คมดาบซากุระ 2 : ความชอบธรรมของการชุมนุมราชดำเนิน คือการเป็นพลเมืองแข็งข้อ โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 พฤศจิกายน 2556)

คมดาบซากุระ 2 : ความชอบธรรมของการชุมนุมราชดำเนิน คือการเป็นพลเมืองแข็งข้อ โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 พฤศจิกายน 2556)





ความชอบธรรมของการชุมนุมราชดำเนิน คือการเป็นพลเมืองแข็งข้อ


โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

20 พฤศจิกายน 2556






        จริยของผู้นำมวลชนคือไม่เหยียบศพประชาชนขึ้นมาเถลิงอำนาจ

        แต่คือการนำประชาชนแข็งข้อกับอำนาจรัฐที่ฉ้อฉลโดยหลีกเลี่ยงการสูญเสีย
       


        พลันที่มาตรการ “แข็งข้อ” ของพลเมืองที่มีต่อรัฐบาลฉ้อฉลยิ่งลักษณ์ได้ถูกประกาศออกไป หลายๆ คนก็เริ่มที่จะประจักษ์ต่อประสิทธิภาพของมัน
       


        ไม่เชื่อก็ลองไปดู รัฐมนตรี ส.ส. 310 คนที่ลมติผ่านกฎหมายนิรโทษ หรือแม้แต่ข้าราชการ “ขี้ข้า” ทั้งหลายก็ได้ว่า หวาดผวากับนกหวีดมากน้อยเพียงใด มีใครกล้าเสนอหน้าออกมาในที่สาธารณะบ้าง
       


        การเป่านกหวีดจึงเป็น Social Sanction ที่เป็นรูปธรรมให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าประชาชนพลเมืองไม่ยอมอ่อนข้อต่อผู้ปกครองเช่นยิ่งลักษณ์ที่พยายามทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐตำรวจที่กลไกของรัฐ เช่น ตำรวจ หรืออัยการ ได้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองแทนที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้จ่ายภาษี


       
        พลเมืองแข็งข้อ หรือ Civil Disobedience จึงมีพลังอย่างที่หลายๆ คนที่เป็นสายเหยี่ยวนิยมความรุนแรงคาดไม่ถึงเพราะไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพลเมืองแข็งข้อหรืออารยะขัดขืน
       


        นี่คือวิวัฒนาการของการเมืองภาคประชาชน ทั้งไม่ใช่ของประชาธิปัตย์หรือของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
        


        นี่คือการผงาดของประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อต้านล้มล้างระบบที่ฉ้อฉลสามานย์อย่างระบอบทักษิณและตระกูลของเขา ไม่ได้ถูกเงินซื้อและไม่ได้เรียกร้องตัวช่วยอย่างการรัฐประหาร
       


        อาจกล่าวได้ว่าในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาไม่มีประชาคมพลเมืองครั้งใดที่ครบเครื่องทั้งจำนวนและคุณภาพเท่ากับการชุมนุมที่ราชดำเนินที่นำโดยนายสุเทพและคณะ
       


        แม้แต่การชุมนุมของ พธม.ที่ผ่านมาก็ยังเทียบไม่ได้เพราะผู้ชุมนุมมีผู้หญิงและคนสูงอายุเป็นหลัก ผิดกับที่ราชดำเนินที่สามารถดึงคนรุ่นหนุ่มสาวและเยาวชนเข้ามาร่วมได้
       


        ระบอบทักษิณเข้าสู่อำนาจรัฐได้ก็โดยเสนอนโยบายประชานิยมให้กับชนชั้นกลางล่างที่โดยทั่วไปแล้วคือคนเสื้อแดง
       


        มวลชนคนเสื้อแดงที่มิใช่คนในชนบทในยุคปัจจุบันต่างหากที่เป็นนคราผู้ตั้งรัฐบาล แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป ชนบทที่หดตัวเล็กลงจากคนที่ทำงานเกษตรเต็มตัวน้อยลงและมีคนออกมาอาศัยเมืองกลายเป็นคนชั้นกลางล่างมากขึ้นได้กลายเป็นบริบทใหม่ของสังคม พวกเขาเหล่านั้นจึงเป็นผู้บริโภคประชาธิปไตยกินได้หรือประชานิยม คนชั้นกลางล่างที่มิใช่คนชนบทจึงเป็นผู้ตั้งรัฐบาลประชานิยม
       


        ในขณะที่คนในเมืองที่เป็นนคราอีกฝากหนึ่งที่เป็นคนละตลาดกับคนชั้นกลางล่าง แม้จะมีพลังที่ล้มรัฐบาลเหมือนเดิมแต่ก็มีวิวัฒนาการที่สนใจวิธีการที่จะล้มรัฐบาลมากขึ้น การรัฐประหารจึงมิใช่คำตอบของวิธีการที่คนเมืองจะสามารถนิ่งเฉยและยอมรับเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายได้อีกต่อไป
       


        หากระบอบทักษิณจริงใจกับมวลชนที่บริโภคนโยบายประชานิยมปรากฏการณ์การชุมนุมที่ราชดำเนินก็จะไม่เกิดขึ้นได้ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
       


        แต่ด้วยการเป็นธนาธิปไตย (Money Politics) และการไร้ซึ่งอุดมการณ์ของทักษิณ ยินดีทรยศหักหลังกับมวลชนที่สนับสนุนครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อประโยชน์ส่วนตนจึงทำให้มวลชนคนชั้นกลางล่าง “ตาสว่าง”
       


        แม้ระบอบทักษิณจะได้กลับมาตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่วิธีการที่ “หลอกคนเสื้อแดงมาตาย” เพื่อให้ตนเองสามารถเอามาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์และก้าวเข้าสู่อำนาจรัฐจึงเป็น “จุดตายในจุดเป็น”
       


        การเสนอเงินตอบแทนคนเสื้อแดงที่ตาย การปูนบำเน็จแกนนำ หรือนโยบายประชานิยมยุคหลังที่ทำแบบโง่ๆ และล้มเหลวจึงไม่สามารถปกปิดความฉ้อฉลที่ตนเองได้วางแผนเหยียบศพประชาชนขึ้นมาเถลิงอำนาจเอาไว้ได้
       


        ธนาธิปไตยที่เห็นสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนชั้นกลางล่างเป็นเพียงสินค้าที่จ่ายเงินหรือเสนอนโยบายประชานิยมให้ไปเสพแล้วก็ขาดจากความสัมพันธ์และพันธะทางการเมืองที่พึงมีก็ดี
       


        การสร้างรัฐตำรวจไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ อัยการ หรือแม้แต่วุฒิสภา ที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนแต่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของตนเองก็ดี
       


        เหล่านี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นที่ประจักษ์ว่า “หลอกคนเสื้อแดงมาตาย” เพื่อเหยียบศพประชาชนขึ้นมาเถลิงอำนาจโดยแท้ ระบอบทักษิณจึงเหี้ยมโหดและใจร้ายกับเพื่อนมนุษย์ที่เป็นคนไทยด้วยกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน
       


        ขณะที่ฟางเส้นสุดท้ายที่แม้จะเบาบางดุจขนนกแต่ก็ทำให้ลาหลังหักก็คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเอาตัวรอดแต่เพียงลำพัง นี่คือจุดเปลี่ยน หรือ Turning Point ที่สำคัญ
       


        ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยที่ “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล” เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนจึงเปลี่ยนไปกลายเป็น “คนชั้นกลางล่างที่มิใช่คนชนบทตั้งรัฐบาลประชานิยมที่เป็นธนาธิปไตย แต่เมื่อถูกรัฐบาลธนาธิปไตยในระบอบทักษิณหักหลัง คนชั้นกลางล่างที่ตาสว่างจึงมาร่วมกับคนเมืองโค่นล้มรัฐบาล”
       


        สองนคราประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้นมาเนื่องจากบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั่นเอง
       


        รัฐบาลยิ่งลักษณ์และระบอบทักษิณจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่จนตรอกเป็นอย่างยิ่งอันเนื่องมาจากการขาดการสนับสนุน
       


        จะฝืนอยู่ในอำนาจได้นานสักเท่าใดนั่นคือประเด็น แต่เวลาที่เหลือก็น้อยลงอย่างรวดเร็ว ตอนจบใกล้จะถึงแล้ว





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้