คมดาบซากุระ 2 : ประเทศนี้มีไว้ขาย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (25 เมษายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ประเทศนี้มีไว้ขาย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (25 เมษายน 2555)


 
ประเทศนี้มีไว้ขาย

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

25 เมษายน 2555





ไม่น่าเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลของทักษิณ
ไทยจะกลายเป็นชาติที่ล้มเหลวได้เหมือนเขมร



วันนี้ขออนุญาตแย่งซีนโต๊ะข่าวกีฬา หวังว่าคุณ “เดื่อ” และคุณ “สวรรยา” คงไม่ถือโทษโกรธเคือง ขออภัยไว้ล่วงหน้า



วิ่งมาราธอน อาจถือได้ว่าเป็นกีฬาที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็ว่าได้เพราะมีการแข่งขันต่อเนื่องมาโดยตลอด กีฬาอื่นขาดได้ แต่หากวิ่งมาราธอนขาดไปแล้วโอลิมปิกไม่สมบูรณ์เป็นแน่



การวิ่งเป็นพื้นฐานของคน ดังนั้นการวิ่งระยะทาง 42 กม.เศษให้เร็วกว่าคนอื่นๆ จึงเป็นกีฬาประเภทที่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคหรืออุปกรณ์พิเศษอะไรมากมาย หากแต่อาศัยความมุ่งมั่นและการฝึกซ้อมเอาชนะตนเองอันเป็นจิตวิญญาณของนักกีฬาเป็นสำคัญ



วิ่งที่ไหนก็ฝึกซ้อมได้เพราะสนามแข่งก็คือพื้นที่ราบทั่วไป จะมีรองเท้าหรือไม่ ยอดนักวิ่งบางคนยังวิ่งเท้าเปล่าเสียด้วยซ้ำ ประเทศที่ด้อยพัฒนาจึงมีโอกาสเป็นผู้ชนะได้เท่าๆ กับนักกีฬาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว นับเป็นกีฬาไม่กี่ประเภทที่ “ทุน” ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบให้เกิดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ



กีฬาโอลิมปิกในยุคปัจจุบันตั้งแต่ครั้งที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ได้กลายเป็นมหกรรมทางการค้าไปพร้อมๆ กับการแข่งขันกีฬา เนื่องจากผู้จัดประสบความสำเร็จจัดแล้วมีกำไร เป็นต้นแบบทำให้หลายๆ ชาติในเวลาต่อมาต่างแย่งกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล



ประเทศในโลกมีประมาณ 200 ประเทศในขณะที่ชาติสมาชิกโอลิมปิกที่พร้อมส่งนักกีฬาเข้าร่วมน่าจะมีมากกว่า 100 ประเทศ ทำให้ต้องมีการจำกัดจำนวนนักกีฬาที่จะเข้าร่วม วิ่งมาราธอนก็เช่นเดียวกัน



โอลิมปิกในปี ค.ศ. 2012 ที่ลอนดอนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตั้งเป้านักกีฬากรีฑาเข้าร่วมไว้ประมาณ 2,000 คน เงื่อนไขของการส่งนักกีฬาวิ่งมาราธอนเข้าแข่งขันก็คือ มาตรฐาน A ชาติละไม่เกิน 3 คนหากมีสถิติวิ่งได้ไม่เกินกว่า 2:15:00 (อ่านว่า 2 ชั่วโมง 15 นาที 0 วินาที) หรือ มาตรฐาน B ไม่เกิน 1 คนหากมีสถิติวิ่งได้ไม่เกินกว่า 2:18:00 สำหรับเพศชาย



เหตุก็คือ หากทุกชาติสามารถส่งนักกีฬาโดยเสรีอย่างไม่จำกัดจำนวน ชาติที่ร่ำรวยก็จะมีโอกาสส่งนักกีฬาที่รู้ว่าวิ่งอย่างไรก็ไม่ชนะเข้ามาเกะกะ ทำให้มีนักกีฬาที่ไม่ผ่านมาตรฐานเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือป้องกัน “ชาติหน้าด้าน” ขายสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก



อย่าลืมว่าสำหรับประเทศด้อยพัฒนาที่ล้มเหลว ผู้ปกครองยินดี “ขาย” ทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อประโยชน์ส่วนตน สิทธิในการส่งนักกีฬาก็เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีคนอยากซื้อ เช่นเดียวกับ นายฮิโรชิ เนคโกะ ชื่อจริงคือ คูนิอากิ ทะคิซากิ ดาราตลกชาวญี่ปุ่นที่ยินยอมสละสัญชาติญี่ปุ่นไปถือครองสัญชาติเขมรเพื่อให้สามารถสวมสิทธิแทนนักกีฬาเขมรเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนในนามนักกีฬาชาติเขมร



เป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาจากประเทศด้อยพัฒนาจะเสียเปรียบในเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐให้เล่นกีฬาและเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ นายเนคโกะจึงอาศัยช่องนี้เสนอตัวเข้าเป็นตัวแทนทั้งที่สถิติที่ดีที่สุดของเขาเมื่อปลายปีที่แล้วคือ 2:30:26 ที่ไม่ผ่านทั้งมาตรฐาน A และ B แถมยังช้ากว่านายเฮม บุนติง (Hem Bunting) นักกีฬาเขมรแท้ที่ได้เหรียญกีฬาซีเกมส์และเคยเป็นตัวแทนเข้าแข่งโอลิมปิกครั้งที่แล้วที่ปักกิ่งที่วิ่งได้ 2:23:29 เมื่อต้นปีนี้ เร็วกว่านายเนคโกะเขมรเทียมเกือบ 7 นาทีแต่ไม่ได้สิทธิไปแข่งกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้จากประเทศของเขาเอง



ด้วยความเร็วที่มีของนายเนคโกะเมื่อนำไปเปรียบกับซามูเอล วันจิรุ(Samuel Wanjiru) จากเคนยาแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกคนล่าสุดจากปักกิ่งที่วิ่งชนะด้วยเวลา 2:06:32 นายเนคโกะวิ่งช้ากว่าเกือบ 24 นาที หรือจะวิ่งอยู่ข้างหลังห่างจากผู้นำกว่า 8 กม.เลยทีเดียว



เขมรเทียมเช่นนายเนคโกะสมควรจะได้เป็นตัวแทนเข้าแข่งโอลิมปิกหรือไม่? แม้เขมรจะไม่มีนักกีฬาที่ผ่านมาตรฐาน A หรือ B แต่ก็สามารถอาศัยข้อยกเว้นส่งนักกีฬาเข้าร่วมได้ 1 คนเพื่อแสดงสปิริตของนักกีฬา แต่การที่ดาราตลกผู้ทำมาหากินอยู่ในญี่ปุ่นเป็นหลัก มิได้อาศัยอยู่ในเขมรติดต่อกันมากกว่า 1 ปีหลังได้สัญญาติตามกฎของสหพันธ์กรีฑานานาชาติจะมาเป็นตัวแทนเขมรเข้าแข่งโอลิมปิก ถ้าไม่เรียกว่าขายสิทธิแล้วจะให้เรียกว่าอะไร



ประเทศนี้มีไว้ “ขาย” หรือ country for sale จึงเป็นเรื่องที่ต่างชาติมองประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ว่าเป็นประเทศที่ล้มเหลว หรือ fail state หรือ banana republic เพราะขาดซึ่งกฎเกณฑ์หรือหลักนิติรัฐนิติธรรม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการชี้นำของนักการเมือง/ผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว



การพร้อมที่จะขายทุกสรรพสิ่งเพื่อแลกกับประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ปกครองโดยผู้นำที่ฉ้อฉลจึงเป็นเครื่องชี้สำคัญที่บอกว่าเป็นประเทศที่ล้มเหลวหรือไม่ ตัวอย่างของประเทศไทยที่ดีก็คือโครงการบัตรอีลิทที่ขายอธิปไตยให้ต่างชาติแลกเศษเงินในสมัยรัฐบาลทักษิณ



เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เขมรอ้างว่านายเนคโกะบริจาคเงิน 2-3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐให้สมาคมกรีฑาเขมรก่อนที่จะได้รับสัญชาติและสิทธินักกีฬาเขมรในการเข้าแข่งขันโอลิมปิก หากเป็นจริงก็เป็นราคาที่ถูกแสนถูกเพราะนายเนคโกะที่มีอายุ 34 ปีในชาตินี้ไม่มีทางที่จะเป็นตัวแทนนักกีฬาญี่ปุ่นเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกได้ด้วยสถิติที่เขามีอยู่ มีแต่ต้องรอชาติหน้าแต่เพียงอย่างเดียว



ทางการเขมรอาจมองว่าเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวหรือความสัมพันธ์ระหว่างเขมรและญี่ปุ่นโดยอาศัยนายเนคโกะเป็นเครื่องมือ แต่สิ่งที่ต้องตอบให้ดีกว่านี้ก็คือ ใช้หลักอะไรในการคัดเลือกส่งนายเนคโกะไปเป็นตัวแทนเขมรเข้าแข่งโอลิมปิกทั้งๆ ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติใดแม้แต่ข้อเดียว



การต้อนรับขับสู้นักโทษหนีคดีเมื่อช่วงสงกรานต์เป็นอย่างดีราวกับว่าเป็นประมุขตัวแทนรัฐไทย ในขณะที่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจใดๆ เลย นั่งดูดายประเทศเพื่อนบ้านที่นอกจากจะไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศแล้วยังไม่เคารพความเป็นชาติของไทยอีกด้วย ระหว่างไทยกับเขมรไม่รู้ว่าใครจะเป็นชาติที่ล้มเหลวมากกว่ากัน



คำว่า “ชาติ” จึงมีความหมาย นอกจากจะแสดงถึงถิ่นที่อยู่ของตนเองแล้วยังแสดงถึงตัวตนในสังคมโลกอีกด้วย ทุกคนในชาติจึงถือเป็นชาติพันธุ์เดียวกันและมีหน้าที่ปกป้องรักษาชาติเอาไว้แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตเพราะต่างก็ได้ประโยชน์จาก “สัญชาติ” ที่ตนเองมีอยู่อย่างน้อยก็เพื่อลูกหลานของตนเองในอนาคต หากรัฐบาลไม่ปกป้องรักษาชาติด้วยการปกป้องรักษาประโยชน์ที่เป็นของชาติเอาไว้ก็ต้องออกไป



การจะพูดว่า ผม/ดิฉัน เป็นพลเมืองของโลกเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะผูกพันตนเองว่ามี “สัญชาติ”ใด หรือการที่อดีตผู้นำประเทศถึงกับไปยินยอมใช้ “สัญชาติ” ของประเทศอื่นเพื่อหนีคดีนอกจากจะเป็นการดูถูกชาติของตนเองที่มีหน้าที่ปกป้องแล้วยังเป็นการทรยศหักหลังบ้านเกิดของตนเองอย่างไม่น่าให้อภัย




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้