เซนของนักกลยุทธ์กับการพิชิตโลกแห่งความซับซ้อน (2) 5/7/2548

เซนของนักกลยุทธ์กับการพิชิตโลกแห่งความซับซ้อน (2) 5/7/2548



เซนของนักกลยุทธ์กับการพิชิตโลกแห่งความซับซ้อน (2)


ความไร้สาระอย่างหนึ่งของสังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้ก็คือบัดนี้ สังคมเรามีผู้คนเป็นจำนวนมากเหลือเกิน โดยเฉพาะเยาวชนที่ใช้จ่ายเงินทองอย่างสิ้นเปลือง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้หามา มิหนำซ้ำพวกเขายังชอบจับจ่ายซื้อของด้วยอิทธิพลของโฆษณาหรือตามกระแสเป็นหลัก โดยไม่เคยถามตัวเองอย่างจริงจังมาก่อนเลยว่า จริงๆ แล้วเราต้องการสินค้าสิ่งของนั้นอย่างแท้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ความที่สังคมนี้กลายเป็นสังคมที่เน้นภาพลักษณ์เป็นใหญ่ จึงพลอยทำให้ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างความประทับใจให้กับผู้คนตามเวทีโอกาสต่างๆ ทั้งๆ ที่ลึกในใจจริงของพวกเขาแล้วก็ไม่ได้นึกรัก นึกชอบผู้คนที่พวกเขาพยายามสร้างความประทับใจแต่อย่างใดเลย


การ ตื่น ขึ้นมาจากการใช้ชีวิตที่ไร้สาระข้างต้น และมีจิตสำนึกที่พร้อมจะเลือกการใช้ชีวิตแนวใหม่ที่เรียบง่ายกว่าเดิม ที่ยั่งยืนกว่าเดิม และให้ความหมายมากกว่าเดิม โดยเต็มใจ คือการเติบโตก้าวใหญ่คือ การยกระดับทางจิตใจครั้งใหญ่ของคนผู้นั้น


เพราะการจะทำเช่นนั้นได้ คนผู้นั้นคงจะต้องหันไปทบทวน วิธีการใช้ชีวิตเกือบทุกแง่มุมของตัวเขาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นพาหนะที่ใช้ อาหารการกินที่รับประทาน บ้านที่พำนัก ชุมชนที่คบหา งานที่ทำ และประเภทของความรู้ที่กำลังศึกษา


คนเราจะเป็นอย่างไร จึงยากที่จะแยกออกจากสิ่งที่เขาใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเน้นในที่นี้ก็คือ ลำพังการมี สไตล์การใช้ชีวิต ของตนเองอย่างเดียว คงไม่เพียงพอเสียแล้วในการจะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เราจะต้องมี วิถีชีวิตของตนเอง ที่เอื้ออำนวยต่อ การเปลี่ยนแปลงเชิงลึก (deep change) ทั้งต่อตนเอง และต่อสังคมของเราด้วย เพราะ ถ้าคนเราไม่ได้จนมากขนาดต้องกัดก้อนเกลือกินแล้ว ระดับรายได้ของคนเราจะมีผลกระทบต่อระดับความพึงพอใจในชีวิตของคนเราไม่มากนัก ถ้าหากคนผู้นั้นมีปัญญาพอที่จะเข้าใจความจริงของชีวิตและของตนเอง


การใช้ชีวิตของตนเองส่วนใหญ่หมกมุ่นไปกับการหาเงินหาทองให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จักพอ ราวกับเงินคือคำตอบทุกอย่างของชีวิต คือรากเหง้าของการไร้ความสุข และการขาดแคลนความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยสมัยนี้ เพราะต่อให้ตอนนี้คุณยังเป็น "ผู้ชนะ" คุณยังหาเงินได้มากอยู่ แต่ลึกๆ แล้วคุณคงหลอกลวงตัวเองไม่ได้หรอกว่า คุณยังขาดแคลนความรู้สึกถึงความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆ มิติแห่งชีวิตของคุณ โดยเฉพาะความรู้สึกถึงความมั่งคั่งใน ชีวิตภายใน ใน โลกภายใน ของตัวคุณ ซึ่งความมั่งคั่งทางวัตถุภายนอกไม่อาจตอบสนองให้ได้


เพราะ ชีวิตของคนเรานั้น ล้ำลึกเกินกว่าที่จะเข้าถึงได้ ด้วยวัตถุนิยมอันผิวเผิน และ ลัทธิบริโภคนิยม (ในรูปการณ์ล่าสุดของมันคือ ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณ) ก็ตื้นเขินเกินกว่าที่จะให้ความพึงพอใจเชิงจิตวิญญาณแก่ผู้คนได้ ต้นตอแห่งความพึงพอใจที่แท้จริงอย่างมีความหมายที่สมบูรณ์แบบนั้นมาจากการเลือกวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และรู้จักพออย่างมีจิตสำนึก (conscious simplicity) แล้วใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึกนั้น ในการบ่มเพาะ มิตรภาพความสัมพันธ์ที่งดงาม ในการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น ในการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ในการฝึกฝนศิลปะที่ให้ปีติความดื่มด่ำ และในการเติบโตทางจิตวิญญาณ


หากมีคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายโดยเต็มใจ (voluntary simplicity) เช่นนี้แล้ว แนวทางแบบเศรษฐกิจพอเพียงย่อมมีทางเป็นจริงได้แน่ ไม่แต่เท่านั้น หาก วิถีแห่งการความเรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึก นี้กลายเป็น "กระแส" หรือแม้กระทั่ง ขบวนการที่จัดตั้งตนเองขึ้นมาได้ มันก็จะกลายเป็น การปฏิบัติที่ปราศจากผู้นำ (leaderless revolution) ที่สามารถ "ก้าวข้าม" ระบอบทักษิณได้อย่างมีพลังที่สุด


ในมุมมองของวิถีกลยุทธ์เชิงบูรณาการ ความเรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึกที่คนผู้นั้นเต็มใจที่จะทำ เต็มใจที่จะเป็นคือ อาวุธที่ทรงพลังที่สุดในการพิชิตความซับซ้อน และความยุ่งวุ่นวาย (busyness) ของโลกนี้ เพราะความเรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึกคือ การใช้ชีวิตอย่างที่รู้ จุดประสงค์ที่แท้จริงในชีวิตของตนเอง และดำรงชีวิตอย่างเด็ดเดี่ยวโดยไม่หวั่นไหวโยกคลอน เพราะสิ่งแวดล้อมภายนอก คนเราพอตระหนักรู้ในจุดประสงค์ที่แท้จริงในชีวิตของตนเองได้แล้ว เขาก็จะใช้ชีวิตไปตามครรลองที่เอื้อต่อการบรรลุจุดประสงค์นั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตระหนักรู้แก่ใจว่า การเลี้ยงดูลูกๆ เป็นจุดประสงค์หลักในชีวิตของคุณ คุณก็คงจำเป็นต้องมีทั้งบ้านและรถยนต์ แต่ถ้าคุณคิดว่า การทำงานศิลปะคือจุดประสงค์หลักในชีวิตของคุณ คุณก็ไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านซื้อรถ แต่ควรใช้เงินนั้นไปกับการท่องเที่ยวทั่วโลก และพัฒนาความสามารถทางศิลปะของคุณ เพราะความเรียบง่ายโดยเต็มใจหมายถึง การละทิ้งเปลือกกระพี้เลือกเอาแต่แก่น หมายถึงการตัดเรื่องหยุมหยิมออกไปจากชีวิตให้หมด และเลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นแก่นสารเท่านั้น


จึงเห็นได้ว่า ความเรียบง่าย มิได้หมายถึง การต้องมีชีวิตที่ยากไร้ หรือชีวิตที่ "ทำเป็นจน" หรือชีวิตที่เข้มงวดจนผิดธรรมชาติ แต่มันหมายถึง การมีชีวิตอย่างมีจุดหมายหรือการมีปณิธานในชีวิต เงื่อนไขภายใน ของความเรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึกคือ ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นในเป้าหมาย ความจริงใจสัตย์ซื่อต่อตนเองจริงๆ ส่วน เงื่อนไขภายนอก ของความเรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึกคือ การหลีกเลี่ยงที่จะครอบครองสิ่งต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์หลักของชีวิตตน เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อมิให้พลังงานของเราฟุ้งซ่านกระจัดกระจาย จนไม่สามารถรวมศูนย์เพ่งพลังทั้งหมดไปที่การบรรลุเป้าหมายหลักแห่งชีวิตของตน


การมีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึก คือการที่เรา ใช้ชีวิตอย่างผูกสัมพันธ์โดยตรง กับตัวจักรวาฬ (Kosmos) หรือตัวชีวิตเอง (Life) มันจึงไม่ใช่การใช้ชีวิตอย่างแข็งทื่อตายตัว แต่เป็นการใช้ชีวิตอย่างมีสมดุล หรืออย่างต้องปรับสมดุลให้ประสานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กล่าวโดยนัยนี้ ความเรียบง่าย จึงมิใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่ายๆ เลย เพราะมันเป็นความเรียบง่ายที่สามารถพิชิตความซับซ้อน ความไม่แน่นอน และความยุ่งเหยิง ทั้งปวงในโลกนี้ได้


ความเรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึกนี้ จึงเป็น ผลพวงแห่งการบูรณาการชีวิตภายนอก และชีวิตภายใน ในทุกๆ มิติของคนผู้นั้น เพราะฉะนั้น ความเรียบง่ายอย่างมีจิตสำนึกนี้ จึงเป็น เรื่องของสภาวะจิต ของคนผู้นั้น มากกว่าที่จะเป็นเรื่องทางกายภาพ หรือระดับการครอบครองสิ่งของวัตถุของคนผู้นั้น


มูซาชิ เรียกสภาวะจิตเช่นนี้ว่า "ใจของน้ำ" หรือ "ใจน้ำ" แต่ก่อนเวลาที่เราพูดถึง "ใจน้ำ" เรามักจะคิดว่า มันเป็นแค่คำเปรียบเปรยทางปรัชญาตะวันออกเท่านั้น แต่จากหนังสือ "สาส์นจากวารี" (สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2548) ของ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ที่ศึกษา "สีหน้าท่าทาง" ของน้ำ จากการ ถ่ายรูปภาพผลึกน้ำ ที่แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งสะท้อนให้เห็น "อารมณ์และความรู้สึก" ของการแสดงออกของน้ำ ที่ถ่ายภาพไว้ได้ด้วยกระบวนการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดทำให้นักวิทยาศาสตร์บางท่านถึงกับตั้งสมมติฐานขึ้นมาให้ตรวจสอบยืนยันกันต่อไปว่า บางทีน้ำอาจจะมีความสามารถในการรับรู้จดจำและสื่อสารได้ บางทีน้ำอาจจะมีความคิด หรือแม้กระทั่งมีชีวิตได้ ข้อสมมติฐานนี้ย่อมสอดคล้องกับทฤษฎีที่เสนอว่าจักรวาลมีชีวิต (the living-universe theory) ของนักฟิสิกส์ ยิ่งเมื่อคำนึงว่า โลกใบนี้ปกคลุมไปด้วยน้ำประมาณ 70% และมนุษย์ที่สมบูรณ์เต็มที่ก็มีปริมาณของน้ำในร่างกายประมาณ 70% เช่นกัน การได้เห็นภาพผลึกน้ำที่เอาหยดน้ำตัวอย่างที่ต้องการจะทดลองหนึ่งหยดลงบนจานแก้วทดลอง 100 จาน แล้วเอาไปแช่ไว้ในตู้แช่แข็งเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จึงเอาผลึกน้ำออกมาไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อพร้อมถ่ายภาพในอัตราขยาย 200-500 เท่า


ความแตกต่างของภาพผลึกน้ำที่บรรจุอยู่ในขวดที่ติดป้ายคำว่า "ความรัก" "ขอบคุณ" "เทวดา" ซึ่งถ่ายภาพออกมาเป็นผลึกน้ำที่สวยงาม กับภาพผลึกน้ำที่บรรจุอยู่ในขวดที่ติดป้ายคำว่า "ความเกลียดชัง" "ความโกรธแค้น" "มาร" ซึ่งถ่ายภาพออกมาเป็นรูปร่างของผลึกน้ำที่น่าเกลียด น่าจะทำให้คนเราหันมาฉุกคิดกันได้หรือยังว่า การคิดดี พูดดี ทำดีอยู่เสมอ มีผลต่อตัวเราจริงๆ ดังเห็นตัวอย่างได้จากรูปภาพของผลึกน้ำ คำสอนต่างๆ ของภูมิปัญญาโบราณเกี่ยวกับเรื่องจิตและเรื่องวิถีชีวิตล้วนได้รับการสนับสนุนเชิงประจักษ์จากรูปภาพของผลึกน้ำ ยกตัวอย่างเช่น รูปภาพผลึกน้ำที่ได้ฟังเพลงเฮฟวี่เมทัล ที่ตั้งไว้หน้าจอโทรทัศน์ ที่ตั้งไว้หน้าจอคอมพิวเตอร์ และที่ได้รับคลื่นโทรศัพท์มือถือ ล้วนออกมาน่าเกลียด เมื่อเทียบกับรูปภาพผลึกน้ำที่ได้ฟังเสียงสวดมนต์ที่ถ่ายออกมาดูสวยงาม (จากหนังสือ "น้ำประจุพลังบำบัดโรค" ของนายแพทย์ฟูจิโมโต้ โนริยูกิ, สำนักพิมพ์รวมทรรศน์, 2547 หน้า 22-23)


สไตล์การใช้ชีวิต วิถีแห่งชีวิต และใจของน้ำที่เห็นได้จากรูปผลึกน้ำ เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้ง จนแทบจะกล่าวได้ว่าน้ำสะท้อนจิตสำนึกของมนุษย์ และน้ำเปลี่ยนไปตามจิตสำนึกของมนุษย์ เคล็ดลับของการพิชิตโลกที่ซับซ้อน จึงอยู่ที่การพิชิตจิตใจของตัวเองในเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์อย่างเรียบง่าย และมีจิตสำนึกนั่นเอง






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้