แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (21) (14/8/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (21) (14/8/2555)


 
แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (21)

(14/8/2555)

 




*เคล็ดวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตขั้นสูง”*



ผมเขียนข้อเขียนชุดนี้ขึ้นมาก็เพื่อ ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ และต้องการชะลอวัยไปพร้อมๆ กัน เพื่อเตรียมรับมือกับ “สังคมคนสูงวัย” ที่กำลังจะมาเยือนสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันนี้ ผู้คนเริ่มตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากกว่าแต่ก่อน ผมแลเห็นคนสูงวัยมากหน้าหลายตาไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะมากกว่าคนวัยหนุ่มสาวเสียอีก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การออกกำลังกายของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นแค่การเดินเหยาะในสวนสาธารณะ หรือไม่ก็เป็นการรำมวยจีนอย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น จะหาคนที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการชะลอวัยอย่างที่เป็นศาสตร์และศิลป์ได้ยากมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง



คนเรานี่ก็แปลก มีเวลาเอาใจใส่ดูแลรถยนต์ที่ตัวเองขับเป็นอย่างดี แต่ร่างกายของตน ซึ่งเป็นพาหนะแห่งจิตวิญญาณของตัวเองกลับให้ความสนใจใส่ใจน้อยกว่ารถยนต์หรือบ้านพักอาศัยของตนเสียอีก ทั้งๆ ที่ร่างกายของตัวเองนี้แหละที่จะอยู่กับเราไปจนวันตายไม่เหมือนรถยนต์หรือบ้านพักอาศัยที่มีโอกาสเปลี่ยนมือสูง มิหนำซ้ำ ถ้าหากรู้จักดูแลร่างกายของตัวเองอย่างมีองค์ความรู้แห่งศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะยืดอายุขัย และชะลอความแก่ชราของร่างกายของตนไปได้เป็นยี่สิบปี หรือสามสิบปีเลยทีเดียว ถ้าเข้าใจความสำคัญของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการแล้ว ก็จงเห็นความสำคัญทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของศาสตร์นี้ และจงหมั่นเพียรในการฝึกฝนอย่างจริงจังและตั้งใจเถิด



ในข้อเขียนชุดนี้ ผมได้นำเสนอวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบต ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน วิธีการบริหารร่างกายแนวเร้นลับ (esotoric exercise) ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ โดยองค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่ผมจะนำเสนอผ่านข้อเขียนชุดนี้ จะมีที่มาจากตำราที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้สามารถสืบค้นและต่อยอดทางวิชาการตะวันตกได้ จุดประสงค์ของการฝึกกายบริหารแนวเร้นลับของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น แม้จะอยู่ที่การบรรลุความก้าวหน้าในวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณของผู้ฝึกก็จริง แต่เพื่อการนี้ สุขภาพที่แข็งแรงของร่างกายที่เป็นพาหนะหรือเป็นฐานให้แก่การวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณของผู้นั้น กับการชำระจิตใจของผู้นั้นให้บริสุทธิ์สะอาด และการกระตุ้นการทำงานของจักระทั้งเจ็ดของผู้นั้นให้คึกคักเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยมีผลพลอยได้คือ การชะลอความแก่หรือความหนุ่มแน่นยาวนาน ตามมาพร้อมกับการฝึกเคล็ดวิชานี้



ศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้นมองว่า การที่คนเราจะมีวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณได้นั้น คนเราต้องเรียนรู้ผ่านความทุกข์ยากของชีวิต เพื่อชำระจิตใจให้สะอาดก่อน แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คนส่วนใหญ่มีเวลาน้อยไป หรืออายุสั้นไปกว่าที่จะเรียนรู้จากความทุกข์ของชีวิตจนสามารถชำระจิตใจของตัวเองให้สะอาดได้ เพราะก่อนที่คนเราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่แท้จริงได้นั้น ไม่ทราบว่ามีผู้คนเป็นจำนวนมากเท่ไหร่แล้วที่ต้องเจ็บป่วยไปเสียก่อน หรือเซลล์สมองถูกทำลายไปเสียก่อน เป็นโรคมะเร็งไปเสียก่อน หรือแก่ชราไปเสียก่อน



ลองคิดดูสิว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้น จะมีอะไรน่าเจ็บใจหรือน่าเสียดายเท่ากับการไม่มีโอกาสหรือไม่สามารถแก้ตัวตั้งต้นชีวิตใหม่ได้อีกแล้ว เพราะกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว ปัญหาเรื่องนี้ความจริงไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่เผชิญ ผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่กลับไม่ดูแลร่างกายตนเอง ปล่อยให้ทรุดโทรมจนมีชีวิตไม่ต่างจากคนชราภาพก็มีให้เห็นอยู่มากมายเช่นกัน เพราะฉะนั้น ประสิทธิผลในการชะลอวัย ฟื้นฟูความเป็นหนุ่มสาวให้กลับคืนมาตามโมเดลของโยคะ และโมเดลของเต๋าในข้อเขียนชุดนี้ จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาข้างต้นนี้ได้



ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจตรงกันให้ได้ก่อนว่า การที่คนเราจะบรรลุความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณได้นั้น ตัวเขาต้องปฏิบัติธรรมฝึกฝนตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ จึงมุ่งให้ “เวลาที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรม” แก่ชีวิตของพวกเรา ไม่ว่าเวลานั้นจะเป็นเวลาที่จำเป็นในการฝึก พัฒนาจักระทั้งเจ็ด จนกระทั่งสามารถยกระดับพลังทางเพศชักนำพลังกุณฑาลินีให้ขึ้นไปถึงจักระที่เจ็ดบนศีรษะได้ (จะกล่าวอย่างละเอียดในภายหลัง) หรือจะเป็นเวลาที่จำเป็นสำหรับ การปฏิบัติกรรมดีเพื่อชำระ “ร่างทั้งเจ็ด” (จะกล่าวอย่างละเอียดในภายหลัง) ของตน และเป็นการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของตนเองในขั้นรากเหง้าก็ตาม ศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการสามารถสร้าง “เวลา” เช่นนั้นให้แก่ชีวิตของพวกเราได้



กลไกการฟื้นฟูความเป็นหนุ่มสาวตามโมเดลของโยคะนั้น อยู่ที่การตั้งสมมติฐานว่า ร่างกายของคนเรามีจักระทั้งเจ็ดที่สามารถดูดปราณหรือพลังจักรวาลเข้ามาได้ โดยที่จักระทั้งเจ็ดนี้มีความสัมพันธ์กับอวัยวะหลักๆ ในร่างกายของคนเรา โดยผ่านการกระตุ้นการทำงานของจักระทั้งเจ็ดให้คึกคัก คนเราย่อมสามารถดูดปราณเข้าสู่ร่างกายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อกายเนื้อและกายทิพย์ (กายละเอียด) ของผู้นั้น ผู้ที่สามารถกระตุ้นจักระทั้งเจ็ดให้ทำงานอย่างคึกคักได้ ผู้นั้นจะเป็นคนที่มีดวงตาที่เปี่ยมประกาย มีใบหน้าสดใส มีพลัง มีความมุ่งมั่น และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะก้าวไปจนถึงบันไดขั้นสูงสุดแห่งความสำเร็จของชีวิต ทั้งในทางโลกและในทางธรรม ผู้นั้นจะไม่ใช่คนที่ผ่านความทุกข์โศกในวัยหนุ่มสาวแล้วมีชีวิตอยู่ในวัยกลางคน โดยเป็นชายกลางคนที่พุงออก หมดไฟ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต แต่จะเป็นคนที่สามารถใช้บทเรียนชีวิตที่ได้รับในวัยหนุ่มสาวมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนและผู้อื่น หลังจากนั้น โดยที่ผู้นั้นยังมีร่างกายที่หนุ่มแน่นแข็งแรงอยู่แม้จะมีอายุเพิ่มขึ้นก็ตาม



การจะฝึกศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการให้ได้ผล ผู้นั้นจะต้องใช้จินตนาการหรือสร้างภาพสร้างความคิดประกอบการออกกายบริหารไปด้วยว่า “ตัวเราจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บไม่อาจกล้ำกรายตัวเราได้” การฝึกกระบวนท่าเคลื่อนไหวร่างกายตามวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตหรือของโยคะหรือของเต๋าสายต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ที่ยากกลับเป็นการฝึกกระบวนท่าเหล่านี้ ด้วยจิตที่เป็นสมาธิยิ่งต่างหาก เพราะหากเคลื่อนไหวเฉพาะร่างกายไปตามกระบวนท่า ขณะที่สมองครุ่นคิดเรื่องอื่นอยู่หรือออกกำลังกายบริหารไปโดยพูดจ้อไปด้วย อย่างที่คนสูงวัยส่วนใหญ่มักทำเช่นนั้นตามสวนสาธารณะ มันแทบจะไม่ให้ผลอะไรเลยในแง่ของ “การชะลอวัย” อย่างดีก็แค่ทำให้ร่างกายได้ออกกำลังกายคลายเครียดได้บ้างเท่านั้นเอง



ผมจึงขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตรวมทั้งวิธีบริหารร่างกายแนวเร้นลับตามโมเดลของโยคะ และโมเดลของเต๋าในศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น มันมิใช่ฝึกฝนเฉพาะร่างกายเท่านั้น แต่มันเป็นการประยุกต์ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายของผู้ฝึก มาทำให้จักระซึ่งเป็นศูนย์พลังงานที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในกายทิพย์ของผู้นั้น หมุนด้วยความเร็วสูงยิ่งได้ต่างหาก จึงเห็นได้ว่า ตัวการสำคัญที่จะทำให้จักระหมุนและทำให้อวัยวะทุกส่วนในร่างกายกลับมาหนุ่มกว่าเดิมได้นั้นคือ พลังงานของความคิด ของผู้นั้นที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้า และใช้พลังงานของความคิดนั้นอย่างรวมศูนย์ และเพ่งจิตเพื่อให้ร่างกายของผู้นั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ผู้นั้นต้องการต่างหาก



จึงเห็นได้ว่า ในการฝึกวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตขั้นสูง ผู้นั้นจะต้องฝึกสามสิ่งควบคู่กันไปคือ หนึ่ง การเคลื่อนไหวร่างกาย สอง การเพ่งจิต สาม การภาวนา จึงจะเป็นการฝึกที่สมบูรณ์ ดังจะได้กล่าวต่อไป





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้