คมดาบซากุระ 2 : เศรษฐกิจไทยกำลังจะตาย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (21 พฤษภาคม 2557)

คมดาบซากุระ 2 : เศรษฐกิจไทยกำลังจะตาย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (21 พฤษภาคม 2557)

 

เศรษฐกิจไทยกำลังจะตาย


โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

21 พฤษภาคม 2557




 
       เพื่อมิให้เศรษฐกิจต้อง “ตาย” ตามรัฐบาลที่ “ตาย” ไปแล้ว
       ทางออกเดียวคือมีรัฐบาลตัวจริงอำนาจเต็ม
       


       สรุปสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ มีคน 25 คนดื้อปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีโดยที่ไม่มีนายกฯ ตัวจริงที่มีอำนาจเต็ม ไม่สามารถมีนายกฯ จากการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ ขาดรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมากว่า 6 เดือนแล้ว และที่ร้ายที่สุดก็คือ คน 25 คนดังกล่าวพร้อมพรรคร่วมรัฐบาลขัดขวางทุกวิถีทางไม่ยอมให้มีนายกฯ ตัวจริงเกิดขึ้นได้
       


       แต่เศรษฐกิจไทยกำลังจะ “ตาย” ตามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ “ตาย” ไปแล้วหากไม่สามารถแก้ไขพลิกฟื้นได้ทันท่วงที
       


       อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 57 ที่ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.6 ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอยมาตั้งแต่ต้นปี 56 กำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังจะ “ตาย” ในไม่ช้า ตัวชี้วัดในด้านอุปสงค์รวมกำลังหดตัวลงในทุกๆ ด้านเช่นเดียวกับในด้านอุปทานรวม
       


       หากคน 25 คนยังไม่มีสำนึกดื้อด้านอยู่ต่อไปเพื่อขัดขวางมิให้มีนายกฯตัวจริงเกิดขึ้นได้ อัตราการขยายตัวก็อาจจะติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสอันเป็นภาวะของเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มรูปแบบ
       


       คน 25 คนนี้พร้อมกับรัฐมนตรีชุดเดิมที่ถูกไล่ออกไปแล้วได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจอย่างมหันต์
       


       ความเสียหายที่ประเมินง่ายที่สุดก็คือจากการไร้ซึ่งความรู้ความสามารถ ผลงานที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งแต่ปี 54-56 เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3 (0.1+6.5+2.9) ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตถึงร้อยละ 2 - 3 เลยทีเดียว
       


       ดังนั้นความเสียหายที่ประเทศไทยเสียไปจากการให้โอกาสรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศในช่วงประมาณ 3 ปีจึงอยู่ที่ประมาณปีละ 3.3 แสนล้านบาท (3% ของ GDP 11 ล้านล้านบาท) หรือ 1 ล้านล้านบาทต่อ 3 ปี
       


       นี่เป็นเพียงความเสียหายที่คิดคำนวณจากที่ควรจะได้แล้วไม่ได้ เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของการให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาบริหารประเทศ ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจับต้องได้มาจากนโยบายเศรษฐกิจที่ทำร้ายประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท รถคันแรก จำนำข้าวทุกเมล็ด และการปรับลดภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งล้วนส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
       


       ตัวเลขการบริโภค การลงทุน ทั้งรัฐและเอกชนเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีว่า การเบี้ยวไม่จ่ายค่าข้าวให้ชาวนาเกือบ 1 ล้านครัวเรือนมันทำให้ชาวนาคนเหล่านี้ไม่มีเงินไปใช้จ่ายบริโภค เช่นเดียวกับคนเมืองทั้งประเทศที่ไปติดกับดับกับรถคันแรกอีกกว่า 1.2 ล้านคัน แม้จะยังไม่ถูกยึดแต่ก็ต้องพยายามกระเหม็ดกระแหม่ลดรายจ่ายอื่นๆ ทุกวิถีทางเพื่อมิให้รถถูกยึดและตนเองต้องถูกฟ้องล้มละลาย
       


       ราคาสินค้าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ชี้ว่าการบังคับขึ้นค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยไม่ได้มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานนั้นจะมีผลร้ายส่งกลับมาในรูปของค่าจ้างที่แท้จริงลดลงพร้อมๆ กับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
       


       การบริหารประเทศตามอำเภอใจโดยอาศัยเสียงข้างมากแต่เพียงลำพังได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอกชนเมื่อมีกระแสต่อต้านจนตนเองต้องยุบสภาหนีความผิด ส่วนการละเมิดวินัยทางการคลังของประเทศไปกู้เงินนอกงบประมาณนั้นทำให้งบลงทุนภาครัฐไม่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อศาลชี้ว่าไม่สามารถทำได้
       


       ส่วนการส่งออกแม้จะมิได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ภายในประเทศ แต่การไม่เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ เพิ่มแต่เงินในกระเป๋าแต่ไม่พยายามเพิ่มรายได้จากการจ้างงานหรือประสิทธิภาพของแรงงานโดยการเพิ่มเทคโนโลยีด้วยการออมมีผลทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศลดลงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกได้
       


       อัตราการค้า หรือ Terms of Trade ของไทยที่แสดงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันช่วงระบอบทักษิณจึงย่ำเท้าอยู่กับที่ สั่งวัตถุดิบเข้ามาผลิตสินค้า 100 บาทแต่ผลิตขายได้เพียงไม่เกิน 105 บาท กำไรหรือมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยจึงมีเพียงน้อยนิด
       


       ประเทศไทยในปัจจุบันจึงหาได้ยากที่จะมีภาคการผลิตใดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงเพราะขาดซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตนเอง แม้จะอาศัยอำนาจผูกขาดจากภาครัฐแต่ก็ตั้งราคาให้เกิดส่วนต่างสูงหากินได้เฉพาะในขอบเขตรัฐเท่านั้น ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกที่อำนาจรัฐไทยไปไม่ถึงได้
       


       การขาดทุนของการบินไทยเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อไม่มีอำนาจรัฐในการผูกขาดและขีดความสามารถในการแข่งขันก็ไม่มีเมื่อต้นทุนการผลิตนั้นสูงกว่าคู่แข่งขัน ต้นทุนกว่า 3 บาทต่อที่นั่งต่อก.ม.ของการบินไทยนั้นจะไปสู้กับคู่แข่งอื่นๆ ที่ต่ำกว่าได้อย่างไร จะเอาความได้เปรียบอะไรไปสู้เริ่มต้นก็แพ้แล้ว ยังมีธุรกิจภาคการผลิตอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้อีกมาก ยิ่งบ้าเรื่องเปิดเสรีอาเซียนมากเท่าใดก็ยิ่งฉิบหายเร็วมากขึ้นเท่านั้น
       


       เครื่องยนต์ การบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่เคยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าต่างก็ดับไปแล้วหรือกำลังจะดับไปในไม่ช้าอันเป็นผลจาก (1) นโยบายที่ผิดพลาด และ (2) การไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาแก้ไข
       


       ทางออกของประเทศไทยเพื่อมิให้เศรษฐกิจไทยต้อง “ตาย” ตามรัฐบาลที่ “ตาย” ไปแล้วก็คือต้องได้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาแก้ไขความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด การกู้เงินเพื่อมาใช้หนี้ชาวนาที่ค้างอยู่ การจัดทำงบประมาณเพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาและมิให้เศรษฐกิจชะงักงัน การ “ทวงหนี้” จากผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจเสียหายเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างไม่ให้คนที่ทำชั่วลอยนวล จึงล้วนเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มเท่านั้นที่สามารถทำได้ มิใช่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
       


       นอกจากนี้แล้ว การเข้ามาปฏิรูปการเมืองเพื่อฟื้นฟูกลไกตลาดให้สามารถทำงานได้ก็เป็นภารกิจในเชิงโครงสร้างที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปจะละเลยไปมิได้
       


       ทุนนิยมแบบผูกขาด หรือทุนนิยมสามานย์ ที่เรียกกันนั้นเกิดจากการผูกขาดด้วย “เสียงข้างมาก” ทางการเมือง หากไม่มีวาระปฏิรูปการเมืองก็เท่ากับว่าแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้นปัญหาในเชิงโครงสร้างยังมิได้แก้ไข
       


       เป็นฤกษ์งามยามดีที่ประตูแห่งการปฏิรูปได้เปิดออกแล้ว “ผู้ใหญ่” ที่มีหน้าที่ทั้งหลายจึงต้องฉกฉวยโอกาสนี้ทำหน้าที่ที่ตนเองมีอย่างเต็มกำลังความสามารถ หาไม่แล้วท่านจะกลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ที่จะจารึกเอาไว้ว่ามีส่วนทำร้ายประเทศ





 
เศรษฐกิจไทยกำลังจะตาย



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้