คมดาบซากุระ 2 : พิษภัยของทักษิโณมิกส์กับองค์การพิทักษ์สยาม โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (31 ตุลาคม2555)

คมดาบซากุระ 2 : พิษภัยของทักษิโณมิกส์กับองค์การพิทักษ์สยาม โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (31 ตุลาคม2555)


พิษภัยของทักษิโณมิกส์กับองค์การพิทักษ์สยาม

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
 
31 ตุลาคม 2555




10 ปีแล้วที่อยู่กับทักษิโณมิกส์
เกิดอะไรบ้างกับเศรษฐกิจไทย



หากจะดูจากจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่องค์การพิทักษ์สยามจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า “จุดติด” และ “แทงใจดำ” รัฐบาลและพวกเป็นอย่างยิ่ง



ที่กล่าวว่า “จุดติด” ก็เพราะมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่เห็นถึงพิษภัยของทักษิโณมิกส์ที่มีต่อประเทศที่พวกเขาอยู่อาศัยเป็นเจ้าของประเทศร่วมกับคนอื่นๆ พวกเขาเหล่านั้นมิได้นั่งนิ่งดูดายปล่อยให้นักการเมืองอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งอ้างเสียงข้างมากที่จะทำอะไรก็ได้กับประเทศ



ทักษิโณมิกส์จึงหมายถึง ชุดของนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลในระบอบทักษิณ ตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน จนถึงจำนำข้าว ในปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศมาแล้วกว่า 10 ปี



คุณลักษณะที่สำคัญของทักษิโณมิกส์ก็คือการนำเอาแนวคิดเรื่องประชานิยมมาใช้กับประเทศไทยเพื่อให้ตนเองได้เข้าสู่อำนาจรัฐ การซื้อเสียงด้วยเงินตนเองเพื่อให้ได้ ส.ส.เข้ามายกมือให้ตนเองในสภาฯ ในช่วงแรกจึงพัฒนาก้าวหน้ามาเป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนมาซื้อเสียงแทนผ่านโครงการประชานิยมในชื่อต่างๆ นานาตามแต่จะคิดได้



นโยบายจำนำข้าวที่สูงเกินจริงในปัจจุบันดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีและตรงที่สุดที่เอาเงินคนทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนไปให้ชาวนาที่ส่วนใหญ่รวยเพื่อซื้อชาวนาเอามาเป็นพวกทดแทนคนเสื้อแดงที่อาจจำเป็นต้องแยกทางกันเดินในอนาคต แน่นอนว่าดีสำหรับชาวนาแต่แลวสำหรับคนไทยคนอื่นๆ แล้วจะบอกว่าสังคมมีสวัสดิการที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร



ทักษิโณมิกส์จึงเป็นนโยบายที่



1. มุ่งเพิ่มเงินในกระเป๋าแต่มิได้เพิ่มรายได้แต่อย่างใด


ลองพิจารณาดูนโยบายใดๆ ของทักษิณและรัฐบาลในระบอบของเขาก็ได้ล้วนมีแก่นแท้ในลักษณะเดียวกันเช่นนี้ กองทุนหมู่บ้าน เป็นการอ้างการเพิ่มศักยภาพของคนในชนบทเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนเงินทุน ดังนั้นจึง “เหวี่ยง” เอาเงินไปให้คนใน 8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศกู้โดยไม่คำนึงเลยว่าทุกหมู่บ้านอยากได้หรือไม่ เงินในกระเป๋าที่เพิ่มจึงไหลไปสู่โทรศัพท์มือถือ จักรยานยนต์ ขณะที่รายได้ก็ยังคงเดิมแต่มีหนี้ในภายหลังเพิ่มมากขึ้น เป็นการทำให้เข้าใจผิดไขว้เขวว่าเงินคือรายได้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ไม่เชื่อก็ลองนับเงินในกระเป๋าดูก็ได้ว่ามีเท่ากับเงินเดือนหรือไม่จะได้รู้ว่าเงินกับรายได้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน



2. มุ่งสร้างประเทศจากการเพิ่มรายจ่าย


การเพิ่มเงินเพื่อหวังทำให้เกิดการเพิ่มในรายจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายเพื่อการบริโภคซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่มากของรายได้ประชาชาติหรือ GDP ดูเสมือนหนึ่งทักษิโณมิกส์จะทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวจาก GDP ที่เพิ่มขึ้น แต่มันเป็นความเจริญจริงหรือไม่?



การลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคเอกชนแม้จะเป็นองค์ประกอบใน GDP ที่เล็กกว่าการบริโภคมาก แต่ก่อให้เกิดผลต่อ GDP สูงเพราะมันสร้างงานสร้างรายได้ เป็นการเพิ่มอุปทานสร้างผลผลิต แต่จะทำอย่างไรให้เอกชนลงทุน ลำพังดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยที่กำหนด



การลงทุนจากรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกู้มาลงทุนนั้น พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากทุจริตเยอะและมักลงทุนในโครงการที่ไม่คุ้มค่า ต่างจากการลงทุนโดยเอกชนที่มีเจ้าของเงินเป็นตัวตนที่คอยดูแลปกป้องผลประโยชน์



การแย่งเอกชนลงทุนด้วยนโยบายกองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี หรืออื่นๆ จึงกลายเป็นการก่อให้เกิดอุปสงค์ในสินค้าและบริการโดยเฉพาะเพื่อมาบริโภคเพิ่มมากขึ้นมากกว่าที่จะสร้างผลผลิตเพิ่มอุปทาน



3. ปฏิบท (paradox) จากทักษิโณมิกส์


การกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอุปสงค์โดยการเพิ่มเงินนั้นได้พิสูจน์มานานแล้วว่าไม่ยั่งยืน เศรษฐกิจจะเจริญก้าวหน้าไปได้จำเป็นอย่างยิ่งที่อุปทานต้องขยายตัว ลำพังแต่อุปสงค์ที่เพิ่มโดยที่อุปทานคงที่นั้นไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะยาว มีแต่เงินเฟ้อเท่านั้นที่จะเป็นผลติดตามมา แล้วทักษิโณมิกส์มีนโยบายอะไรบ้างที่เป็นการเพิ่มอุปทานอย่างแท้จริง?



นโยบายจำนำข้าวดูจะเป็นตัวอย่างของการส่งเสริมเพิ่มจำนวนข้าวที่เอามาจำนำ แต่คุณภาพน่าจะสวนทางกันเพราะจำนำมุ่งทำกันที่ปริมาณมิใช่คุณภาพ ที่สำคัญก็คือรัฐบาลเข้ามาทำลายกลไกตลาดที่เอกชนลงทุนทำอยู่ด้วยการเป็นผู้ผูกขาดค้าข้าวแต่เพียงผู้เดียว การเพิ่มในอุปทานจึงเป็นสิ่งที่ทำยากและใช้เวลา ทำวันนี้เห็นผลในอีกหลายปีข้างหน้า นักการเมืองไม่ชอบ



การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งที่เพิ่มอุปทานและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ดูจากจำนวนรัฐมนตรีที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาดำรงตำแหน่งกระทรวงศึกษาฯ แล้วจะเห็นได้ว่าไม่ได้รับการเอาใจใส่แต่อย่างใด



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลทักษิณสมัยแรกก็มีจำนวนมากถึง 5 คนใน 4 ปี (ไม่นับรมช.) เริ่มจากนายเกษม วัฒนชัย ทักษิณ ชินวัตร สุวิทย์ คุณกิตติ ปองพล อดิเรกสาร และจบลงที่อดิศัย โพธารามิก เช่นเดียวกับรัฐบาลสมัคร/สมชาย 2 คนใน 10 เดือน หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 คนใน 14 เดือน เฉลี่ยอยู่ในตำแหน่งไม่กี่เดือนจะไปทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน การศึกษาและขีดความสามารถของประเทศจึงเละเทะอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้



4. ที่มาของเงินทุน : หลอกลวง + ปกปิด = ทำร้ายประเทศ


ข้อเท็จจริงในเรื่องฐานะทางการคลังและหนี้สาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบันก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายประจำในงบประมาณประจำปีสูง นั่นหมายความว่างบลงทุนจะมีต่ำ การกู้เงินนอกงบประมาณโดยอ้างเหตุฉุกเฉินออกเป็น พ.ร.ก.โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทักษิโณมิกส์ในระยะหลังนิยมทำเพื่อให้สามารถมีเงินและมีอิสระไปใช้จ่ายในโครงการประชานิยมได้ ดังเช่น พ.ร.ก.เงินกู้ 4 ฉบับจำนวน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือ พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ที่โอนหนี้กว่า 1 ล้านล้านบาทไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยชำระแทนรัฐบาล



สถานะทางการคลังที่แสดงโดยงบประมาณฯ ที่จะสมดุลหรือไม่จึงไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดที่ถูกต้อง ในขณะที่ปริมาณหนี้สาธารณะที่วัดบนพื้นฐานของ Cash Basis ที่จะนับรายการใดว่าเป็นหนี้ก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินออกไปจริง ดังนั้นการกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ในโครงการจำนำข้าว หากมีการขยายโครงการออกไปเรื่อยๆ เพื่อมิให้มีการปิดบัญชีเพราะสิ้นสุดโครงการ การขาดทุนที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ได้บันทึกว่ามีภาระหนี้สาธารณะเกิดขึ้นแต่อย่างใด การประวิงเวลาไม่ยอมบอกว่าใครเป็นผู้ซื้อแต่บอกว่าขายไปแล้วจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น



นโยบายประชานิยมที่มีแต่รายจ่ายแต่ไม่ได้แจ้งอย่างชัดเจนว่าจะนำเงินทุนจากแหล่งใดมาดำเนินการ การไม่ขึ้นภาษีและไม่กู้จากเอกชนก็หมายความว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งพาการเพิ่มปริมาณเงิน การจะทำเช่นนี้ได้ก็หมายความว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองเพื่อให้ธนาคารกลางเพิ่มปริมาณเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายจากนโยบายของรัฐบาล



ดังนั้น การส่งคนเข้าไปเพื่อใช้อิทธิพลต่อผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยต่อแนวคิดในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางหรือแม้แต่การปลด/เปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี การหักดิบโอนหนี้สาธารณะของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดย พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตฯ ปี พ.ศ. 2540 แทนก็ดี จึงล้วนเป็นก้าวย่างทั้งในเชิงแนวคิดและการกระทำที่ชี้ให้เห็นถึงการรุกคืบที่กระทำเพื่อให้สามารถนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอยู่จำนวนมากออกมาใช้สนับสนุนนโยบายประชานิยมของตนเองได้นั่นเอง





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้