คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (6) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (16 ตุลาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (6) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (16 ตุลาคม 2556)



นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (6)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

16 ตุลาคม 2556





       ประชาธิปไตยของคนเดือนตุลาจึงแตกต่างกัน บางคน “ได้กิน” แต่อีกส่วนหนึ่ง “กินไม่ได้”


       
       ความขัดแย้งทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากชนชั้นที่สร้างความไม่เท่าเทียม ระหว่างชนชั้นหรือไม่
       


       กล่าวในบริบทของปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งของชนชั้น “อำมาตย์-ไพร่” หรือไม่?


       
       ใครคือ “ไพร่” คำตอบสุดท้ายน่าจะอยู่ที่ คนชั้นกลางล่าง ของผู้เขียน หรือคนชั้นกลางใหม่ ในความหมายของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
       


       คนชั้นกลางใหม่นี้ได้กลายเป็นฐานหรือแนวร่วมที่สำคัญให้กับกลุ่มทุนใหม่ที่นำโดยระบอบทักษิณในกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา อาศัยแนวนโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือ


       
       โดยฝ่ายทุนใหม่เป็นฝ่ายออกโครงการประชานิยมแลกกับคะแนนเสียงจากคนชั้นกลางใหม่เพื่อเข้าสู่อำนาจแต่เพียงอย่างเดียว การรับฟังความคิดเห็นหรือกระบวนการอย่างอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตยนั้นขาดจากกันเมื่อพ้นเลือกตั้ง คล้ายดั่ง “ธุรกิจการเมือง” เป็นระบบอุปถัมภ์ด้วยเพื่อซื้อเสียงด้วยนโยบายประชานิยมมากกว่าฐานเสียงในระบบพรรคการเมือง
       


       ดูไปแล้วการเป็นหุ้นส่วนก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกและเหลือเชื่อเป็นอย่างยิ่ง เหตุก็เพราะคนชั้นกลางล่างนับวันก็จะกลายเป็นผู้ที่รับเคราะห์จากนโยบายประชานิยมที่ระบอบทักษิณใช้หาเสียงมากขึ้นทุกวัน


       
       หากมอง “คนจน” ในเชิงพลวัต คนชั้นกลางล่างที่ส่วนใหญ่ก็มิใช่ “คนจน” แต่อย่างใดไม่ว่าจะมองในมุมใด อย่าทึกทักอย่าง “ดักดาน” มองเกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่เป็นคนจน ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นมิใช่แต่อย่างใด คนจึงมี “เข้า” และมี “ออก” จากความยากจน


       
       ผลพวงจากการพัฒนาที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้คน “ออก” จากความจนไปเป็นจำนวนมากกว่าที่ “เข้า” มาเป็นคนจน แต่ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนไม่รวยหรือคนไม่จนต่างหากที่เริ่มมีมากขึ้น เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากระบบที่เป็นอยู่ทำให้แตกต่างกันในความสามารถครอบครอง “วัตถุ” และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร หาใช่เหตุจากความยากจนแต่อย่างใดไม่


       
       กลุ่มทุนในระบอบทักษิณจึงอาศัยประเด็นนี้มาหาเสียงด้วยโครงการประชานิยมหาแนวร่วมจากคนชั้นกลางล่าง ส่วนความเป็นประชาธิปไตยนั้นกลายเป็นเรื่องบังหน้าเพื่อเข้าสู่/รักษาอำนาจทางการเมือง เพราะระบอบทักษิณมีประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ให้ยึดมั่นตรงที่ใด เห็นมีแต่บอกว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ
       


       ประเด็นที่น่าจะสืบเนื่องมาจาก 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 ก็คือ “ปม” ในใจของผู้คนในช่วงเวลาทั้ง 2 นี้ต่างหาก การปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย. 49 จึงกลายมาเป็น “แพะ”
       


       คนเดือนตุลาส่วนหนึ่งจึงกลายมาเป็นเครื่องมือเป็นตรารับรองความเป็นประชาธิปไตยให้ระบอบทักษิณ เพราะมี “ต้นไม้พิษ” งอกคาใจอยู่
       


       ไม่เช่นนั้นจะได้เห็น “ขวาพิฆาตซ้าย” มาอยู่ร่วมกันในชายคาของระบอบทักษิณได้อย่างไร อุดมการณ์ประชาธิปไตยของคนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นอุดมเกิน ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า “หลอก” ใช้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อโค่นล้มอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งในบั้นปลาย แต่แท้จริงแล้วกลายเป็นร่วมกัน “หลอก” ใช้คนชั้นกลางล่างไปเสียฉิบ
       


       ผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยมก็มิใช่ได้มาโดยไม่มีต้นทุน เพียงแต่ว่าระหว่าง “อำมาตย์” ที่น่าจะเป็นชนชั้นเดียวกับกลุ่มทุนใหม่ของระบอบทักษิณ กับ “ไพร่” คนชั้นกลางล่างใครจะรับภาระต้นทุนนี้ทั้งในแง่เปิดเผยหรือซ่อนเร้นมากกว่ากัน คำตอบคงชัดเจนอยู่แล้ว
       


       เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อมาทำรถไฟ “ความเลวสูง” ก็หลอก เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมก็หลอก แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่มา ส.ว. ม. 68 หรือ ม. 190 ก็หลอก นิรโทษกรรมก็หลอก มีอะไรบ้างที่คนชั้นกลางล่างไม่ถูกหลอกและได้ประโยชน์ร่วมกับพวกเขา ช่วยบอกที
       


       ที่แน่แท้ไม่หลอกก็คือ คนชั้นกลางล่างนี้แหละจะเป็นผู้รับภาระ ไม่ใช่เพราะเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่จะกลายเป็น 5 ล้านล้านบาทในอีกหลายสิบปีข้างหน้า หากแต่จะกลายเป็นโครงการที่ไม่มีปัญญาชำระหนี้ได้เลยต่างหากเพราะรายได้จากโครงการลงทุนจะไม่คุ้มเงินที่ลงทุนไป
       


       ตอนสร้าง กลุ่มทุนในระบอบทักษิณกำไร แต่ตอนใช้หนี้พวกเขาที่มีจำนวนน้อยก็ใช้หนี้นี้ในจำนวนที่เท่าเทียมกับคนชั้นกลางล่างที่มีจำนวนมากกว่า
       


       เช่นเดียวกับโครงการจำนำข้าวที่ปรากฏแล้วว่าขาดทุนไปแล้วกว่า 200,000,000,000 บาท โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะสร้างภาระให้กับประเทศไทยและทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ย่อยยับไปอีกมากน้อยเท่าใด แต่ปัญญาชนเช่นนิธิก็ยังยืนยันอย่างหลุดโลกว่า “นี่คือการแก้ปัญหาที่ถูกจุด คือไม่ใช่แก้ปัญหาราคาข้าวในตลาดโลก แต่แก้ปัญหาความเสียเปรียบที่ชาวนาได้รับ อีกทั้งประเทศไทยก็อยู่ในฐานะทางการเงินที่จะทำได้ด้วย” มติชนรายวัน 14 ต.ค. 56
       


       ชาวนาที่นิธิอ้างก็คงได้เงินที่รัฐยอมขาดทุนนี้ไปบางส่วนแต่คงไม่ทั้งหมด แต่ทำไมนิธิไม่รู้เลยหรือว่าชาวนาคนที่รับเงินไปก็ต้องมาใช้หนี้ขาดทุนนี้ในอนาคตไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ขณะที่ชาวสวนยางหรือประชาชนคนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ความช่วยเหลือที่นิธิบอกว่าเป็นคนละเรื่องกับข้าวนั้นก็ต้องมาใช้หนี้นี้ด้วย ความเท่าเทียมกันในระบอบประชาธิปไตยของนิธิคงมีเฉพาะตอนใช้หนี้กระมัง


       
       หาก “อำมาตย์” คือชนชั้นปกครองที่เป็นรัฐบาล ระบอบทักษิณที่สืบทอดอำนาจเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ก็คือ “อำมาตย์” ตัวจริงเสียงจริง วาทกรรมประชาธิปไตยว่าด้วยการขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคมก็คงมีอยู่จริง แต่ด้วยบริบทที่ต่างไปจากเมื่อ 40 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน
       


       แต่มิใช่การขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใดมีแต่การ “หลอก” ด้วยประชานิยมที่มีโอกาสสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะทำให้คนชั้นกลางล่าง “เข้า” สู่ความยากจนเพิ่มขึ้น
       


       รู้ตัวหรือยังว่า “นรก” มาเยือนแล้ว






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้