แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (68) (9/7/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (68) (9/7/2556)



แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (68)

(9/7/2556)

 



       *เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*


       
       กิริยาท่าที่ 10 “เนามุคลี มุทรา” (ท่าปิดทวารทั้ง 9)


       
       กิริยาท่านี้เป็นท่ายาก จึงควรเตรียมการฝึกทีละขั้นๆ ก่อนจะเข้ามาฝึกกิริยาท่านี้ โดยเริ่มจาก


       
       (1) ฝึกปิดทวารหู นั่งขัดสมาธิ ตัวตรง หลังตรง ผ่อนคลาย ปิดตาแล้วใช้นิ้วชี้ แต่ละข้างอุดหูแต่ละข้างเอาไว้แล้วทำสมาธิ ขณะทำสมาธิต้องปิดปากสนิท ให้ฟันห่างกันเล็กน้อย (ไม่ขบฟัน) ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ ช้าๆ ขณะที่หายใจออก ให้จิตจดจ่อตาม “เสียง” ที่เกิดขึ้นภายในศีรษะขณะที่กำลังเจริญภาวนาอยู่ โดยพยายามให้จิต “ตามรู้” เสียงที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำนี้ ทั้งลมหายใจออก และลมหายใจเข้าไปเรื่อยๆ อย่างผ่อนคลาย อย่างสบายๆ ไม่เครียดเกร็ง จนกว่าจะออกจากสมาธิ การฝึกปิดทวารหูนี้เป็นการฝึกที่สำคัญมาก ผู้ฝึกต้องฝึกหัดให้ชำนาญก่อนที่จะก้าวไปสู่การปิดทวารอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ


       
       (2) ฝึกปิดทวารทั้ง 7 หลังจากที่ ผู้ฝึกได้ฝึกปิดทวารหู จนชำนาญแล้ว ขั้นต่อไป ผู้ฝึกควรเริ่มฝึก ปิดทวารทั้ง 7 เป็นลำดับ ต่อมาการฝึกปิดทวารทั้ง 7 หมายถึง สองตา สองหู สองรูจมูก และปากจะต้องปิดตลอดการฝึก โดยผ่านการปิดทวารทั้ง 7 ที่เป็นช่องทางรับรู้โลกภายนอก จิตของผู้ฝึกจะถูกดึงให้มาตระหนักรู้ และจดจ่ออยู่กับโลกภายในในขณะฝึกโดยปริยาย อย่างไรก็ดี การฝึกปิดทวารทั้ง 7 นี้ จะยากกว่าการฝึกปิดทวารหูตรงที่ผู้ฝึกจะต้องกักลมหายใจในระหว่างการฝึกด้วย เพราะฉะนั้นคนที่จะฝึกการปิดทวารทั้ง 7 นี้ได้ จะต้องมีความพร้อมจริงๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ


       
       การฝึกปิดทวารทั้ง 7 นี้ เริ่มจากนั่งขัดสมาธิในท่าสิทธะอาสนะผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจอย่างสิ้นเชิง ตัวตรง หลังตรง ยกสองมือขึ้นมาอยู่ตรงหน้า โดยศอกทั้งสองข้างชี้ออกไปด้านข้างลำตัว จากนั้น จงปิดหูด้วยหัวแม่มือ ปิดตาด้วยนิ้วชี้ ปิดรูจมูกด้วยนิ้วกลาง ปิดริมฝีปากบนด้วยนิ้วนาง และปิดริมฝีปากล่างด้วยนิ้วก้อย นิ้วมือควรปิดทวารแต่ละทวารเบาๆ แต่ปิดให้แน่นทั้งทวารทั้ง 7 ตลอดการฝึก นิ้วกลางควรคลายรูจมูกออกในช่วงกำลังหายใจเข้า และกำลังหายใจออก โดยที่พอหายใจเข้าจนสุดให้ใช้นิ้วกลางปิดจมูกเอาไว้แล้วทำการกลั้นหายใจ จากนั้นให้จิตจดจ่อไปที่ “เสียงภายใน” ที่เปล่งออกมาจากจุดพินธุบริเวณยอดศีรษะส่วนหลัง และจากตรงกลางกระหม่อม โดยพยายามกักลมหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงคลายนิ้วกลางออกจากการปิดรูจมูกพร้อมกับระบายลมหายใจออก นี่คือหนึ่งรอบ พอจะขึ้นรอบใหม่ก็ให้สูดลมหายใจเข้า ใช้นิ้วกลางปิดรูจมูก แล้วกักลมหายใจอีก นำจิตไปจดจ่อที่ “เสียงภายใน” อีก ให้ผู้ฝึกหัดเช่นนี้จนกระทั่งสามารถจับ “เสียงภายใน” ที่ชัดเจนจำเพาะเสียงหนึ่งนั้นได้ เมื่อจับเสียงภายในเสียงนั้นได้แล้ว ก็ให้ทุ่มเทความใส่ใจของตนทั้งหมดไปที่เสียงภายในเสียงนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกจากสมาธิ



 
     

 
       (3) ฝึกปิดทวารทั้ง 9 นั่งในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา ทำเขจรีมุทรา และก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย พร้อมกับเพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 อยู่สักพัก จากนั้นจงหายใจเข้าแบบอุชชายี ดึงลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ยกศีรษะขึ้นเมื่อลมปราณและจิตที่ชักนำปราณผ่านจักระที่ 5 ไปยังจุดพินธุ เมื่อจิตของผู้ฝึกไปถึงจุดพินธุแล้ว ให้ทำการปิดทวารทั้ง 7 โดยปิดหูด้วยหัวแม่มือ ปิดตาด้วยนิ้วชี้ ปิดรูจมูกด้วยนิ้วกลาง ปิดริมฝีปากบนด้วยนิ้วนาง และปิดริมฝีปากล่างด้วยนิ้วก้อย
       


       จากนั้นให้ทำมูลพันธะ (ขมิบรอบรูทวารหนัก) กับวัชโรลิมุทราควบคู่กันไปด้วย มูลพันธะคือการปิดทวารที่รูทวารหนัก ส่วนวัชโรลิมุทราคือการปิดทวารที่ท่อปัสสาวะ รวมแล้วจึงเป็นการปิดทวารทั้ง 9 พร้อมกัน ขณะที่ผู้ฝึกทำการฝึกปิดทวารทั้ง 9 นี้ ต้องให้จิตจดจ่อไปที่ช่องลมปราณด้านหลังของลำตัวกับจุดพินธุเสมอ โดยผู้ฝึกจะต้องจินตนาการว่ามีตรีศูล (อาวุธที่เป็นสามง่ามของพระศิวะ) ซึ่งปลายด้ามอยู่ที่จักระที่ 1 ตัวด้ามตั้งตรงขนานขึ้นไปกับกระดูกสันหลัง และส่วนที่เป็นสามง่าม ตั้งอยู่ตั้งแต่จักระที่ 5 ขึ้นไป โดยที่ปลายคมของสามง่ามอันตรงกลาง ค่อยๆ แทงจุดพินธุเข้าไปให้ผู้ฝึกจินตนาการว่า ปลายสามง่ามอันตรงกลางนี้ ค่อยๆ แทงจุดพินธุจนทะลุในขณะที่ผู้ฝึกกำลังกลั้นลมหายใจและจิตจดจ่ออยู่ที่จุดพินธุ แล้วจึงคลายมูลพันธะกับวัชโรลิมุทราออก พร้อมกับเปิดทวารทั้ง 7 ข้างบน เอามือลงขณะที่ค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายี ดึงลมปราณจากจุดพินธุผ่านช่องลมปราณด้านหลังของลำตัวกลับลงมาที่จักระที่ 1 ข้างต้นนี้คือ หนึ่งรอบให้ฝึกเช่นนี้ 5 รอบ หรือจนกว่าจะออกจากสมาธิ
       


       ภาพ กิริยาท่าที่ 10 “เนามุคลีมุทรา” (ท่าปิดทวารทั้ง 9)


 
       



(ยังมีต่อ)


 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้