(5) ความเสื่อมของขุนนางนักวิชาการ (28/7/53)

(5) ความเสื่อมของขุนนางนักวิชาการ (28/7/53)

รำลึก ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณ

ตอนที่ (5) ความเสื่อมของขุนนางนักวิชาการ

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


จริยธรรมเข้าใจอย่างง่ายๆ ก็คือ การรู้จักแยกสิ่งถูกออกจากผิด ดีออกจากเลวเป็นสำคัญ

ความกล้าหาญทางจริยธรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขุนนาง นักวิชาการ(technocrat ) สามารถดำรงตนเป็นมืออาชีพในหน้าที่การงานของตน เพราะนอกจากจะรู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว ยังต้องกล้าที่จะไม่ทำชั่ว

ความกล้าหาญของ “คนกล้า” จึงไม่ต้องบ้าเลือด เช่น เสธ.แดงคนดัง ไม่ต้องบังคับให้คนไทยต้อง “ขอโทษประเทศไทย” เช่น หนังโฆษณาเพราะไม่กล้าระบุว่าทักษิณ ชินวัตรกับพวกคือคนที่ต้อง“ขอโทษประเทศไทย”

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เป็นแบบอย่างดีที่สุดของข้าราชการไทยคนหนึ่งที่เคยมีมา ไม่เคยแสวงหาอำนาจ ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ไม่เคยเห็นแก่อามิสสินจ้าง มีเพียงความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงาน มีเพียงความรักชาติอย่างพร้อมจะสละชีวิตเพื่อแผ่นดินแม่ มีเพียงความจริงใจ ให้แก่ประเทศอันเป็นที่รักยิ่ง มีเพียงความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่ยอมก้มหัวให้แก่อำนาจ อธรรมฝ่ายใด มีเพียงความปรารถนาดีและความรักเพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก ชายชราผมสีดอกเลาท่าทางใจดี จะเป็นตำนาน อยู่ในใจของผู้คนไปชั่วนิรันดร์ (อยากรู้จักมากขึ้น ดูwww.puey.in.th)

ด้วยความดีอันเป็นที่ประจักษ์ข้างต้น จึงมีบุคคลหลายๆ คนที่ชอบอาศัยชื่อดร.ป๋วย เป็น “หนังราชสีห์คลุมหนังขี้เรื้อน” ของตนเองอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะด้วยการอ้างว่าได้เคยทำงานอย่างใกล้ชิด หรือเป็นผู้ที่ดร.ป๋วยเลือกกับมือไปเป็นนักเรียนทุนทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ที่สำคัญก็คือ คนเหล่านั้นมิได้ประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม อันเป็นที่มาของความเสื่อมของขุนนาง นักวิชาการในปัจจุบัน เพราะแม้แต่ความดีที่รู้จักก็ยังไม่กล้าทำ

วิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 จึงเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ดีดังที่ ศปร.เมื่อกว่า 10 ปีก่อนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การและผลกระทบจากการปฏิบัติงานอย่างไม่โปร่งใสที่มีต่อระบบการเงินว่า

“หากพิจารณาด้วยความยุติธรรมคงจะต้องกล่าวว่ากรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมิใช่กรณีเดียวที่สามารถทำลายชื่อเสียง ศักยภาพ และมีผลให้ ธปท. ตกต่ำในสายตาของสาธารณชนเช่นในปัจจุบัน แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสาเหตุที่สำคัญมาก และผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ที่ก่อให้เกิดเรื่องดังกล่าวข้างต้นนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรับผิดชอบ ถึงแม้อาจไม่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมาย แต่ก็สมควรต้องรับผิดชอบในการทำลาย ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบันที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของประเทศไทยในสายตาของสาธารณชน”

ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้สมัครใจเลือกแก้ปัญหาด้วยตนเอง ในเดือนกันยายน 2535 นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตพนักงาน ธปท. ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจากการที่มารดาของตนสามารถเข้าไปถือหุ้นเสียงข้างมากได้และเลือกพนักงาน ธปท.ที่เป็นเพื่อนสนิทอีก 2 คน เข้าไปรับตำแหน่งบริหาร และแต่งตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการของธนาคาร ด้วยความเห็นชอบของ ธปท.

ข้อเท็จจริงว่าระหว่างปี พ.ศ. 2535-7 ปรากฏให้เห็นว่า แม้ธปท. ได้เชิญนายเกริกเกียรติเข้าพบกว่า 5 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ได้เชิญนายวีรพงษ์และนายเกริกเกียรติ เข้ารับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข และในช่วงปี พ.ศ. 2537-9 ได้มีหนังสือสั่งการให้ ปฏิบัติให้เหมาะสมถูกต้องจำนวนกว่า 14 ฉบับ รวมทั้งสั่งระงับการให้สินเชื่อเพื่อครอบงำกิจการ และสั่งมิให้นายราเกซ สักเสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

จึงกล่าวได้ว่าปัญหาทางการบริหารของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ มีมาโดยสม่ำเสมอและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทางผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ละเลยไม่สนใจคำสั่ง ธปท.ในขณะที่ผู้บริหารธปท.ก็ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะทำความดี โดยลงโทษคนพาล อภิบาลคนดี

เมื่อถูกตรวจสอบพบว่าเงินทุนของตนเองไม่พอเพียงต่อหนี้เสียที่มีอยู่ ธปท.เลือกที่จะสั่งให้เพิ่มทุน แต่เมื่อจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนไม่ได้ก็ไปชักชวนกลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ และธนาคารออมสินเข้ามาซื้อหุ้น รวมทั้งใช้เงินกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ธปท.ดูแลอยู่ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยไม่ลดทุนเสียก่อน เพื่อให้การบริหารอย่างไม่ถูกต้องของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยมิได้มีการแก้ไขในด้านการบริหารที่ผิดพลาดให้ลุล่วงไปแต่อย่างใด

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือเมื่อปลดนายเกริกเกียรติออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในเดือนมิถุนายน 2539 แล้ว ทางการต้องกล่าวหานายเกริกเกียรติและผู้ที่เกี่ยวข้องถึง 20 คดีด้วยกันและใช้เวลากว่า 15 ปีจนถึงปัจจุบันกว่าจะนำผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น นายราเกซกลับมาเผชิญกับข้อกล่าวหาต่อหน้าศาลได้

ตัวอย่างที่อาจยกให้เห็นเป็นประจักษ์ในเรื่องนี้ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ จำเลยในความผิด ฐานยักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กรณีอนุมัติสินเชื่ออันมีเจตนาทุจริต

ใจความโดยย่อที่น่าจะเป็นเรื่องละครน้ำเน่าที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นซ้ำซากได้หากมี “ความกล้า” เอาใจใส่กำกับดูแลตามหน้าที่ที่มีอยู่ของ ธปท.ก็คือ เมื่อระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2537 ถึง 4 มี.ค. 2539 นายเกริกเกียรติจำเลยร่วมกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาของจำเลยด้านการให้สินเชื่อ ร่วมกับพวกทุจริต อนุมัติสินเชื่อจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท ฟอร์ ฟิฟ ออเรจน์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาท โดยเอาโฉนดที่ดินจังหวัดสระแก้ว ที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ จำนวน 19 แปลง หรือ 462 ไร่ โดยบริษัทอเมริกัน สแตนดาร์ด แอ๊พเพรซิลวา จำกัดประเมินราคาสูงถึง 832 ล้าน ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินทั่วไปถึง 10 เท่า มีเจตนาที่จะให้บริษัทดังกล่าวใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ ทำให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ได้รับความเสียหาย

เมื่อนายเกริกเกียรติได้อนุมัติปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธปท.ที่มีคำสั่งให้แจ้งรายการปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบก่อน และไม่ให้อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีผลประกอบรายได้ติดต่อกันเกิน 3 ปี แต่นายเกริกเกียรติกลับฝ่าฝืนทั้งที่ทราบคำสั่ง ธปท.แล้ว โดยได้อนุมัติสินเชื่อปล่อยเงินกู้ไป ทำให้ธนาคารเสียหายรวม 1,567,274,175 บาท

ช่างเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจที่รัฐมนตรีคลังในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้เสนอแต่งตั้งนายวิจิตรให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.(1 ต.ค. 33 - 1 ก.ค. 39) ก็คือนายวีรพงษ์ รามางกูร และเป็นนายวีรพงษ์ผู้ซึ่งเป็น “ว่าที่” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของสื่อฯ ทุกยุคทุกสมัยคนเดียวกันนี้ที่ ธปท.ได้เห็นชอบให้ไปเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

ความกล้าหาญทางด้านจริยธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประพฤติปฏิบัติที่อยู่เหนือกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติทั้งปวงดังเช่นที่ดร.ป๋วยได้ประพฤติเป็นแบบอย่างไว้ หากไม่สามารถควบคุมให้บริหารงานไป ในทิศทางที่ถูกต้องได้ ทำไม “กูรู้” วีรพงษ์ จึงอยู่ร่วมกับโจรได้ตั้งหลายปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปี พ.ศ.2538 จึงลาออก ความกล้าหาญที่จะชี้ถูกผิดของวีรพงษ์อยู่ที่ไหน?

ในเรื่องการปกป้องค่าเงินบาทก็เช่นเดียวกัน รายงาน ศปร. ได้สรุปความเห็นถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าประกอบไปด้วย นายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการฯ ธปท.ต่อจากนายวิจิตร สุพินิจที่ต้องลาออกไปจากปัญหากรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าการฯ ธปท.ที่ดูแลกองทุนรักษาระดับเงินตราต่างประเทศและฝ่ายวิชาการ และผู้บริหารระดับสูงของธปท.อีก 2 ท่าน

ข้อเท็จจริงสำคัญที่ปรากฏจากรายงานข้างต้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเป็นอำนาจของรัฐมนตรีคลังก็จริงอยู่แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งนายเริงชัยได้ทำหนังสือเป็นบันทึกเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 40 ขอความเห็นจากนายชัยวัฒน์ในการปรับเปลี่ยนค่าเงินบาท แต่ไม่มีการตอบมาในทันที จนกระทั่งอีก 1 เดือนเศษคือเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 40 จึงตอบกลับมาแบบขอไปทีทั้งที่นายชัยวัฒน์ก็ทราบว่ามีการเก็งกำไรค่าเงินบาทอยู่เป็นระยะ ในช่วงเวลาวิกฤตดังกล่าวทุกๆ วันมีค่าอย่างยิ่ง เพราะ ธปท.ต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศวันละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบางวันถึงพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเข้าแทรกแซง เป็นความเสียหายของประเทศอย่างชัดแจ้ง

ในทางตรงกันข้าม นายชัยวัฒน์กลับแสดงความกระตือรือร้นที่จะเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 40 โดยไม่มีนายเริงชัย และตกลงในที่ประชุมว่าต้องยอมให้เงินบาทลอยตัว (เปลี่ยนระบบ) และกำหนดแผนปฏิบัติการขึ้นมา เมื่อแล้วเสร็จจึงแจ้งให้นายเริงชัยทราบทางโทรศัพท์ภายหลัง

แม้ว่านายเริงชัยในฐานะผู้ว่าฯ ธปท.จะปฏิบัติงานแล้วเกิดความเสียหายร้ายแรงจนถูกฟ้องร้องโดยทางการอยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่น่าเสียดายที่นายชัยวัฒน์ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายด้วย ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง เคยได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีช่วยคลังเมื่อก่อนหน้านั้น (ปี พ.ศ. 2539) และมีความชำนาญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเพราะเคยทำมาแล้ว 2 ครั้งคือเมื่อปี พ.ศ. 2524 และ 2527 แต่กลับสงวนถ้อยคำ โดยมิได้เห็นว่าการจำกัดตนดังกล่าวอาจเป็นผลเสียหายต่อประเทศส่วนรวม ดูจะเป็นการตั้งแง่เพราะไม่สะดวกใจในการทำงานร่วมกับนายเริงชัยอันเป็นการนำเอาเรื่องส่วนตัวมาอยู่เหนือเรื่องส่วนรวม

แต่ทางจริยธรรมและคุณธรรมละ! เพราะนายชัยวัฒน์ช่างเลือดเย็นเสียเหลือเกินที่ละเลยเรื่องของประเทศชาติ ปล่อยให้ตกอยู่ในวิกฤตโดยไม่ดูดายเพียงเพราะความไม่ชอบส่วนตัว ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ในระบอบทักษิณ คนคนนี้กลับได้ดีมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการธนาคารกรุงไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีของประเทศ

แม้นายวิจิตรจำเป็นต้องลาออกเพราะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ในเดือน ก.ค. 39 แต่ภายใต้ระบอบทักษิณก็แต่งตั้งกลับมามีตำแหน่งทางการเงินอีกครั้งในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2546-50 เช่น ประธานตลาดหลักทรัพย์ ประธานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)โดยการเสนอชื่อของรัฐมนตรีคลังนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีในช่วงรัฐบาลสมัคร แต่ก็ยังไม่ทิ้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอันเป็นข้อบกพร่องเรื่องจริยธรรมของตนเองเช่นเคย เนื่องจากไม่ลาออกจากตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ตนเองมีหน้าที่ต้องกำกับดูแล

สิ่งที่ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือบุคคลอื่นๆ เช่น นายสมหมาย ฮุนตระกูล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทิ้งไว้เป็นอนุสติให้กับคนรุ่นหลังก็คือ หากจะให้คนเกรงใจก็ต้องมีจริยธรรม และสามารถใช้ “การลาออก” ของตนเองเป็นไม้ตายหากต้องถูกบังคับให้ต้องทำอะไรที่ตนเองเห็นว่าไม่ถูกต้อง อย่าลืมว่าดร.ป๋วย “สามารถ” บริหารงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องได้แม้จะอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ

ความเสื่อมของขุนนาง นักวิชาการจึงอยู่ที่การขาดซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่แม้การไม่ทำชั่วที่ดูเหมือนง่ายแต่กลับทำได้ยาก เป็นปัจจัยสำคัญ






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้