แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (39) (18/12/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (39) (18/12/2555)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (39)

(18/12/2555)
 

 
*หทะโยคะ คือ พื้นฐานที่สำคัญยิ่งของกุณฑาลินีโยคะ*



ผมได้กล่าวไปแล้วว่า โดยหลักแล้ว กุณฑาลินีโยคะ คือ ระบบการฝึกชำระ “กายทิพย์ทั้ง 7” ให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไปของคนเรา เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นฝึกกุณฑาลินีโยคะอย่างจริงจัง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องฝึก กายเนื้อ ให้แข็งแรงเสียก่อน โดยผ่านการฝึกดัดตนด้วย หทะโยคะ เพราะจะว่าไปแล้ว “โยคะ” ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ หทะโยคะนี่เอง โดยที่ หทะโยคะเป็นสัดส่วนแค่ 20-30% ของระบบการฝึกโยคะที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น ส่วนอีก 70-80% ที่เหลือนั้น ต้องฝึกกุณฑาลินีโยคะ ระบบการฝึกโยคะที่สมบูรณ์แบบนี้ ในสมัยโบราณมักจะเรียกกันว่า ศิวะโยคะ (Siva Yoga) หรือ สิทธะโยคะ (Siddha Yoga) โดยที่ การฝึกหทะโยคะกับกุณฑาลินีโยคะคือ แก่นแท้ของศิวะโยคะ (โยคะของพระศิวะ) ที่เก่าแก่ที่สุดในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวิชาโยคะ



สำหรับผูคนในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังประสบกับวิกฤตสุขภาพทำให้แม้แต่การฝึกดัดตนอย่างง่ายๆ แบบหทะโยคะ ก็ยังทำได้ยากเพราะชีวิตสมัยใหม่ที่เร่งรีบ เครียดจัด เครียดสะสม และมักอยู่กับคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนสมัยนี้มักมีอาการเส้นตึง เส้นบิด ซึ่งจะไปดึงโครงสร้างกระดูกของร่างกายผู้นั้นให้ค่อยๆ บิดเบี้ยว เสียรูปไปจากเดิม จนเกิด ภาวะไม่สบายกายเรื้อรัง ที่เรียกกันว่า โรคกลุ่มอาการออฟฟิศ กับ โรคกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งปัจจุบันเป็นกันเยอะมากเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว และการแพทย์แผนปัจจุบันมักจะรับมือกับอาการป่วยประเภทนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิผลนัก



ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอว่า หากคนสมัยนี้สนใจที่จะฝึกกุณฑาลินีโยคะอย่างจริงจังเพื่อพัฒนากาย-สมอง-จิตใจ-ปราณ-จิตวิญญาณอย่างบูรณาการ คนผู้นั้นควรจะเริ่มต้นจากการไปรับการนวดคลายเส้นและจัดกระดูก ด้วยการนวดแผนโบราณ (นวดแผนไทย) ควบคู่ไปกับการฝึกดัดตน ด้วยหทะโยคะเป็นอันดับแรก โดยที่การไปรับการนวดคลายเส้น และจัดกระดูกนี้จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วย



เพราะลำพังแค่การฝึกดัดตนด้วยหทะโยคะอย่างเดียวสมัยนี้ หากคนผู้นั้นอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป แทบไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาโครงสร้างกระดูกของร่างกายที่บิดเบี้ยวไปจากเดิม เนื่องจากอาการเส้นตึงได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ผู้อื่นมาช่วยนวดคลายเส้น จัดกระดูกควบคู่ไปกับการฝึกดัดตนด้วยทหะโยคะด้วยตนเอง จึงจะได้ประสิทธิผลสูงสุดในการเตรียมความพร้อมของร่างกายเพื่อไปฝึกกุณฑาลินีโยคะในขั้นต่อไป แต่ถ้าหากผู้นั้นยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ การฝึกหทะโยคะอย่างเดียวโดยไม่ต้องไปรับการนวดคลายเส้น และจัดกระดูกเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนคนในวัยกลางคนขึ้นไป ก็ย่อมทำได้



คำว่า “หทะ” ในหทะโยคะมาจากรากเสียงสันสกฤต “หะ” กับ “ทะ” โดยที่เสียง “หะ” เป็นตัวแทนของกระแสปราณในช่องปิงคละ (Subtle Solar Channel) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของกระดูกสันหลังอันเป็นช่องทางของพลังปราณที่เป็น พลังหยาง (Positive masculine Energy) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองซีกซ้าย และการทำงานของกายภาพ ส่วนเสียง “ทะ” เป็นตัวแทนของกระแสปราณในช่องอิทะ (Subtle Lunar Channel) ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของกระดูกสันหลัง อันเป็นช่องทางของพลังปราณที่เป็น พลังหยิน (Negative Feminine Energy) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองซีกขวา และการทำงานของจิตสำนึก



เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า หทะโยคะหมายถึง โยคะที่มุ่งปรับดุลยภาพระหว่างพลังหยาง (พลังสุริยัน) กับพลังหยิน (พลังจันทรา) ในกายเนื้อและกายปราณของผู้ฝึก เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงอย่างเป็นองค์รวม และเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของกายกับจิตของผู้ฝึก โดยที่เป้าหมายหรือประโยชน์ที่ได้รับจากหทะโยคะมีอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 5 ประการคือ



(1) การผ่อนคลาย การผ่อนคลายคือเป้าหมายแรกสุดของการฝึกหทะโยคะ เพราะฉะนั้น อาสนะ (ท่าดัดตน) ที่ผู้ฝึกหทะโยคะใช้ฝึกปฏิบัตินั้น จะต้องทำอย่างช้าๆ และทำอย่างมุ่งมั่นอดทนที่จะค่อยๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเส้นเอ็นในร่างกายของตนออกไป โดยไม่ฝืนมากเกินไปจนอาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บได้ แต่ก็ต้องไม่เลิกที่จะท้าทายขีดจำกัดของร่างกายไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และอย่างไม่ย่อท้อ เพราะหทะโยคะมุ่งที่จะสร้างความแข็งแกร่งของร่างกายควบคู่พร้อมไปกับการสร้างความยืดหยุ่นของร่างกายด้วย



(2) สุขภาวะของร่างกาย ประโยชน์ประการที่สองที่ได้รับจากการฝึกหทะโยคะเป็นประจำก็คือ ผู้นั้นสามารถธำรงสุขภาวะของร่างกายเอาไว้ได้อย่างยาวนานกว่าคนธรรมดามาก เพราะการฝึกดัดตนด้วยท่าอาสนะต่างๆ และการฝึกหายใจ (ปราณายามะ) มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการส่งเสริมสุขภาวะของร่างกายผู้ฝึกในระดับเซลล์ กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อ และช่วยขจัดของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยปรับเคมีในสมองทำให้ง่ายต่อการมีดุลยภาพทางอารมณ์อีกด้วย



(3) ช่วยล้างพิษและช่วยชำระร่างกายและจิตใจจากข้างในให้สะอาดยิ่งขึ้น


หทะโยคะยังเป็นระบบแห่งการล้างพิษ และการชำระร่างกายและจิตใจจากข้างในให้สะอาดยิ่งขึ้น โดยปราศจากความเครียดใดๆ เราควรระลึกเอาไว้เสมอว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฝึกอาสนะท่ายากๆ และโลดโผนแบบกายกรรมแต่อย่างใดเลย ขอเพียงผู้ฝึกหทะโยคะสามารถฝึกท่าอาสนะพื้นฐานเพียงสิบกว่าท่าอย่างสบายๆ โดยสามารถคงอยู่ในอาสนะ แต่ละท่าได้นานพอที่จะขับสารพิษออกจากร่างกาย และขับความตึงเครียดออกจากจิตใจได้ ก็เพียงพอแล้ว



(4) ทำกายและใจให้นิ่ง โดยผ่านการฝึกอาสนะจนเชี่ยวชาญ


ผลพลอยได้ที่ตามมาอีกประการหนึ่งจากการฝึกอาสนะจนเชี่ยวชาญก็คือ การที่ผู้นั้นสามารถเข้าถึง “ความนิ่ง” (Stillness) ของกาย และจิตได้อย่างเป็นไปเอง อันเป็นความนิ่งของกายที่มั่นคงดุจขุนเขา และเป็นความนิ่งของจิตที่ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบการเข้าถึงความนิ่งของหทะโยคะนี้ มิใช่เพราะผู้นั้นหมดแรง หมดพลังงานหรือพลังงานภายในตัวอ่อนแอลงจึงต้องหยุดนิ่งเพราะความเฉื่อย แต่มันเป็นความนิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางพลวัต (Dynamism) ของพลังงานหรือพลังชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของผู้นั้น และมีการไหลเวียนของพลังงานอย่างต่อเนื่องในร่างกายด้วย



(5) ช่วยปลุกพลังกุณฑาลินี


ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า หทะโยคะมิได้มุ่งเน้นให้ผู้ฝึกฝึกท่าอาสนะที่ยากๆ หรือแปลกพิสดาร และก็มิได้มุ่งฝึกโชว์ความเท่ของท่าร่างเหมือนการเต้นรำแต่ประการใด เนื่องจากต่อให้ผู้นั้นสามารถทำท่าอาสนะที่ยากๆ ได้ แต่กลับมิได้ทำให้พลังปราณหรือพลังงานภายในตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การฝึกท่าอาสนะยากๆ เหล่านั้น ก็หามีประโยชน์อันใดไม่ การฝึกอาสนะที่ถูกต้องในหทะโยคะ จะต้องมีดุลยภาพระหว่างความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น และความตระหนักรู้ถึงกระแสพลังปราณในร่างกาย พร้อมๆ กันไปด้วย



เพราะฉะนั้น การฝึกอาสนะจะต้องนำไปสู่การเพิ่มพลังปราณ และโน้มนำพลังปราณนั้นไปบำบัดฟื้นฟูเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย กับขยายจิตสำนึกให้แผ่ขยายกว้างไกลออกไปด้วย ด้วยเหตุนี้ การฝึกอาสนะในขั้นสูง จึงแยกไม่ออกจากการปลุกหรือการกระตุ้นพลังกุณฑาลินีในกระดูกสันหลัง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า หทะโยคะเป็นเครื่องช่วยที่สำคัญยิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการปลุกพลังกุณฑาลินี แม้ว่าตัวการฝึกอาสนะของหทะโยคะเอง จะมิได้ทำให้เกิดการตื่นขึ้นของพลังกุณฑาลินีโดยตรงก็ตาม






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้