคน ให้คิด-พูดในสิ่งที่เป็นคุณ โดยเฉพาะเป็นผลดีกับผู้อื่น เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หรือจากการอบรมสั่งสอน คนที่มีคุณธรรม จะต้องซื่อสัตย์ คิดดี ทำดี พูดดี ไม่บิดพลิ้วในการพูด และมีเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และไม่ทำในเรื่องเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คดโกงแม้ไม่มีผู้รู้เห็น ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ข่มเหงรังแกผู้หญิง ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่ประพฤติทุจริต”



ข้อเสนอเพื่อการปรองดองทั้งหลายดูเหมือนว่าจะรวมศูนย์อยู่ที่ทักษิณแต่เพียงผู้เดียว กลายเป็นทักษิณผู้น่าสงสารที่ถูกกฎหมายที่ใช้กับคนไทยทั่วไปในสังคมกระทำย่ำยี ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคืนความยุติธรรมให้ทักษิณด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ความผิดจากการทุจริตคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลตัดสินจำคุก 2 ปีและอาจรวมถึงคดีอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย



ทักษิณจึงกลายเป็นศูนย์กลางหรือคู่ขัดแย้งกับรัฐไทยหรือคนไทยทุกคนไปโดยปริยาย หาใช่คนเสื้อแดง ส.ส.พรรครัฐบาล หรือใครอื่นใดไม่ เพราะการปรองดองทำเพื่อทักษิณเป็นสำคัญ สิ่งใดที่ทักษิณไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ทำหรือผัดผ่อนไว้ก่อนได้ ค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท จึงกลายเป็นเรื่องที่หาเสียงเอาไว้แต่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ขณะที่เรื่องนิรโทษกรรมทักษิณที่พูดเลี่ยงบาลีอ้อมแอ้มตลอดเวลากลับเป็นเรื่องหลัก



เมื่อ ส.ส.พร้อม รัฐบาลพร้อม คนเสื้อแดงสนับสนุน ทำไมจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามช่องทางตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ไม่ได้ เป็นความชอบธรรมตามกฎหมายอยู่แล้วมิใช่หรือ นี่คือชุดความคิดที่พยายามชี้นำสังคมอยู่ตลอดเวลา



การหักดิบความจริง ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่แสวงหาข้อเท็จจริงจึงเป็นพฤติกรรมที่มีให้เห็นเป็นประจักษ์เพื่อสนับสนุนชุดความคิดดังกล่าวข้างต้น



แต่สิ่งสำคัญที่คนเหล่านี้ละเลยมิได้คำนึงถึงแม้แต่น้อยในขณะที่มีอำนาจในมือก็คือ กฎหมายนั้นจะออกอย่างไรก็ได้ วันนี้ออกกฎหมายให้เลี้ยวซ้ายผิดพรุ่งนี้แก้ใหม่ให้เลี้ยวขวาผิดก็ทำได้อยู่แล้วหากมีเสียงข้างมากในสภา แต่กฎหมายที่ออกนั้นต้องชอบด้วยจริยธรรมและคุณธรรมควบคู่ไปด้วยกฎหมายนั้น จึงจะแก้ไขความขัดแย้งในสังคมได้ หาไม่แล้วกฎหมายเพื่อความปรองดองจะกลายเป็นการทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นจากการเลือกปฏิบัติหรือปฏิบัติสองมาตรฐาน



กฎหมายในฐานะเครื่องมือจึงเป็นเสมือนหนึ่งศาสตราวุธ เช่น ดาบ ที่หากผู้ใช้ไร้ซึ่งจริยธรรมและคุณธรรม ผู้ใช้ดาบก็สามารถใช้ดาบนั้นประพฤติตนเป็นคนเลวเยี่ยงโจร



ลองนึกภาพดูก็ได้ว่าเมื่อสภาผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดที่คนอื่นๆ เช่น พระรักเกียรติ หรือ ชม้อย เคยติดคุกเพราะกฎหมายดังกล่าวให้กับทักษิณจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป สังคมก็จะมีมาตรฐานใหม่เกิดขึ้นมาในทันทีว่าเสียงข้างมากคือเสียงสวรรค์ เป็นความชอบธรรมของผู้ชนะ ในขณะที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็ต้องไปหาวิธีให้เป็นเสียงข้างมากในอนาคตไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดเพื่อมาแก้ไขสิ่งที่ตนเองเห็นว่าอยุติธรรม



ทุกคนในสังคมจะสนใจแต่ “ดาบ” ในขณะที่ละเลย คุณธรรม จริยธรรม ของการใช้ “ดาบ” นั้นไปเสียสิ้น



สงครามกลางเมืองในซีเรียที่เกิดขึ้นในขณะนี้มิใช่เพราะเพื่อรักษาอำนาจโดยไม่สนใจคุณธรรมและจริยธรรมของประธานาธิบดีอัสซาสผู้ลูกเพียงคนเดียวหรืออย่างไร



ประเทศไทยจะกลายเป็น “รัฐที่ล้มเหว” หรือ fail state เมื่อไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายนำคนผิดมาลงโทษแถมยังไปยกเลิกความผิดที่คนคนนั้นกระทำเป็นการเฉพาะเสียอีก ใครจะมาลงทุนค้าขายด้วย รัฐบาลจะปกครองคนในชาติในอนาคตได้อย่างไรเมื่อกฎหมายไร้ซึ่งความแน่นอน ผิดวันนี้พรุ่งนี้ก็ออกกฎหมายให้ความผิดในอดีตล้มเลิกไปก็ได้



จะปรองดองไปเพื่ออะไรและความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อสังคมใช้ “ขนาดและจำนวนของกำปั้น” แต่เพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องรับรองความชอบธรรมในสิ่งที่ตนเองกระทำ นี่ไม่ใช่ความปรองดองแต่อย่างใด ปล่อยให้ต่อสู้ให้แตกหักไปเสียยังดีกว่า



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้