คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (8) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (13 กุมภาพันธ์ 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (8) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (13 กุมภาพันธ์ 2556)




นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (8)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

13 กุมภาพันธ์ 2556




การกู้เงินนอกงบประมาณและหนี้เสียในธนาคารรัฐ
ชี้การไร้ซึ่งวินัยการคลังและความล้มเหลวของนโยบายประชานิยม



ปัญหาเรื่องวินัยทางการคลังกับโครงการประชานิยมกำลังแสดงผลของมันออกมาให้เห็นอย่างล่อนจ้อนหมดเปลือกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นเป็นอย่างไร



การออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทไปเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ดีประการแรกที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น เพราะรัฐบาลโดยรัฐมนตรีคลัง “โต้ง” ที่มิใช่พูดโกหกเฉพาะเรื่องเป้าหมายการส่งออก หากแต่ยังพูดโกหกต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เงินจำนวนดังกล่าว รัฐมนตรี “โต้ง” ผู้นี้มีสักเวลาไหมที่จะพูดความจริงให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้านายของเขา



สถานะการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวในปัจจุบัน ผ่านมาแล้วเกือบครบปีแต่ใช้วงเงินที่ขออนุมัติไปเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เป็นเครื่องชี้ที่ดีว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเพียงใดถึงต้องออกเป็น พ.ร.ก.ทำให้เห็นถึงจุดประสงค์หลักเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้เงินตามอำเภอใจ จึงทำให้ต้องออกเป็นกฎหมายต่างหากนอกวิธีการงบประมาณ แล้วจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบไปทำไมหากบริสุทธิ์ใจว่าจะไม่โกง?



การจัดทำโครงการก็มิได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง วิธีการงบประมาณของรัฐต่างจากเอกชน ต้องมีการระบุเป้าหมายวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนเสียก่อนจึงจะไปหาเงินมาใช้จ่าย มิใช่ดูแต่เพียงว่ามีช่องว่างเหลือจะให้กู้เต็มเพดานได้อีกหรือไม่ หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศและเจ้าของเงินกู้ วิสัยทัศน์หรือความต้องการอันจะเป็นเป้าหมายของโครงการนี้จึงเป็นของรัฐมนตรี “ปลอดประสบการณ์” แต่เพียงลำพังตัวคนเดียวซึ่งมีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะไม่ใช่ของประชาชนที่ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ที่รัฐมนตรีไปก่อมา



ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เป็นการกู้เงินเอาไปให้บริษัทต่างชาติมาจัดการน้ำภายในประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องที่ร้องไห้ไม่ออกหัวร่อไม่ได้ ภูมิประเทศตลอดจนวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่จะมาจัดการก็เป็นข้อมูลที่คนไทยรับรู้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถามง่ายๆ ว่าต่างชาติจะมารู้ดีกว่าคนไทยได้อย่างไร เรื่องนี้ในประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่เอามาให้ต่างชาติทำเพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ



การปะทุออกมาซึ่งปัญหาในธนาคารที่รัฐเป็นเจ้าของสองแห่งในเวลาไล่ๆ กันคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ที่มีปัญหาเรื่องสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จำนวนมากเป็นตัวอย่างที่ดีอีกประการหนึ่งของปัญหาดังกล่าวข้างต้น



สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นหมายถึงลูกค้าที่กู้เงินไปแล้วไม่ชำระดอกเบี้ยอันเป็นที่มาหลักของรายได้จากการดำเนินงานของธนาคาร ที่รุนแรงที่สุดก็คือสินเชื่อที่ธนาคารผู้ให้กู้ระงับการรับรู้รายได้กลายเป็นสินเชื่อที่จัดชั้นสงสัยว่าจะสูญหรือทวงคืนไม่ได้ ทำให้สินเชื่อนี้นอกจากจะต้องตัดทิ้งออกไปไม่นำมาคำนวณเป็นรายได้แล้วยังต้องตั้งเงินสำรองเอาไว้เต็มจำนวนสินเชื่อที่ปล่อยออกไปอีกด้วย เรียกว่าขาดทุน 2 เด้งกลายเป็นทรัพย์สินที่เป็นพิษหรือ Toxic Assets ในงบดุลของธนาคาร



ธนาคารเป็นธุรกิจที่เปราะบางเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น เช่น การขายเต้าฮวย เพราะมีทุนส่วนผู้เป็นเจ้าของในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีอยู่ กฎหมายธนาคารโดยทั่วไปบังคับเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ร้อยละ 7 ของเงินฝาก หรือร้อยละ 8.5 ของเงินให้สินเชื่อ ดังนั้นหากต้องขาดทุนเกินกว่าร้อยละ 7 ก็หมายความว่าส่วนของผู้เป็นเจ้าของก็เกือบไม่มีเหลืออยู่หรือถูกกินทุนหมดไปแล้ว ดังนั้นก็เข้าข่ายล้มละลายต้องปิดกิจการหรือที่เรียกว่า “แบงก์ล้ม” ก็เนื่องจากหนี้สินล้นพ้นตัวหรือหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินนั่นเอง



การรักษาส่วนของผู้เป็นเจ้าของเอาไว้ให้สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นภาระหลักในการบริหารความเสี่ยงของกิจการธนาคารเพื่อให้อยู่รอดโดยแท้ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน การปล่อยสินเชื่อจึงเป็นหัวใจเพราะเป็นต้นเหตุที่มาของทรัพย์ที่เป็นพิษ



ข้ออ้างของรัฐที่เข้ามาเป็นเจ้าของธนาคารก็คือ เพื่อเติมเต็มช่องว่างการให้บริการทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่สนจะทำ ดังนั้นธนาคารรัฐที่อ้างว่าดำเนินการเฉพาะกิจจึงเกิดขึ้นมาทั้งในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่รับฝากเงินจากประชาชนเป็นการทั่วไป เช่น ธพว. ธอท. ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกฯ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือธนาคารกรุงไทย ในขณะที่ กองทุนหมู่บ้าน ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารที่ปล่อยกู้แต่ไม่รับฝากเงินจากประชาชน



โครงการประชานิยมทั้งหลายและการทุจริตเชิงนโยบายจึงมักกระทำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเหล่านี้เพราะไม่อยู่ในการกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเฉกเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ที่สำคัญก็คือสินเชื่อที่ธนาคารรัฐปล่อยไปเหล่านี้ไม่อยู่ในคำจำกัดความของหนี้สาธารณะ



ธ.ก.ส.จากโครงการจำนำข้าวและพักชำระหนี้ดี ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกฯ จากการปล่อยกู้ให้พม่า ธนาคารออมสินจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์จากโครงการบ้านหลังแรก ล้วนเป็นตัวอย่างของหนี้เสียจากการปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐที่ “หมก” อยู่ตามสถาบันการเงินเหล่านี้จึงเป็นเครื่องชี้ที่ดีถึงวินัยทางการคลังและความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายประชานิยม



สินเชื่อที่จัดชั้นสงสัยว่าจะสูญหรือทวงคืนไม่ได้ของ ธพว. ที่เคยสูงถึงเกือบร้อยละ 50 ของสินเชื่อทั้งหมดในปี 2551 และมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาโดยตลอดเป็นตัวอย่างที่ดีของการอาศัยสถาบันการเงินที่รัฐเป็นเจ้าของในการปกปิดและปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐโดยขาดวินัย หากเป็นธนาคารเอกชนก็คงถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสั่งปิดกิจการไปนานแล้ว แต่ที่ยังคงเป็น “ผีดิบ” ตายก็ไม่ได้เป็นก็ไม่ได้ก็เนื่องมาจากการเป็นธนาคารรัฐที่ไม่อยู่ในกำกับของ ธปท.นั่นเอง ในขณะที่รัฐบาลต้องเข้ามาเพิ่มทุนจาก 4,800 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2547 มาเป็น 11,600 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์กฎหมายธนาคารและไม่ขาดสภาพคล่องด้วยเงินของประชาชนทั้งสิ้นหาใช่เงินของรัฐมนตรีคนใดไม่



วินัยทางการคลังของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงอยู่ที่การกระทำมิใช่ที่ลมปาก การคงไว้ของธนาคารรัฐเพื่อปล่อยกู้ตามนโยบายของตนเองจึงเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงวินัยทางการคลังได้เป็นอย่างดี ตราบใดที่ธนาคารรัฐปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล ก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงินหรือผู้ถือหุ้นเมื่อเกิดความเสียหาย ธนาคารรัฐจึงมีเป้าหมายเฉพาะกิจที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงวินัยทางการคลังเป็นสำคัญ หาได้มีเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่



ข้อพิสูจน์ก็คือหากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายอะไรก็อาศัยธนาคารพาณิชย์เอกชนที่มีอยู่ปล่อยเงินกู้แทนก็ได้โดยรัฐบาลเข้าค้ำประกันให้ ทำไมต้องมีธนาคารรัฐ? แต่ที่ไม่ทำเพราะการเข้าค้ำประกันซ่อนหนี้เสียและปกปิดยอดหนี้สาธารณะไม่ได้ต่างหาก ที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่คิดปล่อยสินเชื่อเหมือนอย่างที่ธนาคารรัฐทำก็เพราะมีความเสี่ยงสูงและถูกบังคับโดย ธปท.ให้ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นต่างหาก



รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเข้าตาจน จะเพิ่มทุนก็ไม่มีเงิน แม้มีเงินก็ยังไม่อยากนำเงินใหม่มาใส่หลุมที่ถมไม่เต็มเช่น ธพว. ที่เคยเพิ่มทุนมาแล้วกว่า 5 พันล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น แถมยอดหนี้สาธารณะที่พยายามกดเอาไว้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ใจอยากจะเอาหนี้เสียของ ธพว.ไปควบรวมกิจการกับหนี้ดีของธนาคารออมสินจะได้กลบให้เห็นเป็นการประจานความล้มเหลว แต่ก็ทำได้ลำบากเพราะจะสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ฝากเงินในธนาคารออมสิน ดีไม่ดีเจ๊งตาม ธพว.ไปได้ง่ายๆ



ตาสว่างขึ้นบ้างหรือยังว่า “นรก” ของคนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้