*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (94) “จงรู้สึกถึงแก่นสารของเธอ กระดูก เนื้อ โลหิตของเธอที่เปี่ยมไปด้วยธาตุแท้ของจักรวาล” ขยายความ ให้ทดลองฝึกให้ตัวเองเปี่ยมไปด้วยความโศกเศร้าสัก 7 วันจากนั้น ให้ทดลองฝึกให้ตัวเองเปี่ยมไปด้วยความหรรษาอีก 7 วัน เมื่อฝึกจนกระทั่งรู้ทัน “ความเศร้า” และ “ความหรรษา” นี้ได้ แล้วจึงค่อยหันมาฝึกวิธีนี้ เพื่อสัมผัสถึงธาตุแท้อันศักดิ์สิทธิ์ในตัวเราเอง และเป็นหนึ่งเดียวกับมัน (95) “จงรู้สึกถึงคุณสมบัติแห่งการสร้างสรรค์ที่แผ่ซ่านบริเวณทรวงอกของเธอ และทำให้มันทรงรูปอันประณีต” ขยายความ วิธีให้กำหนดจิตไว้ที่ทรวงอกอย่างเดียวเท่านั้น วิธีนี้เหมาะสำหรับสตรีเพศมากกว่าบุรุษ
(80) “จงเจริญสมาธิภาวนาถึงโลกที่เกิดจากความเชื่อของเธอว่า กำลังเผาไหม้เป็นเถ้าถ่าน และจงกลายเป็นผู้ที่เป็นยอดคน” ขยายความ ถ้าเราสามารถจินตนาการว่า ร่างของตัวเองกำลังมอดไหม้ตามวิธีก่อนหน้านี้ได้ การจะจินตนาการว่า โลกทั้งหมดกำลังมอดไหม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย และยามใดก็ตามที่เราสามารถทำเช่นนี้ได้ เราจะกลายเป็น เลิศมนุษย์ (Superhuman) และเข้าถึงสภาวะจิตของเลิศมนุษย์ (81) “ในทางอัตวิสัย ให้อักษรไหลสู่ถ้อยคำ ถ้อยคำไหลสู่ประโยค ในทางภาววิสัยให้วงกลมไหลสู่โลก และโลกไหลสู่หลักการ ในที่สุด หลอมรวมสิ่งเหล่านี้ในตัวเรา” ขยายความ จงทำให้ทุกสิ่งหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในตัวเราผ่านความคิด ความรู้สึกทั้งมวลด้วยหัวใจที่เปิดกว้างสุดๆ เปลือยเปล่าสุดๆ โดยไม่ต้านขืนใดๆ ทั้งสิ้น (82) “จงรู้สึกถึงความคิดของฉัน ความเป็นตัวฉัน อวัยวะภายในของฉัน และตัวฉัน” ขยายความ จงอยู่รู้สึก แต่จงอย่าคิดเป็นอันขาด เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงของตัวเราอย่างซื่อตรง และตรงไปตรงมา โดยมิให้มีความคิดใดๆ เข้ามาแทรกกลางระหว่างนั้น จงแค่รู้สึกเฉยๆ เท่านั้น รู้สึกถึงความคิดของตัวเอง รู้สึกถึงความเป็นตัวตนของเราเอง รู้สึกถึงอวัยวะภายในต่างๆ ในตัวของเรา จนกระทั่งตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของเราเองในที่สุด
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* กระดูกสันหลังของคนเรานั้นเป็นรากฐานของทั้งกาย และจิต สมองคือส่วนปลายของกระดูกสันหลัง ทั่วทั้งสรีระล้วนหยั่งรากอยู่ในกระดูกสันหลัง หากกระดูกสันหลังอ่อนเยาว์ ตัวเราก็อ่อนเยาว์ หากกระดูกสันหลังชราภาพ ตัวเราก็ชราภาพ หากคนเราสามารถรักษากระดูกสันหลังของตนให้อ่อนเยาว์ได้ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะแก่เฒ่า หากกระดูกสันหลังของเรามีชีวิตชีวา เราจะมีจิตอันใสสว่างยิ่ง แต่หากกระดูกของเราหม่นมัว เราจะมีจิตเฉื่อยเนือย โยคะคือวิธีต่างๆ ที่มุ่งปลุกกระตุ้นทำให้กระดูกสันหลังของผู้ฝึกมีชีวิตชีวา สุกใส เปี่ยมประกาย อ่อนเยาว์ และกระปรี้กระเปร่า กระดูกสันหลังนั้นมีจุดปลายอยู่สองด้าน ด้านต้นคือ จักระที่ 2 และด้านท้ายคือ จักระที่ 7 ด้านต้นของกระดูกสันหลังผูกตรึงอยู่กับโลกียวิสัย โดยที่เรื่องเพศคือสิ่งที่เป็นโลกียวิสัยที่สุดในตัวคนเรา ด้านท้ายในศีรษะนั้น เชื่อมต่อกับสิ่งสูงสุด นี่คือสองขั้วแห่งการดำรงอยู่ของคนเรา
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (66) “จงเป็นคนเดิมที่ผิดแผกไปต่อมิตรสหาย เช่นต่อคนแปลกหน้าในศักดิ์ศรีและความอัปยศ” ขยายความ ตันตระคืออุบายวิธีแห่งรัก คือความพยายามแห่งรักต่อการดำรงอยู่ ตันตระเป็นความรักระหว่างตัวเรากับการดำรงอยู่ หาใช่ความรักระหว่างชายกับหญิงไม่ นี่คือสาเหตุที่ตันตระใช้ประโยชน์จากกามารมณ์อย่างกว้างขวาง โดยมุ่งทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับการดำรงอยู่ วิธีนี้ตันตระได้แนะว่า “จงเป็นคนเดิมที่ผิดแผกไป”...ผิดแผกไปด้วย ความตระหนักรู้ในตัวเราเอง นี่คือความพากเพียรทางความรู้สึกของตันตระ ที่จะหมั่นรู้สึกตัวอยู่เสมอ เพื่อเป็น “คนเดิมที่ผิดแผกไป” เพราะความเป็น “ผู้รู้” ในตัวเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง มันคงเดิมอยู่เสมอในท่ามกลางความแปรเปลี่ยนของทุกสิ่ง ไม่ว่าต่อมิตร หรือต่อคนแปลกหน้า ไม่ว่าได้รับการสรรเสริญหรือถูกลบหลู่ จงเป็นคนเดิมที่เป็น “ผู้รู้” เสมอ จงแค่รับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเฉพาะขอบนอกของตัว “ผู้รู้” นี้เท่านั้น
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (62) “ทุกแห่งที่จิตเธอสัญจรไป ภายในหรือภายนอก ณ จุดนี้แล คือสิ่งนี้” ขยายความ วิธีนี้ของตันตระ เป็นการใช้จิตของตัวเองเป็น ทวารไปสู่สมาธิภาวนา จิตที่ฟุ้งซ่านส่ายแส่ไปมานี้แหละ โดยตระหนักรู้หรือรู้สึกตัวในชั่วขณะนี้แหละคือทวาร จิตดวงนี้ที่เรามีอยู่นี่แหละที่คลาคล่ำไปด้วยความปรารถนาอันต่ำทราม และอยู่พ้นการควบคุมของเรานี้แหละ ที่ตันตระบอกว่าคือทวาร ไม่ว่ามันจะสัญจรไปไหน ภายในหรือภายนอก ณ จุดๆ นี้แลคือสิ่งนี้หรือคือทวาร ขอเพียงเรารู้สึกตัวในห้วงยามนั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ยามที่เรารู้ตัวว่า จิตกำลังฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่ จงอย่าไปขัดขวางมัน และอย่าพยายามนำมันไปสู่จุดใดจุดหนึ่ง แต่จงยอมรับการสัญจรของจิตตนด้วยความรู้สึกตัว หากทำเช่นนี้ได้บ่อยๆ ตัวเราจะเข้าสู่สมาธิภาวะได้เอง
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (55) “ณ จุดแห่งนิทรารมณ์ ขณะที่นิทรารมณ์ยังไม่ล่วงถึง และความตื่นรู้ภายนอกได้อันตรธานไป ณ จุดนี้ ย่อมสำแดงออกซึ่งภาวะ” ขยายความ วิธีนี้ แนะให้ใช้การฝึกช่วงใกล้หลับในการเจริญสติ โดยที่ในขณะกำลังล่วงสู่นิทรานั้น จงผ่อนคลาย หลับตาลงเสีย ทำห้องหับให้มืดมิด แล้วตั้งตารอคอยอาการหลับใหลที่ใกล้จะมาถึง ให้เราแค่เฝ้ารอ อย่าได้กระทำสิ่งใด เพียงแค่เฝ้ารอเท่านั้น ในตอนนั้นเราจะเริ่มรู้สึกว่า ร่างกายของเราค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จงรู้สึกถึงมันอย่างตระหนักรู้ และเฝ้ารอไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง เราจะสัมผัสได้รางๆ ถึงชั่วขณะอันคงอยู่ ณ จุดกึ่งกลางระหว่างการตื่นนอนกับการหลับใหล อันเป็นภาวะที่ล้ำลึกดุจหุบเหวลึกที่ปราศจากก้นบึ้ง อันหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ทันทีที่เราล่วงรู้ถึงมัน เราย่อมล่วงรู้ว่า เราเป็นใครและอะไรคือภาวะจริงแท้ของเรา
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (50) “มาตรแม้นประหวัดถึงการร่วมรัก ได้ไร้การตระกองกอดคือการแปรเปลี่ยนสภาวะ” ขยายความ วิธีนี้ใช้การหวนรำลึกถึงประสบการณ์ในการร่วมรักแบบตันตระ โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่พิศวาส แล้วหยั่งชำแรกเข้าสู่มันไปเลยโดยการหลับตาลง ล่วงรู้ถึงชั่วขณะที่ตัวเองไร้ตัวตน มีเพียงพลังอันไหวสะท้าน ซึ่งกลายเป็นหนึ่งเดียว มีเพียงตัวเองเท่านั้นที่ดำรงอยู่เพียงแค่ระลึกถึงมันไว้ราวกับว่าตัวเองกำลังอยู่ร่วมกับคู่พิศวาสของตน ปล่อยมันอยู่กับความสั่นสะท้านและไหวเร่าอยู่เช่นนั้น จากนั้นให้ขยับเคลื่อนตัวเสมือนว่าตัวเองกำลังเข้าสู่ห้วงเล้าโลมจริงๆ วิธีนี้เหมาะกับสตรีเพศ ในยามนั้นเอกภาพทั้งมวลย่อมกลับกลายเป็นบุรุษ ตัวเองกำลังอยู่ในห้วงปฏิสังสรรค์อย่างลึกล้ำกับการดำรงอยู่เอง ตัวเองเพียงกำลังร่วมรักกับการดำรงอยู่ เมื่อการดำรงอยู่ทั้งมวลล้วนกลับกลายเป็นคู่รัก เป็นยอดเสน่หาของตน เมื่อนั้นอุบายวิธีนี้ย่อมนำไปใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และตัวเองยังสามารถคงอยู่ในห้วงปฏิสังสรรค์กับการดำรงอยู่ได้สืบไป ไม่ว่าตัวเองจะทำกิจกรรมอะไรในแต่ละวัน
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (44) “รวมศูนย์อยู่ที่เสียง ‘โอม’ (AUM) ไม่ใช่ทั้งเสียง ‘A’ และไม่ใช่ทั้งเสียง ‘M’ ด้วย” ขยายความ วิธีนี้เหมาะสำหรับกวีหรือนักดนตรีที่มีหูละเอียดอ่อนขนาดสามารถแยกเสียง “โอม” ออกเป็นสามเสียงย่อยคือ A-U-M ได้ ผู้ที่ต้องการฝึกวิธีนี้จะต้องหมั่นฝึกฝน การฟังของตนให้แหลมคม เช่น นั่งข้างลำธารฟังเสียงน้ำไหล และการเปลี่ยนแปลงของเสียงของลำธาร เป็นต้น (45) “สวดท่องคำที่จบลงด้วยเสียง ‘อา’ (AH) อย่างเบาๆ และในท่ามกลางเสียง ‘เฮิง’ (HH) ความเป็นธรรมชาติที่ไม่กระทำ ย่อมเกิดขึ้นมาเองอย่างไม่ต้องพยายามอะไรเลย” ขยายความ วิธีนี้ใช้การสวดบริกรรมที่จบลงด้วยเสียง ‘อา’ ซึ่งเป็นเสียงที่คนเราต้องคายลมหายใจออกจากร่างกายหมด ซึ่งเป็นความหมายของการดับ ในวิชาโยคะและตันตระ จะไม่นับอายุคนโดยจำนวนขวบปี แต่จะนับโดยลมหายใจแทน เพราะฉะนั้น คนที่หายใจยาวๆ ช้าๆ จะเป็นคนอายุยืนกว่าคนที่หายใจสั้นตื้น ตอนที่ลมหายใจออกจากร่างกายหรือตอนที่พิจารณาการไหลเข้าออกของลมหายใจว่าเป็นการเกิดดับของร่างกาย ผู้ฝึกจะเห็นได้ชัดว่าการเกิดนี้ ไม่ใช่การเกิดของเรา และการดับนี้ก็ไม่ใช่การดับของเรา มันเป็นของมันอย่างนี้ โดยตัวเราเป็นแค่ผู้รู้หรือผู้เห็นเท่านั้น
จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (34) “จงเงี่ยหูฟัง เมื่อได้รับการถ่ายทอดวิชาเร้นลับเป็นที่สุด หยุดการเคลื่อนไหวของดวงตา และไม่กะพริบตาในทันใดนั้น เธอจะมีอิสรภาพอย่างสัมบูรณ์” ขยายความ วิธีนี้เกี่ยวกับการกระซิบ ยามที่คุรุถ่ายทอดมนตราหรือเคล็ดวิชาให้แก่ศิษย์เป็นการส่วนตัว ในตอนนั้นศิษย์จะต้องหยุดการเคลื่อนไหวของดวงตา ทำใจให้สงบไม่ให้เกิดความคิดใดๆ เพียงแค่รอคอย รอรับคำสอนอันเร้นลับจากคุรุของตนเท่านั้น (35) “จงเพ่งดูความลึกของน้ำที่ข้างบ่อ ตักน้ำจากบ่อที่ขุดลงไปลึกมาก จนกระทั่งเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมา” ขยายความ วิธีนี้ใช้ตอนที่เรามองเข้าไปในบ่อน้ำลึก สิ่งที่เห็นคือภาพของตัวเองที่ฉายสะท้อนบนผิวน้ำของบ่อนั้น เราต้องหยุดความคิดโดยสิ้นเชิง เพียงแต่เพ่งมองเข้าไปในความลึกของน้ำเท่านั้น เพื่อที่ตัวเราจะได้สัมผัสกับความลึกล้ำข้างในจิตใจเรา
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (28) “จงจินตนาการว่าพละกำลัง และความรู้ของเราค่อยๆ ถูกแย่งไป ในช่วงขณะที่สูญเสียหมดสิ้นนั้น...ให้ข้ามพ้นไป” ขยายความ วิธีนี้ให้เราฝึกนอนใน “ท่าศพ” ของโยคะ แล้วจินตนาการว่า ร่างกายของเรากำลังตายไป เราจะรู้สึกว่าร่างกายของเราหนักขึ้นเรื่อยๆ อยากจะขยับตัวก็ขยับไม่ได้ แขนขาหนักเหมือนตะกั่ว ขอให้เรารู้สึกแต่เพียงอย่างเดียวว่า ตัวเองกำลังจะตาย...กำลังจะตาย เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถลืมร่างกายโดยฉับพลัน “การข้ามพ้น” จะเกิดขึ้นอันเป็นภาวะที่ตัวเรากลายเป็นผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นร่างที่กำลัง “นอนตายอยู่” ของตัวเราเอง ช่วงนั้นเราจะสามารถข้ามพ้นใจ เพราะใจจะไม่ทำงานในร่างที่ “ตายแล้ว” ใจจะอยู่ในร่างที่เป็นเท่านั้น
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* หากเข้าใจวิธีคิดของตันตระเกี่ยวกับวิธีฝึกหยุด เพื่อชักนำพลังงานและจิตมิให้ส่งออกนอก แต่ให้ดึงพลังงานและจิตกลับคืนสู่ศูนย์กลางภายในได้แล้ว ตันตระแนะว่าให้ลองใช้วิธีนี้กับ “ความต้องการทางเพศ” ในขณะที่เกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา แล้วผู้นั้นจะเห็นได้เองว่า วิธีนี้ทำให้เกิดความรู้สึกตัวดีกว่า วิธีกดข่มความต้องการทางเพศเป็นอย่างมาก เนื่องจาก พลังชีวิตของคนเรามีคุณสมบัติที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อไม่ปล่อยออกสู่ข้างนอก ก็ต้องไหลกลับสู่ข้างใน ไม่มีทางหยุดนิ่ง ขณะที่การไปกดข่มจะไม่อาจกดข่มพลังงานได้ตลอด พลังงานจะต้องดิ้นรนหาทางออกไปสู่ข้างนอกจนได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือรูปการใดรูปการหนึ่ง
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (24) “เมื่อรู้สึกชอบหรือไม่ชอบใคร อย่าปล่อยความรู้สึกนั้นไปที่คนผู้นั้น แต่ให้ความรู้สึกนี้อยู่ที่ศูนย์กลางภายใน” ขยายความ ตามปกติ คนเราเมื่อรู้สึกรักใครหรือเกลียดใคร จิตจะส่งออกนอก โดยถ่ายเทความรู้สึกนั้นไปสู่คนผู้นั้น แต่ตันตระกลับแนะไม่ให้เราถ่ายเทความรู้สึกนั้นไปสู่คนผู้นั้น เพาะตัวเราเองต่างหากที่เป็นต้นตอของความรัก ความเกลียดนั้น คนทั่วไป เวลาเกลียดใครมักจะนึกว่า คนคนนั้นคือที่มาของความเกลียด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ตัวเราเองต่างหากที่เป็นที่มาของความเกลียดนั้น โดยที่คนคนนั้นเป็นเพียงจอภาพที่ตัวเราฉายหรือถ่ายเทความเกลียดไปสู่ต่างหาก ในทำนองเดียวกัน เวลาที่เรารู้สึกรักใคร คนผู้นั้นก็หาได้เป็นที่มาแห่งความรักของเราดังที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกัน ตัวเราต่างหากที่ดึงพลังงานของความรักจากตัวเราไปถ่ายเทสู่คนนั้น ถ้าเข้าใจในเรื่องนี้แล้วก็จะเข้าใจได้เองว่า ทำไมถึงต้องฝึกด้วยวิธีนี้ กล่าวคือ เมื่อเรารู้สึกโกรธใคร จงทำความรู้สึกตัว มีสติ รีบขอบคุณคนที่เราโกรธ และลืมคนผู้นั้นเสียโดยหลับตาแล้วรวมพลังเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเราแทน ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรารู้สึกรักใคร จงทำความรู้สึกตัวมีสติรีบขอบคุณคนที่เรารัก และลืมคนผู้นั้นเสีย โดยหลับตาแล้วรวมพลังเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเราเช่นกัน...เพื่อหาที่มาของความโกรธหรือความรักนั้น
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (16) “เธอผู้ได้รับพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อความรู้สึกต่างๆ ถูกดูดเข้ามาที่หัวใจ จงเข้าถึงศูนย์กลางของดอกบัวให้ได้” ขยายความ วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีจิตใจอ่อนโยน และละเอียดอ่อน มีความรักในเพื่อนมนุษย์สูง และเป็นคนที่ใช้หัวใจดำเนินชีวิตมากกว่าใช้สมอง เป็นคนที่ใช้ความรู้สึกมากกว่าตรรกะเหตุผล วิธีการก็คือ ผู้นั้นต้องใช้การสัมผัสไปแตะตัวผู้อื่นอย่างอ่อนโยน แล้วดึงความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาที่หัวใจของตนเอง แล้วเข้าถึงการภาวนาด้วยการตระหนักถึงจักระที่ 7 ที่กลางกระหม่อมที่เชื่อมโยงกับจักรวาล ซึ่งทำให้ผู้นั้นรู้สึกปีติอย่างล้ำลึกได้ วิธีนี้ดีมากๆ ตรงที่ไม่ต้องไปหาเวลาฝึกปฏิบัติตามรูปแบบ แต่ใช้ความสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว และคนใกล้ชิด เข้าถึงการภาวนาอย่างเป็นไปเองได้
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (9) “นอนราบกับพื้นราวกับตายไปแล้ว แม้โกรธอย่างรุนแรง ก็อยู่ในสภาพนั้น หรือเพ่งสายตาโดยไม่ขยับเปลือกตาเลย หรือสูดอะไรเข้าไปและกลายเป็นการสูดนั้น” ขยายความ หากฝึกหายใจแบบไม่ขยับเขยื้อนร่างกายเลย เมื่อฝึกวิธีนี้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความคิดของผู้นั้นค่อยๆ หยุดลงได้ ในการฝึกจะฝึกท่าศพ (ฝึกนอนตาย) หรือฝึกเพ่งสายตาโดยไม่ขยับเปลือกตาไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานติดต่อกัน หรือจะฝึกสูดหายใจจนตัวเรากลายเป็นตัวการหายใจนั้นก็ได้ ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ผู้ฝึกจะต้องอยู่ใน “ความรู้ตัว” บ่อยๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในระหว่างการฝึกข้างต้น
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)* (3) “หรือในช่วงขณะที่ลมหายใจเข้า กับลมหายใจออกหลอมรวมกัน จงสัมผัสศูนย์กลางที่ไร้พลังงานแต่เปี่ยมไปด้วยพลังงานนั้น” ขยายความ วิธีหายใจของตันตระแบบที่สามนี้ มุ่งไปที่การหาจุดศูนย์กลางอันเป็นจุดที่ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออก หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จุดศูนย์กลางนี้อยู่ที่สะดือ หรืออยู่ที่จุดใต้สะดือ (จุดตันเถียน) ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของร่างกาย และนี่แหละคือ ความสำคัญของการหายใจด้วยท้อง ตันตระบอกว่า หากคนเราหายใจด้วยท้องไปกระทำการใดๆ ก็ตาม การกระทำอันนั้นของเราจะเป็นการกระทำที่รอบด้านทั่วพร้อม เพราะมีความจดจ่อ ทุ่มเท อุทิศตัว คนเราเมื่ออยู่ที่ศูนย์กลางของตัวเองแล้ว จะมีลักษณะที่รอบด้านทั่วพร้อมเสมอ
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ* เมื่อผู้ฝึกได้ผ่านขั้นตอนการฝึกอาสนะ ปราณายามะ พันธะ มุทรา และกิริยาตาม ระบบการฝึกของกุณฑาลินีโยคะ ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้แล้ว ผู้ฝึกจะอยู่บนเส้นทางสองแพร่งที่ต้องเลือกว่าจะเดินต่อไปบนเส้นทางใด กล่าวคือ ถ้าจริตของผู้ฝึกมีความโน้มเอียงไปในแนวทางแบบเจโตวุมุติอยู่แล้ว ผู้ฝึกก็ควรมุ่งหน้าเจริญฌานสมาบัติเพื่อชำระ กายทิพย์ทุกๆ ชั้นต่อไป จนกระทั่งถึงกายทิพย์ชั้นสุดท้ายตามแนวทางที่ปตัญชลีได้เขียนไว้ในคัมภีร์โยคสูตร แต่แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ฝึกให้สำเร็จยากมาก ถ้าไม่มีบุญบารมีเก่ามาหนุนเสริม แนวทางแบบเจโตวิมุติจึงเป็นหนทางที่เล็กแคบราวกับต้องรอดรูเข็ม ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงควรหันมาเลือก แนวทางแบบปัญญาวิมุติ น่าจะเหมาะกว่า เพราะแนวทางแบบปัญญาวิมุติเป็นเส้นทางที่กว้างขวางราวกับเดินอยู่บนทางเอกที่เป็นถนนสายใหญ่
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* กิริยาท่าที่ 11 “ศักติ จาลนิ” (ปิดทวาร ชักนำปราณ) กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะ ให้ปิดตาตลอดการฝึก และห่อลิ้นทำ เขจรีมุทรา จากนั้นหายใจออกให้ผมส่งกระแสจิตจดจ่อไปที่จักระที่ 1 (จักระมูลธาร) ก้มหน้าเล็กน้อยพร้อมกับดึงลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นไปทางช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว พร้อมๆ กับการหายใจเข้าแบบอุชชายี เมื่อชักนำปราณไปถึงจุดพินธุ ค่อยๆ ยกศีรษะตามขึ้นไปด้วย โดยให้ศีรษะตั้งตรงตอนที่ชักนำปราณไปถึงจุดพินธุพอดี จากนั้นให้กักลมหายใจพร้อมกับปิดทวารทั้ง 7 คือ สองหู สองตา สองรูจมูก และหนึ่งริมฝีปากด้วยนิ้วทั้งห้าทั้งสองข้าง ในระหว่างนั้น ให้ขับเคลื่อนปราณให้ไหลเวียนเป็นวงโคจร โดยไหลลงจากช่องปราณด้านหลังของลำตัวไปถึงจักระที่ 1 และไหลขึ้นจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องปราณด้านหน้าของลำตัวไปยังจุดพินธุ จากจุดพินธุไหลลงไปยังจักระที่ 6 แล้วไหลลงผ่านช่องปราณด้านหลังของลำตัว ไหลวนเวียนอยู่เช่นนี้ไม่ขาดสาย ในระหว่างที่กักลมหายใจอยู่จนกระทั่งไม่อาจกักลมหายใจได้อีกต่อไป จึงค่อยคลายนิ้วทั้งหมดออกจากการปิดทวารทั้ง 7 วางฝ่ามือลงที่หัวเข่า กำหนดจิตไปที่จุดพินธุพร้อมกับค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายี แล้วชักนำจิตลงไปที่จักระที่ 1 อีกครั้ง เพื่อเตรียมฝึกรอบต่อไป ทั้งนี้ควรฝึกกิริยานี้ให้ได้ 5 รอบขึ้นไป หรือ 5 ลมหายใจต่อเนื่องกันไป
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* กิริยาท่าที่ 10 “เนามุคลี มุทรา” (ท่าปิดทวารทั้ง 9) กิริยาท่านี้เป็นท่ายาก จึงควรเตรียมการฝึกทีละขั้นๆ ก่อนจะเข้ามาฝึกกิริยาท่านี้ โดยเริ่มจาก (1) ฝึกปิดทวารหู นั่งขัดสมาธิ ตัวตรง หลังตรง ผ่อนคลาย ปิดตาแล้วใช้นิ้วชี้ แต่ละข้างอุดหูแต่ละข้างเอาไว้แล้วทำสมาธิ ขณะทำสมาธิต้องปิดปากสนิท ให้ฟันห่างกันเล็กน้อย (ไม่ขบฟัน) ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ ช้าๆ ขณะที่หายใจออก ให้จิตจดจ่อตาม “เสียง” ที่เกิดขึ้นภายในศีรษะขณะที่กำลังเจริญภาวนาอยู่ โดยพยายามให้จิต “ตามรู้” เสียงที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำนี้ ทั้งลมหายใจออก และลมหายใจเข้าไปเรื่อยๆ อย่างผ่อนคลาย อย่างสบายๆ ไม่เครียดเกร็ง จนกว่าจะออกจากสมาธิ การฝึกปิดทวารหูนี้เป็นการฝึกที่สำคัญมาก ผู้ฝึกต้องฝึกหัดให้ชำนาญก่อนที่จะก้าวไปสู่การปิดทวารอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* กิริยาท่าที่ 7 “มหาเภธะมุทรา” กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะเป็นหลักเหมือนกับกิริยาท่าที่ 6 “มหามุทรา” โดยให้ส้นเท้าของผู้ฝึกกดแตะไปที่จักระที่ 1 ทำ เขจรีมุทรา ด้วยการห่อลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลืมตาตลอด ก้มศีรษะไปข้างหน้า หายใจออกให้หมดปอด เพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 พร้อมกับหายใจเข้าแบบอุชชายี โดยชักนำจิตจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตผ่านขึ้นไป แต่ละจักระจะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* กิริยาท่าที่ 4 “ภวัน ศัลจาลนะ” (ใช้จิตชักนำลมหายใจ) ทำอาสนะในท่าสิทธิอาสนะ หรือปัทมะอาสนะก็ได้ หลับตาทั้งสองข้าง ม้วนลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เขจรีมุทรา) ตลอดการฝึกกิริยาท่านี้ หายใจออกให้หมดปอด พร้อมกับก้มศีรษะไปข้างหน้าเหมือนกับกิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจาลนะ” เพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 หายใจเข้าแบบอุชชายี พร้อมๆ กับค่อยๆ ชักนำลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นข้างบนไปทางช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตและลมปราณผ่านขึ้นไปแต่ละจักระ จะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* ต่อไปจะขอถ่ายทอดเคล็ดเบื้องต้นของการฝึก “กิริยา” (กิริยาโยคะ) หรือ กิริยาบำเพ็ญ ในกุณฑาลินีโยคะ ต่อจากที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว กิริยาท่าที่ 2 “จักระ อนุสาธนา” (ชักนำจิตไปตามจักระต่างๆ) ทำอาสนะในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะก็ได้ หลับตาทั้งสองข้าง หายใจตามปกติ ในการฝึกกิริยาท่านี้จะต้องลืมเรื่องลมหรือการเดินลม เพราะว่าไม่มีความเกี่ยวโยงกันระหว่างลมหายใจกับจิตในการฝึกกิริยาท่านี้ เนื่องจากการฝึกในขั้นนี้ มิใช่การฝึกในขั้นปราณายมะเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการฝึกในขั้นปรัตยาหาระ จึงต้องลืมเรื่องการเดินลม แต่มุ่งความใส่ใจไปที่จิตหรือการมีสติความรู้สึกตัวเป็นหลักแทน
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ* ผู้ที่ปลุกจักระต่างๆ ในร่างกายโดยผ่านการฝึกกุณฑาลินีโยคะได้แล้ว ร่างกายของผู้นั้นจะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้นั้นจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ จิตใจจะสมบูรณ์ กว้างขวาง อ่อนโยน และละเอียดอ่อนต่อผู้คนยิ่งขึ้น นอกจากนี้พลังจิตและพลังสมาธิของผู้นั้นก็จะสูงขึ้น ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจจะดีขึ้น ฉับไวยิ่งขึ้น แม่นยำยิ่งขึ้นและลุ่มลึกยิ่งขึ้น จิตใจของผู้นั้นจะเป็นอิสระยิ่งขึ้น ถูกสิ่งต่างๆ ผูกมัดทำให้ยึดติดน้อยลงเรื่อยๆ ผู้นั้นจะสามารถมองทุกอย่างอย่างที่มันเป็นได้ และจะเริ่ม “สื่อสาร” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* หลังจากที่ฝึกปลุกจักระที่ 5 แล้ว ผู้ฝึกจะต้อง ฝึกสมาธิกระตุ้น จุดพินธุในสมอง ด้วย เนื่องเพราะจักระที่ 5 กับจุดพินธุทำงานติดต่อกัน คำว่า พินธุ หมายถึงหยดน้ำซึ่งก็คือฮอร์โมนของเหลวในสมองนั่นเอง วิชาโยคะเชื่อว่าส่วนบนสุดของสมองด้านในมีบ่อหรือหลุมที่เล็กมาก บ่อนั้นเป็นที่หลั่งของเหลวหรือฮอร์โมนออกมา ซึ่งแม้จะหลั่งออกมาไม่มากนักเพียงแค่สองสามหยดก็จริง แต่มันจะไปเพิ่มคุณภาพของการทำหน้าที่ของระบบต่างๆ ในร่างกายของคนเราอย่างมากมาย
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* ในขณะที่ภาษาของความรักนั้น เป็นภาษาแบบสตรีเพศ ความสนใจของผู้ใช้ภาษาของความรักนี้ มิได้อยู่ที่อัตตาของตัวเขาเอง แต่อยู่ที่คู่สนทนาของเขา มิได้อยู่ที่การพิสูจน์ความถูกผิดของใคร และไม่ได้อยู่ที่การเสริมความอหังการของใคร หากอยู่ที่ความต้องการช่วยเหลือคู่สนทนาของเขาให้เติบโต เปลี่ยนแปลงตัวเอง และเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณได้ต่างหาก
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* การเตรียมตัวฝึกฝน เพื่อไปกระตุ้นจักระที่ 4 หรือจักระอนาหตะนี้คือ การฝึกสมาธิแบบ “อจาปา-จาปา” หรือ สมาธิแบบบริกรรมมนตราตามธรรมชาติ โดยมนตราที่ใช้คือคำว่า โซ-ฮัม (So-Ham) ซึ่งแปลว่า “ฉันคือสิ่งนั้น” (I am That) ซึ่งหมายถึง “ฉันคือพรหมัน” นั่นเอง หากเป็นชาวพุทธ จะบริกรรมคำว่า “พุท-โธ” โดยหายใจเข้าให้นึกถึงคำว่า “พุท” หายใจออกให้นึกถึงคำว่า “โธ” ซึ่งมีความหมายว่า “ฉันคือพุทธะ” ก็ได้เช่นกัน
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* ตันตระคือโยคะแห่งการปลุกให้ “รู้” ปลุกให้ “ตื่น” การฝึกฝนในตันตระ ด้วยวิธีการฝึกและอุบายต่างๆ นั้น ล้วนมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการ “รู้” และการ “ตื่น” ทั้งสิ้น หากคัมภีร์โยคะสูตรของปตัญชลีคือ แนวทางการฝึกแบบเจโตวิมุติคัมภีร์ตันตระ โดยเฉพาะคัมภีร์วิกยานไภราพตันตระก็คือแนวทางการฝึกแบบปัญญาวิมุตินั่นเอง โดยที่ไม่ว่าจะฝึกในแนวทางไหน ก็มี กุณฑาลินีโยคะ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นร่วมกัน โดยเฉพาะในขั้นตอนอาสนะ ปราณายามะ มุทรพันธะ กิริยา และการปลุกจักระต่างๆ เหมือนกันทั้งสิ้น ก่อนที่จะแตกต่างกันเมื่อก้าวเข้าสู่การฝึกขั้นสูง
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* เคล็ดในการปลุกจักระที่ 3 หรือจักระมณีปุระมีอยู่ 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้... ขั้นตอนที่หนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มฝึกขั้นตอนที่หนึ่งนี้ ผู้ฝึกควรทำการนวดฝ่าเท้ากับนวดบริเวณรอบๆ ดวงตาก่อน เพราะจักระที่ 3 เชื่อมโยงโดยตรงกับดวงตา และยังเชื่อมต่อไปถึงฝ่าเท้าด้วย จากนั้นจึงเริ่มฝึกขั้นตอนที่หนึ่ง ในที่มืดสลัว โดยนั่งขัดสมาธิในท่า สิทธะอาสนะ ใช้ส้นเท้ากดตรงกล้ามเนื้อบริเวณรอยฝีเย็บ อีกข้างหนึ่งวางบนหน้าขา นั่งตัวตรงสองมืออยู่ในท่าชินมุทรา (หงายฝ่ามือแตะบนหัวเข่า โดยเอานิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้แตะกันเบาๆ เป็นรูปวงกลม) จากนั้นจงหลับตาเพียงแผ่วเบา ในขณะนั่งสมาธิ ให้ส่งสมาธิจิตไปที่จักระที่ 1 หรือจักระมูลธารบริเวณรอยฝีเย็บ จดจ่ออยู่ที่บริเวณนี้ ต่อไปเมื่อหายใจเข้าให้ขมิบบีบกล้ามเนื้อบริเวณจักระที่ 1 หายใจออกให้คลายกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ทำเช่นนี้สลับกันไป ด้วยความตั้งใจราวๆ 5-10 นาที ตายังคงหลับอยู่
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* คัมภีร์วิกยานไภราพตันตระ ที่มีอายุกว่าห้าพันปีของทิเบต อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของผู้ฝึก กุณฑาลินีโยคะในขั้นสูงก็เห็นจะไม่ผิดนัก เพราะวิถีแห่งตันตระ หรือวิถีของพระศิวะ ผู้เป็นปฐมคุรุแห่งวิชาโยคะทั้งปวง ล้วนปรากฏออกมาอย่างแจ่มชัดในคัมภีร์วิกยานไภราพตันตระนี้ เพราะคัมภีร์นี้ขึ้นต้นด้วยข้อความดังต่อไปนี้ “พระแม่อุมาผู้เป็นชายาของพระศิวะ ทรงตรัสถามพระศิวะว่า...โอ พระศิวะท่านเอย ตัวตนที่แท้จริงของพระองค์นั้นเป็นฉันใดกันแน่ โลกที่เต็มไปด้วยความน่าอัศจรรย์ใจอันนี้คือ สิ่งใดกัน เมล็ดพันธุ์ของสรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากสิ่งใด ใครคือผู้ที่อยู่ ณ จุดศูนย์กลางของกงล้อแห่งจักรวาล ชีวิตที่ข้ามพ้นรูป และดำรงอยู่ในรูปลักษณ์ที่หลากหลายเหลือประมาณนี้คือสิ่งใดหรือ
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* การบริกรรมมนตรา “โอม” เป็นวิธีปลุกจักระในกายทิพย์ที่ทรงพลังมากวิธีหนึ่งของกุณฑาลินีโยคะ ยามเปล่งเสียง “โอม” ออกมา ผู้ฝึกควรเปล่งเสียงออกมาราวกับเสียงนั้นออกมาจากช่องท้องของตนด้วยเสียงทุ้มต่ำ และบริกรรมเสียงโอมนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในระยะเวลาที่นานพอสมควร ในความเชื่อของกุณฑาลินีโยคะ “โอม” คือคำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณสูงสุด “โอม” ยังเป็นคำที่มีพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถช่วยชำระความสกปรกในจิตใจ หรือในกายทิพย์ชั้นต่างๆ ของผู้ฝึกให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้ “โอม” คือเสียงแรกสุดของสัจธรรมแห่งจักรวาลที่ไร้ซึ่งกาลเวลา คือเสียงแห่งคลื่นสั่นสะเทือนที่ดำรงอยู่คู่กับสรรพชีวิต และสรรพสิ่งมาตั้งแต่อดีตกาลที่ไร้การเริ่มต้นก้องกังวานอยู่ทั่วจักรวาลอยู่ทุกเมื่อ “โอม” ยังเป็นเสียงอันล้ำลึกที่ไร้สิ่งกั้นขวาง เพราะนี่คือเสียงที่บังเกิดจากกฎแห่งการกำเนิดของสรรพสิ่ง และเป็นคลื่นการสั่นสะเทือนของมวลสรรพสิ่งที่เคลื่อนไหวตามกฎการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ของเอกภาพ...
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)* ในวิชากุณฑาลินีโยคะ จักระถูกปลุกได้ด้วย (1) บารมีหรือภูมิธรรมแต่ชาติก่อน (2) มนตรา (3) การบำเพ็ญตบะ (4) สมุนไพรบางชนิด (5) ธาตุกายสิทธิ์อย่างเหล็กไหล และแก้วมณีนาคราช (6) ปราณายามะ (7) ราชาโยคะ (8) กิริยาโยคะ (9) วิธีแบบตันตระ (10) คุรุผู้ศักดิ์สิทธิ์ และ (11) มอบตัวตนให้แก่เบื้องบนหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นได้ว่า การปลุกจักระเป็นเรื่องของปัจเจกมาก ในที่นี้จึงสามารถกล่าวถึงแนวทางการฝึกปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะได้อย่างกว้างๆ เท่านั้น