คมดาบซากุระ 2 : เอา "มัน" แค่ครั้งเดียว แต่ประเทศล่มจมไปอีกนาน (2) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (17 ตุลาคม2555)

คมดาบซากุระ 2 : เอา "มัน" แค่ครั้งเดียว แต่ประเทศล่มจมไปอีกนาน (2) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (17 ตุลาคม2555)


 
 
เอา "มัน" แค่ครั้งเดียว แต่ประเทศล่มจมไปอีกนาน (2)
 
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
 
17 ตุลาคม 2555

 
สต๊อกข้าวจากนโยบายจำนำข้าว
เป็นเช่น “เจ้าหญิงเบนโล” ที่ท้องกับคำโกหกโตแข่งกัน



นโยบายประชานิยมจำนำข้าวทุกเมล็ดที่นำมาใช้หาเสียง เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในระยะสั้น กำลังออกฤทธิ์ เอาใจคนบางกลุ่มบางพวกโดยอ้างว่าเป็นคนส่วนใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในระยะยาวแต่อย่างใด เอา “มัน” แค่ครั้งเดียว แต่ประเทศล่มจมไปอีกนาน ดังนั้นเพื่อการเข้าใจของคนส่วนใหญ่จึงขอเรียบเรียงให้อ่านอย่างง่ายๆ อีกครั้ง



นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดไม่ดีตรงที่ใด?



ความไม่ดีไม่ถูกต้องของนโยบายนี้อยู่ที่เป็นเรื่อง “การเมือง” โดยเอาชาวนาเป็นเครื่องบังหน้าของนักการเมือง เอาเงินภาษีของทุกคนมาซื้อเสียง



การจำนำข้าวในขณะนี้เป็นเรื่อง “การเมือง” ก็เพราะตั้งราคาจำนำที่สูงเกินกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายกันถึงกว่าร้อยละ 40 หากตั้งราคาจำนำต่ำกว่าราคาตลาดเช่นที่เคยทำมาในอดีตโอกาสขาดทุนจากนโยบายนี้ก็มีน้อยหรือไม่มี การผูกขาดซื้อข้าวทุกเมล็ดก็จะไม่เกิด กลไกตลาดก็ไม่หายไปไหน สรุปไม่มีใครเดือดร้อน



แต่ที่เป็นเรื่อง “การเมือง” ขึ้นมาก็เพราะนักการเมืองมุ่งหวังแต่เพียงเอาชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลจึงได้เสนอนโยบายประชานิยมที่ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงกับประเทศหากนำเอาไปปฏิบัติ รถคันแรกที่จะสร้างมลพิษ ความต้องการใช้น้ำมัน ถนน ที่จอดรถ การขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันที่ทำให้ประเทศสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันเพราะแรงงานก็ยังทำงานได้ผลผลิตเท่าเดิม ซึ่งเป็นการซื้อเสียงโดยสัญญาว่าจะให้โดยแท้



นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดช่วยคนจนหรือไม่?



จากข้อมูลที่ไหลบ่าออกมาในขณะนี้ คนจนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือไม่ใช่ก็ไม่ได้ประโยชน์ อย่าเข้าใจผิดเหมือนนักการเมืองที่บอกว่าชาวนาก็คือคนจนซึ่งไม่ใช่เสมอไป ชาวนาที่มีข้าวเหลือกินมาจำนำเกินกว่า 10 ตันนั้นไม่น่าจะใช่คนจน นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดนี้จึงนำเงินของทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนไปช่วยคนที่ไม่จนเป็นส่วนใหญ่



การช่วยคนกลุ่มหนึ่งโดยที่อีกกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ สังคมโดยรวมไม่ได้ดีกว่าเดิมแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเอาผลประโยชน์มาหักล้างกันหรือเอาจำนวนคนที่ได้ประโยชน์มาเป็นที่ตั้ง ดูตัวอย่างของการทำเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่ผ่านมาก็ได้ว่า ประโยชน์ที่ผู้ส่งออกได้จากการเปิดเสรีนำเข้าเป็นการตอบแทนนั้นตั้งอยู่บนผลเสียของเกษตรกรชาวนาชาวไร่เป็นส่วนใหญ่ใช่หรือไม่ จะวัดผลประโยชน์ด้วยตัวเงินว่ามีมากกว่าก่อนทำเขตการค้าเสรีได้อย่างไรในเมื่อ 1 บาทของเกษตรกรมีค่าไม่เท่ากับ 1 บาทของผู้ส่งออกแน่นอน สังคมที่ดีจึงพึงหลีกเลี่ยงนโยบายที่จะเอาผลประโยชน์มาหักล้างกัน



นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ประเด็นหลักไม่ใช่เรื่องทุจริต



จากที่กล่าวมาข้างต้นต่อให้ไม่มีการทุจริต นโยบายนี้ก็เป็นผลเสียต่อสังคมโดยรวมเพราะทำลายการแข่งขันที่เป็นหัวใจของกลไกตลาด เช่นเดียวกับที่ กสทช.ทำกับการประมูลคลื่น 3G



การตั้งราคาจำนำ “การเมือง” ให้สูงเกินจริงทำให้เกิดการทุจริตทุกระดับ ชาวนาในฐานะผู้ผลิตยอมรับการทุจริตหรือทุจริตเสียเองเพราะคิดว่าราคาที่ได้รับมันสูงเกินกว่าที่ตนสมควรจะได้ เช่นเดียวกับโรงสีและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ การยอมรับทุจริตโดยขอมีส่วนแบ่งจึงเกิดขึ้น



การออกฟ้องศาลจึงเป็นการ “เป่านกหวีด” ของนักวิชาการเพื่อเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงผลเสียของนโยบายประชานิยมที่มุ่งเอาชนะการเลือกตั้งของนักการเมืองที่ทำกับระบบเศรษฐกิจ การทุจริตเป็นเพียงหนึ่งในผลเสียดังกล่าว



บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ต่อนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด?



กระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบันดูจะสับสนกับบทบาทหน้าที่ของตนเองเป็นที่สุดนับได้ตั้งแต่ปลัดฯ ลงมา ประเด็นก็คือ ไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของประเทศชาติคืออะไร? เป็นสิ่งเดียวกับนโยบายของรัฐบาลหรือไม่?



สิ่งที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้ก็คือกระทรวงพาณิชย์ช่วยนักการเมืองโกหกเรื่องสต๊อกข้าว เหตุก็เพราะนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา “การเมือง” ที่สูงเกินราคาตลาดทำให้ไม่สามารถขายข้าวออกไปได้โดยไม่ขาดทุน เมื่อซื้อเข้ามาไม่อั้น “ทุกเมล็ด” และขายไม่ได้ สต๊อกที่เพิ่มขึ้นจึงฟ้องความล้มเหลวของนโยบายนี้



การขายหมายถึงมีการส่งมอบและชำระเงิน จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้ ถ้อยแถลงที่ผ่านมานั้นไม่สุจริตและปกปิดสาระสำคัญ ยิ่งมีคนสงสัยว่าขายไม่ได้ขายขาดทุน หากไม่จริงทำไมจึงปกปิดไม่เปิดเผยข้อมูลเพื่อแสดงความสุจริต



แต่ที่สำคัญไปกว่าการโกหกช่วยนักการเมืองก็คือ หน้าที่ในการส่งเสริมให้กลไกตลาดสามารถทำงานไปได้ ซึ่งมาตรการหลักก็คือการป้องกันการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันอันจะนำมาซึ่งขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ หากกระทรวงพาณิชย์ไม่ทำหน้าที่นี้แล้วจะมีกระทรวงนี้ไปทำไม? การหารายได้เข้าประเทศไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์จำเอาไว้



การออกไปแก้ต่างให้นักการเมืองโดยกระทรวงพาณิชย์ได้เขียนจดหมายลงใน “Asian Wall Street Journal” เมื่อ 10 ต.ค. 2012 หัวข้อเรื่อง “In Defense of Bangkok’s Rice Subsidies” ซึ่งอธิบายจุดยืนของรัฐบาลโดยบอกว่าไทยส่งข้าวได้น้อยก็เพราะอินเดียระบายข้าว ราคาข้าวจะดีขึ้นในปี 2013 เมื่ออินเดียเลิกระบายข้าวออกและการรวมหัวผูกขาดตลาดข้าวของผู้ผลิตที่ไทยเคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงประเทศหนึ่งนั้นประสบความสำเร็จ มันเป็นการเสริมกลไกตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร? ผู้ผลิตข้าวจะรวมหัวผูกขาดเช่นผู้ค้าน้ำมันได้อย่างไรในเมื่อข้าวเป็นสินค้าที่ถูกทดแทนได้โดยง่ายต่างกับน้ำมัน?



การอ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องสนองนั้น ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่ามีเหตุมีผลอ้างอิงตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้ หากเกินล้ำออกนอกขอบเขตดังกล่าว การใช้ดุลพินิจนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบ นโยบายจึงไม่อยู่เหนือเหตุผลและความถูกต้องไปได้ ที่ทำไปข้างต้นนั้นมันเป็นเรื่องที่สมควรทำนักหรือ?



อะไรจะเกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด?



นักการการเมือง “โว” ว่าเป็นนโยบายที่ดีต้องทำต่อไปอีกหลายๆ ปีเพราะ “คนส่วนใหญ่”? ได้ประโยชน์ คนที่ไม่เข้าใจหรือพวกที่เสียประโยชน์ต่างหากที่จะออกมาคัดค้าน



การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา “การเมือง” ที่สูงกว่าราคาตลาดมากจะมีผลทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ซื้อแต่เพียงรายเดียวในตลาดภายในประเทศ การส่งออกโดยไม่ขาดทุนจะทำได้ยากหรือไม่ได้เลย สต๊อกข้าวจึงเป็นหลักฐานของความล้มเหลวของนโยบายนี้



หากไม่สามารถขายระบายข้าวในสต๊อกออกไปได้ ภาระหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัวพร้อมๆ กับคำโกหกที่จะต้องโตขึ้นเรื่อยๆ สต๊อกข้าวจึงเป็นเช่นกรณี “เจ้าหญิงเบนโล” ที่ท้องโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมคำโกหก จะเอาเงินที่ใดหมุนเวียนกลับมารับจำนำในฤดูกาลใหม่ จะเอาที่ไหนมาเก็บข้าวที่รับซื้อมาหรือจะจุดไฟเผาทิ้งดี?



สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือวิกฤตเศรษฐกิจจากการขาดความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลทั้งจากประชาชนในประเทศเองและจากประชาคมโลกเพราะโกหกก็คือโกหกไม่มีสี คนพูดโกหกไม่ทำชั่วนั้นไม่มี





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้