คมดาบซากุระ 2 : วิกฤติเศรษฐกิจไทย : ปีหน้าเผาจริง ? ตอนที่ 2 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (12 กันยายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : วิกฤติเศรษฐกิจไทย : ปีหน้าเผาจริง ? ตอนที่ 2 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (12 กันยายน 2555)


 
วิกฤติเศรษฐกิจไทย : ปีหน้าเผาจริง ? ตอนที่ 2

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย


12 กันยายน 2555



 
ส่งออกหดตัว หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ความไม่เชื่อมั่น
สาเหตุพื้นฐานของวิกฤต ปี 40



ก่อนที่จะไปกล่าวถึงว่าเศรษฐกิจไทยจะประสบกับวิกฤตอย่างไรในอนาคตภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์? การพิจารณาถึงประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาน่าจะเป็นการปูพื้นความเข้าใจโดยอาศัยอดีตมาอธิบายอนาคตภายใต้กรอบแนวคิดของตัวแบบรุ่นที่ 1 และ 2



วิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ที่เกิดเริ่มขึ้นในไทยและแผ่ขยายตัวในลักษณะ “ติดเชื้อ” หรือ contagion ไปยังประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียโดยถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ใต้หวัน กล่าวได้ว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนและวิกฤตธนาคารตามติดมา กลายเป็น Twin Crises ที่คล้ายกับพายุ 2 ลูกมารวมกันเป็นลูกเดียวในภาพยนตร์เรื่อง Perfect Storm



มีคำอธิบายบางส่วนที่กล่าวถึงสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้นว่าเกิดจากการเปิดเสรีทางการเงิน (financial liberalization) ที่มีมาก่อนหน้านั้นที่ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่สนับสนุนก็คือในปัจจุบันการเปิดเสรีทางการเงินดังกล่าวก็ยังคงอยู่แถมเปิดเสรีมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ทำไมจึงไม่เกิดวิกฤตซ้ำขึ้นมาอีก?



วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายคำอธิบายโดยตัวแบบรุ่นที่ 1 เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดนั้นประเทศที่ประสบปัญหาก็มิได้มีปัญหาเรื่องการขาดดุลงบประมาณแต่อย่างใด ในไทยเองก่อนหน้านั้นก็ยังมีงบประมาณเกินดุลด้วยซ้ำจากการเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าที่ได้ตั้งเอาไว้ในขณะที่ยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตในระดับที่สูงพร้อมกับอัตราการว่างงานต่ำ



การที่เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศหยุดโดยฉับพลันก็เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มไม่เชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ไว้ที่ระดับประมาณ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาห์สหรัฐดูจะเป็นประเด็นของสาเหตุการเกิดวิกฤตฯ ที่เกี่ยวข้องกับคำอธิบายโดยตัวแบบรุ่นที่ 2 เสียมากกว่า



เหตุก็เพราะแนวคิดการพึ่งพาเงินออมจากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาประเทศที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนโดยการขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรังของไทยที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานต่อเนื่องติดต่อกันนับจากการเริ่มต้นของสงครามเวียดนามเป็นต้นมา และขาดดุลดังกล่าวสูงขึ้นมากจนถึงระดับประมาณร้อยละ 8 ของ GDP ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าวิกฤตฯ



ดังนั้น การคาดหมายของนักลงทุนต่างชาติว่าไทยจะต้องปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินบาทอ่อนค่าลง (depreciate) เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลระหว่างการออมกับการลงทุนที่เกิดขึ้นที่จะส่งผลให้ดุลการค้าได้ดุลจึงเป็นความเชื่อที่ถูกทำให้กลายมาเป็นความจริง หรือ self-fulfilling prophecies นั่นเอง



การเปิดเสรีทางการเงินเพื่อทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศมีต้นทุนธุรกรรมที่ถูกลงจึงมิได้เป็นสาเหตุของวิกฤตฯ หากแต่การดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกันระหว่างการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่กับความพยายามในการให้มีเงินทุนไหลเข้าออกโดยเสรีพร้อมๆ กับการแสดงอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจโดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศอย่างอิสระจากต่างประเทศ เป็น trilemma หรือที่รู้จักในชื่อของ impossible trinity ต่างหากที่เป็นสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย



ตัวแบบรุ่นที่ 1 จึงมีส่วนที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์การเกิดวิกฤตฯ ในปี พ.ศ. 2540 ได้ แม้ว่าไทยจะไม่ได้มีการขาดดุลการคลัง แต่การที่นักลงทุน “เชื่อ” ว่าไทยจะต้องลดค่าเงินในไม่ช้าทำให้นักลงทุนต่างชาติชะงักงันไม่นำเงินเข้าประเทศด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเดิมที่รัฐบาลไทยเป็นผู้กำหนด ในขณะที่ประเทศไทยบริหารเศรษฐกิจโดยทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศต้องพึ่งพาเงินออมที่ไหลเข้าจากต่างประเทศทั้งในรูปสินค้าที่นำเข้าและ/หรือเงินลงทุนจากต่างประเทศดุจดังยาเสพติดที่ไม่อาจขาดได้ การหยุดการไหลเข้าโดยพลันจึงสร้างความเสียหายทำให้เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาหยุดชะงักการเจริญเติบโตในเวลาต่อมา



การค้ำประกันอย่างไม่เป็นทางการและไม่เปิดเผย หรือ implicit guarantee ทั้งในอัตราแลกเปลี่ยนและเงินฝากในระบบธนาคารจึงเป็นเสมือนภาระหนี้สินนอกบัญชี (off-balance sheet liabilities) ที่รัฐบาลไทยต้องรับขึ้นมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศให้ยังคงนำเงินทุนเข้าประเทศไทยโดยหวังว่าจะสู้กับ self-fulfilling ของนักลงทุนได้



การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จึงต้องต่อสู้กับนักเก็งกำไรที่รับรู้ถึงข้อมูลอันนี้และเป็นที่มาของการสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศในอัตราเร่งจนเกือบหมดในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่โครงสร้างระบบการเงินไม่มีแยกแยะภาระความรับผิดชอบของเอกชนผู้ฝากเงินที่จะต้องรับภาระกับภาระส่วนรวม เช่น การประกันเงินฝากในปัจจุบัน ภาระจากการค้ำประกันโดยรัฐบาลทั้งหมดจึงสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะที่จะเป็นผลร้ายตกอยู่กับประเทศหากเกิดวิกฤตฯ ขึ้นมา



แม้ว่าในขณะนั้นจำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศที่ส่วนหนึ่งนำมาเป็นทุนสำรองเงินตราที่เอาไว้ออกธนบัตรจะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่ามีเท่าใดเช่นในปัจจุบัน แต่นักลงทุนก็ทราบดีว่ามีอยู่อย่างจำกัด การขาดดุลการค้าจากการไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้หมายถึงจะมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าน้อยลง หนี้สาธารณะที่ “เชื่อ” ว่าจะเกิดขึ้นหากไม่สามารถคงอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่นี้ไว้ได้และการนำเงินสำรองฯ นี้ไปต่อสู้กับนักเก็งกำไรจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ ความเชื่อกลายเป็นความจริง ได้รวดเร็วขึ้น



พ่อค้าส่งออกที่ได้ดอลลาห์สหรัฐมาจึงไม่นำเงินเข้าประเทศ การจะต่ออายุสัญญาเงินกู้กับต่างประเทศเริ่มทำได้ยากขึ้น มีการขึ้นดอกเบี้ยภายในประเทศเพื่อชดเชยความเสี่ยง ล้วนเป็นสัญญาณของการล่มสลายในความเชื่อมั่นที่มีต่อการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนั้น ไม่แตกต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดกับบางรัฐสมาชิกของอียูในปัจจุบัน



วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดอย่างเป็นทางการเมื่อไทยประกาศออกจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีการจัดการในเวลาเดียวกับการคืนเกาะฮ่องกงกลับไปสู่อธิปไตยของจีนเมื่อ 2 ก.ค. พ.ศ. 2540 จึงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคาดเดาได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่บอกวัน ว. เวลา น. ไม่ได้เท่านั้นเอง



ปลายทางที่นรกจึงเป็นจุดหมายที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไร้ซึ่งความสามารถที่จะนำพาเศรษฐกิจหลบหลีกออกไปได้ ช่างน่าอนาถยิ่งนัก




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้