การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 1) 30/11/2547

การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 1) 30/11/2547


การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 1)



สิ่งที่ ผู้นำเชิงบูรณาการ ต้องเผชิญใน ยุคหลังทักษิณ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ จะ บูรณาการ "การเมืองสองหน้า" ที่เป็นปัญหาหลักของการเมืองไทยได้อย่างไร?


ปัญหา การเมืองสองหน้า ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประชาธิปไตยไทยมีสาเหตุจากการที่ ชนชั้นกลางไทย (ระดับจิตมีมสีส้ม) กับชาวนาชาวไร่ไทย (ระดับจิตมีมสีแดง และมีมสีน้ำเงิน) มองประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน เพราะระดับจิตสำนึกที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดสภาพปมขัดแย้ง (dilemma) ในเชิงวิภาษวิธี (dialectic) ที่ชนชั้นกลางเป็นเพียง ฐานนโยบาย ของพรรคการเมือง แต่ไม่ได้เป็น ฐานเสียง ของพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ชาวไร่ชาวนาก็เป็นเพียง ฐานเสียง แต่ไม่ได้เป็น ฐานนโยบาย ของพรรคการเมือง (อย่างน้อยก็พรรคการเมืองก่อนหน้าพรรคไทยรักไทย)


จึงทำให้การเมืองไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมานี้ ชนชั้นกลางไทยจึงทำได้อย่างมากแค่ ล้ม รัฐบาลได้ แต่ไม่อาจ ตั้ง รัฐบาลของตนขึ้นมาได้ ขณะที่ชาวนาชาวไร่ไทยก็ทำได้แค่ ตั้ง รัฐบาล แต่ไม่มีศักยภาพ และพลานุภาพมากพอที่จะ ควบคุม และ ถอดถอน รัฐบาลนั้นได้ จึงมีผลทำให้ระบอบประชาธิปไตย หรือลัทธิประชาธิปไตยทางรูปแบบที่ประเทศไทยนำเข้ามาแค่รูปแบบสถาบันตั้งแต่ปี 2475 ไม่อาจพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หรือมีพัฒนาการแบบล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบอบเลือกตั้งที่ได้กลายเป็นระบบการซื้อและขายเสียง มีการใช้เงินอย่างมหาศาลในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องถอนทุนคืนหลังการเลือกตั้งจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของปัญหาคอร์รัปชัน และธุรกิจการเมือง โดยที่ผู้แทนราษฎรก็มักเป็น "ผู้แทน ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล และผู้มีเงินมากกว่าที่จะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน ขณะเดียวกัน ก็เกิดการเผชิญหน้ากันเป็นระยะๆ ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับขบวนการภาคประชาชน เนื่องจากรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกเขา


เพราะฉะนั้น เท่าที่ผ่านมาชนชั้นกลางจึงมักเป็นฐานให้กับการโค่นล้มรัฐบาล โดยหวังว่าจะเห็นประชาธิปไตยในแบบที่ตนต้องการ แต่ ในความเป็นจริงนั้น ชาวชนบทซึ่งมีจำนวนมหาศาลคือผู้กำหนดชัยชนะการเลือกตั้งที่แท้จริง คุณลักษณะของพรรคและนักการเมืองที่ได้อำนาจ จึงเป็นไปตามความเข้าใจ และความต้องการต่อประชาธิปไตยของชาวชนบท ขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องการคอร์รัปชันก็เป็นแค่ปฏิกิริยาของชนชั้นกลาง (ชาวเมือง) ต่อประชาธิปไตยที่ชาวชนบทเป็นผู้ให้กำเนิดเท่านั้น (เอนก เหล่าธรรมทัศน์ "สองนคราประชาธิปไตย") การปรากฏตัวของพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นำเสนอ แนวทางแบบประชานิยม เมื่อสี่ปีก่อนนั้น ในตอนแรกดูเหมือนว่าจะพยายามแก้ไขสภาพปมขัดแย้งของการเมืองสองหน้าข้างต้น เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีพรรคการเมืองไทยในระบบรัฐสภาอย่างพรรคไทยรักไทยที่มุ่งใช้ชาวนาชาวไร่เป็น ฐานนโยบาย ของพรรคตน ไม่ใช่เป็นแค่ ฐานเสียง เท่านั้น เหมือนอย่างที่ผ่านมา


แต่การณ์กลับเป็นว่า ฐานนโยบายเชิงประชานิยมที่มุ่งเอาใจชาวนาชาวไร่อย่างไม่ลืมหูลืมตานั้น ในด้านหนึ่ง กำลังสร้างหายนะทางเศรษฐกิจรอบใหม่ให้แก่ประเทศไทย เหมือนอย่างที่เคยเกิดกับประเทศแถบละตินอเมริกามาแล้ว ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ก็มุ่งที่จะ "ตัดตอน" "เพิกเฉย" "มองข้าม" พลังของชนชั้นกลางไทยไม่ให้มีศักยภาพในการล้มรัฐบาลได้อีกต่อไป
สรุปง่ายๆ ก็คือสิ่งที่พรรคไทยรักไทยกำลังกระทำภายใต้การนำของนายกฯ ทักษิณนี้จึงมิใช่การแก้ไขสภาพปมขัดแย้งของการเมืองสองหน้า หรือการเมืองแบบสองนคราประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ เป็นการสลายพลังในการล้มรัฐบาลของชาวเมือง โดยมุ่งใช้ชาวชนบทเป็นทั้งฐานเสียงและฐานนโยบายเชิงประชานิยมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการกลายพันธุ์ของการเมืองสองหน้าในรูปการณ์ใหม่ที่เลวร้ายกว่าเดิม ที่เรารู้จักกันดีในนามของ ระบอบทักษิณ


การปฏิรูปการเมืองไทยในยุคหลังทักษิณ จึงจำเป็นที่จะต้อง "ถอดรื้อ" ระบอบทักษิณกับ "บูรณาการ" การเมืองสองหน้าไปพร้อมๆ กันด้วย ที่ผ่านมา เราได้บทเรียนล่าสุดจากระบอบทักษิณแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะมีผลอย่างแท้จริงถึงขั้นรากฐานขั้นพื้นฐานได้นั้น เราจะต้องเน้นที่ผู้ตามหรือผู้สนับสนุนทางการเมืองมากกว่าเน้นที่ตัวผู้นำทางการเมือง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไว้ใจไม่ได้


เรามีความจำเป็นที่จะต้อง บูรณาการแนวทางการสร้างสถาบันทางการเมือง (ภาคซีกขวาล่าง) เข้ากับ แนวทางการสร้างคนดี (ภาคซีกซ้ายล่าง) และแนวทางการยกระดับจิตสำนึกของผู้คน (ภาคซีกซ้ายบน) เข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม (ภาคซีกขวาบน) ของปุถุชน ให้สามารถประสานและประนีประนอมผลประโยชน์กันได้อย่างราบรื่นกว่าที่ผ่านมาได้


ลำพังแค่การมุ่งปฏิรูปการเมือง โดยมุ่งแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ดีให้ถูกต้องชอบธรรมตามหลักสากลแห่งประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่ยังไม่เพียงพอหรอก เราควรจะต้องคำนึงถึงประเพณี วัฒนธรรมไทย รวมถึงคำนึงถึงดุลกำลังที่เป็นจริงในสังคมโดยไม่ล้ำเส้น ล้ำยุคเกินไปด้วย การปฏิรูปทางการเมืองถึงจะประสบผลสำเร็จได้


กล่าวในความหมายนี้ ผู้นำเชิงบูรณาการ จะต้องเป็นทั้ง นักสัจนิยม และ นักอุดมคตินิยม อยู่ในตัวคนคนเดียว จะขาดด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะ นักสัจนิยมทางการเมืองที่ "ไร้อุดมคติ" ที่ไม่ศรัทธาในประชาธิปไตย ในเชิงปรัชญา แต่เห็นประชาธิปไตยเป็นแค่วิธีการไม่ใช่เป้าหมายปลายทางของคนแบบนี้ก็คือ ผู้เหลิงอำนาจ ผู้เห็นเวทีการเมืองเป็นที่กอบโกยผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจให้แก่ตน และพรรคพวกของตนเท่านั้น ขณะที่นักอุดมคติที่ "รังเกียจ" ความจริงของการเมืองก็ไม่ยอมเข้าไปแปดเปื้อนคลุกคลี จึงทำได้อย่างมากแค่ "วิพากษ์วิจารณ์" การเมืองเท่านั้น แต่หามีพลังไปเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ไม่


จึงจะเห็นได้ว่า คนที่มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริงได้ จะต้องเป็นผู้ที่ยอมแปดเปื้อนความเน่าเฟะของการเมืองโดยที่ยังคงสามารถรักษาอุดมคติทางการเมืองของตนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นเท่านั้น ดุจดอกบัวที่ผุดออกมาจากโคลนตม แต่คนประเภทนี้หาได้ยากยิ่งนัก และนานๆ ถึงจะปรากฏสักคนในวงการเมืองไทย
มีแต่ คนประเภทนี้เท่านั้นที่จะกล้าเผชิญกับปัญหาลักษณะรวมศูนย์ และผูกขาดอธิปัตย์ของรัฐไทย และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขมันอย่างบูรณาการ


คำว่า ลักษณะรวมศูนย์หมายถึง การที่รัฐส่วนกลางไปปกครองส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นโดยตรง


คำว่า ลักษณะผูกขาดอธิปัตย์หมายถึง การที่รัฐไม่ยอมแบ่งอำนาจให้สังคมหรือกลุ่มเอกชนในสังคมได้แสดงออกด้วยการไม่ยอมรับสิทธิความริเริ่ม การปกครองตนเอง และความเป็นเอกเทศของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เว้นเสียแต่เมื่อรัฐเองอนุญาตหรือรับรองเท่านั้น


เพราะฉะนั้น ปัญหาหลักของประชาธิปไตยที่ยังเป็นการเมืองสองหน้าอยู่ แม้จะเริ่มกลายพันธุ์ไปแล้วภายใต้ระบอบทักษิณก็ตาม ในทุกวันนี้จึงย้ายจุดหลักจากปัญหาการเลือกตั้ง และสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ไปสู่ปัญหาสิทธิในการปกครองตนเองของกลุ่มต่างๆ ในสังคม และของรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างประชาธิปไตยที่ระดับกลุ่มกับระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัดเจนแล้ว


การจะบูรณาการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสองหน้าอย่างแท้จริงได้ จึงมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องทำลายความล้าหลังของชนบท ยกระดับจิตสำนึกของชาวชนบทให้สูงขึ้น ปลดแอกคนส่วนใหญ่ของประเทศให้หลุดออกมาจากพันธนาการของระบบอุปถัมภ์ สามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ มีการศึกษา การรับรู้ที่กว้างไกลกว่าเดิม จนกระทั่งสามารถตัดสินใจทางการเมือง โดยเสรีได้เท่านั้น







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้