มณฑลแห่งพลังกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (ตอนที่หนึ่ง) 31/5/2548

มณฑลแห่งพลังกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (ตอนที่หนึ่ง) 31/5/2548



มณฑลแห่งพลังกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (ตอนที่หนึ่ง)



"ปรัชญานักรบกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ"


"ปัญญาชนที่แท้จริงนั้น ไม่เคยเป็นแค่ผู้ชม หากเป็น นักรบแห่งมโนธรรม
และศัตรูที่แท้จริงของพวกเขาคือ ทุกข์ร้อนในบ้านเมือง"

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล "เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์" สำนักพิมพ์สามัญชน 2547)



วาทกรรมของนักคิด และปัญญาชนไทยที่ปรากฏตามสื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ ที่เกี่ยวกับปัญหาของคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานคนชั้นกลาง มักจะหนีไม่พ้นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ในสองประเด็นหลักๆ คือ (1) การขาดความสนใจในเรื่องของส่วนรวม หมกมุ่นแต่เรื่องของตนเอง กับ (2) การขาดแรงบันดาลใจในชีวิต ขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์


ผลก็คือ คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของเรา ขาดจุดหมายทางยุทธศาสตร์สำหรับขับเคลื่อนสังคมที่ตนเองสังกัด อย่างมากก็แค่คิดหาวิธีดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ เท่านั้น มิหนำซ้ำภายใต้บรรยากาศทางสังคมที่มุ่งปลุกระดมให้คนมุ่งเสพสำราญ มุ่งหาเงินแบบไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงาน เช่น หุ้น หวย มวย บ่อนเช่นนี้ นับวันคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งถอนตัว เหินห่างออกจากวิถีแห่งคุณธรรม และมโนธรรมมากยิ่งขึ้นทุกที และใช้ชีวิตแบบสุดขั้วตามอารมณ์มากยิ่งขึ้นทุกที


เราจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเสริมสร้างพลังชีวิตให้แก่คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของเรา และเป็นอนาคตของชาติได้อย่างไร?


ในทัศนะของผู้เขียน การปลูกฝัง "ปรัชญานักรบ" ที่มีต้นแบบอย่าง มูซาชิ จากมุมมองของวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ น่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นหลังได้ เพราะลึกๆ แล้วก็คงไม่มีใครอยากรบแพ้ในสงครามชีวิต ไม่ว่าใครก็คงอยากรบชนะทุกสมรภูมิเหมือนอย่างมูซาชิด้วยกันทั้งนั้น


ปรัชญานักรบของมูซาชิ นั้น ปรากฏชัดเจนในข้อเขียนสั้นๆ ชื่อ "วิถีที่เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว" อันเป็นคำสั่งเสียที่มูซาชิมอบให้แก่พวกลูกศิษย์ของเขาในช่วงเจ็ดวันสุดท้าย ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1645 ถ้าเราศึกษา ปรัชญานักรบ ของมูซาชิในข้อเขียนชิ้นนี้ซึ่งมีทั้งหมด 21 ประการ ซึ่งมูซาชิได้สรุปบทเรียนมาจากการใช้ชีวิตในฐานะที่เป็นนักรบ ควบคู่ไปกับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับมหภาค เราจะเห็นได้ว่า ปรัชญานักรบแบบมูซาชิในระดับจุลภาคหรือระดับปัจเจก มีความจำเป็นหากเราต้องการทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงปรากฏเป็นจริงในระดับสังคมได้


"วิถีที่เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว" มีดังต่อไปนี้

(1) จงอย่าใช้ชีวิตที่ขัดกับวิถีแห่งคุณธรรมของชาวโลก

ขยายความ มูซาชิแนะให้คนเราใช้ชีวิตอยู่บน วิถีแห่งปัญญา ตามแนว เซน ที่เขาปฏิบัติในช่วงบั้นปลายของชีวิต ที่มีความเป็นเสรีชน เป็นตัวของตัวเอง และไม่ฝืนความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์


(2) ไม่แสวงหาความสุข ความสบาย ความสำราญใส่ตัวราวกับเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ขยายความ มูซาชิฝักใฝ่ในวิถีแห่งการบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุความเป็นเลิศในวิถีของตน การจะทำเช่นนี้ได้ผู้นั้นจะต้องไม่ติดหลงสิ่งภายนอก แต่มุ่งขัดเกลาตัวตนภายในเป็นหลักแทน เพราะมูซาชิเห็นว่า หากคนเราสามารถคลายความยึดติดจากอำนาจแห่งกิเลสตัณหาของตนได้ ใจของเขาผู้นั้นย่อมได้พบกับความว่างที่แท้หรือสุญตาอย่างแน่นอน


(3) ไม่ยึดติดในทุกๆ สิ่ง

ขยายความ มูซาชิแนะให้คนเราหัดปล่อยวางในทุกสิ่ง ทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ด้วยใจที่มีอุเบกขา


(4) คิดถึงเรื่องตัวเองให้น้อยหน่อย คิดถึงเรื่องของส่วนรวมให้มากขึ้น

ขยายความ มูซาชิแนะให้เราอย่ามองโลกโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และอย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป ราวกับว่าโลกนี้จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวเรา


(5) ไม่มีใจโลภตลอดชั่วชีวิตนี้

ขยายความ มูซาชิเตือนเราว่า ความอยาก ความปรารถนาคือที่มาแห่งทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความอยากทางวัตถุ หรือความอยากที่จะเหนือกว่าผู้อื่นก็ตาม


(6) อย่าเสียใจในภายหลังกับเรื่องที่เราได้ทำไปแล้ว

ขยายความ เพราะมันจะฉุดใจเราให้เบี่ยงเบนออกไปจาก "ปัจจุบันขณะ"


(7) ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่ว่าในกรณีใด

ขยายความ เพราะความรู้สึกอิจฉาริษยา สะท้อนให้เห็นว่า ใจของเรายังขาดความสมบูรณ์พร้อม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่


(8) ไม่เสียใจยามพลัดพรากจากกัน

ขยายความ ในปัญญาระดับสูงสุด การพลัดพรากแยกจากล้วนไม่ใช่ความจริง เพราะทุกสิ่งคือ หนึ่งเดียว


(9) ความโกรธ ความคับข้องใจล้วนไม่ดีต่อตนเองและผู้อื่น

ขยายความ จงมี ความคิดในเชิงบวก ต่อทุกเหตุการณ์ ต่อทุกคน รวมทั้งตัวเราเอง


(10) อย่าให้ความรักแบบหนุ่มสาวมารบกวนจิตใจ

ขยายความ อย่าให้ความรักมาเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวิถี นักรบที่ดีต้องเชี่ยวชาญในการแปรความรู้สึก "รักใคร่" ให้กลายเป็นพลังในการรุดหน้าบนวิถี


(11) จะทำงานอะไรต้องหนักเอาเบาสู้ อย่ารักสบาย อย่าเลือกงาน

ขยายความ อย่าเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อย่าเป็นคนกลัวลำบาก กลัวงานหนัก


(12) ไม่คิดสร้างบ้านเรือนใหญ่โต

ขยายความ นักรบที่ดีต้องอยู่ได้ทุกที่ เอาท้องฟ้าเป็นหลังคา เอาภูเขาเป็นผนังห้อง จะอยู่ที่สบาย หรืออยู่ที่ลำบากล้วนไม่เป็นปัญหา


(13) ไม่แสวงหาอาหารที่เลิศรส

ขยายความ นักรบที่ดีต้องกินง่าย อยู่ง่าย ไม่เลือกกิน


(14) ไม่สะสมของเก่า

ขยายความ นักรบที่ดีจะต้องระวังไม่ให้ถูกสมบัติครอบงำ เพราะผู้ที่มุ่งสะสมทรัพย์สมบัติ สุดท้ายก็มักจะกลายเป็นทาสของทรัพย์สมบัติแทนที่จะเป็นนายมัน


(15) ไม่ใช้ชีวิตอย่างงมงาย

ขยายความ ตำนาน ความเชื่อหลายอย่างเป็นสิ่งที่ต้องแยกแยะ ใช้วิจารณญาณ การจะเชื่อในเรื่องใด ควรมีประสบการณ์ตรง และไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเสียก่อน


(16) ไม่เสาะหาสะสมอาวุธเกินความจำเป็น

ขยายความ นักรบที่ดีไม่มุ่งสะสมอาวุธเกินความจำเป็น หากได้เจออาวุธที่ดีเหมาะมือแค่เล่มเดียวก็พอแล้ว หากหาไม่ได้ก็ควรทำอาวุธ (ดาบ) ของตนขึ้นมาเอง


(17) ไม่เสียดายชีวิต ถ้าจะต้องสละเพื่อ "อภิมรรค"

ขยายความ นักรบที่ดีต้องเทิดทูนมรรคาแห่งกลยุทธ์ของตนยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง


(18) ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยในเรื่องเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

ขยายความ อย่าใส่ใจในคุณค่าของสิ่งนอกตัว ประดับตัวมากกว่าคุณค่าที่อยู่ข้างในตัวเรา


(19) จงเคารพพระพุทธเจ้า และเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่าไปคิดอ้อนวอนให้พวกท่านช่วย

ขยายความ ต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่าไปยึดติดกับครูบาอาจารย์ ศาสดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์จนขาดศักยภาพ และวิริยภาพในการพัฒนาตนเองอย่างเป็นอิสระ


(20) เสียชีพได้ แต่อย่าเสียเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นนักรบเป็นอันขาด

ขยายความ นักรบที่แท้ต้องยอมสละชีพเพื่อผดุงธรรม


(21) ใจไม่เคยห่างจากมรรคาของนักรบ

ขยายความ จงมีใจจดจ่ออยู่กับวิถีแห่งกลยุทธ์จนกระทั่งเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลา


จะเห็นได้ว่า ปรัชญานักรบ ของมูซาชิคือ ชีวทัศน์เกี่ยวกับเรื่องชีวิต ความตาย การกระทำ จิตสำนึก ปณิธาน พลังในการทำงาน และความรัก ของยอดนักรบ และยอดนักกลยุทธ์อย่างมูซาชินั่นเอง


ปรัชญานักรบ แบบนี้เป็น ฐานคิดที่สำคัญ ในสังคมตะวันออกที่ยังให้คุณค่ากับนักปราชญ์ นักบวช และนักรบเป็นพิเศษ และเราได้พบว่า นอกจากมูซาชิแล้ว ซามูไรรุ่นหลังมูซาชิเพียงไม่กี่สิบปี อย่าง ยามาโมโตะ โญโจ(ค.ศ. 1659-1719) ผู้เขียนหนังสือ "ฮะงะคุเระ" (บันทึก ซ่อนใบ ) ก็ได้ถ่ายทอดปรัชญานักรบที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมญี่ปุ่นในยุคต่อมาเป็นอย่างสูง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในนามของ วิถีบูชิโด


ในความเข้าใจของผู้เขียน คำสอนของโญโจใน "ฮะงะคุเระ" เล่มนี้จะมีพลังยิ่งต่อคนอ่าน ก็ต่อเมื่อคนอ่านผู้นั้นอยู่ในยุคสมัยที่ไร้วีรบุรุษหรือ ยุคสมัยที่ผู้คนส่วนใหญ่คลั่งไคล้คนเป็นดารา นักร้อง ศิลปินมากกว่าผู้กล้าที่แท้จริง ในยุคสมัยเช่นนี้ ซึ่งคงตรงกับยุคปัจจุบันของสังคมไทย วิถีนักรบ ของ "ฮะงะคุเระ" จะสามารถกลายเป็น วิถีที่ทวนกระแส ได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจาก วิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียง


หากไม่มีมุมมองเช่นนี้แล้ว ผู้อ่านก็อาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิถีนักรบและนักกลยุทธ์ใน "ฮะงะคุเระ" อย่างแน่นอน เพราะหนังสือนี้ก็เฉกเช่นเดียวกับ "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ คือมันไม่ใช่หนังสือสำหรับปุถุชนคนธรรมดาอ่าน แต่มันเป็นหนังสือสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นจะใช้ชีวิตเยี่ยงนักรบและนักกลยุทธ์ที่แท้เท่านั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเรียกร้องเงื่อนไขทางจริยธรรม และจิตวิญญาณของผู้อ่านที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยของปุถุชนคนทั่วไป เพราะ มีแต่ผู้ที่สามารถบรรลุเงื่อนไขทางจริยธรรม มโนธรรม และจิตวิญญาณเช่นนี้ได้ก่อนเท่านั้น ถึงจะสามารถมีพฤติกรรมที่สูงส่งเยี่ยง "นักรบ" ในอุดมคติได้


ปรัชญานักรบของ "ฮะงะคุเระ" ประกอบด้วย หลักการ 3 สาขาด้วยกันคือ ปรัชญาเชิงปฏิบัติการ ปรัชญาความรัก และปรัชญาการใช้ชีวิต


ในสาขาที่หนึ่ง ว่าด้วยปรัชญาเชิงปฏิบัติการ นั้น "ฮะงะคุเระ" จะให้คุณค่าแก่ ผู้กระทำ ( ) การกระทำของผู้กระทำ และผลของการกระทำที่เป็น ปฏิบัติการ โดยมี "ความตาย" เป็นเงื่อนไขพื้นฐานรองรับ ทั้งนี้เพราะ นักรบคือ ผู้ที่เจริญสติในเรื่องความตายอยู่เสมอ และแสวงหาที่ตายของตัวเองว่าจะตายอย่างไรมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ ปรัชญานักรบจึงต้องเป็นปรัชญาเชิงอัตวิสัย มิใช่ปรัชญาเชิงภววิสัย และเป็น ปรัชญาแห่งปฏิบัติการ มิใช่ปรัชญาการเมืองแบบมาเคียร์เวลลี่ที่เน้นการเล่นเกมมุ่งชิงอำนาจเป็นหลัก ปรัชญานักรบอย่างนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่งๆ มนุษย์เราควรจะใช้อะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการกำหนดพฤติกรรม และปฏิบัติการของตน ถ้าเรามีมุมมองและหลักการที่แจ่มชัดอย่าง "นักรบ" เช่นนี้แล้ว หันไปมองพฤติกรรมของนักการเมือง นักธุรกิจ นักการตลาดที่ "สร้างภาพ" ทั้งหลาย เราก็จะเห็นได้ชัดว่า ใครควรแก่การเคารพเลื่อมใส และใครควรแก่การดูแคลนไม่น่ายกย่อง


ในสาขาที่สอง ว่าด้วยปรัชญาความรัก นั้น "ฮะงะคุเระ" ให้คุณค่ากับความรักที่เราเก็บไว้ในใจของตนโดยไม่แพร่งพรายให้ผู้อื่นรับรู้ ( ชิโนบุโคอิ) เพราะหากเราเปิดเผยความรักนั้นออกไปเมื่อใด ความรักนั้นจะไปบั่นทอนการฝึกฝนตนเองของนักรบ และทำให้ความรักนั้นค่อยๆ ไร้ความหมายลงไปด้วย การมีความรักอยู่ในใจตลอดวัน ตลอดปี และถ้าเป็นไปได้ให้เราตายไปพร้อมๆ กับความรักนั้นโดยมิจำเป็นต้องเอื้อนเอ่ยอ้างชื่อของผู้ที่ตนรักให้โลกรับทราบเลย คือความหมายของความรักอันสูงส่งสุดยอด แท้จริง และเป็นอมตะของนักรบ


ส่วนความรักที่ชอบแสดงออกแบบชาวตะวันตกนั้น คือความรักที่เปิดอกเรียกร้องต้องการเพื่อให้ได้มา เพื่อสนองความอยาก โดยไม่คิดสั่งสมพลังงานของความรักเอาไว้ในตัว แต่กลับมุ่งปลดเปลื้องระบายพลังงานของความรักนั้นออกไปข้างนอก ถ้าในขณะนั้นยังระบายกับคนที่ตนรักไม่ได้ก็หันไประบายกับหญิงขายบริการแทน ก่อให้เกิดความแปลกแยกแตกออกเป็นสองส่วนระหว่างความรักกับความใคร่ขึ้นในโครงสร้างจิตใจของบุคคลผู้นั้น และทำให้แรงผลักดันของความรักนั้นมีพลังงานที่ลดต่ำลง ยิ่งคนผู้นั้นผ่านประสบการณ์เช่นนี้มากครั้งเท่าใด "ความรักที่บริสุทธิ์" ในใจของคนผู้นั้นก็จะยิ่งอับเฉาลงทุกทีๆ ขณะที่จิตใจของคนเหล่านั้นจะแปดเปื้อนมากยิ่งขึ้นทุกที และกลายเป็นปัญหาสังคมในเวลาต่อมา อันสืบเนื่องมาจากรูปแบบความรักที่ชอบแสดงออกเช่นนี้


ในสาขาที่สาม ว่าด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต นั้น "ฮะงะคุเระ" ให้คุณค่าการใช้ชีวิตแต่ละวันราวกับเป็นวันสุดท้ายของชีวิตตนเอง และเตือนพวกเราว่า จงอย่าไปหมกมุ่น ครุ่นคิดกังวลเรื่องในอนาคตอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้าเลย "ฮะงะคุเระ" รู้ดีว่า เวลาสามารถเปลี่ยนคนได้ ทำให้คนตกต่ำเปลี่ยนธาตุแปรสีได้ แต่เวลาก็สามารถทำให้คนกลับใจ สามารถพัฒนายกระดับจิตใจของตัวเองขึ้นมาได้เช่นกัน เวลาสิบปียี่สิบปี บางทีอาจดูยาวนาน แต่บางทีก็ผ่านไปเร็วดุจมายา ดุจความฝันเช่นกัน ขอเพียงเราเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญหน้ากับความตายได้ในทุกขณะจิตของชีวิตด้วย การตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทแล้ว เมื่อนั้นกาลเวลาแต่ละขณะที่ผ่านไป จะมีความหมายอย่างยิ่งยวด


เราจะพบว่า ในช่วงแต่ละขณะของกาลเวลานั้น คือช่วงแห่งความจริงแท้ของชีวิต มีแต่ปัจจุบัน มีแต่ขณะนี้เท่านั้นที่เป็นความจริง เป็นของจริง โดยที่การผ่านผันไปของกาลเวลาของอดีต หรือการยังมาไม่ถึงของอนาคตจะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปอย่างสิ้นเชิง หรือกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจมาก่อกวนใจ เราให้กังวลได้อีกต่อไป


ถ้าหากทำได้เช่นนั้น คนเราจะสามารถบรรลุเสรีภาพแห่งพฤติกรรมที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงของตนได้ และคนเราจะสามารถปลดปล่อยพลังงานอันมหาศาล และสร้างสรรค์ที่แฝงเร้นอยู่ในตัวของเขาออกมาได้อย่างเปี่ยมล้นเต็มไปด้วยพลังราวกับไม่มีวันเสื่อมสิ้น เพราะตัวเขาจะกลายเป็น "มณฑลแห่งพลัง" โดยสมบูรณ์








Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้