พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 3) 15/3/2548

พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 3) 15/3/2548



พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 3)



(2) ศิลปะแห่งการหายใจ

วิถีบูรณาการ คือการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ และการมีศิลปะในการใช้ชีวิต ศิลปะแห่งการหายใจเป็นทั้งหัวใจ และเป็นฐานของการศึกษาศิลปะ และภูมิปัญญาตะวันออกทั้งปวง โดยการหัดฝึกหายใจให้ได้นาทีละ 5 ครั้ง ขณะที่คนทั่วไปหายใจนาทีหนึ่งประมาณ 15 ครั้ง จะทำให้ชีวิตของคนผู้นั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงได้


เวลาหายใจเข้า จงพยายามฝึกหายใจให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยหายใจสูดลมเข้าอย่างแผ่วเบา ยาวและลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ การจะฝึกหายใจอย่างมีศิลปะนั้น ทางที่ดีควรฝึกในขณะที่โครงสร้างของกายผู้ฝึกตั้งตรง ศีรษะตั้งตรง กระดูกสันหลังทุกข้อตั้งตรง ขณะที่สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ ให้ติดตามความรู้สึกในการหายใจเข้าไปนี้ว่า ลมปราณมันแผ่ซ่านเข้าไปทั่วร่างกายของตนหรือไม่


จากนั้นค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกด้วยความรู้สึกแผ่วเบา นุ่มนวล คนที่มีศิลปะในการหายใจ ผู้นั้นจะสามารถควบคุมการทำงานของสมองให้มีความเป็นเลิศในการคิดได้ ลมหายใจนั้น เป็นตัวกำหนดชีวิต เป็นตัวสร้าง พลังแห่งชีวิต ผู้ที่หายใจได้ยาวจะเป็นผู้ที่มีพลังชีวิต และมีอายุยืนยาว การฝึกหายใจให้เป็นจึงเป็นพื้นฐานของการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติ


ถ้าหากคนเราสามารถหายใจอย่างมีศิลปะได้ คนผู้นั้นจะรู้สึกสดชื่นเมื่อระบายลมหายใจออกอย่างนุ่มนวล เนิบนาบ จิตใจของเขาจะรู้สึกโล่งขึ้น เขาจะรู้สึกได้ว่า บริเวณไขสันหลังของเขามีความรู้สึกอบอุ่น มีพลังเป็นสายเล็กๆ วิ่งซาบซ่านอยู่


เคล็ดของการหายใจอย่างมีศิลปะนั้น มันอยู่ที่ผู้นั้นต้องรู้สึกว่าได้ผ่อนลมหายใจออกมาจนหมด แล้วพักสักนิดหนึ่งก่อนที่จะค่อยๆ เริ่มสูดลมหายใจเข้าไปใหม่อย่างนุ่มนวล เนิบนาบ มั่นคงและเต็มเปี่ยม นี่เป็นการทำให้ลมปราณมันพลุ่งพล่านอยู่ภายในตัวเรา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไปปลุกกระตุ้นจิตวิญญาณ อารมณ์และอวัยวะภายในทั้งหลายของคนผู้นั้นให้ตื่นตัวแล้วก็ค่อยๆ ผ่อนคลายออก ซึ่งมันจะช่วยระบายความอึดอัด ขัดเคือง กลัดกลุ้ม เศร้าหมอง ขุ่นมัวให้ออกไปจากตัวเราจนหมดเกลี้ยง และ เหลือแต่ "ความตระหนักรู้อันบริสุทธิ์" (pure awareness) ของผู้นั้นเท่านั้น


ผู้ที่มีศิลปะในการหายใจ ยามตื่นเช้าขึ้นมา เขาจะเงยหน้ามองไปบนท้องฟ้า ปล่อยความคิดจิตใจให้เปิดกว้างไกล หายใจเข้าออกลึกๆ ให้ผิวหนังเปิดกว้างรับสัมผัสกลิ่นอายของธรรมชาติ และบรรยากาศรอบๆ ทำให้อวัยวะทั้งหลายตื่นตัว พร้อมที่จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถทำงานหนักได้ตลอดทั้งวัน โดยการสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ ให้เต็มปอด แล้วผ่อนลมออกมาอย่างแผ่วเบายาวๆ อย่างนิ่มนวลสักหลายๆ ครั้งเท่าที่สามารถทำได้ จนกระทั่งเหลือแต่อารมณ์อันสดใส แช่มชื่น เบิกบานล้วนๆ ในตัวเราที่เราตระหนักรู้ได้เติมเต็มพลังชีวิตของเราให้มากมวลไปด้วยสภาวะของผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คนที่ทำได้จะมีดวงตาที่แจ่มใส สมองปลอดโปร่ง เขาจะใช้ชีวิตในแต่ละวันของเขาราวกับเป็นชีวิตใหม่ที่สดชื่น มีชีวิตชีวา สุขสมบูรณ์ และมีพลังชีวิตที่เหลือเฟือ การหายใจอย่างมีศิลปะ จะต้องเป็นการกระทำที่นิ่มนวล เนิบนาบ แผ่วเบา หนักแน่นและหมดจดเสมอ โดยจะต้องฝึกฝนจนกระทั่งไม่มีอารมณ์อะไร นอกจากลมหายใจเข้าออกเท่านั้น



(3) ศิลปะแห่งหมากล้อม

หมากล้อม เป็นเกมกระดานที่ต่างจากหมากกระดานประเภทอื่น เช่น หมากรุก ตรงที่มันเริ่มต้นเกมจาก "ความว่าง" บนกระดานหมากล้อม เพราะก่อนจะเริ่มเกมจะยังไม่มีการวางหมากบนกระดานก่อนหรือไม่มีการตั้งหมากเรียงรายบนกระดานก่อนเหมือนหมากรุก กล่าวโดยนัยนี้ หมากล้อมจึงเป็นเกมกระดานที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาแห่ง "สุญตา" อันลึกซึ้งของศาสนาพุทธ และปรัชญา "อู๋จี๋" (ความไม่มีอะไรที่เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง) ของลัทธิเต๋า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่ศิลปะการเล่นหมากล้อมเป็นที่นิยมในหมู่พระเซน และชาวเต๋ามาตั้งแต่โบราณกาล


จาก "ความว่าง" เกิด "รูป" และจาก "อู๋จี๋" ก่อกำเนิด ไท่จี๋" รูปทรงของเม็ดหมากที่แต่ละฝ่ายผลัดกันวางบนกระดานหมากล้อมมี "คุณค่า" และ "ความหมาย" ที่ไม่คงที่ (อนิจจัง) เพราะเม็ดหมากแต่ละเม็ดมิได้มี "คุณค่า" ภายในตัวที่แตกต่างกันตั้งแต่แรกเหมือนอย่างขุน อย่างม้า อย่างเรือ แต่คุณค่าของมันขึ้นอยู่กับมิติสัมพันธ์แห่งรูปทรงที่เม็ดหมากเชื่อมโยงกัน และบริบทที่อยู่รายรอบ สิ่งนี้ทำให้เราตระหนักถึง หลักปฏิจจสมุปบาท และหลักแห่งการเปลี่ยนแปลงในคัมภีร์อี้จิงอย่างเป็นรูปธรรม ความน่าทึ่งอีกประการหนึ่งของการเล่นหมากล้อม ก็คือ มันเปิดเผยสภาวะจิตของคนเล่นออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อนของผู้นั้น ผู้เล่นสามารถเรียนรู้ได้อย่างมากมายจากความพ่ายแพ้ และจะรู้สึกขอบคุณฝ่ายตรงข้ามที่เอาชนะเขาได้ มันเป็นกระบวนการเรียนรู้และฝึกปรืออย่างไม่มีวันจบสิ้น เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับ วิถีเต๋าแห่งหมากล้อม


แม้แต่การฝึกเรียงหมากจากบันทึกของการแข่งขันระหว่างยอดฝีมือหมากล้อม ก็สามารถทำให้ผู้ฝึกเข้าถึงสมาธิและสภาวะจิตที่สงบนิ่งอย่าง "เรียบง่าย" ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วิญญูชนคนโบราณของจีนได้จัดหมากล้อมเป็นหนึ่งในสี่ของสุดยอดศิลปะของจีน นอกเหนือไปจากพิณโบราณ (ฉินหรือกู่เจิ้ง) การวาดภาพ และการคัดอักษร


สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือปฏิบัติเอง ในปัจจุบันสังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนและฝึกฝนหมากล้อมมากกว่าเมื่อสิบปีก่อนหรือยี่สิบปีก่อนมากนัก การเรียนหมากล้อมไม่มีจำกัดเพศวัย ตัวผู้เขียนเองสนใจ การฝึกฝนหมากล้อมในฐานะที่เป็นการฝึกฝนสมาธิแบบเซน ที่มีจิตใจจดจ่อแบบลืมหมดทุกสิ่ง ยกเว้นหมากที่กำลังเดินอยู่ใน "ปัจจุบันขณะ" เท่านั้น...ปัจจุบันขณะที่นอกจากเม็ดหมากแล้ว ไม่มีสิ่งใดอื่น แต่การจะฝึกฝนศิลปะหมากล้อมเพื่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างบูรณาการ คนผู้นั้นควรจะต้องฝึกศิลปะแขนงอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย หากหมกมุ่นกับหมากล้อมแต่เพียงอย่างเดียวมากเกินไป จะบั่นทอนสุขภาพกายของคนผู้นั้นได้



4. (ศิลปะแห่งพิณโบราณกู่เจิ้ง)

ขณะเล่นกู่เจิ้งคือ เวลาสำคัญที่สุดในการอยู่กับที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพียงหย่อนความใส่ใจไปนิดเดียว ก็สามารถทำให้การบรรเลงแปลกแปร่งไปได้ การฝึกเครื่องดนตรีนั้น สิ่งที่ยากคือการยังมีความรู้สึกถึง 'ตัวตน' อยู่ เพราะ การมีความรู้สึกถึง 'ตัวตน' นี้เองที่เป็นอุปสรรคระหว่างนักดนตรีกับเครื่องดนตรี เมื่อลืมตัวตนได้ ผู้เล่นย่อมสามารถบรรลุสภาพความเป็นหนึ่งเดียวกับการกระทำ กลืนหายไปกับเพลงที่บรรเลงจนในห้วงนั้นไม่รับรู้ แม้แต่ความผันผ่านของเวลา


เสน่ห์ของการเล่นดนตรีน่าจะอยู่ที่ตรงนี้ ผู้เขียนได้พบกับความสุขใจ ความสงบใจ และการชำระจิตใจจากการเล่นกู่เจิ้ง และคิดว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ อย่างเปียโน ไวโอลิน ขลุ่ยก็คงให้ความรู้สึกเช่นที่ว่านี้ได้เช่นกัน ดนตรีเป็นศิลปะที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะมันสามารถเยียวยาความรู้สึกโดดเดี่ยวของคนเราได้


สายพิณของกู่เจิ้ง เสียงพิณอันไพเราะของกู่เจิ้งพาผู้เล่นออกจากที่คุมขังของตัวตนอันโดดเดี่ยว หากไม่มีมัน คนเราก็จำต้องไปหาศิลปะหรือเครื่องมืออย่างอื่นมาทุเลาความเดียวดายของตัวตนของตนอยู่ดี สายพิณ เสียงพิณเหล่านี้มันช่วยทำให้ความรู้สึกนั้นทุเลาลง มาเถิดมาบรรเลงพิณกัน มาเถิดมาเล่นดนตรีกัน อะไรคือเสียงเพลงที่เธอจะได้ยิน บทเพลงไหนที่จะก้องอยู่ในโสตของเธอ และท่วงทำนองเช่นไรที่จะขับกล่อมจิตวิญญาณของเธอ โลกของเสียงดนตรี เป็นโลกที่ความแก่ชรามาเยือนช้ากว่าโลกแห่งรูปลักษณ์มากมายนัก



(5) ศิลปะแห่งมวยไท่จี๋ (ไท้เก๊ก)

ยามเช้าที่อากาศกำลังเย็นสบายและสดชื่น ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ บ่อน้ำ กลิ่นดิน ไอน้ำค้างและเสียงนกขับขาน ใบไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้น สายลมที่พัดโชยมาอ่อนๆ


เพียงแค่เรายืนอยู่ที่นั่น สูดลมหายใจลึกๆ เข้าไปอย่างช้าๆ นิ่มนวล เนิบนาบ เราก็สามารถเข้าสู่ ความนิ่ง ความปลอดโปร่ง และกลมกลืนกับธรรมชาติที่นั่นได้อย่างไม่ยากเย็น เราย่อมสามารถรู้สึกได้ว่า ตัวเราเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนั้นไม่ต่างกับต้นไม้นานาชนิด ที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้นไม่ต่างกับฝูงนก ฝูงปลา ฝูงผีเสื้อ ฝูงมด ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น


ที่นั่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราและตัวเรา ขณะที่ชีวิตเราและตัวเราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น


จนเมื่อตัวเราตระหนักถึง ความว่าง ความไม่มีอะไรที่ปราศจากการปรุงแต่งเจือปนใดๆ มีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ และบริเวณ จุดตันเถียนล่าง ที่ท้องน้อยแล้ว เราจึงค่อยๆ แยกขาออกในระยะห่างเสมอไหล่ งอเข่าเล็กน้อย ลำตัวตั้งตรง ศีรษะตั้งตรง ลิ้นแตะเพดานฟันบน ผ่อนคลายร่างกายตลอดทั้งร่าง


เมื่อ ท่าร่าง ถูกต้องตามที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์ผู้ชำนาญโดยตรงแล้ว พอเราสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ อีก กระแสพลังดุจกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ก็ไหลเวียนทั่วร่างกายของเราจนเป็นที่รับรู้ได้ชัดเจน เราค่อยๆ ยกสองแขนของเราขึ้นช้าๆ กระแสปราณ พุ่งผ่านกระดูกสันหลังของเรา ผ่านหัวไหล่ทั้งสองข้างสู่ปลายนิ้วมือพร้อมกับให้ความรู้สึกที่ยิบๆ ซ่านๆ ตรงบริเวณมือทั้งสอง ตอนนี้นิ้วมือของเราเอิบอาบอิ่มไปด้วยเลือดลม ตอนนี้ทั้งเลือดลมหายใจ และสติจิตของเราคละเคล้าหลอมรวมเป็นกระแสพลังขุมหนึ่งที่ค่อยๆ ไหลเวียนออกจากขุมพลังอันลี้ลับที่ดำรงอยู่ในร่างกายของมนุษย์ทุกคน รวมทั้งของตัวเราอย่างไม่ขาดสาย


เมื่อแขนทั้งสองข้างของเราที่ถูกชักนำด้วย จิต และ ลมปราณ จนยกขึ้นสูงเสมอไหล่แล้ว เราค่อยๆ ลดแขนต่ำลงช้าๆ พร้อมกับระบายลมหายใจออก งอเข่าย่อร่างลงตามการไหลกลับคืนของกระแสปราณที่ย้อนกลับมาจมดิ่งสู่จุดตันเถียนล่างอีกครั้ง ในตอนนี้เรารู้สึกได้แม้กระทั่ง กระแสปราณ ที่ไหลลงไปที่กลางฝ่าเท้าทั้งสองข้างของเรา


ใน กระบวนท่าแรกของมวยไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) ที่เราเริ่มร่ายรำออกมานั้น เราได้สำแดงความเป็นหยิน-หยางออกมาในการเคลื่อนไหวของเรา ไม่ว่าจะเป็นการยกขึ้น-ยกลง การขยายออก-การย้อนกลับ


เซน เป็นผลผลิตของการจับคู่กันระหว่าง พุทธ กับ เต๋า และ มวยไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) ก็เป็นทั้ง เซน และ เต๋า ในขณะเดียวกัน เต๋า กับ เซน เป็นหัวข้อในการถกเถียงคาดเดาทางปรัชญามาโดยตลอด ว่ามันอยู่ที่ไหน โชว์ให้เห็นได้หรือไม่ จะสามารถสัมผัสมันที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้หรือไม่ จะรู้สึกถึงมันได้โดยไม่มีข้อกังขาได้อย่างไร จะเข้าใจมันได้อย่างไร ฯลฯ


แต่สำหรับตัวเราในขณะนั้น มันไม่มีความจำเป็นต้องมาถกเถียงโต้ตอบทางปรัชญาใดๆ เกี่ยวกับเต๋าและเซนอีกต่อไปแล้ว เพราะตัวเรากำลังใช้การฝึกฝน และการกระทำเพื่อเปิดเผย เต๋า และ เซน ในตัวเราเองออกมา โดยผ่านการร่ายรำ ไท่จี๋ (ไท้เก๊ก)...มีแต่ ผู้ที่ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เท่านั้น จึงจะสามารถลิ้มรสความน่าอัศจรรย์และสุดแสนพิสดารพันลึกของมันได้


การเคลื่อนไหวที่ช้าๆ เมื่อผนวกกับลมหายใจที่ลึกๆ อย่างเป็นธรรมชาติ หากผู้ฝึกกระทำด้วยการจัดโครงสร้างกระดูกทั่วร่างได้อย่างถูกต้องตามหลักที่ได้บัญญัติไว้โดยปรมาจารย์เต๋าแล้ว มันจะไปเปิดจุดทวาร และเส้นชีพจรทั่วร่างกายของคนผู้นั้นให้กว้างขึ้น ทำให้กระแสพลังในร่างกายของคนผู้นั้นสามารถไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้โดยไม่ติดขัด นี่คือ เคล็ดลับที่ทำให้อายุยืน และสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บของมวยไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) ซึ่งเป็นเซนในความเคลื่อนไหว และเป็นเต๋าในเซน


ตัวเราเพียงใช้สติ จิต ปราณ และเลือดลมที่รวมเข้ากันดีแล้ว ผลักดันให้เริ่มการเคลื่อนไหวในตอนแรกที่เริ่มร่ายรำเท่านั้น กระบวนท่าที่เหลือ ตัวเราปล่อยให้กระแสปราณภายในร่างกายของเราขับเคลื่อนไหวเวียนไปเอง แล้วเคลื่อนไหวท่าร่างประสานไปกับกระแสปราณนั้น เนื่องจาก มวยไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) เป็นมวยภายใน และวิชากำลังภายใน (ชี่กง) แขนงหนึ่ง คนภายนอกย่อมมิอาจมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกายของผู้ร่ายรำ แต่ตัวผู้ร่ายรำเองย่อมทั้งรู้สึก และสัมผัสได้ถึงกระแสปราณอันเป็นพลังชีวิตของตัวเราที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่โดยตรง ตัวเราเพลิดเพลินและอาจเรียกได้ว่า รักอย่างลุ่มหลงในกระแสการเคลื่อนไหวของปราณที่อยู่ภายใต้ผิวหนังของตัวเรานี้


ที่ผ่านมา ต่อให้ตัวเราได้ประสบเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่เป็นของนอกกายไปมากมายก็จริง แต่ทุกครั้งที่ตัวเรากลับเข้าสู่ สภาวะที่เป็นหนึ่งเดียวกับปราณภายในกาย และปราณภายนอกในสถานที่รายรอบ แล้วตัวเรากลับรู้สึกว่าตัวเราได้รับทุกๆ สิ่ง ตัวเราสมบูรณ์เพียบพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างโดยมิได้ขาดหายสิ่งใดไปเลยแม้แต่น้อยนิด ตัวเราย่อมตระหนักรู้ได้ว่า ความรู้สึกสูญเสียทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่จริง เป็นเพียงแค่มายาการปรุงแต่งของจิตเท่านั้น ความสมบูรณ์เพียบพร้อมไม่มีบกพร่องของจิตดวงนี้อันเป็นประภัสสร ต่างหาก ที่เป็นสิ่งจริงแท้และ เป็นการเผยตัวของธรรมจิต ของพุทธธรรม และของเต๋า ที่ตัวเราได้ประจักษ์แจ้งใน ไท่จี๋ (ไท้เก๊ก)



(6) ศิลปะแห่งชี่กง

ชี่กง หรือวิชาลมปราณที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็น รูปการล่าสุดของ "ลัทธิเต๋า" ที่เผยตัวเองออกมาในรูปแบบของการฝึกออกกำลังกาย และการฝึกลมปราณเพื่อสุขภาพ ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่การแสดงออกทางความเชื่อเรื่องศาสนา และจิตวิญญาณของผู้คนถูกจำกัดเสรีภาพ แต่ในสมัยโบราณสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า ชี่กง นั้น คนสมัยก่อนเขาเรียกว่า การบำเพ็ญ ของลัทธิเต๋า โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ความมีอายุวัฒนะ (longevity) และ ความเป็นอมตะ (immortality) ไปพร้อมๆ กัน


การฝึกชี่กงที่คนส่วนใหญ่ฝึกกันอยู่ในปัจจุบันมักบกพร่องด้านเดียว คือมุ่งเน้นเฉพาะ ความมีอายุวัฒนะ ซึ่งเป็นเรื่องของ กาย โดยไม่ค่อยเอาใจใส่ในเรื่อง ความเป็นอมตะ ซึ่งเป็นเรื่องของ จิต ทั้งๆ ที่สองสิ่งนี้จะต้องฝึกฝนบ่มเพาะควบคู่กันไปอย่างมีสมดุล จึงจะเป็น ชี่กงที่แท้จริง หรือเป็น การบำเพ็ญที่แท้จริง ตามหลักการของลัทธิเต๋าที่มีมาหลายพันปีแล้ว


ผู้ที่สนใจจะฝึกชี่กงในสมัยนี้ หากขาดความเข้าใจที่ถูกต้องดังข้างต้น ก็อาจไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการฝึกชี่กงได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถพากเพียร หรือขาดแรงจูงใจที่จะฝึกฝนได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน


เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฝึกชี่กง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ชี่กงเป็นศาสตร์และศิลปะแห่งการพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งกายภาพและทางจิตของลัทธิเต๋า ที่เป็นภูมิปัญญาโบราณที่มีลักษณะบูรณาการที่สุดเท่าที่เคยมีอยู่ในอารยธรรมของมนุษยชาติ


ในการจะฝึกชี่กง คนผู้นั้นจะต้องเข้าใจเรื่อง หยวนชี่ (ปราณดั้งเดิม) เสียก่อน ชาวเต๋ามีความเห็นว่า หยวนชี่ ของ คนธรรมดาที่มิได้บำเพ็ญ หรือมิได้ฝึกชี่กงอย่างสม่ำเสมอนั้น มันไม่ค่อยมีพลังหรือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก ต่อให้ คนธรรมดา เล่นกีฬา ออกกำลังกายก็ยังเป็นแค่การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีส่วนดีอยู่ แต่ชาวเต๋าเห็นว่ายังมิเพียงพอต่อการทำให้ หยวนชี่ ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ มีแต่ต้องฝึกลมปราณ หรือชี่กงเสริมเข้าไปกับการออกกำลังกายด้วยเท่านั้น ถึงจะทำให้ หยวนชี่ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ได้


ชาวเต๋าเชื่อกันว่า ผู้ใดก็ตามที่สะสม หยวนชี่ เอาไว้ภายในร่างกายได้มากพอ หยวนชี่นั้นจะไปขับดันกระแสโลหิตให้ไหลเวียนได้สะดวกดีขึ้น เลือดลมนี้จะไหลไปตามเส้นทางของปราณที่มักเรียกกันติดปากว่า เส้นชีพจร ซึ่งดำรงอยู่ทั่วร่างกายเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อน ครอบคลุมอวัยวะทุกส่วนในร่างกายกระทั่งผิวหนังและขุมขน


ชาวเต๋าจึงสอนกันต่อๆ มาว่า หากคนเราหมั่นฝึกฝนลมปราณ (ชี่กง) กระตุ้นหยวนชี่ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องป่วยไข้และสามารถที่จะมีสุขภาพที่ยั่งยืนได้ตราบสิ้นอายุขัย การฝึกลมปราณทำให้หยวนชี่ในร่างกายคึกคัก ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อ สุขภาพกาย แล้ว ยังส่งผลดีต่อ สุขภาพใจ ของคนผู้นั้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจด้วย เขาผู้นั้นจะกลายเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น มั่นคง มีความเชื่อมั่นในตนเองและมีสมาธิในการทำงานในกิจทั้งปวงที่สูงยิ่ง


พูดง่ายๆ ก็คือ เขาผู้นั้นจะเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพ "ท็อปฟอร์ม" อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ อันเป็นภาวะที่ชาวเต๋าเห็นว่าสำคัญที่สุดในการผ่านพ้นความยากลำบากทั้งหลายทั้งปวงของชีวิต และเพื่อที่จะรุดหน้าพัฒนาตัวเองอย่างตกผลึกภายในอย่างสมบูรณ์ จนเข้าถึงความรู้แจ้งในแบบของชาวเต๋าในที่สุด








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้