แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (18) (24/7/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (18) (24/7/2555)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (18)

 
(24/7/2555)





*“เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของ ปีเตอร์ เคลเดอร์ (ต่อ)*



ผู้พันแบรดฟอร์ดได้ถ่ายทอดเคล็ดลับโบราณเพื่อการชะลอวัยที่ตัวเขาได้เรียนรู้ และฝึกฝนมาจากวิหารลี้ลับในเทือกเขาหิมาลัยให้แก่ ปีเตอร์ เคลเดอร์ หลังจากที่ได้อธิบายตำแหน่งของวอร์เท็กซ์ หรือจักระทั้งเจ็ดแห่งในร่างกายมนุษย์ไปแล้วว่า...



มนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีมาก วอร์เท็กซ์หรือจักระเหล่านี้ แต่ละอันจะหมุนด้วยความเร็วที่สูงมาก ถ้าวอร์เท็กซ์หรือจักระบางอันหมุนช้าลง คนผู้นั้นจะเริ่มแก่ชรา และมีร่างกายที่อ่อนแอลง การหมุนของวอร์เท็กซ์หรือจักระด้วยความเร็วที่สูงมากนี้ จะทำให้พลังชีวิต ที่เรียกว่า ปราณ ไหลเข้า และไหลขึ้นไปตลอดทั่วระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย แต่ถ้าวอร์เท็กซ์หรือจักระหมุนช้าลง การไหลของปราณจะถูกสกัด หรือถูกปิดกั้นซึ่งนำไปสู่การเจ็บไข้ได้ป่วยและแก่ชรา...



อนึ่ง เมื่อคำนึงถึงว่า สมมติฐาน “จักระ” ในโมเดล “โยคะ” ข้างต้น “เพื่อการชะลอวัยในหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์ เล่มนี้ได้ถูกนำเสนอต่อโลกตะวันตกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 หรือเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน เราคงต้องยอมรับว่า สมมติฐาน “จักระ” อันนี้เป็นแนวคิดที่ปฏิวัติในวงการศาสตร์ชะลอวัยของโลกตะวันตกเลยทีเดียว เพราะแม้จนกระทั่งปัจจุบันนี้ การแพทย์เชิงพลังงาน ก็ยังคงใช้สมมติฐาน “จักระ” นี้อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะศาสตร์ชะลอวัยที่ใช้โมเดล “โยคะ” เป็นหลัก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า วงการแพทย์กระแสหลักยังไม่ค่อยให้ความสนใจกับสมมติฐาน “จักระ” นี้เท่าไรนัก



...วอร์เท็กซ์หรือจักระที่หมุนด้วยความเร็วสูงนี้ จะเปล่งรังสีหรือออร่าออกจากร่างกายในกรณีที่บุคคลผู้นั้นมีสุขภาพดีแข็งแรง แต่ถ้าคนผู้นั้นป่วยหรืออ่อนแอ รังสีออร่านี้แทบจะไม่ปรากฏออกมาถึงบริเวณผิวหนังเลย เพราะฉะนั้น วิธีที่เร็วที่สุดในการฟื้นฟูสุขภาพความมีชีวิตชีวา และความเป็นหนุ่มสาวก็คือ จะต้องทำให้วอร์เท็กซ์หรือจักระ อันเป็นศูนย์พลังงานต่างๆ ในร่างกายของคนเรา กลับมาหมุนด้วยความเร็วสูงดังเดิม โดยที่ในหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์ ได้นำเสนอว่า มีวิธีการกายบริหาร 5 กระบวนท่า (The Five Rites) ที่ผู้พันแบรดฟอร์ด อ้างว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากพระลามะ ในวิหารลี้ลับแห่งนั้น เป็นเคล็ดลับในการช่วยกระตุ้นวอร์เท็กซ์ หรือจักระต่างๆ ให้ทำงานเป็นปกติดังเดิม กระบวนท่า 5 ท่าของเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบต ในหนังสือของปีเตอร์ เคลเดอร์ เล่มนี้มีดังต่อไปนี้



(1) กระบวนท่าที่หนึ่ง


วิธีฝึกกระบวนท่าที่หนึ่งนี้ง่ายมาก เพราะมันมี จุดประสงค์หลักเพื่อเร่งความเร็วในการหมุนของวอร์เท็กซ์ พวกเด็กๆ ล้วนเคยหัดเล่นอย่างนี้กันมาทั้งนั้น โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ก่อนอื่นให้ยืนตัวตรงกางแขนสองข้างขนานกับพื้น แล้วหมุนรอบตัวเองตามเข็มนาฬิกาจากซ้ายไปขวา ให้หมุนจนตัวเรารู้สึกตาลายเวียนศีรษะเล็กน้อยจึงหยุด แรกๆ ควรหัดหมุนตัวไม่เกินหกครั้ง อย่าไปฝึกหัดมากกว่านั้น ถ้ารู้สึกตาลายให้นั่งหรือนอนนิ่งๆ พักสักครู่



(2) กระบวนท่าที่สอง


กระบวนท่านี้เป็นการกระตุ้นวอร์เท็กซ์หรือจักระทั้งเจ็ดต่อจากกระบวนท่าที่หนึ่งที่มุ่งกระตุ้นจักระให้ทำงาน ในท่าที่สองนี้ ให้ผู้ฝึกนอนราบลงกับพื้น หงายหน้ามองเพดาน จากนั้นเหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปแนบลำตัว วางฝ่ามือทั้งสองคว่ำลงกับพื้น นิ้วทั้งหมดชิดกัน เงยศีรษะขึ้นมาจากพื้นเก็บคางไว้แนบหน้าอก ยกขาทั้งสองข้างจนตั้งฉากกับพื้น ขาทั้งสองจะต้องเหยียดตรงชี้ฟ้าอย่าให้หัวเข่างอ จากนั้นวางศีรษะและขาลงกับพื้นตามเดิม เข่ายังเหยียดตรงคลายกล้ามเนื้อทั้งหมดแล้วเริ่มทำกระบวนท่านี้ใหม่ ในแต่ละครั้งที่กระทำท่านี้ จังหวะการหายใจควรจะสม่ำเสมอ คือหายใจเข้าให้ลึก ขณะที่ยกศีรษะกับท่อนขาขึ้นมาและหายใจออกช้าๆ ขณะที่วางศีรษะกับท่อนขาลงกับพื้น ระหว่างการพักท่า ผู้ฝึกจะต้องคลายทุกส่วนของร่างกายให้เต็มที่



(3) กระบวนท่าที่สาม


กระบวนท่านี้ ควรฝึกหัดต่อเนื่องทันทีต่อจากกระบวนท่าที่สอง ก่อนอื่นคุกเข่าทั้งสองลงกับพื้นลำตัวตั้งตรง สองมือวางไว้ที่ต้นขาทั้งสองข้าง จากนั้นก้มศีรษะและลำคอไปข้างหน้า เก็บคางไว้แนบหน้าอก เสร็จแล้วงอศีรษะและลำคอไปทางด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ พร้อมกันนั้นก็ดัดสันหลังให้โค้งงอตามไปด้วย ขณะที่ดัดหลังให้ผู้ฝึกใช้มือจับต้นขาเอาไว้เพื่อพยุงลำตัว แล้วจึงกลับมาอยู่ที่ท่าเดิมก่อนจะเริ่มทำท่านี้ใหม่ ขณะที่หัดกระบวนการที่สามนี้ ผู้ฝึกควรจะหายใจเข้าให้ลึกขณะที่งอลำตัวไปข้างหลัง และหายใจออกขณะที่กลับมาตัวตรงอีก ถ้าจะให้ดีขณะที่ทำท่านี้ ควรจะหลับตาขณะที่ดัดตัวเพื่อเพ่งสติไปที่ข้างในตัว และขจัดความคิดที่รบกวนต่างๆ ออกไปจากใจ



(4) กระบวนท่าที่สี่


ก่อนอื่นนั่งลงกับพื้น เหยียดขาทั้งสองข้างออกไปตรงๆ ข้างหน้าให้ปลายขาทั้งสองข้างห่างกันราวๆ หนึ่งฟุต โดยที่ลำตัวตั้งตรง วางฝ่ามือทั้งสองข้างบนพื้นข้างสะโพก เก็บคางไว้แนบหน้าอก จากนั้นงอศีรษะกลับไปทางด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกัน ยกลำตัวขึ้นให้ขนานกับพื้นโดยงอเข่าตั้งฉากกับพื้น แขนทั้งสองข้างตรงตั้งฉากกับพื้นเช่นกัน ให้เกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย ก่อนที่จะผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน เมื่อกลับมาอยู่ในท่านั่งตอนต้น แล้วนอนพักก่อนที่จะทำกระบวนท่านี้ซ้ำอีก จงหายใจลึกๆ ขณะที่ยกลำตัวขึ้นขนานกับพื้น แล้วกักลมหายใจเอาไว้ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วน จากนั้นค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกให้หมดขณะหย่อนตัวลงนั่งตามเดิม จนจำไว้ว่า ความแตกต่างระหว่างความเป็นหนุ่มสาวที่แข็งแรงกับความแก่ชราของผู้สูงวัยที่ขี้โรคนั้น อยู่ที่อัตราความเร็วในการหมุนของวอร์เท็กซ์ หรือจักระในร่างกายคนเท่านั้น วิชาโยคะเพื่อการชะลอวัย จึงมุ่งเน้นไปที่การปรับให้จักระกลับมาหมุนในอัตราที่เร็วเหมือนเดิมอีกครั้ง เพราะนี่คือเคล็ดลับที่ทำให้คนชรากลับมาย้อนวัยได้ ในทัศนะของโยคะ



(5) กระบวนท่าที่ห้า


ท่านี้ผู้ฝึกจะคว่ำตัวหันหน้าเข้าหาพื้นก่อน โดยพยุงร่างกายด้วยสองมือฝ่ามือคว่ำกับพื้น ปลายเท้าทั้งสองแยกออกจากกันราวๆ สองฟุต ใช้ปลายเท้าแตะพื้น แขนตรง และขาเหยียดตรง แขนตั้งฉากกับพื้นดัดหลังให้โค้งไปข้างหน้าลำตัวจึงอยู่ในลักษณะย้อยลงมาเกือบแตะพื้น จากนั้นเหวี่ยงศีรษะไปทางด้านหลัง พร้อมกับงอก้นสะโพกจนลำตัวลอยขึ้นเป็นรูปตัววีหรือรูปสามเหลี่ยม คางแนบกับหน้าอก เกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะกลับไปสู่ท่าเริ่มต้น พักชั่วครู่แล้วจึงเริ่มทำกระบวนท่านี้ซ้ำอีก ส่วนการหายใจก็เหมือนกับกระบวนท่าก่อนๆ คือหายใจเข้าลึกๆ ขณะที่ยกตัวขึ้นเป็นรูปตัววี และหายใจออกเมื่อหย่อนตัวลงมา



กระบวนท่าทั้ง 5 ท่าข้างต้นนี้ จงอย่ามองอย่างผิวเผินว่าเป็นแค่ท่ากายบริหารเพื่อยืดเส้นเฉยๆ เท่านั้น แม้กระบวนท่าเหล่านี้มันจะช่วยยืดเส้นด้วยก็จริง แต่การยืดเส้นไม่ใช่เป้าหมายหลักในการฝึกเคล็ดวิชาโบราณอันนี้ แต่เป็นการปรับความเร็วในการหมุนของวอร์เท็กซ์หรือจักระของผู้ฝึกให้หมุนในอัตราเร็วเท่ากับคนวัย 25 ปีที่แข็งแรงต่างหาก เพราะคนที่แข็งแรงมีสุขภาพดีในวัยนี้ จักระทั้งเจ็ดจะหมุนในอัตราเร็วที่เท่ากัน ขณะที่อัตราการหมุนของจักระทั้งเจ็ดของคนวัยกลางคน จะมีอัตราเร็วไม่เท่ากัน และจักระบางอันอาจหมุนในอัตราเร็วที่เชื่องช้าลงมาก ซึ่งเป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บบริเวณนั้น



การที่จักระทั้งเจ็ดทำงานอย่างไม่ประสานปรองดองกันเช่นนี้ ถ้าจักระอันไหนหมุนช้าก็จะทำให้อวัยวะบริเวณนั้นอ่อนแอเสื่อมถอย ส่วนจักระที่หมุนเร็วกว่าจะก่อให้เกิดความหงุดหงิด กระวนกระวาย และเหนื่อยล้าซึ่งนำไปสู่การเสียสุขภาพ และความแก่ชราในที่สุด



กระบวนท่าแต่ละท่าควรฝึกให้ได้ถึง 21 ครั้งต่อหนึ่งกระบวนท่า โดยค่อยๆ ฝึกจากแต่ละท่าไม่เกิน 3 ครั้งในสัปดาห์แรก แล้วค่อยเพิ่มจำนวนครั้งทีละสองไปทุกๆ สัปดาห์ จนกระทั่งผู้ฝึกสามารถหัดได้ถึง 21 ครั้งต่อหนึ่งกระบวนท่าในสัปดาห์ที่สิบ การฝึก “5 กระบวนท่า” นี้สามารถฝึกได้ทั้งเช้าหรือตอนเย็นตามแต่สะดวก ถ้าจะให้ดีควรหัดวิชานี้ทุกๆ วัน ทั้งในช่วงเช้า และช่วงเย็น แต่ไม่ควรหักโหม แล้วจะเห็นผลเองภายในสามเดือนอย่างแน่นอน





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้