แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (52) (19/3/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (52) (19/3/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (52)

(19/3/2556)
 

 
 
*เคล็ดการฝึกปราณายามะในหทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*



ที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึง เทคนิคของปราณายามะ เพื่อการฝึกปราณและทำให้จิตสงบเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ เทคนิคการหายใจแบบเต็มที่หรือสมบูรณ์แบบ เทคนิคการหายใจสลับรูจมูก เทคนิคการหายใจด้วยลำคอ และเทคนิคการหายใจด้วยการห่อลิ้นเหล่านี้เป็นต้น ต่อไปเราจะขอกล่าวถึง เทคนิคของปราณายามะเพื่อการชำระล้าง “กายเนื้อ” โดยเฉพาะซึ่งมีวิธีหลักๆ อยู่ 2 วิธีคือ



(1) กบาลภาตี เป็น วิธีการหายใจเร็วอย่างจงใจ วิธีนี้เรามักใช้เวลาที่เรามีเสมหะในหลอดลมมาก หรือรู้สึกตึงและแน่นบริเวณหน้าอก การหายใจเร็วๆ มักจะช่วยได้ โดยที่ การหายใจแบบกบาลภาตี เป็นการหายใจด้วยท้องอย่างเร็วๆ และจงใจ ลมหายใจจะสั้น เร็วและแรง เพราะผู้ฝึกจะต้องใช้ปอดเป็นที่สูบลมเพื่อทำให้เกิดแรงดัน ในขณะที่ปอดไล่อากาศออกมากพอที่จะขับของเสียทั้งหมดออกจากหลอดลมตั้งแต่ปอดขึ้นไปจนถึงจมูก คำว่า กบาลภาตี หมายความว่า ทำให้ศีรษะโล่งเบา วิธีหายใจแบบนี้จึงเป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง เวลาที่เรารู้สึกหนักหรือมึนศีรษะ



(2) ภัสตริกะ เป็นวิธีหายใจที่พัฒนาต่อมาจากกบาลภาตี กล่าวคือ ให้ผู้ฝึก ทำกบาลภาตีก่อนแล้วตามด้วยการหายใจเข้า และการกลั้นลมหายใจ ด้วยเหตุนี้ ภัสตริกะ จึงมีวิธีการฝึกที่หลากหลาย เช่น


(ก) ให้ทำกบาลภาตี 20 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าผ่านรูจมูกทั้ง 2 ข้าง และกักลมหายใจไว้อย่างสบายๆ จากนั้นจึงหายใจออกผ่านรูจมูกซ้าย หรือ


(ข) ให้ทำกบาลภาตีต่อเนื่องไปจนกระทั่งรู้สึกเหนื่อย จากนั้นจึงหายใจเข้าผ่านรูจมูกข้างขวา และหายใจออกผ่านรูจมูกข้างซ้าย ภายหลังจากที่กลั้นลมหายใจไว้นานพอสมควรแล้ว หรือ


(ค) ให้ทำกบาลภาตีผ่านรูจมูกข้างหนึ่ง (ข้างขวา) แล้วตามด้วยการหายใจเข้าผ่านรูจมูกข้างเดียวกัน (ข้างขวา) จากนั้น กลั้นลมหายใจไว้ และหายใจออกผ่านทางรูจมูกอีกข้างหนึ่ง (ข้างซ้าย) เมื่อทำเสร็จแล้ว จึงให้ทำกบาลภาตีด้วยรูจมูกอีกข้างหนึ่ง (ข้างซ้าย) และหายใจเข้าผ่านรูจมูกข้างเดียวกัน (ข้างซ้าย) จากนั้นให้หายใจผ่านรูจมูกอีกข้างหนึ่ง (ข้างขวา) หลังจากที่กลั้นลมหายใจไว้พอสมควรแล้ว หรือ


(ง) ในระหว่างที่ทำกบาลภาตี ให้หายใจเข้าผ่านรูจมูกข้างหนึ่ง (เช่นเริ่มต้นจากข้างขวา) และหายใจออกโดยเร็วผ่านรูจมูกอีกข้างหนึ่งทันที (ข้างซ้าย) ทำเช่นนี้ซ้ำๆ หลายรอบ จากนั้น หายใจเข้าช้าๆ ผ่านรูจมูกข้างเดิม (ข้างขวา) แล้วกลั้นลมหายใจไว้สักครู่หนึ่ง เมื่อเพียงพอแล้วก็ให้หายใจออกผ่านรูจมูกอีกข้างหนึ่ง (ข้างซ้าย) เมื่อเสร็จสิ้นการทำภัสตริกะหนึ่งรอบก็ให้เริ่มรอบใหม่ ด้วยการทำกบาลภาตีโดยสลับรูจมูก (รอบใหม่เริ่มต้นจากข้างซ้าย)



จะเห็นได้ว่า การหายใจแบบกบาลภาตี และภัสตริกะมีหลักการทั่วไปเหมือนกันคือ การทำให้ทางเดินหายใจของผู้ฝึกโล่งขึ้น โดยการหายใจแรงๆ ข้อควรระวังก็คือ หลังจากฝึกกบาลภาตีแล้ว ผู้ฝึกควรหายใจช้าเสมอ ผู้ฝึกไม่ควรหายใจเร็วๆ หลายครั้งเกินไป หลังจากหายใจเร็วสักพักแล้ว ควรหายใจช้าๆ หลายๆ เที่ยว โดยหายใจออกให้ยาวเสมอ



ถ้าหากกบาลภาตี และภัสตริกะคือ เทคนิคของปราณายามะในการชำระล้าง “กายเนื้อ” แล้ว มุทรากับพันธะ ก็คือ เทคนิคของปราณายามะในการชำระล้าง “กายทิพย์” ชั้นต่างๆ ในระบบของกุณฑาลินีโยคะนั่นเอง สำหรับผู้ที่ฝึกโยคะหรือทหะโยคะ โดยมีเป้าหมายเพื่อสุขภาพ และรูปร่างที่ได้สัดส่วนเป็นสำคัญ การฝึกมุทราและพันธะ อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่สำหรับผู้ที่ฝึกโยคะหรือกุณฑาลินีโยคะเพื่อการพัฒนากาย-จิต-ปราณอย่างเป็นองค์รวมแล้ว การฝึกมุทราและพันธะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด



มุทรา เป็นคำที่มีลักษณะพิเศษมาจากคัมภีร์ตันตระ และมีอยู่ด้วยกันหลายความหมาย โดยปกติจะหมายถึงปางมือ หรือท่าทางของมือ และนิ้วมือที่มีลักษณะพิเศษ แต่คำว่า มุทรา (Mudra) ในวิชากุณฑาลินีโยคะ จะหมายถึง การควบคุมอวัยะเฉพาะที่และความรู้สึกเพื่อช่วยให้เกิดการจดจ่อของจิต มุทรายังมีความหมายส่อถึงอุบายธรรมเพื่อการเข้าถึงความสุข และการมีสุขภาวะ โดยผ่านการปฏิบัติโยคะ มุทรา ยังเป็นการหลอมรวมที่เกิดขึ้น จากการควบคุมร่างกายภายนอก ซึ่งส่งผลต่อผู้ฝึกทั้งภายนอกและภายในไปพร้อมๆ กัน มุทรา ให้ความปีติสุข เพราะว่าตัวของมันเองเป็นธรรมชาติแห่งความสุข



มุทรา ยังช่วยผนึกรวมจักรวาลภายนอกเข้ากับภาวะตื่นรู้ หรือตระหนักรู้ภายในของผู้ฝึก อีกทั้งยังช่วยขจัดสิ่งผูกมัดทั้งหลายในจิตใจของผู้ฝึกด้วย



มุทรา ยังเป็นหนทางทำผู้ฝึกไปสู่ ภาวะ “ตุริยะ” (Turiya) อันเป็นสภาวะของความตระหนักรู้ขั้นที่ 4 หรือขั้นสูงสุดในวิชาโยคะ เพราะในขั้นนี้ จิตที่ตื่นและตระหนักรู้จะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากพันธนาการทั้งหลายในโลก



มุทรา เป็นกลุ่มการฝึกที่สำคัญมากในหทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ ในฐานะเป็นลำดับการฝึกที่สืบต่อจากการฝึกอาสนะ และการฝึกปราณายามะ (หรือกุมภกะ)



มุทรา ที่ใช้ฝึกในกุณฑาลินีโยคะหลักๆ มีอยู่ 10 ชนิดที่ผู้ฝึกโยคะเอาไว้ใช้เพื่อการชะลอวัย และมีอายุยืน คือ



1. มหามุทรา (Maha Mudra)


2. มหาพันธะ มุทรา (Mahabandha)


3. มหาเวธะ มุทรา (Mahavedha)


4. เขจรี มุทรา (Khechari)


5. อุทิยานะ พันธะ (Uddiyana)


6. มูลพันธะ (Mulabandha)


7. ชาลันธรพันธะ (Jalandhara Bandha)


8. วิปริตกรณี มุทรา (Viparitakarani)


9. วัชโรลิ มุทรา (Vajroli)


10. ศักติจาลนะ มุทรา (Sakticalana)



มุทราทั้งสิบชนิดข้างต้นนี้ เหล่าโยคีในยุคโบราณ ถือว่าเป็น การฝึกอันศักดิ์สิทธิ์ ที่องค์พระศิวะได้ถ่ายทอดให้แก่โยคีทั้งหลายเพื่อความสำเร็จทางจิต



(1) มหามุทรา วิธีฝึกใช้ส้นเท้าซ้าย กดบริเวณรอยฝีเย็บ (จักรมูลธาร หรือจักระที่ 1) เหยียดเท้าขวา ใช้สองมือจับเท้าขวาให้แน่น พร้อมกับทำการล็อกคาง และขมิบก้น เพื่อกระตุ้นพลังกุณฑาลินี ในขณะที่กำลังกลั้นลมหายใจอยู่ จากนั้นจึงค่อยระบายลมหายใจออกอย่างช้าๆ วิชาโยคะถือว่า การฝึกมหามุทรานี้ สามารถช่วยขจัดอวิชชา กิเลส และความทุกข์ต่างๆ ได้


อนึ่ง เมื่อหัดข้างซ้ายแล้วให้สลับมาหัดข้างขวา (ใช้ส้นเท้าขวากดบริเวณรอยฝีเย็บ) ด้วย โดยให้จำนวนครั้งข้างละเท่าๆ กัน



(2) มหาพันธะมุทรา วิธีฝึก ใช้ส้นเท้าซ้ายแตะบริเวณรอยฝีเย็บ วางเท้าขวาบนต้นขาซ้าย สูดลมหายใจเข้าไป ล็อกคางและขมิบก้น เพ่งจิตไปที่กึ่งกลางของท่อสุษุมนะ บริเวณลิ้นปี่ (จักระที่ 4 หรืออนาหตะ) กักลมหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนจะระบายลมหายใจออกมาช้าๆ เมื่อทำข้างซ้ายแล้ว ค่อยสลับมาทำข้างขวาด้วย



(3) มหาเวธะมุทรา ช่วยให้การฝึกมหามุทรา และมหาพันธะมุทราได้ผลยิ่งขึ้น โดยนั่งท่าเดียวกับมหาพันธะ เพ่งจิตไปที่กลางอก ล็อกคาง ขมิบก้น เพื่อไม่ให้ปราณเคลื่อนไหว ใช้สองมือแตะพื้นยกก้นขึ้นสูงจากพื้นเล็กน้อย โดยที่ส้นเท้าซ้ายยังแตะบริเวณรอยฝีเย็บ จากนั้นค่อยๆ ทิ้งก้นกระแทกโดนพื้นเบาๆ (ยังมีต่อ)






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้