การปรับตัวเองให้เข้ากับจักรวาฬ คือหัวใจของการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง 21/9/2547

การปรับตัวเองให้เข้ากับจักรวาฬ คือหัวใจของการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง 21/9/2547


การปรับตัวเองให้เข้ากับจักรวาฬ คือหัวใจของการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง

 

 




ความรู้ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ จนแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีกิจกรรมใดๆ เลยที่คนเราจะสามารถดำเนินได้อย่างสะดวกราบรื่น หากปราศจาก ความรู้ในสิ่งต่างๆ เรื่องต่างๆ การมีความรู้ว่าไฟเป็นของร้อนสามารถลวกมือได้ แต่ก็สามารถใช้หุงต้มอาหารได้ จึงเป็นตัวอย่างของความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่มนุษยชาติค่อยๆ สะสมพอกพูนขึ้น พร้อมๆ กับการสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมของตนขึ้นมา


แต่ตัว ความรู้ เองก็ยังมีทั้งส่วนที่เป็น แก่น กับส่วนที่เป็น เปลือกกระพี้ ยังมีทั้งส่วนที่เป็นแค่ข้อเท็จจริงกับส่วนที่เป็นวิธีคิด วิธีตีความ อันเป็นหลักวิชา แน่นอนว่า ความรู้ส่วนที่เป็น แก่น อันเป็น หลักวิชา นั้นถือว่าเป็น ความรู้ที่สำคัญที่สุด


จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องมีความรู้ในเรื่อง หลักธรรม


จะบริหารเศรษฐกิจ ก็ต้องมีความรู้ในเรื่อง หลักเศรษฐกิจ


จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็ต้องมีความรู้ในเรื่อง หลักบริหาร


จะมีชีวิตที่สมหวังก็ต้องมีความรู้ในเรื่อง หลักการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า หากเราต้องการสถาปนา สังคมความรู้, องค์กรความรู้ ให้ตั้งมั่นอย่างมั่นคงขึ้นในประเทศนี้ ความรู้ที่ประชาชนในประเทศนี้ควรมีร่วมกัน (shared knowledge) ก่อนเป็นอันดับแรก คือ ความรู้ที่เป็น หลักวิชา ในด้านต่างๆ ในมิติต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม อย่างบูรณาการ ที่ ครอบคลุมทุกมิติในการใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายที่ใช้กับปัจเจก และคนหมู่ใหญ่ ทั้งมิติภายนอก และมิติภายในของผู้คน อย่างเช่น หลักธรรม หลักสุขภาพ หลักเศรษฐกิจ หลักบริหาร หลักจิตวิทยา หลักการใช้ชีวิต หลักการฝึกฝนพัฒนาตนเองและหมู่คณะ เหล่านี้เป็นต้น


การทำให้คนส่วนใหญ่โดยเริ่มจากชนชั้นนำ ปัญญาชน สื่อมวลชน และผู้นำในวงการต่างๆ มี ความรู้ร่วมกัน ใน หลักวิชา เหล่านี้ คือ ก้าวแรกของการปฏิรูปการเรียนรู้ ของผู้คนในสังคมนี้อย่างแท้จริง ซึ่งย่อมจะส่งผลสะเทือนในเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังรุมเร้าประเทศนี้ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน


เบื้องหลัง การปฏิรูป หรือ การปฏิวัติการเรียนรู้ (The learning revolution) ที่ผู้เขียนอยากนำเสนอให้ผู้คนในประเทศนี้นำไปพิจารณาเพื่อเป็น แนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแท้จริง ก็คือ ก่อนอื่นผู้นำไปปฏิบัติจะต้องมีความเข้าใจใน หลักของจักรวาฬ (Kosmos) อย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะ จักรวาฬเป็นทุกสิ่งและครอบคลุมทุกสิ่งทุกเรื่อง หลักของจักรวาฬจึง "ก้าวข้ามและหลอมรวม" หลักต่างๆ ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรม หลักสุขภาพ หลักเศรษฐกิจ หลักบริหาร ฯลฯ ซึ่ง หลักแต่ละอย่างนี้เป็นแค่การสะท้อน "ส่วนเสี้ยว" ของความจริงของจักรวาฬออกมาเท่านั้น


อย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไปแล้วในตอนก่อนๆ ว่า คนเราสามารถรับรู้ จักรวาฬ ได้ในฐานะที่เป็น ธรรมจิตในการเคลื่อนไหว (Spirit-in-action) อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของ วิวัฒนาการของจักรวาฬ ซึ่งจะ เผยตัวออกมา ใน จตุรภาค หรือ 4 มิติอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่ในการจะตีความเรื่อง ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ (spiritual experience) ของคนเรา อันเป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้งและมีผลโดยตรงต่อ การยกระดับทางจิต (transformation of consciousness) ของคนผู้นั้นโดยตรง เราก็ต้องตีความประสบการณ์นี้จากทุกระดับของวัตถุธาตุ, กาย, ใจ (mind)วิญญาณ (soul) และธรรมจิต (spirit) อันเป็นระดับต่างๆ ที่แตกต่างกันที่ดำรงอยู่จริงภายในตัวคนเราที่เป็น โฮลอน หรือหน่วยองค์รวมอันหนึ่ง แต่การตีความในเชิงระดับต่างๆ แค่นั้นยังไม่เพียงพอต่อการมี ความรู้ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เรายังจำเป็นต้องตีความในเชิงจตุรภาคที่ครอบคลุมทั้ง 4 หน้าของความจริงของจักรวาฬ อันได้แก่ เจตนารมณ์, พฤติกรรม, วัฒนธรรม และสังคมด้วย


ความรู้ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ในทัศนะของ ภูมิปัญญาบูรณาการ คือ ความรู้ที่มาจากกระบวนทัศน์ที่ครอบคลุมทุกระดับ และทุกภาค (all-level, all-quadrant view) ของความจริงแห่งจักรวาฬ ซึ่งมีความสำคัญมาก และมีความจำเป็นมากต่อการมี วิชันหรือวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเติบโตของมนุษย์ และพัฒนาการของสังคมในระดับที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมันจะกำหนด อนาคต ของพวกเราในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า พวกเราจะสามารถเคารพ และยอมรับประเภทต่างๆ ของความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬได้แค่ไหน...ความจริงที่หลากหลายที่สามารถปลดปล่อยให้คนเราเป็นอิสระได้


หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้เขียนอยากจะบอกกับพวกเราว่า คนเราควรที่จะค้นหาตัวเองให้เจอโดยผ่านการปรับตัวเองให้เข้ากับทุกๆ ด้าน หรือทุกๆ หน้าของจักรวาฬให้จงได้


คนเราไม่ควรตีกรอบ กักขังตัวเอง หรือจองจำตัวเองแค่กับด้านใดด้านหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่งของจักรวาฬเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเราตีกรอบตนเองด้วยการมองโลกอย่าง นักเศรษฐศาสตร์ อันเป็น ภาคขวาล่าง ของจักรวาฬ หรือถ้าคนเราตีกรอบตนเองด้วยการมองโลกอย่าง นักศีลธรรม อันเป็น ภาคซ้ายล่าง ของจักรวาฬ หรือมองโลกอย่าง คนฝึกจิต อันเป็น ภาคซ้ายบน ของจักรวาฬ หรือมองโลกอย่าง นักวิทยาศาสตร์ อันเป็นภาคขวาบนของจักรวาฬ อย่างดีที่สุด พวกเขาแต่ละคนก็มองได้อย่างถูกต้องจากมุมมองของตน แต่ก็ยังเป็น ความถูกต้องเฉพาะด้าน หรือ ความจริงเฉพาะส่วนเท่านั้น จึงยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้ในปัญหาต่างๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างนักเศรษฐศาสตร์กับนักศีลธรรมในเรื่อง การเปิดบ่อนกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย หรือความขัดแย้งระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับคนฝึกจิตในเรื่อง ความจริงของโลกภายใน ซึ่งยากจะหาข้อยุติได้ ถ้าแต่ละฝ่ายไม่สามารถเคารพ ยอมรับความจริงที่หลากหลายและแตกต่างของอีกฝ่าย


ความขัดแย้งแบบนี้มันเกินมิติเรื่องใครถูก-ใครผิดไปแล้ว แต่มันเป็นเรื่องทัศนะแบบไหน บูรณาการมากกว่ากันต่างหาก ถึงจะนำไปสู่ข้อยุติความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ได้


การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเชิงทัศนะที่ต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ สามารถเริ่มต้นได้จากการที่ทุกฝ่ายควรหันมายอมรับเห็นพ้องต้องกันใน หลักของบูรณาการศาสตร์ ที่กล่าวว่า คนเราจำเป็นต้องเข้าถึงความจริงของจักรวาฬในทุกๆ ภาคของจตุรภาคโดยไม่ละเลยภาคใดภาคหนึ่ง มีแต่ท่าทีที่ เปิดกว้าง เช่นนี้ก่อนแล้วเท่านั้น คนเราถึงจะเริ่มสังเกตสำเหนียกได้ว่า แท้จริงแล้ว ความจริงแต่ละภาคของจตุรภาคล้วนสื่อกับเรา พูดกับเราด้วยน้ำเสียง สำเนียง และสำนวนที่ต่างกันเท่านั้น แต่ทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายปลายทางเดียวกันคือ มุ่งพาเรากลับบ้าน กลับคืนสู่ธรรมชาติที่แท้จริง ของคนเรา


เริ่มจาก การปรับตัวให้เข้ากับจักรวาฬ (attunement)


เพื่อนำไปสู่ การชำระตัวเองให้คู่ควรกับจักรวาฬ (atonement)


จนกระทั่งสามารถเป็น หนึ่งเดียวกับจักรวาฬ (at-onement)


การที่คนเราจะสามารถเติบโตจน อริยะ เช่นนี้ได้ จะต้องเริ่มจากการมี ใจเปิดกว้าง รับฟัง สัจจะความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬ อย่างตั้งใจเสียก่อน


สัจจะความจริง (Truth) ในความหมายกว้าง หมายถึง การปรับตัวอย่างปรองดองเข้ากับ ความจริงแท้ (the real) ซึ่งหมายถึง การมีสัมผัสที่จริงแท้และลึกซึ้งกับสิ่งที่เป็นความจริง (the true) ความดี (the good) และความงาม (the beautiful) นั่นเอง


การที่ ภูมิปัญญาบูรณาการ แนะนำว่า คนเราควรปรับตัวให้เข้ากับ จักรวาฬ ก็เพราะ ในชีวิตจริง ผู้คนจำนวนไม่น้อยดำเนินชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับจักรวาฬ อันเป็นการดำเนินชีวิตที่ไม่สามารถสัมผัสถึง ความจริง หรือไม่สามารถสัมผัสถึง ความดี หรือไม่สามารถสัมผัสถึง ความงาม ได้


แม้แต่ในประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการของมวลมนุษยชาติเอง ก็ได้ผ่านความเจ็บปวดในการลองผิดลองถูกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในการแสวงหาหนทางในการตรวจสอบถึงทิศทางการพัฒนาสังคมของพวกตนว่า สอดคล้องกับจักรวาฬหรือไม่?


คือตรวจสอบว่า ทิศทางที่ "ผู้นำประเทศ" กำลังนำพาสังคมเราไปข้างหน้าอยู่นี้ มันถูกทางแล้วหรือว่าผิดเส้นทาง กันแน่? (ตรวจสอบในเรื่อง ความจริง)


คือตรวจสอบว่า สิ่งที่ "ผู้นำประเทศ" กำลังปฏิบัติอยู่ในการบริหารประเทศนั้น มันตั้งมั่นอยู่ใน ความดี หรือไม่ หรือไปบั่นทอนรากฐานแห่งคุณงามความดีของสังคมนี้ให้เสื่อมถอยลง? (ตรวจสอบในเรื่อง ความดี)


คือตรวจสอบว่า สิ่งที่ "ผู้นำประเทศ" สรรค์สร้างให้แก่สังคมนี้ มันก่อให้เกิด ความงาม หรือไม่ หรือกลับสร้างความอัปลักษณ์ให้เพิ่มมากขึ้นแก่สังคมนี้? (ตรวจสอบในเรื่อง ความงาม)


พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราและสังคมเรายังคงต้อง เจ็บปวดกันอีกนาน ใน การเรียนรู้ ที่จะ ตรวจสอบความจริง (validity claims) ที่หลากหลายของจักรวาฬ เพื่อที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับจักรวาฬได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหัวข้ออภิปรายหัวข้อต่อไปของเราที่มุ่งนำเสนอว่า คนเราควรมี มาตรฐานในการตรวจสอบความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬนี้อย่างไร?








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้