พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 4) 22/3/2548

พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 4) 22/3/2548


พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 4)



(7) ศิลปะแห่งโยคะ

โยคะเป็นศิลปะและศาสตร์ชนิดหนึ่ง เพื่อการพัฒนาตนเองให้สามารถบรรลุสภาวะสูงสุดที่มนุษย์เราต้องการ โยคะมิได้เป็นศาสนาโดยตัวของมันเอง แต่เมื่อศาสนาใดนำโยคะไปเป็นส่วนหนึ่งของ หลักสูตรการปฏิบัติ ก็จะอธิบายโยคะในเชิงเป้าหมายสูงสุดของศาสนานั้นๆ


"โยคะ" ที่คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึง วิชาดัดตนเพื่อสุขภาพ นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียง "บางส่วน" (ที่เรียกว่า "อาสนะ") ของ หทะโยคะ (โยคะแห่งความมุ่งมั่น) ซึ่งเป็น กระแสหลัก ของผู้ฝึกโยคะทั่วโลกในขณะนี้เท่านั้น ผู้ที่สนใจโยคะหรือกำลังฝึก "โยคะ" อยู่ จึงควรรู้ด้วยว่า ราชาโยคะคือ ปลายทางท้ายสุดของการฝึกหทะโยคะ ผู้ที่เอาแต่ฝึกดัดตน ฝึกอาสนะของหทะโยคะ โดยไม่รู้ถึงราชาโยคะหรือเข้าถึงสมาธิของราชาโยคะจึงเปรียบเสมือนไก่ได้พลอย ซึ่งน่าเสียดายยิ่ง เพราะมีคำกล่าวว่า "ราชาโยคะจะมีไม่ได้ ถ้าปราศจากหทะโยคะ และหทะโยคะจะไม่สมบูรณ์ถ้าปราศจากราชาโยคะ" เนื่องเพราะหทะโยคะเป็นฐานและราชาโยคะเป็นยอดของฐาน การทำความเข้าใจโยคะจากมุมมองของราชาโยคะ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง


ราชาโยคะ คือ โยคะแห่งการควบคุมกายและจิต ราชาโยคีจะใช้การฝึกฝนการควบคุมกายและจิต เพื่อบรรลุถึงความเข้าใจใน "สิ่งสูงสุด" ตามความเชื่อทางศาสนาของผู้นั้นโดยไม่จำกัดว่าเป็นศาสนาใด ในขณะที่ หทะโยคะ มุ่งทำให้กายสงบ จิตจึงเป็นอิสระเหนือกาย สามารถพัฒนาได้ง่ายรวดเร็ว ส่วน ราชาโยคะ มุ่งจะทำให้จิตเป็นใหญ่เหนือกาย มีอำนาจควบคุมร่างกายได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ราชาโยคะ จึงเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความสงบ สะอาด และความมั่นคงของจิตเป็นที่ยิ่ง จนสามารถควบคุมจิตใจไว้ได้โดยสมบูรณ์ โดยมีขั้นตอนการฝึกฝน 4 ขั้นตอนคือ


(ก) การสำรวมจิตของราชาโยคะ ราชาโยคีต้องให้ความสนใจศึกษาและสำรวมจิตตนให้อยู่ในอำนาจจึงจะใช้ประโยชน์จากจิตได้ ตามปกติจิตของคนเราจะเป็นทุกข์เมื่อเกิดความปรารถนาและพัวพันในวัตถุต่างๆ และจิตจะเป็นสุขอย่างแท้จริง เมื่อละความปรารถนาและเป็นอิสระจากการพัวพันในวัตถุใดๆ ได้


เพราะมีเหตุแห่งความปรารถนาทะยานอยาก จึงทำให้จิตเกิดความกระหาย เมื่อเกิดความกระหาย จิตย่อมมูมมาม เกิดความกระด้างเมื่อสมหวังและเกิดความเศร้าโศกฟูมฟายเมื่อผิดหวัง


ต่อเมื่อจิตสลัดออกเสียได้ซึ่งความปรารถนาทะยานอยาก จิตจึงสะอาดบริสุทธิ์ อ่อนโยน ไม่หยาบกระด้างเมื่อได้มาและไม่ฟูมฟายเมื่อเสียไป ด้วยเหตุนี้ ราชาโยคีจึงยินดีเฉพาะความดีโดยไม่ปรารถนาความพึงพอใจ ซึ่งต่างจากคนทั่วไปที่มักปรารถนาแต่ความพึงพอใจ โดยไม่ใส่ใจในความดี คนทั่วไปจึงมักผิดหวังล้มเหลวอยู่ร่ำไป


ราชาโยคีย่อม ยินดีตามที่ตนมี ย่อม รู้จักความพอเพียง และ การดำรงอยู่อย่างศานติ หัวใจของราชาโยคีนั้นเปิดกว้างรับสัจจะ ล้ำลึกสามารถควบคุมตนเองได้จากสิ่งยั่วเย้าภายนอก ราชาโยคีย่อมเป็นผู้สงบปราศจากอารมณ์ ยอมสละตนเพื่อสัจธรรมสูงสุด มีแต่ความจริง เป็นผู้มั่นคงและสุภาพแก่คนทุกคน ดำรงอยู่อย่างไม่ทระนงตน ไม่ดูหมิ่นใคร และไม่ดูหมิ่นตนเอง


เมื่อราชาโยคีสำรวมจิตได้ดังนี้ เขาย่อมมีความเต็มเปี่ยมอยู่ในตน ความปรารถนาในลาภยศย่อมหมดไป เขาสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างอย่างไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหวกับความหนาวร้อน ความเจ็บปวด การนินทา สรรเสริญ เพราะราชาโยคีเป็นผู้มีอิสระเหนือทวิภาวะทั้งหลายทั้งปวง บุคคลเยี่ยงนี้ย่อมนำมหาชนไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริงได้


(ข) การเพ่งจิตของราชาโยคะ เมื่อร่างกายสบายตัวด้วยอาสนะ เมื่อจิตผ่อนคลายด้วยการสำรวมแล้ว ราชาโยคีย่อมเพ่งเพียรต่อไปด้วย การเพ่งจิตให้เป็นหนึ่ง ภาวะความเป็นหนึ่งของจิตเป็นภาวะจิตที่ประกอบด้วยความเป็นหนึ่งแน่วแน่ มีการตัดสินใจเด็ดขาดมั่นคง รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ดำรงตนอยู่ด้วยความเด็ดเดี่ยว


ราชาโยคีจึงต้องฝึกจิตให้เป็นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะเข้าสู่สภาวะแห่ง "จิตบริสุทธิ์" ซึ่งเป็นภาวะจิตที่สามารถละตัวตน หลุดพ้นจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้ ดังนั้นเมื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่งได้แล้ว ราชาโยคีพึงปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นด้วยการวิปัสสนาสัจจะความจริง


(ค) การวิปัสสนาของราชาโยคะ จิตใจที่เป็นหนึ่ง เมื่อพิจารณาและวิปัสสนาสิ่งใดก็ย่อมต่อเนื่องแทงตลอดในสัจจะอันนั้น ดังนั้นจิตอันตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวของราชาโยคีย่อมยังปัญญาให้บังเกิดกระจ่างแจ้งต่อสัจธรรม ด้วยการวิปัสสนาอยู่เสมอ ราชาโยคีย่อมพิจารณาร่างกาย ลมหายใจ ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ เหตุผลและตัวตนของตนว่า ทั้งหมดล้วนเป็น มายา เกิดแล้วดับมิได้ถาวร มีแต่ความบริสุทธิ์เท่านั้นที่สถาพร


ดังนั้น ราชาโยคีย่อมไม่ไยดีในมายา ปล่อยวางมายาอันไม่ถาวรทั้งหมดนั้น เมื่อสลัดความยึดมั่นถือมั่นได้หมดสิ้น ราชาโยคีย่อมบรรลุความเบิกบานอันไพศาลที่ไม่อาจประมาณได้


(ง) การรักษาสมาธิที่บังเกิดแล้วของราชาโยคะ เมื่อราชาโยคีเพ่งเพียรวิปัสสนาสัจธรรมจนบรรลุสภาวะความเบิกบานอันไพศาลได้ ตัวเขาย่อมได้สมาธิอันยิ่งใหญ่คือ "ราชาสมาธิ" ร่างกายและความรู้สึกของเขาย่อมสงบระงับเหมือนพักผ่อนอยู่ตลอดเวลา จิตใจและปัญญาของเขาย่อมรู้ตื่น รู้เบิกบานอยู่เสมอ นี่คือที่สุดแห่งการบำเพ็ญเพียร ซึ่งสภาวะนี้ประณีตลึกซึ้งเกินกว่าจะพรรณนาออกมาเป็นภาษาอันคับแคบของมนุษย์ได้


กายกับใจเป็นสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมต่อกัน สมองของคนเราเป็นส่วนหนึ่งของกาย แต่ ใจ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสมอง แม้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน คนเราสามารถฝึก "เปิดใจให้กว้าง ได้โดยใช้การกระตุ้นสมอง นี่คือเคล็ดลับของภูมิปัญญาตะวันออกและศิลปะต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งรวมทั้งโยคะด้วย


เพียงแค่ฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ในอิริยาบถต่างๆ โดยเฉพาะอิริยาบถ นั่ง ยืน เดิน นอน ขณะที่สูดลมปราณเข้าไปลึกๆ ให้จินตนาการตามไปด้วยว่า พลังชีวิตหรือพลังปราณที่เราสูดเข้าไปนั้น มันไหลผ่านเข้ามาทางกลางกระหม่อม (กะโหลกศีรษะ) ของเราด้วย โดยใช้ "ตาใน" ของเราเฝ้าดูการไหลเข้ามาทางกลางกระหม่อมของลมปราณนี้ไหลไปทั่วร่างกายของเรา ขณะที่หายใจออกก็ให้จินตนาการตามไปด้วยว่า ลมปราณไหลออกทางฝ่าเท้าและหรือกลางกระหม่อมตามแต่อิริยาบถที่เราฝึก


จงฝึกหายใจ พร้อมกับจินตนาการตามไปด้วยแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ช้าผู้ฝึกก็จะตระหนักได้ถึงความมีพลังเปี่ยมล้นของสมอง ความคึกคักเข้มแข็งของร่างกาย และความเปิดกว้างแผ่ไพศาลว่างโล่งของจิตใจ อย่างแน่นอน



(8) ศิลปะในการอยู่กับมายา

ศิลปะในการอยู่กับ มายา อย่างมีเสรีภาพทางจิตวิญญาณนั้น มีอยู่ 5 ระดับ


ระดับที่หนึ่ง การอยู่อย่าง บอกความจริงเกี่ยวกับตัวเราเองต่อตัวเอง ด้วยการย้ำพูด ย้ำคิด ย้ำปฏิบัติ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และสำแดง ความจริงที่ว่าตัวตนที่แท้จริงของคนเราทุกคนคือพุทธะ นี้ให้ปรากฏออกมาทุกๆ ครั้งที่มีโอกาส


ระดับที่สอง เมื่อเรามีความเชื่อมั่นในความจริงของตัวเราเองในระดับที่หนึ่งแล้ว จึงค่อยเริ่ม บอกความจริงเกี่ยวกับคนอื่นต่อตัวเราเอง ว่า คนอื่นๆ ทุกคนก็ล้วนเป็นพุทธะเหมือนกับตัวเรา ย้ำพูด ย้ำคิด ย้ำทำ ปลูกฝังความเชื่อในความจริงของผู้อื่นว่า พวกเขาก็คือ พุทธะ คือ ธรรมจิต (Spirit) เช่นเดียวกับตัวเรา จนตัวเรา ตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างตัวเรากับผู้อื่น อย่างแท้จริง


ระดับที่สาม เมื่อตัวเราฝึกฝนพัฒนาตนเองมาได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว จึงค่อยเปิดเผยความจริงของตัวเราต่อผู้อื่น แล้วค่อยเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับผู้อื่นต่อผู้อื่นเป็น ระดับที่สี่


ระดับที่ห้า ซึ่งเป็นระดับสุดท้ายคือ การเปิดเผยความจริงในทุกๆ เรื่อง (everything) ให้ทุกคนได้รับรู้
ศิลปะในการอยู่กับมายาคือ การมีชีวิตอยู่เพื่อเผยแพร่ความจริงหรือสัจธรรมตามลำดับขั้นตอนข้างต้นนี้


ในขณะที่คนเราดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางมายาทั้งหลาย สิ่งที่สำคัญคือคนเราต้องมีความมุ่งมั่น แน่วแน่ในการกระทำเรื่องราวใดๆ ก็ตาม และ ไม่ว่าคนเราจะเลือกกระทำสิ่งใดก็ตาม จงเลือกที่จะกระทำมันอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจให้ เพราะขณะที่เขาผู้นั้นกำลังกระทำสิ่งนั้นอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจให้อยู่นี่แหละที่เป็น "ลีลาของตัวเขา" และก็เป็น "ลีลาของธรรมจิต" ที่สำแดงผ่านตัวเขาด้วย


เวลาที่คนเราตัดสินใจจะทำอะไร สิ่งเดียวที่ตัวเราควรใส่ใจหรือพิจารณาคือ การทำสิ่งนี้เป็นการยืนยันความเป็นตัวของเราเองที่แท้จริงหรือไม่? นี่เป็นสิ่งที่ตัวเรา เลือกที่จะเป็น หรือไม่?


ชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยการเลือกเองเป็นชีวิตอย่างมีจิตสำนึก แต่ชีวิตที่ยังอยู่ได้ เพราะคนอื่นหรือสังคมเลือกให้ ยัดเยียดให้ เป็นชีวิตที่ตอบสนองอย่างไร้สำนึก


การเลือกที่ออกมาจากความรู้สึกทางจิตวิญญาณล้วนๆ ทรงพลัง กว่าการเลือกที่เป็นการทำงานของใจที่ใช้ความคิด วิเคราะห์ คำนวณดีดลูกคิดรางแก้ว


รู้สัจธรรมในภาวะ "ไร้ใจ" คือการรู้ที่แท้จริง และทำให้หลุดพ้นได้ ภาวะไร้ใจนี้เข้าถึงได้ง่าย เมื่อผู้นั้นกลับเข้าสู่ "ภายใน" โดยการกลับเข้าไปหาความรู้สึก สัมผัสประสาทในขณะที่จิตรวมกับกายเป็นหนึ่งเดียว


อันที่จริงการเข้าถึง จิตสำนึกอันสูงส่ง นั้น ง่ายกว่าที่คนทั่วไปคิดมากเลย เพราะ การเข้าถึงจิตสำนึกอันสูงส่ง มันเป็นเรื่องของการเลือกที่จะเป็นเช่นนั้นเอง แต่ที่มันยากมากก็คือ มันเป็นการเลือกที่คนผู้นั้นจะต้องเลือกที่จะเป็นเช่นนั้นทุกๆ วัน ทุกๆ นาที จนกระทั่งมันกลายเป็นเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวของคนผู้นั้นในชีวิตนี้


ผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้ ย่อมเข้าใจได้เองว่า ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะถึงกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ และใครๆ ก็กลายเป็นพุทธะได้
จงอย่าหยุดแค่ เข้าใจความหมายของชีวิต


จงอย่าหยุดแค่ เข้าใจความหมายของพุทธธรรมจากการอ่านหนังสือ


แต่จงใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเข้าใจพุทธธรรมนั้นด้วย เพราะนี่คือสุดยอดของศิลปะแห่งการใช้ชีวิตท่ามกลางมายาของโลกใบนี้



(9) ศิลปะแห่งการเจริญสมาธิภาวนา

อะไรคือ การเจริญสมาธิภาวนาที่แท้จริง ที่สามารถนำพาคนเราให้เข้าถึง สิ่งสูงสุด ที่ตนเองเชื่อถือศรัทธาได้?


สมาธิภาวนา คือ การพิจารณาดูจิต และกายของตนโดยไม่เอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างสงบเงียบ เยือกเย็น เป็นกลาง และไม่ตัดสินถูกผิด ดีเลว


สมาธิภาวนา คือ การทำตัวตนให้ว่าง ทำใจให้ว่าง เพื่อทำให้อัตตาสูญสลายไปเอง เหลือแต่สภาวะการดำรงอยู่ อนัตตา เป็นจุดเริ่มต้นของสมาธิภาวนา สุญตา เป็นปลายทางของสมาธิภาวนา


สมาธิภาวนา คือ ศิลปะแห่งการสลายตัวตน อันเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต และเป็นศิลปะในการหลอมรวมตัวเองเข้ากับ
ธรรมจิต (Spirit) ซึ่งเป็นทั้งหมดทั้งสิ้น


สมาธิภาวนา คือ กลวิธีที่จะหยุดจิตใจลง และเป็นนายของใจอย่างแท้จริง


สมาธิภาวนา คือ การระลึกได้ ถึง "สิ่งนั้น" ซึ่งดำรงอยู่ที่นั่นแล้ว โดยไม่ต้องพากเพียรพยายามในการลุถึงสิ่งนั้นเลย


สมาธิภาวนา คือ การสลัดหลุดจากความคับแคบของกายและใจอันจำกัดไปสู่จิตวิญญาณอันไร้ขอบเขตไร้ขีดจำกัด


สมาธิภาวนา คือ การนำตัวเองกลับคืนสู่ศูนย์กลางภายในของตน โดยผ่าน ศิลปะแห่งการหายใจ ที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างตัวเองกับสรรพสิ่ง


สมาธิภาวนา คือ การอยู่เหนือพ้นใจ เพื่อตระหนักรู้ในธรรมจิต ซึ่งปราศจากรูป ปราศจากนาม และปราศจากถ้อยคำบรรยาย


สมาธิภาวนา คือ การทำให้ดวงจิตของตัวเองว่างเปล่าด้วยการ มีสติอยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม


สมาธิภาวนา คือ ความเบิกบานภายในที่บังเกิดขึ้น หลังจากที่ตัวเองสามารถผ่านพ้นความเนืองแน่นของกลุ่มความคิดต่างๆ มาสู่ความเปิดโล่งแห่งตัวตนภายในของตนได้


สมาธิภาวนา คือ ศิลปะแห่งการรวมพลัง ทั้งหมดของตนเองเพื่อปลุกตนเองให้ตื่นขึ้น


สมาธิภาวนา คือ ศิลปะแห่งการทำให้ผิวน้ำในมหาสมุทรแห่งจิตราบเรียบไร้ระลอกคลื่น จนสามารถสะท้อนพระจันทร์เต็มดวงบนผิวน้ำได้ จนฟากฟ้าเมฆหมอกและเหล่าดาราทั้งปวง สะท้อนอยู่ภายในตัวผู้นั้นอย่างเรืองโรจน์ได้


สมาธิภาวนา คือ ศิลปะแห่งความว่าง เพื่อที่สรรพสิ่งจะได้ลงมาและสะท้อนให้เห็นอยู่ในดวงจิตของผู้นั้น


สมาธิภาวนา คือ การฝึกฝนจิตจนกระทั่งสำนึกและตระหนักได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องแสวงหาเลย เพราะทุกคนมีสภาวะนั้นอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ตระหนักเท่านั้น


สมาธิภาวนา คือ ศิลปะแห่งการน้อมรับ อย่างนอบน้อมในทุกความเป็นไปอย่างไม่หวาดกลัว หวาดหวั่น


สมาธิภาวนา คือ ศิลปะ ในการแปรเปลี่ยนชีวิตที่เป็นดุจปราสาททรายให้กลับกลายเป็นชีวิตที่ดุจมหาวิหาร


สมาธิภาวนา คือ การดับของกาย การดับของใจ การดับของเวทนา และการดับของธรรมารมณ์ จนเข้าถึง ภาวะนิพพาน ความดับเช่นนี้บังเกิดได้ด้วย การตระหนักรู้อันบริสุทธิ์ (มหาสติ) เท่านั้น อันเป็นความตระหนักรู้ที่คนผู้นั้นจะต้องทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพื่อให้มันดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดในทุกๆ อิริยาบถ ในทุกการกระทำไม่ว่าจะเป็นทางกาย ใจ เวทนา หรือธรรมารมณ์ ซึ่งวิถีอันนี้พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า วิถีแห่งสติปัฏฐาน 4 อันเป็นทางเดียวที่จะพาไปถึงมรรคผลนิพพาน








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้