คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (21) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (15 พฤษภาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (21) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (15 พฤษภาคม 2556)




นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (21)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

15 พฤษภาคม 2556




การพัฒนากับการศึกษาเป็นของคู่กัน
 
 
นักการเมืองนั้น “รู้” แต่คนชั้นกลางล่าง “ไม่สนใจ”



ประเทศไทยกำลังลงทุนด้วยการสร้างหนี้ในโครงการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าเงินลงทุนแต่อย่างใด



โครงการเงินกู้ สองล้านล้านบาท เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบไปด้วยอิฐ หิน ดิน ทราย และเชื่อมด้วยปูนซีเมนต์ เป็นหลัก เป็นตัวอย่างที่ดีเพราะไม่มีแม้แต่บาทเดียวที่ไปลงทุนพัฒนาสติปัญญาของผู้คนในประเทศให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น



ระหว่างลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงกับการลงทุนให้การศึกษาในคน ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ของหลายๆ ประเทศก็บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าลงทุนในด้านใดคุ้มค่าเงินทุนมากกว่ากันถ้าประสงค์จะให้เกิดการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า



ญี่ปุ่นที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จสามารถพลิกฟื้นจากประเทศที่ด้อยพัฒนาและพ่ายแพ้สงครามให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในชั่วระยะเวลาเพียง 2-3 ทศวรรษหลังจากแพ้สงครามเท่านั้น



เป็นเรื่องน่าแปลกแต่จริงที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศด้อยพัฒนามาก่อนในช่วงก่อนสงคราม พยายามแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พื้นที่เพาะปลูก แร่ธาตุต่างๆ เพื่อมาเป็นตัวช่วยด้วยนโยบายรุกรานประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็ไม่สามารถยกระดับการพัฒนาของตนเองได้ แต่กลับมาทำได้เมื่อต้องพ่ายแพ้สงครามและต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เท่าเดิม



หากจะหาว่าอะไรเป็นเหตุ (Sources) ของการเพิ่มขึ้นใน GDP สามัญสำนึกคนทั่วไปไม่เว้นนักการเมืองก็สามารถให้คำตอบได้ว่า จำนวนทุนและแรงงานนั้นน่าจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนเพราะจะมีบทบาททำให้สามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น การมีจำนวนจอบเสียมหรือเครื่องจักรเครื่องมือมากขึ้นก็จะทำให้สามารถผลิตสินค้า เช่น ขุดดิน หรือสร้างสระเก็บน้ำได้มากขึ้นเร็วขึ้น การสร้างถาวรวัตถุแห่งความทันสมัยให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น รถไฟความเร็วสูงจึงเป็นคำตอบในใจของนักการเมือง แต่จะเป็นคำตอบของการพัฒนาหรือไม่?



สิ่งที่นอกเหนือจากสามัญสำนึกข้างต้นก็คือ GDP ที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้มาจาก “จำนวน” ทุนหรือแรงงานแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองแต่เพียงลำพัง การพัฒนาที่หยาบที่สุดคือการเพิ่มใน GDP นั้นส่วนใหญ่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามิได้มาจาก “จำนวน” ทุนและแรงงาน



ส่วนที่นอกเหนือไปจาก “จำนวน” ทุนและแรงงาน ที่เรียกว่า Total Factor Productivity (TFP) ต่างหากที่มีบทบาทเป็นองค์ประกอบหลักใน GDP ที่เพิ่มขึ้น ผลการศึกษาสาเหตุการโตเร็วของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงโตเร็วหลังสงครามสงบที่รวบรวมมาโดย Nishimizu and Hulten เมื่อปี ค.ศ. 1978











ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแสดงในแถวแรกที่โตเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 10 นั้นส่วนใหญ่มาจาก TFPในแถวที่สองโดยที่แสดงเป็นร้อยละในแถวสุดท้ายที่เกินกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไปแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1953-71ของ Denison and Chung ตีพิมพ์ในปี 1976 ชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มผลผลิตกว่าร้อยละ 10 ในช่วงเวลาที่ศึกษานั้นมิได้มาจากการเพิ่มขึ้นใน “จำนวน” ทุนและแรงงานแต่อย่างใด เหตุก็เพราะ TFP มีส่วนถึงร้อยละ 5.86 ของการเจริญเติบโตร้อยละ 10.04 หรือคิดเป็นส่วนแบ่งในการขยายตัวถึงร้อยละ 58.37 หรือเกินกว่าครึ่งนั่นเอง



การเพิ่มใน “จำนวน” จอบ เสียม รถไฟความเร็วสูง หรือแรงงานที่มาสร้างรถไฟความเร็วสูงหาได้มีคุณค่าอันใดหาก TFP ไม่เพิ่ม แล้วอะไรคือ TFP



ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นในช่วงหลังแพ้สงครามก็ขาดแคลนทุน แต่สิ่งที่ขาดแคลนมากกว่าก็คือ วิทยาการสมัยใหม่ ที่มิได้จำกัดอยู่ในเชิงวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์แต่เพียงลำพัง แต่หากหมายรวมถึงวิทยาการจัดการด้วยที่ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเจ้าของ



การลอกเลียนแบบเป็นทางเลือกที่ญี่ปุ่นทำได้ในขณะนั้นแต่ทำยากในสมัยนี้ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นทางออกที่ยั่งยืนเพราะยังสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเองได้ยาก ภาพลักษณ์ของสินค้าญี่ปุ่นในยุคนั้นคือ ราคาถูก-คุณภาพต่ำ ซึ่งต่างกับในปัจจุบันที่ ราคาแพง-คุณภาพสูง อย่างสิ้นเชิง



แนวนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นมีส่วนเป็นอย่างมากที่ผลักดันให้ภาคเอกชนสร้างวิทยาการสมัยใหม่ให้กับเศรษฐกิจของตนเอง การศึกษาเพื่อสร้างคนมารองรับวิทยาการที่ไปซื้อหามาเพื่อที่จะผลิตขึ้นด้วยตนเองในอนาคตจึงเป็นแนวนโยบายที่สำคัญ



ญี่ปุ่นหรือจีนจึงมิได้มีรถไฟความเร็วสูงด้วยการซื้อหาหัวรถจักรหรือระบบอาณัติสัญญาณมาใช้แต่เพียงลำพัง แต่หากยังผูกพันถึงการถ่ายทอดและ/หรือพัฒนาวิทยาการความรู้สมัยใหม่ภายใต้สัญญาการสร้าง/ประกอบภายในประเทศผู้ซื้อเพื่อให้รถไฟคันต่อๆ ไปในอนาคตสามารถทำได้ด้วยตนเอง



หากญี่ปุ่นในอดีตเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการซื้อเทคโนโลยีหรือรับจ้างประกอบโดยใช้แรงงานที่มีราคาถูกเป็นตัวช่วย อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นจะเจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ได้หรือ?



TFP จึงมิใช่ระดับเทคโนโลยีที่จะได้มาด้วยระดับการศึกษาและการลงทุนในการค้นคว้าวิจัยแต่เพียงลำพัง หากแต่ยังอาจหมายรวมไปถึงปัจจัยด้านสถาบันที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา เช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรมในสังคม คุณภาพของรัฐบาล หรือการคอร์รัปชัน



การศึกษาจึงช่วยให้คนไม่จนอย่างแท้จริงเพราะช่วยให้คนจนมีความสามารถมากขึ้นพอที่จะยกระดับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร การแก้จนจึงหาใช่ เงิน หรือรถไฟความเร็วสูงแต่อย่างใดไม่ เช่นเดียวกัน หากต้องซื้อเทคโนโลยีทุกครั้งโดยไม่สามารถค้นคว้าต่อยอดได้ก็เปล่าประโยชน์ แล้วจะทำเช่นที่ญี่ปุ่นนี้ได้อย่างไรหากไร้ซึ่งการศึกษาให้คนคิดเป็นทำเป็น



คนชั้นกลางล่างจะรู้บ้างไหมว่า ระหว่างรัฐบาลนี้ให้ ลูกได้แท็บเล็ต ลูกทำการบ้านน้อย ลูกไว้ผมยาวได้ หรือแม้แต่ลูกได้นั่งรถไฟความเร็วสูงฟรี กับการยุบโรงเรียนใกล้บ้านของรัฐบาลชุดนี้ สิ่งใดแก้จนได้มากกว่ากัน


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้