ถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐานให้

ถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐานให้


หลวงปู่ : ถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐานให้


 

ผมได้พาลูกศิษย์สำนักยุทธธรรมของผมจำนวน 30 คนไปบวชชีพราหมณ์ ที่ถ้ำไก่หล่น กับ "หลวงปู่" ในวันที่ 5-7 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2540 จริงตามที่ "หลวงปู่" เคยทำนายไว้ และในคืนวันที่ 6 ธันวาคมนี้เอง "หลวงปู่" ได้เมตตาถ่ายทอดสอนเคล็ดวิชาลมปราณ 7 ฐาน ให้พวกผมและคนอื่นที่มาบวชชีพราหมณ์ด้วยกัน ได้ฝึกฝนดังต่อไปนี้

"เดี๋ยวเรามาปลุกจิตวิญญาณให้ตื่นกันหน่อยดีมั้ย…ทุกคนยืดอกขึ้นเรามาฝึกหายใจแบบโกลัมปะ กันดีกว่านะ โกลัมปะเขาหายใจอย่างไร เขาหายใจนาทีละ 5 ครั้ง พวกเรานี่นาทีหนึ่งประมาณ 25 ครั้ง ถึง 15 ครั้ง หรือ 10 ครั้ง เพราะฉะนั้นเราลองมาดูกันว่า เราจะหายใจได้เข้าไปลึกที่สุดจนถึงขุมขนของปอดหรือไม่ ถ้าไม่มีคำสั่งให้ผ่อนลมออก ก็อย่าเพิ่งผ่อนแล้วกันนะ…เรามาดูกันว่าเราจะหายใจได้ยาวที่สุดได้แค่ไหน? และเรามาทำให้ลมหายใจเราค่อยๆเคลื่อนออกมาจากจมูกเราอย่างอ่อนโยนและแผ่วเบาได้หรือไม่? ขณะที่ความรู้สึกบีบคั้นมันเกิดขึ้นกับตัวเรา คือความกลัวตายที่หายใจไม่ออก"

"เราทำให้มันค่อยๆผ่อนออกมาอย่างอ่อนโยน และแผ่วเบาได้ไหม?พร้อมแล้วเตรียมตัว ยืดอกขึ้น จัดโครงสร้างของกายให้ตรง ด้วยความรู้สึก ใช้ความรู้สึกเพ่งเข้าไปในกาย สำรวจโครงสร้างภายในกาย ตั้งแต่กระดูกข้อต่อของลำคอ หัวไหล่ ไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง ทุกข้อต้องตั้งตรงและอย่าขบกัน อย่าเพิ่งหายใจใดๆ ให้หายใจเป็นปกติพอแล้ว แต่สำรวจโครงสร้างภายในก่อน"

" เมื่อเราคิดว่าโครงสร้างช้างในของเราตรงแล้ว ก็ค่อยๆหลับตาลงด้วยความรู้สึกนิ่มนวลและแผ่วเบา อย่ากดทับหนังตาด้วยความรู้สึกว่าต้องหลับตาให้สนิท แต่หลับด้วยความรู้สึกนิ่มนวลและแผ่วเบาจนไม่มีน้ำหนักบนใบหน้าและหนังตา ให้เกิดความเบาบนใบหน้าและหนังตา เมื่อจัดโครงสร้างของกาย ใบหน้าและลูกตาให้เป็นปกติแล้ว เริ่มสูดลมหายใจเข้าอย่างแผ่วเบา ยาว และลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้….เริ่มได้"

"ถ้ารู้สึกอึดอัดและจะหายใจไม่ค่อยออก หมายถึงว่า เรายังไม่พร้อมที่จะหายใจยาว ก็ผ่อนลมหายใจออกมาก่อน แล้วก็เริ่มตั้งลมหายใจใหม่สูดเข้าไปใหม่ให้เต็มจนมีความรู้สึกว่ามันเต็มเข้าไปในปอด ถุงลม ช่องท้อง และลำคอ และทำให้ลมมันซ่านเข้าไปทั่วอวัยวะภายในกาย นั่นก็คือ ในช่องท้อง ในปอด ถุงลม ลำไส้น้อยใหญ่ และลำคอทั้งปวง อย่าให้ลมออกในที่ใด…แล้วก็ค่อยๆผ่อนลมออกด้วยความรู้สึกแผ่วเบา นุ่มนวล และสุภาพ " (หลวงปู่หายใจให้ดูเป็นตัวอย่างใน 1 นาที ท่านหายใจเพียง 2 ครั้งเท่านั้น และเป็นธรรมชาติมาก)

"เอาใหม่…. ลืมตา…. แล้วฟังทางนี้ ไม่ว่าพวกเธอจะฝึกวิชาอะไรมาเรียนรู้สำเร็จปริญญาใดมา แต่สามารถถ้าพวกเธอหายใจไม่เป็น เธอย่อมไม่สามารถรักษาปราณหรือพลังในกายของเธอเอาไว้ได้ เธอไม่รักษาสมอง คือควบคุมการทำงานของสมองให้มีความเป็นเลิศในความคิดได้ เธอไม่สามารถจะรักษาหรือควบคุมการทำงานของอวัยวะทั้ง 32 ให้ทำงานอย่างผสมผสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์ของเธอได้ บางครั้งเธออาจจะเคี้ยวข้าวแล้วกัดลิ้นชองเธอเองก็ได้ทั้งๆที่เธอไม่อยาก แต่เธอควบคุมตัวเองไม่ได้ บางครั้งเธออยากหัวเราะ แต่มันมีอารมณ์สับสนที่ฝังอยู่ภายใน อึดอัดและเศร้าหมองอยู่ข้างในหัวเราะไม่ได้ หรือหัวเราะแล้วไม่ใช่เสียงหัวเราะก็ได้ เหล่านี้ถือว่ามาจากเหตุของปราณภายในบกพร่องมาจากเหตุของการหายใจไม่เป็น มาจากสาเหตุของการมีชีวิตอันไม่มีศิลปะ มีจิตวิญญาณอันบกพร่อง กายทำงานก็เลยบกพร่องไปด้วย"

"เมื่อรู้ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า ลมหายใจเป็นเรื่องสำคัญ มีชีวิต มีลมหายใจ มีพลังงาน ใช้พลังงาน สิ้นชีวิต ขาดลมหายใจ ขาดพลังงาน หมดพลังงาน เพราะฉะนั้นลมหายใจเป็นตัวกำหนดชีวิต เป็นตัวสร้างพลังชีวิตและเป็นตัวทำให้เกิดพลังแห่งชีวิต ถ้าเธอยังหายใจแบบนก แบบหมา แบบปลา แบบหมู แบบหนู แบบไก่ ชีวิตเธอจะไม่ยืนยาว เธอไม่อาจจะมีอายุไขยืนยาว พลังชีวิตของเธอก็จะเศร้าและสั้นลง เพราะฉะนั้น ถ้าหากอยากให้มีชีวิตอันยืนยาว จงหายใจให้เป็น นั่นคือ จงหายใจให้เป็นจังหวะ ไม่ใช่ฟืดฟาดๆ แล้วหายใจสั้นนิดเดียว สัตว์ที่หายใจสั้นที่สุดคือสัตว์ที่มีชีวิตสั้นที่สุด สัตว์ที่หายใจได้ยาวและมากที่สุดก็คือ สัตว์ที่มีอายุยืนยาวที่สุด เพราะฉะนั้นลองมาทำการฝึกหายใจให้เป็นก่อนที่จะปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ"

"คนที่หายใจเป็นจะมีแววตาที่สุกใสและกล้าต่อแสง สามารถต่อสู้และโต้ต่อกระบวนการของแสงและแววตาของคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่หวาดหวั่น ไม่พรั่นพรึง ไม่มีกระบวนการของวิตกหวาดกลัวและสะดุ้งผวา คนที่ตกใจง่าย คนที่สะดุ้งผวาและหวาดกลัว มาจากหายใจไม่เป็น จิตจึงขาดพลัง กายขาดปราณ คือขาดพลังแห่งกาย"

"เรามาเริ่มหายใจกันใหม่…พร้อมนะ…หายใจพร้อมๆกับหลวงปู่ (หายใจเข้า…หายใจออก กินเวลาครั้งละประมาณ 30 วินาที) …เริ่มสูดลมเข้า เสร็จแล้วหายใจออก พักไว้สักนิด แล้วก็สูดเข้าไปใหม่…ค่อย ๆ นิ่มนวล เนิบนาบ หนักหน่วง และเต็มเปี่ยม (หลวงปู่หยุดการหายใจเพราะในนั้นมีผู้หายใจผิด) ….ทำความเข้าใจในระบบหายใจแบบมีศิลปะของชาวพุทธก่อนนะลูก หายใจแบบพระพุทธะ หรือพระมหาโพธิสัตว์ หรือพระโพธิชน หรืออริยชนนั้น ไม่ใช่หายใจแล้วเกร็งตาเหลือกอย่างนี้ เดี๋ยวเส้นเลือดโป่งตาย"

"ลองจับการหายใจของหลวงปู่ดูสิ…(หายใจเข้า….ออก ลึก ยาว นุ่มนวล เนิบนาบ) เห็นมั้ยว่า หลวงปู่เพิ่งหายใจออก 2 ครั้งเองในหนึ่งนาที เป็นปกติ ไม่ต้องบังคับอะไร ทำอย่างนี้แล้วเรารู้สึกสดชื่นเมื่อเราพ่นลมออกมา มลภาวะทั้งปวงมันจะไหลออกมาตอนที่เราพ่นลม จิตเราจะมีสันติสุข สงบ สมาธิของเราจะตั้งขึ้นได้ในฉับพลัน ปราณในกายคือพลังในกมลสันดาน ในจิตวิญญาณ และในกายเราจะตั้งมั่นและเป็นสาย เราจะสามารถบังคับพลังปราณไปตามจุดต่างๆ ให้วิ่งเข้าไปสู่อวัยวะทั้งหลาย กระตุ้นให้มันได้ทำงานแบบปกติได้"

"เอาใหม่…เริ่มนะ…หายใจเข้า…หายใจออก (หลวงปู่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างอีก) ลองสำรวจตัวเองซิ รู้สึกสดชื่นขึ้นมั้ย โล่งขึ้นหรือเปล่า ไขสันหลังของเราเริ่มมีความรู้สึกอบอุ่น มีพลังเล็กๆ วิ่งซาบซ่านอยู่หรือไม่ อย่าไปทำความรู้สึกว้าต้องหายใจให้ได้เหมือนหลวงปู่ เพราะคนเราปอดไม่เท่ากัน หลอดลมก็ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ถุงลมก็ไม่เท่ากัน เอาเป็นว่าตัวเองสามารถหายใจลึกได้เท่าไหร่ก็แค่นั้นแล้วค่อยๆผ่อนลมออกมาอย่างสุภาพนิ่มนวลก็แล้วกัน ทำสัก 5 ครั้งก่อนนะแล้วค่อยมาสำรวจดูว่า เรารู้สึกโล่งขึ้นมั้ย ปรากฏอารมณ์ใดๆ ในเวลานี้ ง่วงนอนหรือเปล่า สับสนมั้ย อึดอัดมั้ย เตรียมตัว…"

"การเตรียมตัวก็คือ เราต้องกลับมาดูที่กายเราว่า ลมหายใจของเราตอนนี้อยู่ระหว่างกลางทางหรือเปล่า อึดอัดมั้ย มันยังหายใจไม่สุด ของเก่ายังทิ้งไม่หมดหรือเปล่า หรือหายใจยังติดค้างอยู่มั้ย ถ้าอย่างนั้นต้องผ่อนคลายมันออกให้หมดก่อน แล้วก็สูดเข้าไปใหม่ หรือไม่ขณะที่มันสูดอยู่แล้วยังผ่อนออกไม่หมด หรือว่ายังไม่สูดเข้า ผ่อนแล้วยังไม่สูดเข้า ก็สูดเข้าไปใหม่ แล้วตั้งต้นอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ จัดระบบของกายให้เป็นระเบียบที่เหมาะสมกับตนเองให้พอเหมาะสำหรับตัวเอง….เอาตามนี้ก็แล้วกันนะ…เริ่มได้"

"ศิลปะของการหายใจ หลังจากที่เราพ่นลมหรือผ่อนลมออกแล้วนั้นต้องให้รู้สึกว่าเราได้ผ่อนออกมาจนหมด แล้วก็พักสักนิดหนึ่ง ถ้าไม่อึดอัดจนเกินไป แล้วจึงค่อยๆ เริ่มสูดลมเข้าไปใหม่ นุ่มนวล เนิบนาบ มั่นคง และเต็มเปี่ยม เราทำให้ลมมันพลุ่งพล่านอยู่ภายในด้วยกระบวนการของการเข้าไปปลุกและกระต้นจิตวิญญาณ อารมณ์ และอวัยวะทั้งหลายให้ตื่น…. แล้วก็ค่อยๆผ่อนคลายออก ถ้ามีคำถามว่า จะกระตุ้นนานแค่ไหน ก็นานจนกว่าจะเกิดความรู้สึกว่าเราทนไม่ได้ นั่นก็คือ สูดลมเข้าไปแล้ว หลังจากรู้สึกว่าเราควรจะผ่อนคลายได้ แล้วก็ผ่อนลมออกมา เพราะฉะนั้นการผ่อนลมอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นความอึดอัด ขัดเคือง กลัดกลุ้ม เศร้าหมองขุ่นมัว มันจะหายไปหมด จะโดนกำจัดจนเกลี้ยงและมันจะเหลือไว้แต่เอกบุรุษ หรือเอกสตรีเท่านั้น"

"วิธีนี้คือหนึ่งในวิชาลม 7 ฐาน เป็นฐานที่ 1 ของ 7 วิธี…การหายใจแบบโกลัมปะ หรือการหายใจแบบพญามังกรนอนในถ้ำน้ำแข็ง ….เขาว่ากันว่าพญามังกรในภูเขาไท้ซานเนี่ย เดือนหนึ่งจะหายใจเข้าหนึ่งครั้ง แต่อย่าเอาอย่างนะ แล้วหลังจากหายใจเข้าแล้ว อีกเดือนหนึ่งจะหายใจออก เพราะฉะนั้นตรงลมหายใจของพญามังกรจะมีดอกบัวขึ้นมา นี่เป็นจุดกำเนิดของตำนานบัวหิมะซึ่งมีทั้งพิษ มีทั้งคุณประโยชน์อยู่ในบัวดอกนั้น นี่เป็นเรื่องเล่าของชาวธิเบตและชาวจีนทางภาคเหนือตอนบน"

"เราไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น เอาเป็นว่าสำรวจดูสิ ตอนนี้เราสว่างขึ้นบ้างมั้ย เราโล่งมั้ย แล้วรู้สึกตั้งมั่นมั้ย มีอารมณ์สับสนหรือเปล่า ถ้าไม่มีอารมณ์สับสน แต่มีความโล่ง โปร่ง เบา สบาย ตั้งมั่น ก็อย่าเพิ่งดีใจ เพราะนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าจะเข้าไปถึงกระบวนการของมันจริงๆ แล้ว มันต้องเป็นสภาวะของพลังพิเศษ การหายใจที่มีพลังพิเศษ หลวงปู่ยังไม่อยากบอกว่ามันเป็นพลังอะไร แต่มันเป็นพลังพิเศษ มันจะทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ เรื่องที่เราไม่เคยได้เรียนรู้ก็จะได้รู้เหมือนดังคนเรียนรู้และรู้ยิ่งกว่า เอาเป็นว่า กลับไปฝึกตามนี้ก็แล้วกันนะ"

หลังจากที่หลวงปู่ได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐาน ขั้นที่หนึ่งได้แก่พวกผมแล้วท่านก็ได้สั่งให้พวกผมร้องเพลง "มาลาบูชาคุณ" ขอบพระคุณ "ครู" ที่ถ่ายทอดวิชาให้ ซึ่งจากนั้นพวกผมจะต้องร้อง "มาลาบูชาคุณ" ทุกๆ ครั้งที่ "หลวงปู่" สอนพวกเรา ผมร้อง "มาลาบูชาคุณ" ด้วยความซาบซึ้งใจในพระคุณของ "คุรุ" แห่งวิถีบูรพา และด้วยความดีใจที่ความสัมพันธ์ระหว่าง "ครู" หรือ "หลวงปู่" กับ "เหล่าศิษย์" คือพวกผมได้แน่นแฟ้นลึกซึ้งขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้ว ช่วงเวลาที่ "หลวงปู่" ได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาสูงสุดของพระโพธิสัตว์ หรือวิชาลม 7 ฐานนี้ให้แก่ผมเป็น "ช่วงขณะ" ที่ผมไม่มีวันลืมเลือนได้ตราบชั่วชีวิตนี้ มันช่างเป็นช่วงเวลาที่สุดแสนจะประทับใจ และตราไว้ในดวงจิตจนแนบแน่นเข้าไปในจิตวิญญาณ และ"ไขกระดูก" ของผมก็ไม่ผิดนัก เพลง "มาลาบูชาคุณ" ที่พวกผมร้องให้ "หลวงปู่" มีเนื้อหาดังต่อไปนี้


มาลาบูชาคุณ

มาลาพวงดอกไม้ มาลาพวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูชา
ขอบูชาแด่พระพุทธ ที่ได้ตรัสรู้มา
มาลาพวงดอกไม้ มาลาพวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูชา
ขอบูชาแด่พระธรรม ที่ได้นำความสุขมา
มาลาพวงดอกไม้ มาลาพวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูชา
ขอบูชาแด่พระสงฆ์ ที่ได้ทรงพระวินัย
พุทธังวันทามิ ธัมมังวันทามิ สังฆังวันทามิ ล้วนเป็นรัตนตรัย
สิบนิ้วต่างธูปเทียน ยกขึ้นเหนือเศียรถวายวันทา
กราบองค์พระศาสดา ถวายวันทาองค์พระธรรม
พระสงฆ์ผู้ทรงศีล เหลืองทั้งสิ้นฉันขอวันทา
หลวงพี่และหลวงพ่อ กรรมฉันก่อแต่นานมา
เณรน้อยและเณรใหญ่ มีอยู่หลายฉันขอขมา
โปรดสงสารให้อภัย แด่ ข้าพเจ้า…..เทอญ

อันสิบนิ้วเรานี้ย่อมมีค่า จะวันทาใครต้องมองให้ถี่
กราบอาจารย์เจาะจงเป็นสงฆ์ดี เป็นราศรีมีกุศลทุกหนเทอญ


ขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุด จงมีแด่อาจารย์ทุกประการเทอญ
ขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุด จงมีแด่อาจารย์ทุกประการเทอญ
ขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุด จงมีแด่อาจารย์ทุกประการเทอญ


…………………….

 

หลังจากที่พวกผม ร้องเพลง "มาลาบูชาคุณ" เสร็จแล้ว "หลวงปู่" ได้เปิดโอกาสให้พวกผมซักถามสิ่งที่ยังสงสัยอยู

"ปุจฉา" ผมถามเกริ่น

"วิสัชนา" ท่านตอบรับ


"ศิษย์กราบขอบพระคุณที่หลวงปู่ได้เมตตาถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐาน ขั้นที่หนึ่งให้ ศิษย์อยากจะเรียนถามว่า ถ้าจะฝึกทุกวัน ควรจะฝึกลมหายใจแบบนี้ได้วันละไม่เกินกี่ครั้ง แล้วใช้เวลาประมาณเท่าได"


"หลวงปู่" ตอบว่า
"วิชาลม 7 ฐานนี้มีความหมายใกล้เคียงกับมหาสติปัฏฐาน 4 ใกล้เคียงกับหลักปฏิจจสมุปบาท และก็ตรงกับหลักโพธิปักขิยะธรรม 37 ประการ แต่ทั้งหมดแล้วมันรวมอยู่ในฐานทั้ง 7 ของลม 7 ฐาน ความหมายของลม 7 ฐานคือ ศิลปะในการดำรงชีวิต หายใจมีศิลปะ คิดมีศิลปะ สำเหนียกรับทราบแบบมีศิลปะ สัมผัสซึมสิงแบบมีศิลปะ ดูแบบมีศิลปะ ฟังแบบมีศิลปะ และสุดท้ายมันจบลงตรงคำว่าไม่ยึดติดในศิลปะนั้นๆ…"


"..การเดินลมในฐานที่ 1 ของลม 7 ฐานที่เธอถามว่าต้องเดินลมทุกวันมั้ยหรือเดินลมวันละกี่ชั่วโมง หรือในเวลาใดที่เหมาะสม ? ก็ขอตอบว่า ในเวลาที่พวกเธอทั้งหลายนึกถึงมัน เป็นเวลาที่เหมาะสมในการทำฐานที่ 1 ของลม 7 บาน…"


"…ประโยชน์ของมันจะทำให้เธอเป็นอะไรได้บ้าง ก็ขอตอบว่า อย่างน้อยสีหน้าจะผ่องใส แววตาจะแช่มชื่นเบิกบาน มีแววแห่งปัญญาญาณฝังอยู่ในกมลและสายตา กลิ่นตัวจะลดน้อยลง สภาวะของความคิดจะเป็นระบบ กายจะรักษาระเบียบมากขึ้น การขับถ่ายในร่างกายจะเป็นปกติ เราจะสามารถสำรวจตรวจตราของเสียภายในกายได้อย่างถี่ถ้วน และกำจัดมันได้อย่างหมดจดและละเอียดรอบคอบ เหล่านี้เป็นผลพวงของการเดินลม 1 ใน 7 ฐาน ระบบหายใจ การหมุนเวียนของเม็ดเลือดทั้งแดงและขาวก็จะทำงานผสมผสานและสมดุล กระบวนของมันจะสมบูรณ์แบบ ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสร้างอำนาจ มีสมรรถนะในการกำจัดของเสียหรือเชื้อโรคทั้งหลายที่แฝงเข้าไปสู่กาย การเดินลม 7 ฐานไม่มีข้อห้ามว่าต้องยังงั้นยังงี้ แต่มีข้อแม้ว่าเธอต้องคิดถึงมัน"

……………………..


หากวิชาลม 7 ฐาน คือสุดยอดวิชาของพระโพธิสัตว์ เราก็ควรมีนิยาม ที่แจ่มชัดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์เสียก่อน

"ปุจฉา"
"วิสัชนา"

"ศิษย์อยากทราบความแตกต่างระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ เพราะเห็นหลวงปู่เคยบอกว่า พระโพธิสัตว์สามารถเตือนพระอรหันต์ได้ ทำให้เกิดความสงสัย เพราะพระอรหันต์เป็นผู้สำเร็จแล้ว แต่พระโพธิสัตว์ยังไม่นิพพาน"


"หลวงปู่" ตอบว่า

"พระราชวงศ์ ลูกหลานของราชาเตือนนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ไหม ในความเป็นจริง ถ้าเธอยอมรับว่าเตือนได้ ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ก็เป็นเช่นนั้น พระอรหันต์เปรียบได้ดังนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ส่วนพระโพธิสัตว์เปรียบได้ดังราชวงศ์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะพระโพธิสัตว์สำเร็จแล้วเป็นพระพุทธเจ้า เป็นราชาแห่งพระธรรม แต่สาวกเสด็จแล้วก็ยังเป็นพระสาวก ยังไงๆก็ยังอยู่ต่ำกว่าพระโพธิสัตว์อยู่ดี พระโพธิสัตว์จึงเป็นบุคคลพิเศษที่มีอภิสิทธิ์ หรือคุณธรรมสูงกว่าพระอรหันต์…"


"คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์นั้นอยู่ที่ปณิธานที่ว่า สัตว์อันไม่มีประมาณเราต้องปลดเปลื้องให้พ้นจากทุกข์ภัย ธรรมะทั้งหลายอันไม่มีประมาณ เราต้องเรียนรู้ให้จบครบถ้วนกระบวนความ กิเลสทั้งหลายอันไม่มีประมาณ เราต้องกำราบและสลัดให้หลุด
ปณิธานเหล่านี้เป็นคุณสมบัติพิเศษ ของพระโพธิสัตว์ แต่พระอรหันต์นั้นเรียนรู้ธรรมข้อใดข้อหนึ่งแล้วทำธรรมนั้นให้กระจ่างก็บรรลุอรหันต์ได้ ซึ่งต่างจากพระโพธิสัตว์ที่จะต้องเรียนรู้ธรรมทุกข้ออันไม่มีประมาณ พระโพธิสัตว์ต้องรียนรู้จนจบครบถ้วนกระบวนความของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่อุบัติมาแล้วแต่ต้นที่สอนธรรม จึงต่างจากพระอรหันต์ที่มีคุณสมบัติเพียงแค่มีดวงตาเห็นธรรม กระจ่างชัดในธรรม และก็บรรลุธรรมในข้อนั้นๆ ก็จบสำเร็จกิจเป็นพระอริยบุคคล เองต้น ท่ามกลาง และก็ที่สุด ต่างกันตรงนี้ "











 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้