คมดาบซากุระ 2 : ประชาธิปไตยหาใช่เรื่องจำนวน โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (28 พฤศจิกายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ประชาธิปไตยหาใช่เรื่องจำนวน โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (28 พฤศจิกายน 2555)


ประชาธิปไตยหาใช่เรื่องจำนวน


โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย


28 พฤศจิกายน 2555





 
“ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ และประชาชนสนับสนุนเลือกโดยเสียงข้างมาก”
เป็นความต้องการของสังคมหรือไม่?



ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแต่เพียงลำพัง หากอยู่ที่สำนึกของความถูกผิดชั่วดีเป็นที่ตั้งขณะที่เคารพเสียงส่วนใหญ่แต่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยต่างหาก



ดูเหมือนง่ายแต่หลายคนโดยเฉพาะนักการเมืองหาได้เข้าใจไม่ การเอาจำนวนมาเป็นเหตุผลของการกระทำจึงมิใช่หลักการและเหตุผลของประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่



การกระทำของรัฐบาลที่มีต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวของ พล.อ.บุญเลิศ (เสธ.อ้าย) เมื่อ 24 พ.ย. ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างของการใช้ “จำนวน” เป็นที่ตั้งของทั้ง 2 ฝ่าย



เพื่อหยุดยั้ง “จำนวน” ของคนที่จะมาเข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้าย รัฐบาลจึงใช้วิธีการอย่างสิ้นคิดโดยเริ่มใช้กฎหมายความมั่นคงตั้งแต่ก่อนที่การชุมนุมจะเริ่มขึ้นเสียอีก ผลงานรัฐบาลต่อการชุมนุมจึงเป็นไปอย่างก้าวร้าวและรุนแรงเพียงเพื่อเป้าหมายหยุดยั้ง “จำนวน” มิให้เสธ.อ้ายนำไปใช้ก็เท่านั้นเอง



ในทางกลับกัน การใช้ “จำนวน” ผู้ชุมนุมเป็น “อาวุธ” ของเสธ.อ้ายนั้น ก็กลับกลายเป็นผลในทางลบต่อการชุมนุมเช่นกัน เมื่อเป็นศาสตราวุธก็ย่อมจะมี “คม” ทั้ง 2 ด้านสุดแท้แต่จะใช้ในด้านใด หากผู้ชุมนุมมามากจนล้นจากพระบรมรูปทรงม้าไปถึงผ่านฟ้าชัยชนะก็ย่อมเป็นของเสธ.อ้าย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอันใดที่ฝ่ายรัฐบาลจะรู้ถึงเงื่อนไขนี้และเริ่มต้นเตะตัดขาแบ่งแยกการชุมนุมออกเป็นส่วนๆ เสียตั้งแต่ยังไม่เริ่มโดยอาศัยสะพานฆัฆวานฯ เป็นจุดแบ่งแยก ปิดกั้นการเข้าร่วมชุมนุมทุกวิถีทาง และใช้ความรุนแรงเพื่อ “เชือดไก่” ให้ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมาชุมนุมเห็น



รัฐบาลพ่ายแพ้ในทางยุทธศาสตร์ แม้สามารถสกัดกั้นการชุมนุมในครั้งนี้ได้แต่ไม่สามารถแก้ไขหรือทำให้เงื่อนไขการชุมนุมทั้ง 3 ข้อของเสธ.อ้ายหมดไปจากใจคนในสังคมได้แต่อย่างใด เพราะไปยึดเอาว่า อำนาจคือธรรม



การปราบคอมมิวนิสต์ในอดีตหรือการแก้ไขปัญหาชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่ตอบโจทย์ เอา “จำนวน” เอา “อำนาจ” เป็นที่ตั้งละเลยไม่รับฟังเสียงส่วนน้อย เงื่อนไขของความขัดแย้งจึงไม่หมดไป ความล้มเหลวจึงเป็นปลายทางที่มองเห็นได้



รัฐบาลนี้กำลังไร้ซึ่งความชอบธรรมทั้งในและนอกสภาฯ อย่างเห็นได้ชัดเจน ไม่ตอบโจทย์หรือแก้ไขความขัดแย้งแต่อย่างใด เอาแต่เสียงข้างมากเป็นเครื่องรองรับว่าฝ่ายตน “ถูก” แต่เพียงฝ่ายเดียว



การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ ที่ผ่านมา จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้แก้ไขความขัดแย้งด้วยการตอบโจทย์ที่ฝ่ายค้านสงสัยแต่อย่างใด นายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสามารถตอบข้ออภิปรายของฝ่ายค้านที่เป็นเสียงส่วนน้อยได้มากน้อยเพียงใด จะมีส.ส./รัฐมนตรีใดบ้างที่มีความกล้าหาญเป็น “ลูกผู้ชาย” ลุกขึ้นมารับผิดชอบ? มีแต่จะเกาะติดเก้าอี้อ้างแต่ว่าการไม่โหวตให้หรือลาออกคือการยอมรับผิด ทั้งๆ ที่ความรับผิดชอบมาพร้อมกับอำนาจมิใช่หรือ



ประชาธิปไตยด้วย “จำนวน” เสียงข้างมากได้พิสูจน์มานานแล้วทั้งในเชิงทฤษฎีและข้อพิสูจน์จากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าไม่สามารถหาทางออกให้กับสังคมได้



ประชาชน 3 คนมีทางเลือก 3 พรรค คนที่ 1 แสดงความชอบเลือกพรรค ก ข และ ค ตามลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนั้นสำหรับคนที่ 1 จึงชอบ ก มากกว่า ข และ ข มากกว่า ค หากคนที่ 2 แสดงความชอบเลือก ข ค และ ก ในขณะที่คนที่ 3 เลือก ค ก และ ข ดังแสดงในตารางข้างล่างนี้ ไม่ต้องแปลกใจว่าโอกาสได้เสียงข้างมากจะไม่เกิดขึ้นจากการเลือก







หากจะหาความต้องการของสังคมด้วยการรวมเสียงจากการเลือกตั้งมาชี้ขาด แม้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคนและเลือกตามอย่างคนที่ 1 ด้วยเสียงข้างมาก เช่น 15 ล้านเสียงขณะที่เสียงข้างน้อย 12 ล้านเสียงเลือกตามอย่างคนที่ 3 แต่การชอบ ก มากกว่า ค ของเสียงข้างมาก 15 ล้านเสียงก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามีค่าอยู่เหนือกว่าที่เสียงส่วนน้อย (ที่อาจรวมคนที่ 2 ด้วย) ที่ชอบ ค มากกว่า ก เพราะไม่รู้ว่าที่ชอบ “มาก” กว่านั้น “มาก” กว่าเท่าใด เปรียบเทียบโดย “วัด” ออกมาไม่ได้รู้แต่เพียงว่าชอบอะไรมากกว่าอะไรก็แค่นั้นเอง ชาย 2 คนต่างก็รักเมียตนเองแต่จะบอกได้อย่างไรว่าคนใดรักเมียตนเอง “มากกว่า” หรือ “เท่ากัน” ดังนั้น หากไม่สามารถเปรียบเทียบความ “ชอบ” ระหว่างบุคคลได้ การรวม “จำนวน” คนที่มาเลือกตั้งก็ไม่ได้บอกชี้ถึงความต้องการของสังคมด้วยเสียงข้างมากแต่อย่างใด



หากจะใส่ข้อเท็จจริงอย่างง่ายๆ ลงไปว่าทางเลือก ก คือพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบายจำนำข้าวขณะที่ทางเลือก ค คือพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอนโยบายประกันรายได้ชาวนา การจะอ้างชาวนาที่เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือคนส่วนใหญ่ที่มาลงคะแนนให้ก็ไม่สามารถมีข้อสรุปได้ว่าสังคมมีความต้องการตามแบบ ก หรือ ค พูดง่ายๆ ว่า 1 เสียงที่มาเลือก ก ไม่ได้หมายความว่าจะมีค่า “มาก” กว่า 1 เสียงของคนที่เลือก ค แต่อย่างใด



“จำนวน” ที่เลือก ก ที่มี “มาก” กว่าจึงไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายในการอ้างว่าเป็นความต้องการของสังคมตาม “จำนวน” คนที่เลือกแต่อย่างใด



ประชาธิปไตยด้วยการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐจึงมีข้อบกพร่องเรื่องการหาความต้องการของสังคม ว่าคืออะไร การอ้าง “จำนวน” ด้วยเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งทำให้ตนเองมีอำนาจทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ได้จึงเป็น “เผด็จการ” เสียมากกว่า



นิยามของ “เผด็จการ” ในที่นี้จึงเป็นการเอาความชอบของตนเองให้อยู่เหนือความชอบของคนอื่นๆ นั่นเอง จะเป็นโดยเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งหรือการอำนาจปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ และประชาชนสนับสนุนเลือกโดยเสียงข้างมาก” จึงเข้าข่ายเป็น “เผด็จการ” ตามนิยาม ซึ่งข้อบกพร่องก็คือการตัดสินใจของ “เผด็จการ” มักไม่คงเส้นคงวามีหลายมาตรฐานอยู่เสมอ



ในระบอบประชาธิปไตย การใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายจึงต้องทำโดยความระมัดระวังฟังเสียงส่วนน้อยท้วงติง เพราะความต้องการของสังคมไม่สามารถวัดที่เสียงส่วนน้อยหรือเสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่จะมาอ้างเป็นความต้องการของสังคมก็หาได้ไม่



การปิดกั้นไม่รับฟังหรือละเลยต่อเสียงส่วนน้อยดังเช่นกรณีการชุมนุมเมื่อ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา หรือการยกมือไว้วางใจทั้งที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงไม่สามารถตอบข้ออภิปรายซักถามของฝ่ายค้านในสภาฯ จึงเป็นการใช้เสียงส่วนใหญ่ในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด กลายเป็นเผด็จการที่เอาความชอบของตนเองให้อยู่เหนือคนอื่นๆ





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้