แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (54) (2/4/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (54) (2/4/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (54)

(2/4/2556)
 


 
*เคล็ดการฝึกปราณายามะในหทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*



ที่ผ่านมา เราได้ถ่ายทอดการฝึกมุทราไปแล้ว 7 ท่าด้วยกัน ต่อไปจะขอถ่ายทอด 3 ท่าที่เหลือ



(8) วิปริตกรณีมุทรา วิธีฝึกให้นอนราบกับพื้น ขาชิดกันสองแขนวางอยู่ข้างลำตัว ฝ่ามือแตะพื้น ใช้แขนทั้งสองข้างค่อยๆ พยุงยกขาทั้งสองขึ้นจากพื้นเหนือศีรษะ โดยให้ขาทั้งสองตั้งตรง และตั้งฉากกับพื้น ในขณะนั้น สองมือควรช้อนสะโพกเอาไว้เพื่อพยุงร่างอยู่ในท่านี้ โดยค่อยๆ หลับตาหายใจให้ลึก จิตจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจพยายามอยู่ในท่านี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แต่ไม่ควรเกิน 15 นาที ผู้ฝึกควรฝึกท่านี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ค่อยๆ นานขึ้นได้เรื่อยๆ โดยไม่ฝืน อนึ่ง การฝึกท่านี้คางของผู้ฝึกไม่ควรแตะหน้าอก อาสนะท่านี้ก็เป็นหนึ่งในท่าหลักของการฝึกกุณฑาลินีโยคะตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะท่านี้ช่วยชักนำพลังงานหรือกระแสปราณของร่างกายจากจักระส่วนล่างมายังจักระส่วนบนของร่างกาย



หลังจากที่ทำท่าอาสนะนี้ได้จนชำนาญแล้ว ต่อไปผู้ฝึกควรเริ่มฝึกอุชชายี หรือการหายใจด้วยลำคอพร้อมกับหลับตา จากนั้นให้ผู้ฝึกรู้สึกหรือจินตนาการว่ามีกระแสพลังงานที่อุ่นร้อนกำลังไหลผ่านช่องลมปราณช่องกลาง โดยในช่วงหายใจเข้า กระแสพลังงานนี้เริ่มไหลจากจักระที่ 3 (มณีปุระ) ผ่านจักระที่ 4 (อนาหตะ) มาจนถึงจักระที่ 5 (วิสุทธิ) จากนั้น กลั้นลมหายใจอยู่ชั่วครู่ที่จักระที่ 5 นี้ก่อนที่จะเริ่มหายใจออก ในช่วงที่กำลังหายใจออกนี้ ให้รู้สึกหรือจินตนาการว่า กระแสพลังที่เย็นขึ้นเริ่มไหลผ่านจักระที่ 5 ไปยังจักระที่ 6 (อาชณะ) และจากจักระที่ 6 ไหลไปที่จุดพินธุบริเวณท้ายทอยด้านหลังของศีรษะ ก่อนจะไหลขึ้นไปที่จักระที่ 7 (สหัสราระ) ตรงกลางกระหม่อม อย่าลืมว่าทั้งการหายใจเข้า และการหายใจออกในมุทราท่านี้คือ การหายใจด้วยลำคอหรืออุชชายี



หลังจากหายใจออกเสร็จแล้ว ให้ย้อนกลับมากำหนดจิตที่จักระที่ 3 ใหม่เพื่อเริ่มทำวิปริตกรณีมุทรานี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยควรฝึก 21 รอบลมหายใจ ในวิชากุณฑาลินีโยคะนั้น เชื่อว่า การฝึกวิปริตกรณีมุทรา ข้างต้นจะทำให้ร่างกายหลั่ง “น้ำอมฤต” หรือฮอร์โมนที่ช่วยชะลอวัย หรือชะลอความแก่ชราออกมา และส่งมันไปบำรุงเลี้ยงสมองให้กระปรี้กระเปร่าคึกคักอยู่เสมอได้



(9) วัชโรลิมุทรา โดยทั่วไป ผู้คนมักจะสับสนได้ง่ายระหว่างมูลพันธะกับวัชโรลิมุทรา เพราะว่าวิธีการฝึกใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ ในการฝึกวัชโรลิมุทรานั้น ผู้ฝึกจะอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ หลับตา และผ่อนคลาย จากนั้นให้ผู้ฝึกกำหนดจิตไปที่โคนของอวัยวะเพศ (สำหรับผู้ชาย) หรือบริเวณคลิตอรีส (สำหรับผู้หญิง) ราวกับกำลังหดและดึงท้องน้อยขึ้นไป การหดดึงนี้ทำแบบเดียวกับช่วงที่ผู้นั้นกำลังกลั้นน้ำปัสสาวะให้หดดึงอยู่สักวินาที แล้วจึงคลายออก 10 วินาที ก่อนที่จะหดดึงอีก ทำเช่นนี้สลับไปมาเรื่อยๆ อยู่สามสี่นาทีก่อนจะหยุดฝึกมุทราท่านี้ แต่ในระหว่างที่กำลังฝึกมุทราท่านี้อยู่ ผู้ฝึกควรเพ่งจิตไปที่ท้องน้อย หรือจักระที่ 2 (สวาธิษฐาน) เสมอ



หากตำแหน่งการเพ่งจิตของวัชโรลิมุทรานั้น อยู่ที่โคนของอวัยวะเพศ (สำหรับผู้ชาย) อันเป็นการมุ่งกระตุ้นจักระที่ 2 ตำแหน่งการเพ่งจิตของมูลธารพันธะ จะอยู่ที่บริเวณรอยฝีเย็บ (Perineal) อันเป็นการมุ่งกระตุ้นจักระที่ 1 (มูลธาร) ด้วยเหตุนี้ การฝึกวัชโรลิมุทรากับมูลพันธะ จึงไม่ควรทำพร้อมกัน เพราะฐานที่ใช้กำหนดจิตนั้นต่างกัน ซึ่งผู้ฝึกจะต้องมีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังตั้งจิตการฝึกอยู่ที่ฐานใด อนึ่ง การฝึกวัชโรลิมุทรานี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อการควบคุมการหลั่งน้ำกามกับเพื่อการแปลงพลังทางเพศให้กลายเป็นพลังชีวิต เพื่อพัฒนาเป็นพลังทางจิตวิญญาณต่อไป



(10) ศักติจาลนะมุทรา มุทราท่านี้เป็นมุทราที่มุ่งปลุกพลังกุณฑาลินีเป็นหลัก จึงควรเป็นท่าฝึกหลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึกฝนมุทราทั้ง 9 ท่าที่ได้ถ่ายทอดไปแล้วอย่างช่ำชองแล้ว วิธีฝึกให้นั่งในสถานที่วิเวกในท่าขัดสมาธิ หรือสิทธิอาสนะ จากนั้นหายใจเข้าไปลึกๆ แล้วกลั้นลมหายใจไว้ พร้อมกับทำมูลพันธะไปด้วย โดยจินตนาการว่ากำลังดูดปราณเข้าสู่ท่อสุษุมนาตรงกลาง การกักลมหายใจเอาไว้ ทำให้ลมปราณภายในร่างกายผู้ฝึกพุ่งพล่าน โดยที่ผู้ฝึกต้องหาทางชักนำพลังปราณที่พุ่งพล่านนี้เข้าสู่ส่วนบนของร่างกาย โดยผ่านท่อสุษุมนาตรงกลาง นี่คือจุดประสงค์หลักของศักติจาลนะมุทรา



วิธีการฝึกศักติจาลนะมุทราอีกแบบหนึ่งคือ ให้ผู้ฝึกนั่งขัดสมาธิ หรือสิทธะอาสนะ หลับตาลง ทำเขจรีมุทราก่อน (การม้วนลิ้นแตะเพดานปากบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้) จากนั้นหายใจออกให้หมด พร้อมกับเพ่งจิตหรือความตระหนักรู้ของตนไปที่จักระที่ 1 หรือจักรมูลธาร ที่บริเวณรอยฝีเย็บระหว่างอวัยวะเพศกับรูทวารหนัก แล้วทำการล็อกคางหรือชาลันธรพันธะ จนกระทั่งร่างกายต้องการสูดหายใจเข้าให้ทำการหายใจเข้าแบบอุชชายี (หายใจด้วยลำคอ) พร้อมกับเงยหน้าขึ้น จากนั้นใช้จิตโน้มนำลมปราณจากจักระที่ 1 (มูลธาร) เคลื่อนขึ้นข้างบนตามส่วนหน้าของร่างกาย จนมาถึงยอดกระหม่อม (จักระที่ 7) กักลมหายใจไว้ที่นั่นชั่วครู่ ก่อนที่จะหายใจออกแบบอุชชายี และใช้จิตชักนำลมปราณให้ไหลลงมาตามกระดูกสันหลัง จนกลับคืนมาสู่จักระที่ 1 อีกครั้ง ทำการเดินลมโดยใช้จิตชักนำอย่างเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกจากการฝึกมุทรานี้



* * *



จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่า โยคะคือระบบการฝึกฝนกาย-จิต-ปราณให้แข็งแรง และแข็งแกร็งพอที่จะทนทานต่อการบำเพ็ญเพียรทางจิตขั้นสูง โดยมุ่งบ่มเพาะคุณธรรม และคุณสมบัติที่ดีนานัปการควบคู่กันไปด้วย โดยที่การชะลอวัย และการมีอายุยืนเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการฝึกนี้



ในทางปรัชญาโยคะเป็นการรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างจิตวิญญาณของปัจเจกกับจิตวิญญาณสากล วิถีของโยคะ จึงหมายถึงการหลอมรวม “กาย” ที่แข็งแกร่งมีพลังเข้ากับ “จิต” ที่ได้รับการฝึกฝนมาจนมีวินัยดีแล้วผ่านการฝึก “ลมปราณ” เพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาทางจิตวิญญาณของผู้นั้นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ โยคะจึงเป็นการสร้างเยื่อใยความผูกพันที่เปี่ยมไปด้วยบรมสุขกับสิ่งสูงสุดที่สูงยิ่งกว่าความสูงส่งใดๆ ของสิ่งที่มนุษย์เคยรับรู้ การฝึกโยคะจึงเป็นกระบวนการแห่งการกลายเป็นหนึ่งเดียวที่แสนมหัศจรรย์ยิ่ง เพราะมันเป็นกระบวนแห่งการรวมเป็นหนึ่งระหว่างสิ่งที่มีข้อจำกัดกับสิ่งที่ไร้ขีดจำกัด ระหว่างจุลจักรวาลกับมหาจักรวาล โดยผ่านการบรรลุสภาวะจิตแห่ง “อทวิภาวะ” (non-dual) หรือ “ความไม่เป็นคู่”



เหล่ามุนี ฤาษี โยคี นักพรตผู้ใหญ่ในสมัยโบราณจำนวนมากได้ทุ่มเทชีวิตให้แก่การศึกษาค้นคว้าความลับของชีวิต และจักรวาลถึงกับยอมตัดขาดกับโลกภายนอก เพื่ออุทิศตัวให้แก่การ “ดูจิต” หรือเพ่งจิตไปที่โลกภายในของตนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และสิ่งที่ค้นพบอันเป็นความลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต และจักรวาลก็คือมีการดำรงอยู่ของ “สิ่งสูงสุด” ที่เป็นทั้งความจริงขั้นสูงสุด และเป็นจิตสูงสุดที่สามารถทำให้คนเราหลุดพ้น และเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ได้ โดยพวกเขาเรียกหนทางอันนี้ว่า โยคะ



โยคะจึงเป็นของขวัญอันประเสริฐที่เหล่ามหาบุรุษหรือเหล่ายอดคนในยุคก่อนได้ถ่ายทอดมอบไว้ให้แก่มนุษยชาติรุ่นหลัง การฝึกโยคะ ไม่เพียงจะเกิดประโยชน์ทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจต่อตัวผู้ฝึกเองเท่านั้น แต่มันยังเป็นการช่วยพัฒนาสังคมในทางอ้อมอีกด้วย ยิ่งคนในระดับ “ผู้นำ” ของวงการต่างๆ หันมาสนใจฝึกโยคะกันมากขึ้น คนธรรมดาสามัญย่อมคล้อยตามประพฤติตาม จึงย่อมส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม เพราะมาตรฐานใดที่ผู้นำหรือผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายตั้งไว้ ชาวประชาย่อมคล้อยตาม



แต่การที่โยคะจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยรวมได้ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจะต้องมีความรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโยคะก่อนว่า โยคะมิใช่ศาสตร์ที่ทำให้หุ่นดีแค่นั้น แต่โยคะเป็นศาสตร์โบราณแห่งการพัฒนาจิตวิญญาณด้วยตนเองของผู้ฝึก โดยอิงอยู่กับกฎของเอกภพหรือจักรวาลและความสัมพันธ์ที่มีต่อสิ่งสูงสุด





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้