คมดาบซากุระ 2 : วิกฤติเศรษฐกิจไทย : ปีหน้าเผาจริง ? ตอนที่ 1 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (5 กันยายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : วิกฤติเศรษฐกิจไทย : ปีหน้าเผาจริง ? ตอนที่ 1 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (5 กันยายน 2555)



วิกฤติเศรษฐกิจไทย : ปีหน้าเผาจริง ? ตอนที่ 1

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย


5 กันยายน 2555



 

เศรษฐกิจของนายกฯ “เอาอยู่” จะไปในทิศทางใด?
มีจุดจบเช่น อาร์เจนตินาหรือกรีซหรือไม่?



เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคตภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์? ดูช่างเป็นคำถามที่ใครๆ ก็อยากรู้เพราะสังคมไม่แน่ใจว่าด้วยสติปัญญาและพฤติกรรมของรัฐบาลนี้จะพาประเทศไทยไปสู่หายนะเหมือนเช่นที่เคยประสบเมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้หรือไม่



วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่มีมาจากวิกฤตด้านอัตราแลกเปลี่ยน หรือ currency crises และ/หรือวิกฤตด้านธนาคาร หรือ banking crises แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่างหาก



ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาอาจถูกอธิบายได้ด้วย ตัวแบบรุ่นที่หนึ่ง หรือสอง (first or second generation models)



ตัวแบบรุ่นที่หนึ่งนำเสนอโดย Paul Krugman (1979) 'A Model of Balance-of-Payments Crises'. Journal of Money, Credit, and Banking 11, pp. 311-25 อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจว่าเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ไม่สอดคล้องกันของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศละตินอเมริกาที่ใช้นโยบายประชานิยม กล่าวคือรัฐบาลพยายามใช้นโยบายคงที่อัตราแลกเปลี่ยนไว้เพื่อที่จะควบคุมเงินเฟ้อ แต่กลับขาดดุลงบประมาณโดยอาศัยการเพิ่มปริมาณเงินแทนการขึ้นภาษี



แต่อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ที่กำหนดไว้ที่มักจะแข็งค่ากว่าความเป็นจริงนั้นมิได้มีต้นทุนเฉพาะแค่ลมปาก หากแต่มีต้นทุนจากการนำเอาเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ มิเช่นนั้นมันก็คงที่ไปไม่ได้



การขาดดุลงบประมาณ และให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินมาให้รัฐบาลใช้แทนการขึ้นภาษี นอกจากจะทำให้สามารถคงดอกเบี้ยในประเทศไว้ในอัตราต่ำหากแต่จะทำให้เกิดการขาดดุลการค้าและการลงทุนโดยเอกชนไหลไปสู่ภายนอกประเทศแทนเนื่องจากผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ยิ่งทำให้มีความต้องการเงินตราต่างประเทศจากเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น



การไหลออกของเงินสำรองระหว่างประเทศจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นรัฐบาลอีกเช่นกันที่พยายามบอกกับสาธารณชนว่าเป็นเพราะนักลงทุนหรือนักเก็งกำไร ทั้งๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลด้านการเงินการคลังที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่ยอมปรับลดค่าอัตราแลกเปลี่ยนโดยอ้างว่าเป็นหน้าตาของประเทศและมีเงินสำรองอย่างพอเพียง ไม่ยอมปรับลดการขาดดุลงบประมาณโดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายที่ได้ไปหาเสียงเอาไว้เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี



ในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งที่นักธุรกิจหรือประชาชนคาดการณ์ว่าเงินสำรองที่มีอยู่น่าจะใกล้หมดลงจึงพากันมาแลกถือเป็นเงินตราต่างประเทศแทนเพราะเล็งเห็นว่าการลดค่าเงินพร้อมๆ กับการออกจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยฉับพลันเป็นผลที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นจึงเป็นที่มาของวิกฤตด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้งๆ ที่อาจยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่และนำมาซึ่งการลดลงในการเจริญเติบโตอย่างฉับพลันและรุนแรง เศรษฐกิจถดถอยอันเป็นวิกฤตเศรษฐกิจติดตามมา



ตัวแบบรุ่นที่สองที่น่าจะเริ่มจาก Maurice Obstfeld (1986), 'Rational and Self-fulfilling Balance-of-Payments Crises'. American Economic Review 76 (1), pp. 72-81 เกิดขึ้นเพื่ออธิบายวิกฤตทางการเงินที่เกิดกับกลไกอัตราแลกเปลี่ยนของยุโรปหรือ European Exchange Rate Mechanism (ERM) ในปีค.ศ. 1992 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการทำความเชื่อให้กลายมาเป็นความจริง หรือ self-fulfilling prophecies



กลไกอัตราแลกเปลี่ยนของยุโรป เป็นต้นแบบของการรวมกลุ่มใช้เงินสกุลเดียวกันอันเป็นที่มาของของเงินยูโรในปัจจุบัน กล่าวคือเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระหว่างสมาชิกในขณะที่ลอยตัวโดยเสรีกับเงินสกุลอื่นๆซึ่งหมายความว่าต้องมีนโยบายการเงินร่วมกันระหว่างสมาชิก



เยอรมันตะวันตกแม้จะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากการเกินดุลการค้าที่มีมาก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงรวมประเทศกับฝั่งตะวันออก เงินออมจากการค้าได้ถูกนำกลับมาลงทุนในประเทศทำให้ค่าเงินมาร์คแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินของสมาชิกฯ เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐสมาชิกให้คงที่ตามกลไกอัตราแลกเปลี่ยนฯ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของรัฐสมาชิกอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ



อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ต่อสู้กับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและต้องการอัตราดอกเบี้ยต่ำมากกว่าสูง การเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนของรัฐสมาชิกที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แย่กว่า เช่น อังกฤษ หรือ อิตาลี จึงเกิดขึ้นเพราะผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่ารัฐสมาชิกเหล่านี้จะรักษาคำมั่นและยอมสูญเสียประโยชน์จากการอยู่ในระบบกลไกอัตราแลกเปลี่ยนฯ ในขณะที่เยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นไปในทางตรงกันข้ามจึงไม่ถูกโจมตีนักเก็งกำไร



ประเด็นที่นำมาอธิบายก็คือ ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าวข้างต้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของเงินปอนด์หรือเงินลีห์ตามกลไกอัตราแลกเปลี่ยนฯ จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ดังนั้นการขายเงินปอนด์หรือเงินลีห์เสียก่อนจะเป็นประโยชน์มากกว่าถือเอาไว้



การขาดความเชื่อมั่นของเงินสกุลท้องถิ่นของรัฐสมาชิกที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแย่จะทำให้ยิ่งมีแรงขายออกมามากขึ้น และหากต้องถือเงินท้องถิ่นเอาไว้ก็ต้องการดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว รัฐสมาชิกดังกล่าวจึงถูกคาดการณ์ว่าจะต้องออกจากระบบกลไกอัตราแลกเปลี่ยนฯ เพราะไม่สามารถรับกับการคงอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่กับเงินมาร์คในขณะที่ต้องฝืนขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะนำมาซึ่งเศรษฐกิจถดถอยติดตามมาได้ ความเชื่อจึงถูกทำให้กลายมาเป็นความจริง หรือ self-fulfilling prophecies นั่นเอง



ในทางตรงกันข้าม รัฐสมาชิกที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีกว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทำให้ไม่มีแรงกดดันให้นักลงทุนขายเงินมาร์คหรือเงินฟรังก์ออกมา ดอกเบี้ยจึงไม่สูงขึ้นและไม่ต้องออกจากกลไกอัตราแกลเปลี่ยนเหมือนดังเช่นอังกฤษหรืออิตาลี



ความแตกต่างของตัวแบบรุ่นที่หนึ่งและสองจึงอยู่ที่ตัวแบบที่หนึ่งเป็นเรื่องของการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ไม่สอดคล้องกัน ในขณะที่ตัวแบบรุ่นที่สองอธิบายถึงสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่ถูกทำให้กลายมาเป็นความจริง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือเป็นการกระทำของรัฐบาลหาใช่ฝีมือของนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรแต่อย่างใดไม่



ธรรมชาติของการเก็งกำไรเกิดขึ้นได้ก็เพราะการเกิดความผิดปกติเป็นสำคัญ ความผันผวนหรือ volatility จึงเป็น “ผล” ของการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานหรือความผิดปกติมากกว่า “เหตุ” ทำให้นักเก็งกำไรมีโอกาสในการหากำไรจากความผันผวนดังกล่าวและเป็น “ดราม่า” ที่สำคัญที่ทำให้นักการเมืองใช้เป็นข้ออ้างเพื่อหลีกหนีจากความรับผิดชอบอยู่เสมอๆ




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้