คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (25) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (12 มิถุนายน 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (25) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (12 มิถุนายน 2556)

     

นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (25)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

12 มิถุนายน 2556





      ไร้วินัยและภาระทางการคลังที่มากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือจุดจบของนโยบายประชานิยม
       


       คำถามสำคัญสำหรับระบอบทักษิณและทักษิโณมิกส์ในการใช้ชุดนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมก็คือ เป็นการ “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถพัฒนาเข้าสู่ระดับประเทศพัฒนาแล้วได้จริงหรือ
       


       ชุดของนโยบายประชานิยมตั้งแต่เริ่มแรกในปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบันเริ่มปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่าก่อให้เกิดแรงผลักดันในประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้มากน้อยเพียงใด


       
       ในภาพรวม รูปที่ 1 แสดงถึงอัตราการเจริญเติบโตในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าในช่วงทักษิณและรัฐบาลของเขาครองอำนาจนับจากปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา อัตราการขยายตัวของ GDP มิได้สูงเท่ากับห้วงเวลาก่อนหน้าทั้งที่มีปฏิวัติรัฐประหารไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ชอบอ้างแต่ก็ยังโตกว่า ทำได้อย่างมากก็แค่รักษาการเจริญเติบโตให้เท่ากับที่ผ่านมาในระดับต่ำสุดก็ว่าได้ ตกลงแล้วทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณมันมีอะไรที่ดีกว่า



 
       


        ชุดนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมตั้งแต่เริ่มต้นได้สร้างภาพลวงตาหรือมายาคติที่สำคัญให้กับประชาชนผู้เสพคือ เงิน (Money) รายได้ (Income) และความมั่งคั่ง (Wealth) ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน


       
       สิ่งที่นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมทำได้ก็คือ “เพิ่มเงินในกระเป๋า” ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง กองทุนหมู่บ้าน หรือการเข้าแทรกแซงทำลายกลไกตลาด เช่น สั่งเพิ่มค่าจ้าง 300 บาท/วัน การจำนำข้าว ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีของการเพิ่มเงิน แต่สิ่งที่ทำไม่ได้ก็คือ เปลี่ยนโครงสร้าง เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ
       


       เหตุก็คือ การเพิ่มเงินทำได้ง่ายกว่าการสร้างงานหรือสร้างกลไกตลาดให้มันทำงานได้ เมื่อไม่มีงานขณะที่มีเงินเพิ่มเพียงชั่วคราวความมั่งคั่งของประชาชนก็ไม่เกิด ประเทศจะมั่งคั่งไปได้อย่างไรจากการเอาเงินไปใส่มือประชาชนแต่เพียงลำพัง


       
       ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การที่รัฐเข้ามาเป็นผู้ค้าข้าวเสียเองทำให้โครงสร้างการผลิตและการค้าข้าวที่สร้างขึ้นมาอย่างยากลำบากกลับถูกทำลายไปกับนโยบายจำนำข้าวอย่างไร้สาระเพียงเพื่อเหตุผลด้านการเมืองเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งแต่เพียงลำพัง


       
       ชนชั้นกลางล่างควรถามตัวเองดูว่า ชาวนาที่นำข้าวมาจำนำมีความสามารถในการผลิตมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ด้วยราคาจำนำที่สูงกว่าตลาดจะมีแรงจูงใจให้ชาวนา โรงสี พัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมหรือไม่ หากไม่คุณภาพข้าวจากการจำนำจะดีขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลกำหนดราคาซื้อแพงกว่าราคาขายจะขายใครได้ รัฐบาลจึงกลายเป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว กลไกตลาดค้าข้าวก็ถูกทำลายกลายเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ความรู้ความสามารถและช่องทางการค้าของผู้ผลิตและพ่อค้าเอกชนก็จะสูญหายไป ผลการขาดทุนที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลที่ติดตามมามันสร้างความมั่งคั่งให้ชาติไทยได้อย่างไร


       
       ชุดของนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมจึงกลายเป็นปัญหามากกว่าเข้ามาแก้ปัญหาเพราะมิได้ไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นภาระทางการคลังให้กับเศรษฐกิจประเทศจากการใช้จ่ายเงินตามโครงการโดยมิได้คำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้กลับมา
       


       โครงการจำนำข้าว หรือรถไฟความเร็วสูง เป็นตัวอย่างที่ดีว่านักการเมืองคำนึงถึงผลตอบแทนที่ว่าหรือไม่ หากจะให้คนทั้งประเทศยอมขาดทุนกว่า 2 แสนล้านจากการจำนำข้าวให้เอาเงินไปแจกโดยตรงก็ให้ผล “การเพิ่มเงินในกระเป๋า” ชาวนาได้เหมือนกัน แต่ไม่มีค่าบริหารจัดการอีกหลายหมื่นล้านบาท แถมยังรักษากลไกตลาดค้าข้าวเอาไว้และไม่มีเงินหล่นหายจากการคอร์รัปชันเหมือนเช่นที่เป็นอยู่อีกด้วย


       
       จุดจบของนโยบายประชานิยมจึงอยู่ที่ภาระทางการคลังทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ประสบการณ์จากประเทศละตินอเมริกาที่ใช้นโยบายนี้มาก่อนเป็นข้อพิสูจน์
       


       สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำประเทศไทยในอดีตสามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ก็คือ “วินัยทางการคลัง”
       


       วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่ผ่านมาถือได้ว่าเกิดจากภาคเอกชนไปก่อหนี้ต่างประเทศไว้เกินตัว แต่หากภาครัฐไม่มี “วินัยทางการคลัง” ไปร่วมก่อหนี้ด้วย ผลร้ายที่ติดตามย่อมทวีความรุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่าที่ประสบมาอย่างแน่นอน
       


       แต่ในปัจจุบันเหตุการณ์น่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม การที่รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายที่ผูกพัน เช่น เงินเดือน เงินอุดหนุนเพื่อสวัสดิการสังคมต่างๆ ทำให้ต้องใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง และหันไปใช้เงินนอกงบประมาณจากการกู้เงินอันเป็นการสร้างหนี้และภาระทางการคลังจากนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม


 

     




          ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 รัฐบาลมีการขยายตัวของรายจ่ายมากกว่ารายรับ ในขณะที่ผลผลิตของประเทศที่แสดงโดย GDP มีค่าไม่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตามที่ปรากฏในตารางที่ 1 จากเดิมช่วงทศวรรษที่ 2540 ที่มีรายจ่ายขยายตัวสูงกว่ารายรับเพียงร้อยละ 0.2 (4.9 - 4.7) มาเป็นร้อยละ 4.6 (8.8 - 4.2) ในช่วงทศวรรษที่ 2550
       
       

        การที่รายรับไม่ขยายตัวหมายความว่า ชนิดภาษีหรืออัตราภาษีไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รายจ่ายขยายตัวเพิ่มเกือบเท่าตัวจากโครงการตามนโยบายประชานิยม ทำให้ขาดดุลและรัฐบาลต้องพึ่งพารายรับจากการกู้เงินเป็นสำคัญ จึงเป็นการยากที่จะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่สร้างความเสี่ยงภัยให้กับประเทศได้
       


       เหตุก็เพราะรายรับส่วนใหญ่มาจากภาษีที่แปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่รายจ่ายนั้นส่วนใหญ่คงที่และผูกพัน ดังนั้นหากเศรษฐกิจประสบสภาวะผันผวนที่ทำให้ GDP ลดลงแม้เพียงร้อยละ 1 ก็จะมีผลทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบถึงร้อยละ 90 ของ GDP ในปีพ.ศ. 2572 จากระดับร้อยละ 60 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันดังแสดงโดยรูปที่ 2


       
       แน่นอนว่าจะส่งผลลบต่อการสะสมทุนและการเติบโตของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากจากระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ การขึ้นดอกเบี้ย และ/หรือการรัดเข็มขัดลดรายจ่ายเพิ่มรายเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่าน่าจะเกิดขึ้น ถึงเวลานั้น “งานเลี้ยง” ย่อมต้องเลิกราคิดบัญชีจ่ายเงิน เหมือนเช่นที่ กรีซ หรืออีกหลายประเทศที่รวมถึงไทยที่เคยประสบพบมา


       
       แต่สิ่งที่ สุรจิต และคณะ (2011) ยังไม่ได้เอาไปคำนวณก็คือ การขาดทุนจำนำข้าวที่ยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตัวเลขเท่าใด และ เงินกู้ 2,000,000,000,000 บาทนอกระบบงบประมาณ “คิดใหม่ ทำใหม่” ของทักษิโณมิกส์คือการไร้ซึ่งวินัยทางการคลังอย่างสิ้นเชิง


       
       ไม่ต้องรอผลคำนวณก็คาดเดาได้ว่า รัฐบาลกำลังเป็นผู้สร้างปัญหาอย่างแน่นอนในอนาคตเพราะมิได้มีการเตรียมตัวลดภาระทางการคลังเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นแต่อย่างใด “นรก” คนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน




 



 
       




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้