คมดาบซากุระ 2 : จำนำข้าวเปลี่ยนประเทศไทย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (5 ธันวาคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : จำนำข้าวเปลี่ยนประเทศไทย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (5 ธันวาคม 2555)




จำนำข้าวเปลี่ยนประเทศไทย

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย


5 ธันวาคม 2555


 


จำนำข้าวทำให้ประเทศไทยจำนน



ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแต่เพียงลำพัง หากอยู่ที่สำนึกของความถูกผิดชั่วดีเป็นที่ตั้งขณะที่เคารพเสียงส่วนใหญ่แต่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยต่างหาก



ดูเหมือนง่ายแต่หลายคน ทั้งนักการเมือง หรือแม้แต่ “นักวิชาการแดง” หาได้เข้าใจไม่ การเอาจำนวนมาเป็นเหตุผลของการกระทำจึงมิใช่หลักการและเหตุผลของประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่



“นักวิชาการแดง” ให้เหตุผลว่า โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเป็นการเปลี่ยนประเทศไทย (ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน 5 พ.ย. และ 3 ธ.ค.55)



ตรรกะในแนวคิดก็คือ การจำนำข้าวแม้จะใช้เงินกู้และขาดทุนมหาศาล แต่ก็ทำให้ชาวนาทั้งที่เป็นคนจน (และไม่ใช่) ได้ประโยชน์แม้จะยอมรับโดยจำนนกับข้อมูลที่ปรากฏว่าไม่มาก เป็นนโยบายที่แม้ผิดก็ไม่น่ารังเกียจอะไรเพราะสังคมไทยก็เคยมีนโยบายที่น่ารังเกียจเช่นนี้มาก่อนแล้ว เรียกได้ว่า “อมๆคายๆ” ตามสไตล์ของเขานั่นแหละ



ที่สำคัญก็คือเป็นอำนาจอันชอบธรรมของชาวนาที่ใช้ผ่านการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง คนเมืองที่เป็นชนชั้นกลางที่เป็นเสียงส่วนน้อยและอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ต่อต้านการใช้เงินภาษีของตนเองไปในนโยบายนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะไปทำลายความชอบธรรมดังกล่าวโดยกล่าวหาว่ามาจากการซื้อเสียงหรือเป็นอำนาจจากหีบเลือกตั้งที่ไว้ใจไม่ได้



ดังนั้นนโยบายที่นักการเมืองนำเสนอที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนผู้เลือกที่สูงหรือที่ชอบแม้จะเป็นนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ (ต่อสังคม) แต่ก็ (อ้างว่า) คือหัวใจของการปกครองตนเองอันเป็นหลักประชาธิปไตย



กลายเป็นวาทกรรมที่รัฐมนตรี “เต้น” มือเปื้อนเลือดที่สั่งให้มวลชนเผาบ้านเผาเมืองพูดจาดำเป็นขาวนำมาใช้อ้างถึงในการอภิปรายในสภาฯ ว่าเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ให้ชาวนาเป็นผู้ได้ประโยชน์เหนือกว่าพ่อค้าส่งออกหรือโรงสี พูดง่ายๆ ว่าให้ชาวนาได้โกงเงินภาษีประชาชนแทนที่โรงสีผู้ส่งออกที่เคยทำมาแล้วบ้างจะเป็นไรไป



หาก “นักวิชาการแดง” ยังไม่สามารถชี้ถูกผิดให้กับสังคมได้ก็ป่วยการที่จะไปเรียกร้องหากระบวนการประชาธิปไตยแบบ “ปรึกษาหารือ” ที่ตนเองแนะนำ
เพราะกระบวนการ “ปรึกษาหารือ” จะเกิดขึ้นไม่ได้หากสังคมปราศจากพลังความรู้ความเข้าใจที่จะนำมาใช้ในกระบวนการ “ปรึกษาหารือ”



พื้นฐานแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยของไทยถูกปลูกฟังอย่างผิดๆ ให้ยึดมั่นแต่เพียง “จำนวน” ซึ่งเป็นเพียง “กระพี้” ของระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้เสียงส่วนใหญ่ที่จะมาสร้างความชอบธรรมในการตัดสินใจ หาได้คำนึงถึงหรือรับฟังเสียงส่วนน้อยแต่อย่างใดไม่



ประชาธิปไตยของทักษิณหรือทักษิโณมิกส์จึงเป็นประชาธิปไตยส่วนตัวที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่คนส่วนน้อยต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่และความถูกต้องมาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเสียแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่การจัดทำเขตการค้าเสรี(ระหว่างผู้ส่งออกกับเกษตรกร) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายปรองดอง จนถึงจำนำข้าวในปัจจุบัน



ข้อเสนอหรือข้อท้วงติงของ “ขุนนางนักวิชาการ” ทั้งหลายที่รู้จักในชื่อ technocrat ที่เคยเกิดขึ้นในระบอบทักษิณจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียงส่วนเกินที่น่ารำคาญ เป็นเสียงของ “ขาประจำ” หรือผู้ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง ในขณะที่ “นักวิชาการแดง” ทั้งหลายก็เริ่มประดิษฐ์วาทกรรมที่บิดเบือนออกมาเพื่อรองรับการกระทำของระบอบทักษิณ



เมื่อสังคมปราศจากข้อมูลความรู้ พลังในการต่อรองก็ไม่เกิด กระบวนการ “ปรึกษาหารือ” จะกระทำไปได้อย่างไรในสังคมที่ปิดกั้นและบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเช่นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “นักวิชาการแดง” ที่ละเลยบทบาทที่ควรเป็นของตนเองเสียสิ้น



นโยบายจำนำข้าวจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในทางวิบัติอย่างแท้จริงยากที่ “นักวิชาการแดง” จะเอาตรรกะใดมาบิดเบือนได้
ข้อเท็จจริงได้ปรากฏออกให้เห็นเป็นประจักษ์อยู่อย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่เริ่มทำจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา



ในส่วนที่เป็นหลักการนั้นก็ชัดเจนว่า การจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงเกินความจริงคือการแทรกแซงบิดเบือนกลไกตลาด เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยหาได้เป็นการเปลี่ยนประเทศไทยดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ เพราะที่แล้วมาไม่มีใครสิ้นคิดทำนโยบายที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการตั้งราคาแทรกแซง (จำนำ) สูงกว่าราคาตลาดเช่นนี้



อีกทั้งการได้เสียงข้างมากจากการลงคะแนนเสียงก็เป็นที่พิสูจน์มานานแล้วเช่นกันว่ามิได้หมายความว่าจะได้ซึ่งความต้องการของสังคม เพื่อทำนโยบายตามที่อ้างอิงจากการลงคะแนนเสียงที่ได้แต่อย่างใดไม่ (ดูบทความผู้เขียนสัปดาห์ที่ผ่านมา)



ดังนั้น ไม่ว่าชาวนาที่จนจะได้ประโยชน์หรือไม่ นโยบายนี้จึงผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นในเชิงหลักการและเหตุผลที่จะมารองรับ ไม่ว่าจะมีการทุจริตตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม



ในอีกทางหนึ่ง การทุจริตที่ติดตามมาจากนโยบายนี้กำลังเป็นประเด็นที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถตอบกับสังคมได้อย่างมีเหตุมีผลรับฟังได้



การที่รัฐบาลกลายเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่แต่เพียงผู้เดียวด้วยราคาที่สูงเกินจริงทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มี Absolute Power ที่จะนำไปสู่ Absolute Corrupt ทำให้ข้าวที่รับซื้อมาไม่สามารถที่จะเปิดเผยความจริงอีกด้านหนึ่งได้ว่าขายให้ใครได้บ้างในต่างประเทศ



ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการอภิปรายก็คือ มีการขายข้าวภายในประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยบรรดาผู้ที่เคยร่วมทุจริตในโครงการจำนำข้าวที่มีมาก่อนในสมัยรัฐบาลทักษิณ ทำไมรัฐบาลจึงยินดีที่จะทำการค้ากับผู้ที่เคยโกงตนเองมาก่อนแล้วได้



ขุนนาง/อำมาตย์ในกระทรวงพาณิชย์ไม่รู้เรื่องนี้เลยหรืออย่างไร ขณะที่ “นักวิชาการแดง” ยังหลับหูหลับตาไม่สนใจข้อเท็จจริงสนับสนุนโครงการเช่นนี้อยู่ได้อย่างไร ช่างน่าอนาถใจยิ่งนัก





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้