คมดาบซากุระ 2 : ผู้หญืงที่ผมรู้จัก 3 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 สิงหาคม 2557)

คมดาบซากุระ 2 : ผู้หญืงที่ผมรู้จัก 3 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 สิงหาคม 2557)




 

ผู้หญิงที่ผมรู้จัก 3


โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

20 สิงหาคม 2557



 



 
ถ้ากล่าวถึงผู้หญิงที่ชื่ออะกินะ นะกะโมริ (中森明菜) แล้วไม่พูดถึงผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่มีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ผู้หญิงที่ผมรู้จักคนต่อไปที่จะแนะนำเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเธอ มัทซึดะ เซโกะ (松田聖子)
       


       เซโกะเป็นนักร้องรุ่นพี่อะกินะ เข้าวงการก่อน (1980) และมีอายุมากกว่า 3 ปี (เกิดปี 1962) เส้นทางสู่ความสำเร็จที่แจ้งเกิดในวงการเริ่มจาก 2 เพลงแรกที่ขายได้ไม่ดีนัก คือ ฮาดะชิ โนะ คิเซทซึ (裸足の季節) และ อาโอ่ย ซังโกะโชะ (青い珊瑚礁) แต่ก็เป็นการปูทางให้เพลงที่สาม คะเซะวะ อะกิอิโระ (風は秋色) http://www.youtube.com/watch?v=KC4FMN1sXqE ที่สามารถเข้าสู่และคงอยู่อันดับหนึ่งของ Oricon ได้ติดต่อกันหลายสัปดาห์


       
       ช่วงเวลาระหว่างปี 1980-1985 น่าจะเป็นช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของเธอก็ว่าได้เพราะเพลงส่วนใหญ่ที่นำเสนอติดอันดับท็อปเทน http://www.youtube.com/watch?v=r6rIjuscc-o เพลงจากลิงก์ที่นำเสนออาจจะคงได้ยินผ่านหูมาบ้างไม่มากก็น้อย แนวเพลงของเธอจึงเป็น ป๊อป และ ป๊อปแดนซ์ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักแม้จนถึงปัจจุบันและอาจไม่สำคัญเท่ากับภาพ ลักษณ์ที่เธอนำเสนอ นั่นก็คือ ความเป็นไอดอลตลอดกาล (永遠のアイドル) หรือจะเรียกว่าเป็นเจ้าแม่ไอดอลของวงการบันเทิงเลยก็ว่าได้ จากไอดอลในวัยรุ่นไปสู่ ม่าม่าไอดอลแม้ว่าจะแต่งงานมีลูกแล้วก็ตาม


       
       เธอจึงไม่เคยและในความเชื่อของผู้เขียนไม่สามารถหลีกหนีห่างไปจาก ความเป็นไอดอลเลยก็ว่าได้ นี่จึงนำมาซึ่งทั้งความสำเร็จและล้มเหลวไปพร้อมๆกันเพราะเมื่อเธอไม่สามารถ คงความเป็นไอดอลที่ขายความน่ารักของสาวแรกรุ่นเอาไว้ได้อันเนื่องมาจาก สังขาร ภาพลักษณ์ที่สร้างเอาไว้จึงส่งให้เธอกลายเป็นหญิงในคราบสาวน้อยที่ไม่สอด คล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นไปเรื่อยๆ


       
       ด้วยการร้องเพลงที่ไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นไปในแนวเดียวกันเสียมากกว่า จึงไม่สามารถใช้ความสามารถในการร้องเพลงเข้ามาทดแทนความเป็นไอดอลเพื่อสร้าง ความสำเร็จให้เธอได้ แม้จะพยายามไปสร้างชื่อในตลาดสหรัฐฯ มาหลายปีก็ตามแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด เธอจึงเป็น เซโกะจัง (聖子ちゃん) ไปตลอดกาลแม้สังขารจะไม่อำนวยให้


       
       จัง (ちゃん) เมื่อนำต่อท้ายชื่อหมายถึงสรรพนามว่า หนู+ชื่อ ในภาษาไทยที่ผู้มีอายุมากกว่าเรียกผู้ที่เด็กกว่า. . . ผู้เขียน


       
       ในอีกด้านหนึ่ง ฉายา “เจ้าแม่เรื่องอื้อฉาว” ก็ไม่ได้มาจากโชคช่วยหรือจากการให้ร้ายของสื่อแต่อย่างใด ใครจะคาดได้บ้างว่าไอดอลหญิงที่คล้ายสาวน้อยหน้าหวานข้างบ้านหน้าปากซอยเช่น เธอจะแต่งงานมาแล้วถึง 3 รอบ ก่อนจะแต่งงานรอบแรกในปี 1985 เธอก็มีคู่ควงที่คาดหมายจะแต่งงานด้วยที่จัดได้ว่าเป็นคู่รักบันลือโลกคู่ หนึ่งคือ ฮิโรมิ โก (ひろみ郷) ที่ถือได้ว่าเป็นไอดอลฝ่ายชายในเวลานั้นก็ว่าได้ แต่สุดท้ายแล้วก็น่าจะเป็นรักโปรโมตเสียมากกว่าอย่างอื่นเพราะเมื่อ โก เผยว่าอยากให้เธอเลิกอาชีพแล้วรับบทแม่บ้านเต็มตัว ดังนั้นแทนที่เธอจะแต่งกลับบอกเลิก แล้วมาแต่งกับสามีคนแรกโดยฉับพลัน มีลูกสาว 1 คนในปี 1986 และกลับเข้ามาร้องเพลงในเวลาต่อมา
       


       ระหว่าง 12 ปีที่อยู่กับสามีคนแรกก็มีข่าวปรากฏทางสื่ออยู่เสมอๆเกี่ยวกับสัมพันธ์กับ ชายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ คอนโดะ มาซะฮิโกะ (近藤真彦) ทำให้เธอกลายเป็นหญิงคนที่สองในศึก 2 หญิง 1 ชายที่หลายๆ คนกล่าวอ้างถึงว่าเป็นสาเหตุของการพยายามฆ่าตัวตายของอะกินะในปี 1989 จริงเท็จประการใดไม่มีใครยืนยันได้อย่างแน่นอน


       
       การแต่งงานครั้งที่ 2 ในปี 1998 กับหมอฟันที่มีอายุอ่อนกว่า 6 ปี อยู่ได้เพียง 2 ปีก็หย่า และไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีครั้งที่สามในปี 2012 ขณะมีอายุ 50 ปี เธอแถลงทางออนไลน์ว่าแต่งกับรองศาสตราจารย์ในคณะแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเคโอ


       
       การจะแต่งสักกี่รอบคงไม่ใช่ประเด็นปัญหาเพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของ เธอ แต่พฤติกรรมที่ปรากฏและสื่อเฝ้าสังเกต ไม่ว่าจะเป็น การรักหลอก ร้องไห้เสียใจ/ดีใจทั้งขณะได้รางวัล แต่งงาน หรือหย่า ที่เป็นไปแบบที่หลายคนเห็นว่าหลอกๆ ไม่มีน้ำตาออกมาให้เห็น เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหนจนกลายเป็น Fake ไปเสียสิ้นไม่ว่าจะเรื่องราวใดก็ตาม แม้แต่ภาพลักษณ์ก็ยัง Fake


       
       รูป 1 และ 2 เป็นช่วงแถลงข่าวการหย่ากับสื่อครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ส่วนรูปที่ 3 เป็นรูปที่สื่อญี่ปุ่นค่อนแคะว่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลิกการแต่งงาน กับ โก แต่ไม่เห็นมีน้ำตาสักหยด สงสัยจะบ่อน้ำตาลึก . . . ผู้เขียน ขอโทษแฟนๆ ของ เซโกะจังที่ไม่เอารูปสวยๆ มาลงเพราะรูปสวยมีมากมายหาที่ไหนก็ได้จริงไหม
       


       เพลงที่เป็น Signature ของเธอในความเห็นของผู้เขียน


       
       Sweet Memories มีหลายเวอร์ชั่น ลองฟังดูว่าชอบเหมือนกันไหม โดยเฉพาะที่ประกอบโฆษณาชุดการ์ตูนเพนกวินของเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง ดู+ฟังแล้วเข้าถึงเพลงที่ร้องมากกว่าดูเธอร้องว่าไหม?
       
       http://www.youtube.com/watch?v=34I-3KPKpLE
       
       http://www.youtube.com/watch?v=-sulArDPyz8
       
       http://www.youtube.com/watch?v=kA0rHtdYkS0 ร้องคู่กับ ไซโจ้ ฮิเดะกิ (西城秀樹)


       
       อะกะอิ สวีทพี (赤いスイートピー)
       
       http://www.youtube.com/watch?v=pY0Vvpdomtw&list=RDpY0Vvpdomtw#t=180


       
       อะนะทะนิ ไอทะคุเทะ (あなたに逢いたくて) มี บ๊อบ เจมส์ เล่นเปียโน
       
       http://www.youtube.com/watch?v=1VPJpWMJwgs




 
ผู้หญิงที่ผมรู้จัก (3)
       
 
ผู้หญิงที่ผมรู้จัก (3)




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้