พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 6) 5/4/2548

พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 6) 5/4/2548


พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 6)



(10) ศิลปะแห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4 (ต่อจากตอนที่แล้ว)


ทั้งนี้เพราะ พุทธะ หรือ ธรรมจิต ไม่มีทางที่จะเป็นแค่สิ่งที่แฝงเร้น ฝังจมอยู่ในก้นบ่อที่ลึกที่สุดของจิตไร้สำนึกของคนเราที่รอการขุดค้นพบเจอ และก็มิใช่ขุมทรัพย์ที่อยู่บนยอดเขาสูงสุดที่รอการปีนป่ายจากมนุษยชาติ เราไม่ควรเข้าใจพุทธะหรือธรรมจิตอย่างด้านเดียวเช่นนั้น


ในทางตรงกันข้าม เราควรมองให้ทะลุว่า ระดับจิตของพุทธะหรือธรรมจิต คือสภาวะอันปกติและปัจจุบันของคนเรานี่แหละ จิตแห่งพุทธะอันไร้ขอบเขต ไร้ประมาณที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง จักต้องดำรงอยู่ ในทุกๆ ระดับแห่งสภาวะของจิต เท่าที่จะคาดนึกได้


จิตแห่งพุทธะและนิพพาน ย่อมไม่มีทางที่จะเป็นระดับจิตที่พิเศษเฉพาะที่ตัดขาดแยกต่างหากออกมาจากระดับจิตขั้นอื่นๆ ของมนุษย์ แต่จะต้อง "ไม่มีระดับ" หรือ "ดำรงอยู่ในทุกระดับ" ด้วย เพราะการไป จำกัด จิตของพุทธะให้ดำรงอยู่แค่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง แม้จะเป็นระดับที่สูงสุดก็ตาม มันเท่ากับไปทำลายจิตของพุทธะมิให้เป็นจิตของพุทธะอันไร้ขอบเขต ไร้ประมาณครอบคลุมทั้งหมดอีกต่อไป


ธรรมจิต เป็นความจริงอันปรมัตถ์ที่ไร้มิติ ไร้กาลเวลาที่ระดับจิตแต่ละระดับเป็นแค่ ความบ่ายเบนเชิงมายา ออกจากตัวมันที่ดำรงอยู่ในทุกที่ และครอบคลุมทุกสิ่งเอาไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะจิตใดๆ ในปัจจุบันของเรา คือไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความหดหู่ ความปราโมทย์ ความโกรธ ความสงบ ความกลัว ความอยาก สภาวะจิตเหล่านี้ สภาวะจิตอย่างที่เป็นอยู่นี้ ล้วนแล้วแต่ดำรงอยู่ในจิตของพุทธะ หรือธรรมจิตทั้งสิ้น


พุทธะหรือนิพพาน จึงไม่ใช่และจะต้องไม่ใช่ประสบการณ์พิเศษ มิใช่ระดับจิตหรือสภาวะทางวิญญาณที่พิเศษเฉพาะในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งแต่อย่างใด แต่มันจะต้องดำรงอยู่ และดำรงอยู่ในทุกๆ ระดับของจิตที่เราเป็นเสมอ


พุทธะจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และนิพพานก็มิใช่เรื่องของโลกหน้าอันไกลโพ้น แต่มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกอันปกติประจำวันของคนเรานี่แหละ จริงอยู่ที่ในบางช่วงของชีวิตคนเรา เพื่อแสวงหาพุทธะ เพื่อเข้าถึงพุทธะ พวกเขาจึงเก็บตัวหรือตัดขาดจากโลกไปพักหนึ่ง แต่เมื่อพวกเขาได้เข้าถึงความจริงแห่งพุทธะแล้ว พวกเขาก็จะกลับมาอีก และดำเนินชีวิตตามแนวของพระโพธิสัตว์ ผู้แลเห็นความเป็นพุทธะดำรงอยู่ในทุกที่ ทุกสิ่งและทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร กิจกรรมใด อิริยาบถใด หรือประสบกับทุกขเวทนา และความยากลำบากในชีวิตเพียงไหน พวกเขาก็จะตระหนักรู้อยู่แก่ใจดีเสมอว่า


"แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง เพราะถึงอย่างไร กายนี้คือกายของพุทธะ และ โลกนี้ คือการเผยตัวออกมาของธรรมจิต ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้น จักไม่ทำให้จิตของเราหวั่นไหวได้"


เนื่องจากพุทธะ หรือธรรมจิตดำรงอยู่ในทุกที่ และทุกเมื่อ มันจึงดำรงอยู่แล้ว สมบูรณ์เพียบพร้อมอยู่แล้ว อย่างที่ไม่จำเป็นจะต้องออกไปแสวงหาที่ไหน เพราะการออกไปแสวงหา ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนที่ออกจากที่นี่ ไม่มี ไปเสาะหาที่ที่ มี ซึ่งมัน ไม่จริง หรือเท่ากับปฏิเสธความจริงของพุทธะดังข้างต้น


มันเป็นความหลงผิด เป็นอุปทาน เป็นอวิชชาของตัวผู้แสวงหา คนนั้นเองต่างหากที่คิดว่าไม่มีพุทธะในที่ที่มันมีพุทธะอยู่แล้ว เพราะไม่มีที่ไหนที่เป็นที่พิเศษเฉพาะให้พุทธะดำรงอยู่หรอก แต่พุทธะดำรงอยู่ในทุกที่และทุกขณะ พุทธะหรือธรรมจิตที่ดำรงอยู่ในทุกระดับนี้ จึงเป็นสิ่งที่คนเราไม่อาจไปบรรลุได้ (เพราะเป็นอยู่แล้ว) แต่ก็ไม่อาจหนีจากมันได้เช่นกัน


เหตุที่คนเราค้นหาพุทธะของตนไม่พบ ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ก็เหมือนกับที่ดวงตาของเราย่อมไม่สามารถเห็นดวงตาของเราโดยตรงเองได้ ต้องมองผ่านกระจกจึงจะเห็นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น คนเราย่อมไม่อาจบรรลุในสิ่งที่ตัวเราเป็นสิ่งนั้นตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้วได้


สิ่งที่คนเราทำได้คือ การระลึกรู้ ตระหนักรู้ จำได้ (โดยผ่านการฝึกสติตามแนวสติปัฏฐาน) เท่านั้น หาใช่การแสวงหาใดๆ จากโลกภายนอก หรือโลกภายในแต่อย่างใดไม่ อุปมาดั่งการค้นหาสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในภาพๆ หนึ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรา มันดำรงอยู่ก่อนแล้วตรงนั้น! แต่เราอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะสังเกตเห็นได้ว่า ตรงไหนคือส่วนที่ไม่ถูกต้องในภาพนั้น สิ่งที่ทำให้เราเสียเวลาค้นหาก็เพราะตัวเรายังไม่ตระหนักรู้ สังเกตเห็นได้เท่านั้น


เนื่องจาก พุทธะหรือธรรมจิตหรือนิพพาน เป็นสภาวะที่เราเป็นมันอยู่แล้ว เราจึงไม่เคยต้องบรรลุถึงมัน ความพยายามใดๆ ในการแสวงหาพุทธะ ผลสุดท้ายย่อมล้มเหลว! เพราะการแสวงหานั้น ตั้งอยู่บนความเชื่ออย่างผิดๆ ที่ว่า เราจะพบมันในวันข้างหน้าหรือในอนาคต แต่ไม่ใช่ขณะนี้ ขณะที่ พุทธะหรือธรรมจิตไม่เคยรู้อดีต รู้อนาคต รู้เวลา เพราะพุทธะคือปัจจุบันขณะอันไร้เวลา


พุทธะไม่เคยดำรงอยู่ในที่ไหน นอกจากดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะอันปราศจากเวลานี้เท่านั้น การแสวงหาพุทธะภายใต้มิติของกาลเวลา จึงถูก กับดักของกาลเวลา จองจำอย่างยากที่จะดิ้นหลุดไปได้ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะปฏิบัติธรรมด้วยแนวทางใด หรือของสำนักใดก็ตาม เพราะเขาผู้นั้นปฏิบัติธรรมโดยตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่ผิดพลาดตั้งแต่แรกแล้ว


เหตุที่ผิดพลาดก็เพราะ พวกเขาไม่เข้าใจว่า พุทธะไม่ใช่วัตถุที่อยู่นอก และนิพพานก็มิใช่ภพภูมิ หรือโลกอื่นที่อยู่นอกตน พวกเขาแสวงหาพุทธะ แสวงหานิพพาน โดยไม่ได้ตระหนักว่า สิ่งที่พวกเขากำลังแสวงหานั้น มันมิใช่สิ่งใดอื่น นอกจากตัวผู้รู้ ตัวผู้เห็น และตัวผู้แสวงหานั่นเอง ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นเป้าภายนอกให้ถูกรู้ ถูกเห็น ถูกบรรลุถึงได้เลย


เพราะคนเราย่อมไม่อาจเห็นตัวเราเองจริงๆ ได้ด้วยประสาทสัมผัสภายนอก หรือด้วยความคิด ด้วยมโนทัศน์ใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ตัวเราเองหลงผิดคิดว่า เราได้เห็นตัวเราจริงๆ นั้น ที่แท้ก็เป็นความรู้สึกที่เกิดจากผัสสะหรือประสาทสัมผัสของเรา หรือไม่ก็เป็นทัศนะความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเราต่างหาก หาใช่ตัวตนที่แท้จริงของเราที่เป็นอนัตตาไม่


ความจริงอันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่กลับมิได้ตระหนัก ทั้งๆ ที่มันแจ่มชัดเหลือเกิน หรืออาจเป็นเพราะว่ามันแจ่มชัดเกินไป จนไม่ได้เฉลียวใจก็ว่าได้ กล่าวคือ


คนเราไม่อาจได้ยินผู้ได้ยิน ไม่อาจดมผู้ดม ไม่อาจรู้สึกผู้รู้สึก ไม่อาจเห็นผู้เห็น ไม่อาจสัมผัสผู้สัมผัส แต่เรากลับนึกว่าเราทำได้! เรากลับแยกตัวเราเองออกจากสิ่งที่ถูกเห็น ถูกได้ยิน ถูกดม ถูกรู้สึก ถูกสัมผัส จนเกิด สภาวะทวิภาพขั้นปฐมภูมิ (Primary Dualism) ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เห็น (subject) กับ สิ่งที่ถูกเห็น (object) ก็ไม่ได้แยกขาดจากกันจริง ผู้รู้ กับ สิ่งที่ถูกรู้ ก็มิใช่สองสิ่งหรือคนละสิ่งกัน


เพราะ ผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่มันรู้มันเห็น ความรับรู้มาจากสิ่งที่ถูกรู้นั้น ดำรงอยู่ในตัวผู้รู้ เหมือนกับที่ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านข้อเขียนนี้บนหน้ากระดาษนี้ กำลังเป็นหนึ่งเดียวกับกระดาษหน้านี้อยู่ กระดาษหน้านี้ที่ถูกเห็นกับการเห็นหน้ากระดาษนี้ ความจริงเป็นสองชื่อของข้อเท็จจริงเดียวที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้


การที่เรากล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า กระดาษหน้านี้มิได้ดำรงอยู่จริงในเชิงภาววิสัย แต่เราต้องการจะบอกว่า สำหรับ ผู้รู้ แล้วกระดาษหน้านี้ในฐานะเป็น สิ่งที่ถูกรู้ มันมิได้ดำรงอยู่ในฐานะที่เป็น วัตถุภายนอกการรับรู้ของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในจิตของพุทธะมันไม่มีช่องว่าง ไม่มีระยะห่างดำรงอยู่ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ต่างหาก


เพราะฉะนั้น เราถึงกล้าที่จะบอกว่า ขณะนี้...ขณะที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านข้อเขียนนี้อยู่ สิ่งที่อยู่ในตัวท่านผู้อ่านที่รู้ ที่เห็น ที่กำลังอ่านข้อเขียนนี้อยู่นี้แหละคือ พุทธะ คือธรรมจิต ซึ่งไม่สามารถเห็นหรือรับรู้ในฐานะที่เป็นวัตถุภายนอกตัวเองได้!
สิ่งที่ถูกเห็น ถูกรับรู้ได้คือ อัตตา ของเรา แต่มิใช่ จิตเดิม ของเรา มิใช่ ธรรมจิต หรือ พุทธะ ในตัวเรา ขณะที่สิ่งที่กำลังกระทำการรับรู้ กระทำการเห็นอยู่คือ ธรรมจิต


การเป็นหนึ่งเดียวกับ บางสิ่ง คือ อัตตา


แต่การเป็นหนึ่งเดียวกับ ทุกสิ่ง คือ จิตเดิม หรือ ธรรมจิต เมื่อใดก็ตามที่คนเราแยกตนออกจากทุกสิ่งมาเป็นเอกเทศ เมื่อนั้นจึงเกิดตัวตนเกิดอัตตา และเป็นที่มาของสังสารวัฏ


หากท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านข้อเขียนนี้อยู่ เกิดตัดสินใจที่จะข้ามพ้นอัตตาตัวตนเพื่อลองค้นหาดูสิว่า มีใครที่กำลังอ่าน กำลังเห็นกระดาษหน้านี้อยู่กันแน่ เขาก็จะพบว่า เขาไม่สามารถหาผู้รู้ผู้เห็นใดๆ ได้ เขาจะพบแต่กระดาษหน้านี้เท่านั้น! ตัวเขาที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นกับกระดาษหน้านี้ ความจริงเป็นหนึ่งเดียวกันในขณะนี้อยู่


หากมีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างท่านผู้อ่านกับกระดาษหน้านี้ นั่นก็เป็นช่องว่างอันเดียวกับที่เกิดขึ้นระหว่างตัวผู้อ่านกับ "ปัจจุบันขณะ" นี้เช่นกัน ถ้าหากท่านผู้อ่านสามารถดำรงชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมใน "ปัจจุบันขณะ" นี้ได้ ท่านผู้อ่านกับกระดาษหน้านี้ก็จะเป็นหนึ่งเดียวกัน และในทางกลับกัน หากท่านผู้อ่านกำลังเป็นหนึ่งเดียวกับกระดาษหน้านี้อยู่ ท่านผู้อ่านก็จะอยู่ใน "ปัจจุบันขณะ" เช่นเดียวกันด้วย และนี่คือ สภาวะจิตของพุทธะที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง


คนเราจึงไม่มีทางค้นพบพุทธะหรือธรรมจิตโดยผ่าน ที่ว่าง (space) ด้วยการไปแสวงหามันข้างนอกตน หรือไปค้นหามันในที่ที่มีระยะห่างจากตน และในขณะเดียวกัน คนเราก็ไม่มีทางค้นพบพุทธะหรือธรรมจิต โดยผ่าน เวลา ด้วยการคาดหวังว่า จะค้นพบมัน หรือบรรลุถึงมันในอนาคตข้างหน้า


ทั้งนี้ก็เพราะว่า มันไม่มีวิถีที่จะไปสู่ "ที่นี่" และก็ไม่มีวิถีที่จะไปสู่ "เดี๋ยวนี้" "ขณะนี้" จงอย่าลืมว่า สิ่งที่แสวงหาจนค้นพบภายในมิติแห่งเวลา มันย่อมอนิจจัง ไม่เที่ยงและไม่มีทางเป็นความจริงสูงสุดได้ ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดไปว่า ตัวเองปฏิบัติธรรมไม่เพียงพอ จึงยังไม่รู้แจ้ง แต่ถ้ามุ่งมั่นปฏิบัติธรรมให้มากเข้า สักวันหนึ่งข้างหน้าก็คงรู้แจ้งได้เอง


ทัศนะเช่นนี้ ยังเป็นทัศนะที่ไม่สมบูรณ์อยู่ดี เพราะการรอความรู้แจ้งในวันข้างหน้า บ่งชี้ว่าวันนี้ผู้นั้นขาดความรู้แจ้ง และการรอนิพพานก็เป็นการบ่งบอกว่า ขณะนี้ผู้นั้นยังไม่นิพพาน ทั้งๆ ที่ นิพพานเป็นสิ่งที่เข้าสู่ไม่ได้ เพราะนิพพานดำรงอยู่ในทุกๆ "ปัจจุบันขณะ" และสภาวะใดที่เข้าสู่ได้ ย่อมเป็น สภาวะชั่วคราว เท่านั้น ถ้าไม่พบนิพพานใน "ปัจจุบันขณะ" นี้ ก็จะไม่ได้พบมันเลย


การทำสมาธิมีหลายรูปแบบ หลายวิธีก็จริง แต่สมาธิที่ทำให้ เข้าสู่ สภาวะจิตใดๆ แม้จะเป็นสภาวะแห่งจิตอันละเอียด สุข สงบ เพียงไหน ก็ยังเป็นสภาวะชั่วคราวที่ต้อง ออกมา อยู่ดี สมาธิเหล่านี้จังยังไม่ใช่ สมาธิที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของพุทธะ แต่เป็นอุบายในการหลอกตนเองของผู้ปฏิบัติให้ไปค้นหา หรือแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้วโดยไม่เคยสูญเสียมันไป เพียงแต่ผู้นั้นยังไม่ตระหนักรู้เท่านั้น


จุดยืนทางสมาธิของพุทธะนั้นลึกล้ำปานนี้ แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจกันในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม และผู้สนใจทางจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหลือเกิน


แล้วจะ เริ่มต้น กันอย่างไรดี?


ก็ต้องเริ่มจาก ลมหายใจอันแสนธรรมดา เฮือกหนึ่งนี่แหละ ลมหายใจที่ดูเผินๆ เหมือนไม่ต่างจากลมหายใจที่เคยสูดเข้าออกมาทั้งชีวิต แต่หลังจากนี้ที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงคือ ใจ อันเป็นใจที่ตั้งจิตมั่นว่าจะ "เห็น" ลมหายใจเป็นราวเกาะสำหรับประคองตัวเดินไปบนวิถีของพุทธะ และเป็นใจที่มุ่งมั่นว่าจะใช้ ลมหายใจที่เหลือทั้งชีวิต เป็นเครื่องอาศัยระลึกของการเจริญสติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้



(11) ศิลปะแห่งการตายอย่างสงบ


ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนพยายามยื้อชีวิตให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้นี้ ทำให้ แม้แต่การตายอย่างเป็นธรรมชาติ และอย่างสงบก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป สภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คนเราตายอย่างสงบได้ก็จริง แต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างยิ่งยวด และยาวนานในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ในการอบรมจิตด้วยสมาธิภาวนา และการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง เพื่อพร้อมเผชิญกับความตายในวาระสุดท้ายได้ทุกเมื่อ อย่างสงบและงดงาม


ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ และมีศิลปะในการใช้ชีวิต ย่อมรู้จักใช้ความตายของตน และของผู้อื่นให้เกิดประโยชน์ทางจิตวิญญาณได้ด้วย







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้