อะไรคือ การเมืองเชิงบูรณาการ? 9/11/2547

อะไรคือ การเมืองเชิงบูรณาการ? 9/11/2547



อะไรคือ การเมืองเชิงบูรณาการ?

 



(1) อะไรคือ บูรณาการ?

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "บูรณาการ" ก่อน คำว่า บูรณาการ นี้เป็นคำที่เราหมายถึง ความพยายามทั้งหลายทั้งปวง ในการสังเคราะห์และผนวกเอามิติต่างๆ ทุกมิติที่มีความหมายและประยุกต์ใช้ได้กับการกระทำของมนุษย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นในเชิงทฤษฎีเชิงนโยบาย หรือเชิงปฏิบัติก็ตาม


ความพยายามแบบบูรณาการ จึงเป็น แรงผลักดัน หรือ แรงขับเคลื่อน ที่สำคัญยิ่งต่อ การยกระดับวิวัฒนาการ ทั้งของ ปัจเจก และของ กลุ่ม ให้ก้าวรุดหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยที่ แนวทางแบบบูรณาการ นั้น มุ่งเน้นไปที่ การยกระดับจิตสำนึก ทั้งของปัจเจก และของกลุ่มเพื่อให้เกิด การพัฒนาที่มีสมดุล และเปี่ยมไปด้วยสุขภาวะในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมิติส่วนบุคคล มิติทางวัฒนธรรม มิติทางสังคม และมิติทางการเมือง


ด้วยเหตุนี้ แนวทางแบบบูรณาการจึงให้ความสนใจกับทุกปฏิสัมพันธ์ และปฏิสังสรรค์ของทุกสิ่งทุกเรื่องอย่างเป็นองค์รวม ทำให้ ทุกแง่มุม ของ การเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมทางการเมือง ทางจิตวิทยา ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางนิเวศวิทยาเป็นประเด็นที่แนวทางนี้ให้ความใส่ใจทั้งสิ้น เพราะไม่มีแง่มุมใดเลยที่ไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ และไม่ใช่ความพยายามของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งผิด-ถูก ดี-ชอบ ชั่ว-เลว


เพราะฉะนั้น จุดยืน และหลักการที่สำคัญของแนวทางแบบบูรณาการนี้ก็คือ การให้ความใส่ใจต่อความจริงที่หลากหลาย หลากมิติ และประเมินคุณค่า ความหลากหลายเหล่านั้น อย่างเสมอภาคกันด้วยบรรทัดฐานที่เหมาะสมกับความจริงประเภทนั้น (ซึ่งเราได้กล่าวไปแล้ว)



(2) อะไรคือ การเมือง?

ส่วน "การเมือง" ในทัศนะของภูมิปัญญาบูรณาการ มีความหมายกว้างกว่าความเข้าใจโดยทั่วไปที่มองว่า การเมืองเป็นแค่เรื่องของพรรคการเมือง และรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเรามองว่า "การเมือง" เป็นเรื่องของวิถีทางต่างๆ ที่ผู้คนใช้ชีวิตและทำงานร่วมกัน


หากกล่าวตามความหมายนี้ การเมือง จะต้องเป็น เรื่องที่ครอบคลุมทุกระดับและทุกขนาด ตั้งแต่ระดับปัจเจกชน ไปจนถึงระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก เลยทีเดียว ไม่แต่เท่านั้น มันยังครอบคลุมไปทั่วทุกปริมณฑล ทั้งที่เป็น ส่วนตัว และที่เป็น สาธารณะ ทั้งที่เกี่ยวกับ สถาบันสุขภาพ, การศึกษา, เศรษฐกิจ, สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม อีกด้วย


เพราะ การเมืองเป็นเรื่องของการนำเสนอ "แนวทาง" ในการทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันอย่างมีสันติประชาธรรมได้จริง



(3) ว่าด้วยการเมืองเชิงบูรณาการ

เพราะฉะนั้น การเมืองเชิงบูรณาการ (Integral Politics) ตามนิยามของเราจึงเป็น "แนวทาง" เพื่อการยกระดับ และพัฒนา "ตัวตน" ของปัจเจกอย่างเป็นองค์รวม (the whole self) พัฒนา "ชุมชน" อย่างเป็นองค์รวม พัฒนา "สังคม" อย่างเป็นองค์รวม และพัฒนาโลกใบนี้อย่างเป็นองค์รวม โดยให้ความสำคัญกับ องค์ความรู้ที่หลากหลายอย่างเสมอภาคกัน ในการผลักดัน นโยบายและการปฏิบัติหลากมิติไปพร้อมๆ กัน โดยมุ่งพัฒนาไปตาม ทิศทางวิวัฒนาการของโครงสร้างเชิงลึกของโฮลอน (หน่วยองค์รวม) ดังที่เราได้กล่าวไปแล้ว


การเมืองเชิงบูรณาการ มีลักษณะเด่นหลักๆ อยู่ 2 ประการคือ


ประการที่หนึ่ง การเมืองเชิงบูรณาการนี้ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับการมุ่งผลักดันส่งเสริมให้ ประชาชนทุกคน ได้มี โอกาส ในการ พัฒนาศักยภาพความสามารถของตนอย่างเต็มที่จนถึงขีดสุด เท่าที่คนผู้นั้นจะสามารถพัฒนาตนเองได้ในชีวิตนี้ โดยที่โอกาสนี้จะต้องได้มาอย่างเท่าเทียมกันอย่างเคารพต่อเจตนารมณ์เสรีของปัจเจกผู้นั้น และอย่างเต็มไปด้วยสำนึกในความรับผิดชอบที่ตนพึงมี หลังจากได้รับโอกาสนั้นไปแล้ว


ประการที่สอง การเมืองเชิงบูรณาการ พึ่งพา "การคิดแบบบูรณาการ" (integrative thinking) ซึ่งสะท้อน ระดับจิต ของผู้นั้นเป็นสำคัญในการผลักดัน "แนวทาง" ของตน ก่อนอื่นเราต้องยอมรับความจริงที่ว่า การเมืองมิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แต่การเมืองมันแนบแน่นอยู่กับทุกเรื่องที่เป็นความสนใจของสาธารณะในทุกระดับ ทุกขนาด อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การเมืองแบบบูรณาการจึงเป็น การเริ่มต้นจากความจริงที่เป็นอยู่ แล้วใช้ การคิดแบบบูรณาการ ไปทำการ ยกระดับจิตสำนึก และ ชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้คนกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มให้ สามารถมีวิวัฒนาการอย่างเป็นลำดับไปตามขั้นตอนของโครงสร้างเชิงลึกของผู้คน เหล่านั้น โดยผ่าน นโยบายและการปฏิบัติหลากมิติต่างๆ ภายใต้ ฐานคิดแบบบูรณาการ ที่ออกมาจาก ระดับจิต ขั้นที่ 6 higher vision-logic ขึ้นไป


วิสัยทัศน์ทางการเมืองเชิงบูรณาการ (integral political vision) จึงเป็น ความพยายามที่จะสังเคราะห์และบูรณาการ "ข้อดี" ทั้งของการเมืองฝ่ายซ้าย และการเมือง "ฝ่ายขวา" ในขณะเดียวกัน ก็พยายามหลีกเลี่ยง "ข้อจำกัด" ของแนวทางการเมืองฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาไปพร้อมๆ กันด้วย ยกตัวอย่างเช่น วิธีคิดแบบพวกฝ่ายขวา หรือพวกอนุรักษนิยม (มีมสีน้ำเงิน) จะเน้นเรื่องคุณธรรม ค่านิยมเชิงอัตวิสัย และความรับผิดชอบส่วนบุคคลเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ขณะที่วิธีคิดแบบพวกฝ่ายซ้าย หรือพวกเสรีนิยม (มีมสีส้ม) จะเน้นเรื่องโครงสร้าง เรื่องระบอบ เรื่องระบบ เรื่องการปฏิรูปสถาบันเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง เน้นกันคนละด้าน และก็ถูกทั้งคู่จากมุมมองของตัวเอง เพียงแต่ถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น


ขณะที่ วิธีคิด แบบ การเมืองเชิงบูรณาการ หรือ "ฝ่ายเบื้องบน" (ในความหมายที่ ไม่ใช่ซ้าย และ ไม่ใช่ขวา แต่ มุ่งวิวัฒนาการให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป) ที่เป็นพวก พหุนิยม (มีมสีเขียว) และ บูรณานิยม (มีมสีเหลืองขึ้นไป) นั้น จะ หลอมรวม จุดดี จุดแข็งของวิธีคิดทั้งแบบฝ่ายขวา และฝ่ายซ้ายอยู่ในตัวเองโดยมุ่งที่จะ ก้าวข้าม ข้อจำกัดของแนวทางการเมือง ทั้งแบบฝ่ายขวา และแบบฝ่ายซ้ายไปพร้อมๆ กันเลย


ข้อจำกัดของแนวทางการเมืองแบบฝ่ายขวา คือ เน้นการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป กับมุ่งใช้กลไกระบบราชการที่มีโครงสร้างเป็นลำดับชั้น (hierarchies) มากเกินไปในการแก้ไขปัญหาต่างๆ


ขณะที่ ข้อจำกัดของแนวทางการเมืองแบบฝ่ายซ้าย ก็คือเป็นวัตถุนิยมเกินไปในวิธีคิด ในความหมายที่ขาดความเข้าใจที่ลุ่มลึกเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่าภายใน เรื่องของจิตใจ และเรื่องของจิตวิญญาณ โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบเป็นหลักเท่านั้น ในการแก้ไขปัญหา



(4) จะคิดแบบบูรณาการได้อย่างไร?

วิธีคิดแบบบูรณาการเป็นการระดมใช้สรรพวิชา ใช้ความสามารถทั้งหมดทุกประเภท ทุกแขนงที่ตัวเรามีในการเผชิญกับ ปัญหาที่มีความซับซ้อนสูง แล้วสามารถนำเสนอ "ทางออก" ที่มีลักษณะบูรณาการให้แก่สังคมได้ เพื่อการนี้จึงมีความจำเป็นที่คนผู้นั้นจะต้องหมั่นเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาในลักษณะที่หลากหลายแบบสหวิทยาการ ที่มีทั้งด้านกว้าง และด้านลึกอย่างครอบคลุม แต่การที่คนผู้นั้นจะฝึกฝนตนเองในแบบบูรณาการได้ ก่อนอื่นเขาจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้เสียก่อน


(1) เขาจะต้องมี กรอบมุมมองแบบบูรณาการ (ดังที่ข้อเขียนชุดนี้ได้นำเสนอมาโดยตลอด) ที่สามารถอรรถาธิบาย ระดับขั้นตอนของการพัฒนาที่เป็นแบบ "โครงสร้างเชิงลึก" ซึ่งไม่ว่าปัจเจกหรือองค์กร หรือสถาบัน หรือสังคมก็ต้องมีวิวัฒนาการหรือมีพัฒนาการไปในทิศทางนี้ทั้งสิ้นอย่างไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้วเสียก่อน


(2) หากเข้าใจในเรื่อง ระดับขั้นตอนของการพัฒนาที่เป็นแบบโครงสร้างเชิงลึก นี้แล้ว เราถึงจะสามารถหลีกเลี่ยง ข้อผิดพลาดสองประเภท ที่เกิดขึ้นเสมอในการพิจารณาแก้ไขปัญหาของสังคมของผู้คน ข้อผิดพลาดประเภทที่หนึ่ง คือคนเรามักเข้าใจผิดว่า ผู้คนจะมีท่าทีที่เหมือนกันในการเผชิญปัญหาเรื่องเดียวกัน ซึ่ง ไม่เป็นความจริง เลย จริงๆ แล้ว คนเราจะสะท้อนท่าที, ความเห็น หรือโลกทัศน์ที่ต่างกันไปตาม "ระดับจิต" ของคนผู้นั้น แม้จะเผชิญกับปัญหาเรื่องเดียวกัน หรืออยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ก็ตาม


ข้อผิดพลาดประเภทที่สอง คือคนเรามักประณามทัศนะของผู้อื่นอย่างมักง่ายสิ้นดีว่า คิดไม่ถูก หรือเห็นผิด แทนที่จะมองอย่างสร้างสรรค์ว่า ทัศนะที่คนผู้นั้นนำเสนอออกมาเป็นแค่การสะท้อนจุดยืนและสถานภาพทางความคิด และระดับจิต, ระดับโลกทัศน์ของคนผู้นั้นเท่านั้น ซึ่งมันมีความจริงของมันอยู่ แต่เป็น ความจริงเฉพาะด้าน เท่านั้น คือ ถูกเป็นบางส่วน แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เท่านั้น ถ้าหากเราไม่สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งสองประเภทนี้ ในระบบวิธีคิดของเราได้ เราจะไม่มีทางนำเสนอ ทางออกหรือหนทางในการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอะไรก็ตาม


(3) ความสามารถในการทำความเข้าใจ ความซับซ้อนของปัญหา และสถานการณ์ใดๆ จึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้นั้นมีความเข้าใจ พลวัตของปัจเจกและกลุ่มคน ที่อยู่ในปัญหาต่างๆ เหล่านั้นหรือไม่ กล่าวคือ ผู้นำแบบบูรณาการจะต้องมีความเข้าใจในขั้นตอนพัฒนาการในมิติต่างๆ ของมนุษย์เข้าใจ แรงจูงใจภายใน เจตนารมณ์ และโลกทัศน์ของปัจเจก และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น รวมทั้งเข้าใจด้วยว่า ทำไมเขาและพวกเขาจึงเลือกที่จะมีพฤติกรรมเช่นนั้น รวมไปถึงการตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงอิทธิพลทางสถาบัน และวัฒนธรรมที่เข้ามามีบทบาท และกำหนดข้อจำกัดในการเลือกของปัจเจก และกลุ่มคนต่างๆ ด้วย สรุปง่ายๆ ก็คือ ผู้นำแบบบูรณาการจะต้องมีความเข้าใจในเรื่อง ปฏิสังสรรค์อย่างมีพลวัต (dynamic interplay) ของจตุรภาคแห่งความจริงของจักรวาฬ (ที่เราได้กล่าวไปแล้ว)


(4) การตระหนักในความซับซ้อนของปัญหาทุกเรื่อง เรียกร้องให้ผู้นำแบบบูรณาการต้องพัฒนา แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ (processual approach) ที่นำไปสู่ ทางออกแบบบูรณาการ กล่าวคือ วิธีการในการบรรลุเป้าหมายมีความสำคัญพอๆ กันหรือยิ่งกว่าตัวเป้าหมายเสียอีก ในสายตาของผู้นำแบบบูรณาการที่แท้จริง เพราะ วิธีคิดที่ตื้นเขินแบบดำ-ขาว, ใช่-ไม่ใช่ มีแต่นำไปสู่การเผชิญหน้าที่สุดขั้วกันทั้งสองฝ่ายเท่านั้น และไม่เหลือทางออกที่สร้างสรรค์ใดๆ เลย การคิดแบบบูรณาการคือ การก้าวข้ามวิธีคิดแบบทวิภาวะ (dualistic approach) เช่นที่ว่านี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า สังคมเรายังชินกับวิธีคิดแบบทวิภาวะ แยกดำ-ขาว ดี-เลว นี้อยู่ และอาจยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ วิธีคิดแบบบูรณาการ ที่ข้อเขียนชิ้นนี้กำลังนำเสนออยู่ หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สิ่งที่ท้าทายผู้นำแบบบูรณาการที่สุดในสังคมนี้คือ ทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมให้ผู้คนสามารถคิดแบบบูรณาการเป็น ซึ่งจะนำไปสู่ การสร้างการเมืองเชิงบูรณาการ อันเป็น "ทางเลือกใหม่" ที่แท้จริงของสังคมนี้ได้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้