คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (24) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (5 มิถุนายน 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (24) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (5 มิถุนายน 2556)



นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (24)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

5 มิถุนายน 2556


 



จรวดผลักดันไทยให้เป็นประเทศพัฒนากำลังหมดแรงส่ง ไทยอาจเป็น “เทวดาตกสวรรค์” ในไม่ช้า!


       
       เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปรียบได้กับการนำส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรของโลก หากไม่สามารถสู้กับแรงดึงดูดของโลกผลักดันให้สามารถขึ้นไปอยู่ในวงโคจรค้างฟ้าได้ก็ต้องตกลงมาสู่ที่เดิมในไม่ช้า


       
       ไทยใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 11 แผน และทรัพยากรอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่เสียสละไปเพื่อพัฒนาประเทศจากการพัฒนาภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จากการพัฒนาที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลักมาสู่การใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นสำคัญ


       
       เพื่อการนี้เราได้ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าเป็นจำนวนมาก ดูตัวอย่างเช่น จำนวนป่าไม้ที่หลงเหลืออยู่ว่ามีมากน้อยเพียงใด
       


       จรวดท่อนแรกใช้เชื้อเพลิงไปหมดสิ้นแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันสถานะประเทศไทยให้เข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตามที่หวังเอาไว้


       
       สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การพัฒนาที่ผ่านมาก็คือ (1) ผลพวงของการพัฒนาที่ไม่ได้ลดความไม่เท่าเทียมกันเท่าที่ควร นั่นคือแม้ขนม GDP จะมีขนาดชิ้นใหญ่ขึ้นแต่ส่วนแบ่งที่ตัดให้คนในชาติได้ลิ้มชิมรสนั้นมันน้อยลงสำหรับคนส่วนใหญ่แต่มากขึ้นสำหรับคนส่วนน้อย (2) เราไม่เอาประสบการณ์ความสำเร็จ/ล้มเหลวของประเทสอื่นๆ มาเรียนรู้ ทำให้ขาดแนวทางที่ถูกต้อง ส่งผลให้ล้างผลาญใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสิ้นคิดเพื่อความสำเร็จอันน้อยนิด และ (3) จรวดที่ใช้ขับเคลื่อนนั้นมีรูรั่วจากการคอร์รัปชันที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ
       


       ประเทศไทยจึงอยู่ในห้วงของการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รายได้ค่าจ้างค่าครองชีพแพงกว่าประเทศด้อยพัฒนาด้วยกันเอง อันเป็นผลพวงของการพัฒนาที่ผ่านมาที่ทำให้คนไทยมีระดับรายได้เพิ่มมากขึ้น


       
       แต่ไทยกำลังจะมีการพัฒนาที่ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด เราสามารถเพิ่มรายได้ต่อหัวในยุคเศรษฐกิจโตเร็วสมัย “น้าชาติ” ได้กว่าร้อยละ 50 ในช่วงเวลาแค่ 5 ปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 แต่หลังจากนั้นเราใช้เวลามากกว่าอีกเกือบ 3 เท่าหรือเกือบ 15 ปีเพิ่มรายได้ต่อหัวได้อีกเพียง 1 เท่าตัว




 
     



       แม้คนไทยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ฉกฉวยโอกาส ไม่ได้สร้างประชากรให้มีการศึกษา ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี ฉาบฉวยและมักง่ายเอาแต่ซื้อสินค้าทุนสำเร็จรูปมากกว่าที่จะพัฒนาขึ้นมาด้วยเทคโลยีของเราเอง ดูตัวอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ได้ว่ายกเว้นแรงงานและที่ดินมีอะไรบ้างที่เป็นของคนไทย
       


       แต่ที่นักการเมืองไม่คิดเพราะเป็นเรื่องโครงสร้างในระยะยาวแต่ได้มาถึงจุดที่เป็นปัญหาแล้วก็คือ ไทยกำลังประสบปัญหาการมีโครงสร้างประชากรคงที่โดยมีเด็กเกิดน้อยลงขณะที่มีคนแก่มากขึ้น คาดว่าสัดส่วนของประชากรวัยเด็กที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกำลังจะถูกวัยสูงอายุแซงหน้าในอีกไม่ช้าดังแสดงในรูปที่ 1
       


       นั่นหมายถึงประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมคนชราเช่นเดียวกับญี่ปุ่นหรืออีกหลายๆ ประเทศที่มีผลต่อการพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะจะมีคนทำงานและเสียภาษีน้อยลงขณะที่จะมีคนไม่ทำงานและใช้ภาษีมากขึ้น




 


 
      



       ที่สำคัญก็คือ การเมืองและนักการเมืองเริ่มเป็นผู้สร้างปัญหามากกว่าจะเป็นผู้แก้ปัญหา คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ประเทศไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 อยู่ในยุคระบอบทักษิณเป็นส่วนใหญ่ที่ใช้นโยบายประชานิยมเป็นจรวดท่อนที่สองเป็นตัวขับเคลื่อน


       
       กระบวนทัศน์ของระบอบทักษิณสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สถานะของประเทศที่เจริญแล้วได้หรือไม่ คำตอบในตอนเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2543 เมื่อทักษิณและรัฐบาลของเขาครองอำนาจทางการเมืองอาจไม่ชัดเจน แต่เริ่มชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์


       
       รูปที่ 2 แสดงถึงสิ่งที่กำลังกล่าว ที่มาของรายได้ที่จะไปทำโครงการตามนโยบายประชานิยมนั้นมิได้มีที่มาจากภาษีแต่อย่างใด อย่าลืมว่าเรื่องภาษีเป็นเรื่องของนักการเมืองอย่างแท้จริงเพราะมีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่จะเพิ่มชนิดหรือปรับขึ้นลงภาษีได้


       
       ระบอบทักษิณทั้งที่มีอำนาจด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ อย่างเหลือล้นและชอบอ้างอำนาจจากเสียงข้างมาก แต่ก็มิได้ใช้เพื่อ “คิดใหม่ทำใหม่” หรือมีกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยตามที่ชอบอ้างแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เสนอชนิดของภาษีแบบใหม่หรือพยายามที่จะเก็บภาษีเพิ่มให้สมดุลกับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาอันเป็นการดำเนินนโยบายอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด สัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP จึงคงที่มาโดยตลอดทั้งๆ ที่มีช่องว่างจากรายได้ต่อหัวที่เพิ่ม นี่เป็นการเอาใจคนรวยหรือช่วยคนจนกันแน่?
       


       ระบอบทักษิณจึงมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้คนไทยอยู่แต่ในโลกของความฟุ้งเฟ้อและความฝัน อาศัยการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจลืมความจริงที่ว่า “งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา” เงินต้องมีที่มาที่ไป ไม่มีเงินที่ร่วงมาจากฟ้าอย่างแน่นอน


       
       การกู้ยืมมาใช้จ่ายตามนโยบายประชานิยมที่เป็นการผลักภาระชำระหนี้ไปในอนาคตจึงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับกระบวนทัศน์ของระบอบทักษิณ


       
       ประเทศไทยในขณะนี้จึงเคว้งคว้างไร้ทิศทาง ขึ้นไปข้างหน้าให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่ได้ ขณะที่กำลังถูกพวกที่ด้อยพัฒนาด้วยกันแซงหน้า (ยังมีต่อ)



 
       






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้