เซนของนักกลยุทธ์กับการพิชิตโลกแห่งความซับซ้อน (1) 28/6/2548

เซนของนักกลยุทธ์กับการพิชิตโลกแห่งความซับซ้อน (1) 28/6/2548



เซนของนักกลยุทธ์กับการพิชิตโลกแห่งความซับซ้อน (1)



"ความเป็นตัวของตัวเอง โดยมีความคิดริเริ่มด้วยตัวเอง และการคิดนอกกรอบ มักจะถูกมองด้วยความเย้ยหยัน ถากถางหรือถูกหัวเราะเยาะใส่ ทั้งๆ ที่ความสร้างสรรค์บังเกิดจากที่นั่น" เคอร์ติส มอนต์โกเมอรี่ ผู้เขียน "ยุทธศาสตร์ซุนวู 15 กลยุทธ์พิชิตหุ้น" สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2546


จะว่าไปแล้ว ผู้บริหาร ในยุคปัจจุบันเป็นบุคคลที่น่าเห็นใจ เพราะพวกเขาได้รับแรงกดดันอย่างหนักหน่วงตลอดเวลาแทบไม่ได้หยุดพัก ในการที่จะต้อง "แข่งขัน" เพื่อความอยู่รอดขององค์กร หน่วยงานของตน ความเครียดที่ก่อตัวอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลบั่นทอนสุขภาพของพวกนักบริหารไม่ช้าก็เร็ว ยิ่งอยู่ภายใต้ "ระบอบทักษิณ" ที่ทุกอย่างดูเร่งรีบไปหมด เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือเพื่อเกาะกระแสให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก มันย่อมทำให้สังคมไทยยากที่จะหวนกลับไป "เหมือนเดิม" ที่พวกเรายังพอที่จะใช้ชีวิตสบายๆ อย่างรู้จักพอเพียงกันได้บ้าง ชนชั้นนำที่เป็นนักรบซามูไรของญี่ปุ่นในยุคคามาคุระแห่งศตวรรษที่ 14 ที่ได้รับแรงกดดันจากการต้องทำสงครามอย่างต่อเนื่อง ก็คงรู้สึกเครียดมากเช่นกัน พวกเขาได้สร้าง วัดเค็นโจญิ ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1253 และเชิญอาจารย์เซนจากเมืองจีนมาสอนแนวทางทำให้จิตคลายเครียดแบบเซน ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ก็คงไม่ต่างจากการที่รัฐบาลไทยเชิญผู้เชี่ยวชาญทางจิตจากต่างประเทศมาจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่พวกผู้ว่าฯ ซีอีโอกระมัง ความที่อาจารย์เซนจากจีนไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น แต่สอนเป็นภาษาจีน และคงมีปัญหาการสื่อสารอยู่พอสมควรกับพวกซามูไรที่มาเป็นลูกศิษย์ คำสอนของอาจารย์เซนเหล่านี้จึงกระชับรวบรัด มิหนำซ้ำพวกท่านยังตั้งปริศนาธรรม (โคอาน) ในบริบทที่พวกซามูไรเหล่านั้นกำลังเผชิญอยู่ด้วย


ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์เซนจากจีนท่านหนึ่ง ได้ตั้งปริศนาธรรมถามซามูไรคนหนึ่งที่ชื่อ เรียวซานที่มาฝึกเซนกับท่านว่า

"ถ้าเธอกำลังเข้าไปอาบน้ำในห้องอาบน้ำ ขณะที่ร่างกายเธอเปลือยเปล่าอยู่ เธอถูกรายล้อมด้วยศัตรูจำนวนหนึ่งร้อยคนใส่เสื้อเกราะ มีทั้งธนู และดาบครบครัน เธอจะเผชิญหน้ากับพวกเขาอย่างไร? เธอจะคุกเข่าอ้อนวอนขอชีวิตจากพวกเขาหรือ? หรือเธอจะแสดงความกล้าหาญแบบนักรบด้วยการยอมตายในการสู้รบกับพวกเขา? หรือจะมีหนทางอื่นใดอีก เรียวซานตอบว่า "ข้าอยากชนะโดยไม่ต้องยอมจำนน และไม่ต้องสู้รบ"



นี่คือ ปริศนาธรรมที่ว่าด้วย "ชัยชนะในท่ามกลางศัตรูนับร้อย ที่บันทึกอยู่ใน โคอานสำหรับนักรบ หรือ ซามูไรเซน ที่มีชื่อว่า โชนันคัตโตโรคุ ซึ่งเป็นบันทึกเก่าแก่ของวัดเค็นโจญิที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก แม้ในสมัยนี้


ปริศนาธรรมว่าด้วย "ชัยชนะในท่ามกลางศัตรูนับร้อย ข้อนี้ที่กระตุ้นให้นักรบผู้ศึกษาเซนครุ่นคิด วิธีจัดการเอาชนะวิกฤตโดยที่ไม่ต้องยอมจำนน และไม่ต้องสู้รบให้เสียเลือดเนื้อ เป็นปริศนาธรรมที่ไม่ล้าสมัยเลย ผู้บริหารไทยในปัจจุบันที่เป็นนักกลยุทธ์ย่อมสามารถนำไปปรับใช้ด้วยการตั้งปริศนาธรรมสำหรับตนเองที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันได้อย่างไม่ยากนัก ที่สำคัญก็คือ ผู้บริหารพึงตระหนักและเห็นความสำคัญ ความจำเป็นในการเชื่อมโยง หลักของเซนเข้ากับการแก้ปัญหาการบริหารการจัดการที่นับวันก็ยิ่งทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ


ผู้เขียนจะขอยกปริศนาธรรมอีกข้อหนึ่งจากโชนันคัตโตโรคุ ที่บันทึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี ค.ศ. 1331 ทาดะมาสะ เป็นซามูไรชั้นผู้ใหญ่ในสังกัดของโฮโจ ทากะโทคิ เขาเป็นนักรบที่หมั่นเพียรในการเข้ามาฝึกเซน และนั่งสมาธิแบบเซนอย่างต่อเนื่องที่วัดเค็นโจญิมากว่ายี่สิบปีแล้ว ในปี ค.ศ. 1331 เกิดสงครามสู้รบทุกหย่อมหญ้า ทาดะมาสะได้รับบาดเจ็บสาหัสในการสู้รบครั้งหนึ่ง แต่แทนที่เขาจะไปรักษาบาดแผล เขากลับตรงดิ่งไปที่วัดเค็นโจญิ เพื่อพบอาจารย์เซนของเขาที่ชื่อ โซซาน ซึ่งเป็นอาจารย์เซนจากจีนคนที่ 27 ที่มาประจำที่วัดนี้

ขณะนั้น อาจารย์เซนกำลังอยู่ในพิธีชงชา เมื่อท่านแลเห็นศิษย์ซามูไรในชุดเสื้อเกราะอาบเลือดมาหา ท่านก็ยื่นถ้วยชาไปวางเบื้องหน้าเขา และถามเขาว่า "ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?"

ซามูไรเหยียบถ้วยชาตรงหน้าแตกกระจาย และตอบว่า

"ฟ้าดินล่มสลายแล้ว"

อาจารย์เซน ถามต่ออีกว่า

"เมื่อฟ้าดินล่มสลายแล้ว ตัวเธอเป็นอย่างไรบ้าง?"

ซามูไรยืนนิ่งเอามือกุมอก เขาตอบไม่ถูก อาจารย์เซนจึงตีเขา และเขาเผลอครางออกมาด้วยความเจ็บปวดจากบาดแผลโดยไม่ได้ตั้งใจ

อาจารย์เซน กล่าวทันทีว่า

"ดูเหมือนว่า ฟ้าดินยังไม่ได้ล่มสลายจริง" ทันใดนั้น เสียงกลองที่ดังจากป้อมค่ายเรียกตัวให้ทาดะมาสะต้องเผ่นกลับไปที่ป้อมค่ายเพื่อทำสงครามต่อ แต่ในเย็นวันต่อมา เขาก็มาหาอาจารย์เซนของเขาอีก และโชกเลือดเหมือนเดิม ท่านอาจารย์ก็ถามเขาด้วยคำถามเดิมอีกว่า

"เมื่อฟ้าดินล่มสลายแล้ว ตัวเธอเป็นอย่างไรบ้าง?" คราวนี้ซามูไรใช้ดาบที่อาบเลือดของเขายืนค้ำตัวแล้วร้องเสียงก้องกังวานว่า "คัทสุ!" เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะยืนสิ้นใจเบื้องหน้าครูของเขา...นี่คือ ปริศนาธรรมที่ว่าด้วย "เมื่อฟ้าดินล่มสลาย" ซึ่งเตือนใจพวกเราให้คำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อเจอภัยพิบัติที่รุนแรงราวกับฟ้าดินกำลังล่มสลายอย่างแผ่นดินไหว หรือคลื่นยักษ์สึนามิแล้ว พวกเราควรมีสภาวะจิตอย่างไร หรือตอนที่ความตายกำลังมาเยือนตรงหน้า หรือตอนที่ธาตุทั้งสี่ในร่างกายกำลังแยกสลายขณะสิ้นใจ เราควรทำจิตแบบเซนได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เรามีความกล้าหาญอย่างไม่กลัวความยากลำบากและอุปสรรคใดๆ ในขณะที่ยังมีชีวิต มีลมหายใจอยู่...ตั้งแต่ผู้เขียนได้อ่านหนังสือแนวเซนมาเป็นจำนวนมาก ก็มีบันทึกโชนันคัตโตโรคุนี้แหละที่มีเนื้อหาที่เข้มข้น เหมาะสำหรับนักรบและนักกลยุทธ์ที่ต้องการฝึกจิตแนวเซนเป็นที่สุด



นอกจากเซนของนักกลยุทธ์แล้ว สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารยุคนี้ก็คือ การมีความเข้าใจเชิงภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบที่ซับซ้อน (complexity knowing) เพราะลำพังการมีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการด้วยมโนทัศน์แบบโมเดิร์นอย่างกฎ (law), การทำนาย (prediction), การวิเคราะห์ (analysis), การออกแบบ (design) และการควบคุม (control) เหมือนอย่างที่ผ่านมา มันไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในการอยู่รอดและพิชิตชัยในยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างยุคปัจจุบันที่ ระบบเศรษฐกิจได้กลายเป็นระบบที่มีความซับซ้อนสูงมากไปเสียแล้ว การมีความเข้าใจเกี่ยวกับ ระบบซับซ้อน (complex system) จึงเป็นสิ่งจำเป็นของการเป็นนักกลยุทธ์ในยุคปัจจุบัน


ลักษณะเด่นที่สำคัญของระบบซับซ้อนคือ การผุดบังเกิด (emergence) ซึ่งทำให้ระบบโดยรวมมีลักษณะแตกต่างจากผลรวมของส่วนประกอบ ทั้งหมดซึ่งมีเป็นจำนวนมาก โดยที่ส่วนประกอบ (component นี้อาจเหมือนกันหรืออาจแตกต่างกันก็ได้ ส่วนประกอบแต่ละส่วนจะมีปฏิสังสรรค์ (interaction) กันในรูปของการป้อนกลับ (feedback) ซึ่งทำให้ระบบซับซ้อนมีพลวัต (dynamics) ขึ้นมา


การผุดบังเกิด เป็นผลมาจากปฏิสังสรรค์ระหว่างส่วนประกอบต่างๆ ของระบบซับซ้อน ซึ่งทำให้ระบบซึ่งเป็นองค์รวมของส่วนประกอบย่อยๆ นั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากส่วนประกอบย่อยๆ เหล่านั้นรวมกัน เพราะมีการผุดบังเกิดเช่นนี้เอง จึงทำให้เราไม่สามารถศึกษาระบบซับซ้อนโดยจำแนกแยกแยะระบบดังกล่าวออกเป็นส่วนย่อยๆ แล้วแยกศึกษาส่วนย่อยนั้นทีละส่วนได้ เพราะการทำเช่นนั้น จะทำให้การผุดบังเกิดสูญหายไป การศึกษาระบบซับซ้อนจึงจำเป็นที่จะต้องมีมุมมองแบบองค์รวมเสมอ


นอกจากนี้ สิ่งที่ผุดบังเกิดขึ้นมาในระบบซับซ้อน จะกลับมามีผลกระทบต่อส่วนประกอบย่อยได้อีก และยังทำให้ระบบซับซ้อนมีโครงสร้างต่อเนื่องเป็นระดับชั้น (hierarchy) กล่าวคือ ระบบซับซ้อนหนึ่งอาจเกิดจากระบบซับซ้อนอื่นที่เล็กกว่า การต่อยอดของระบบซับซ้อนเป็นระดับชั้น โดยในแต่ละชั้นจำเป็นจะต้องอาศัยวิธีการสังเกตศึกษาคนละแบบ จึงทำให้ คนเราจำเป็นต้องมีความรู้หลายๆ สาขาในการอธิบายโลกแบบองค์รวม เช่น เราจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์และเคมีในการเข้าใจโลกทางกายภาพที่เป็นระบบซับซ้อน แต่เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาในการเข้าใจ ชีวภูมิ หรือโลกทางชีวภาพ (biosphere) ที่ผุดบังเกิดขึ้นมาจากโลกทางกายภาพ (physiosphere) จากนั้น เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาในการอธิบาย เจตภูมิ หรือโลกทางจิตใจ (noosphere) ที่ผุดบังเกิดขึ้นมาจากโลกทางชีวภาพของมนุษย์ นอกจากนี้แล้ว เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณในการอธิบาย ธรรมภูมิ หรือโลกแห่งจิตวิญญาณ (theosphere) ที่ผุดบังเกิดขึ้นมาจากโลกแห่งจิต จิตของมนุษย์อีกทีหนึ่ง


ยิ่งไปกว่านั้น ระบบซับซ้อนมักจะมีพฤติกรรมของระบบที่แตกต่างกันไปตามสถานะต่างๆ ของระบบซับซ้อน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 สถานะใหญ่ๆ คือ สถานะเป็นระเบียบ (order) สถานะซับซ้อน (complexity) และสถานะโกลาหล (chaos) ซึ่งเป็นสถานะที่มีระเบียบซ่อนอยู่ในความไม่มีระเบียบ สถานะที่แตกต่างกันของน้ำแข็ง น้ำ และไอน้ำคือตัวอย่างที่สามารถใช้เปรียบเทียบสถานะสามสถานะของระบบซับซ้อน โดยทั่วไปเป็นที่เชื่อกันว่า ระบบซับซ้อนส่วนใหญ่ในโลกนี้ เป็นระบบซับซ้อนที่อยู่ในสถานะซับซ้อนทั้งสิ้น คือไม่หยุดนิ่งจนเกินไปจนระบบซับซ้อนไม่มีพฤติกรรมที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่โกลาหลวุ่นวายมากเกินไป จนระบบไม่มีระเบียบแผนขนาดไม่สามารถทำงานได้


จากความเข้าใจเกี่ยวกับระบบซับซ้อนข้างต้น ได้นำไปสู่ มุมมองใหม่ เกี่ยวกับการจัดการดังต่อไปนี้

(1) ลำพังแค่ความสามารถในการวิเคราะห์ ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ผู้บริหารในยุคนี้ จะต้องมีความสามารถในการยึดกุมสภาพทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวมได้ด้วย เพราะความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้คุณสมบัติใหม่ๆ ผุดบังเกิดขึ้นมา ซึ่งผู้บริหารควรจะตื่นตัวรับรู้ให้ทัน


(2) สิ่งที่ผู้บริหารควรกระทำในยุคนี้ มิใช่การออกแบบ องค์กรที่ควรจะเป็น แต่เป็นการกระตุ้น การสร้างความคึกคักให้แก่ กระบวนการที่น่าจะเป็น มากกว่าโดยใช้ประโยชน์จาก การจัดตั้งตนเอง ในกระบวนการนี้


(3) ความเชื่อมโยงกันทางข่าวสาร ระหว่างหน่วยงานและภายในหน่วยงานเดียวกันคือ แรงผลักดันที่สำคัญในกระบวนการแห่งการจัดตั้งตนเองในสถานะที่ซับซ้อน หรือสถานะที่โกลาหล


(4) ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรจะต้องทำให้เกิด ความเห็นพ้อง ขึ้นใน ระดับจุลภาค หรือระดับปัจเจกในคนหมู่มาก เพื่อก่อให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค หรือในวงกว้าง


(5) ผู้บริหารในยุคนี้จะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจกับระบบนิเวศของโลกมีปฏิสังสรรค์กันอย่างลึกซึ้ง การมุ่งขยายธุรกิจโดยทำลายสภาพแวดล้อมอย่างละโมบ สุดท้ายจะนำมาซึ่งหายนะทางธรรมชาติอย่างยากที่จะเยียวยาได้


(6) ผู้บริหารในยุคปัจจุบัน ต้องมีความเข้าใจว่า แม้แต่กระบวนการวิวัฒนาการเอง ก็ยังถูก "ก้าวข้าม" ได้เช่นกัน กฎกติกาใดๆ จึงเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และจะต้องมีวิวัฒนาการต่อไปอย่างไม่อาจหยุดยั้ง


(7) อนาคตมิใช่เป็นเรื่องของการทำนายอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ พวกเราทุกคน จะต้อง "ร่วมสร้าง" มันขึ้นมาพร้อมๆ กับกระบวนการแห่งวิวัฒนาการของจักรวาฬ (Kosmos)


เงื่อนไขปัจจัยที่จำเป็นสำหรับนักรบและนักกลยุทธ์ในยุคนี้ นอกจากการฝึกจิตแบบเซนของนักกลยุทธ์ และการมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบที่ซับซ้อน ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังจะต้องมี วิถีชีวิตที่เรียบง่ายโดยเต็มใจ (voluntary simplicity) อีกด้วย






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้