0
HOME
Clip Taichi
บทความ Taichi
ยอดยุทธ์
คุรุและบทความจิตวิญญาณ
โศลกธรรม
สั่งซื้อหนังสือ
ปกิณกะ
ติดต่อ
เพิ่มเติม
0
HOME
Clip Taichi
บทความ Taichi
ยอดยุทธ์
คุรุและบทความจิตวิญญาณ
โศลกธรรม
สั่งซื้อหนังสือ
ปกิณกะ
ติดต่อ
เพิ่มเติม
0
หน้าแรก
บทความทั้งหมด
วิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก
พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 5) 29/3/2548
พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 5) 29/3/2548
พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 5)
(10) ศิลปะแห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4
ศิลปะแห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4 คือ การเปลี่ยนแปลงความรู้ทางปัญญา ตามตัวอักษรที่แห้งแล้งให้กลายเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง
การเข้าถึงพุทธธรรมหรือสัทธรรมนั้นมี ทางเดียวเท่านั้น คือด้วย การปฏิบัติสมาธิภาวนา ตาม หลักโพธิปักขิยธรรม โดยเฉพาะ สติปัฏฐาน 4 หาใช่การเชี่ยวชาญธรรมด้วยวิธีอื่นไม่ โพธิปักขิยธรรม หรือ ธรรมอันนำไปสู่โพธิญาณ นี้เป็นหมวดธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสังเคราะห์ขึ้นมาด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เพื่อให้เป็นคู่มือปฏิบัติสมาธิภาวนาสำหรับเหล่าพุทธทายาททั้งหลาย ไม่ว่าในยุคสมัยใดจะได้ใช้เป็นแผนที่ และคู่มือนำทางในการปฏิบัติตนฝึกฝนจิตตามธรรมนี้จนกว่าจะบรรลุเป็น พุทธะ ได้
ในพุทธศาสนา ทางเดียว แห่ง การบรรลุธรรม คือ สติปัฏฐาน 4 ผู้มี "สติ" ในความหมายของศาสนาพุทธคือ ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ทุกลมหายใจเข้าออก ส่วน ผู้มี "สัมปชัญญะ" ในความหมายของศาสนาพุทธคือ ผู้มีสติหรือความรู้สึกรู้ตัวในทุกๆ อาการเคลื่อนไหว
เพราะฉะนั้น การเป็น ผู้มี "สติสัมปชัญญะ" ตามความหมายที่แท้ของศาสนาพุทธ จึงเป็นสิ่งที่ลึกล้ำยิ่ง ต้องใช้ความเพียรอุทิศกายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะต้อง เป็นการฝึกสติจนกระทั่งได้สมาธิระดับฌาน ไม่ใช่แค่ฝึกนั่งหลับตาทำสมาธิจนได้ฌานเฉยๆ
สติปัฏฐาน 4 นี้จักบรรลุได้โดยการฝึกอานาปานสติ 16 ขั้นให้สมบูรณ์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดไว้ดังนี้
...จงนั่งคู้ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
อานาปานสติ 16 ขั้น
หมวด กาย
(1) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็ รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาว ก็ รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
(2) เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็ รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็ รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
(3) สำเหนียกว่า จะ รู้ชัด กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ รู้ชัด กองลมทั้งปวง หายใจออก
(4) สำเหนียกว่า จะ ระงับ กายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ ระงับ กายสังขาร หายใจออก
หมวด เวทนา
(5) สำเหนียกว่า จะ รู้ชัดปีติ หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ รู้ชัดปีติ หายใจออก
(6) สำเหนียกว่า จะ รู้ชัดสุข หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ รู้ชัดสุข หายใจออก
(7) สำเหนียกว่า จะ รู้ชัด จิตตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ รู้ชัด จิตตสังขาร หายใจออก
(8) สำเหนียกว่า จะ ระงับ จิตตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ ระงับ จิตตสังขาร หายใจออก
หมวด จิต
(9) สำเหนียกว่า จะ รู้ชัด จิต หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ รู้ชัด จิต หายใจออก
(10) สำเหนียกว่า จะ ยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ ยังจิตให้บันเทิง หายใจออก
(11) สำเหนียกว่า จะ ตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ ตั้งจิตมั่น หายใจออก
(12) สำเหนียกว่า จะ เปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะ เปลื้องจิต หายใจออก
หมวด ธรรม
(13) สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ว่าไม่เที่ยง หายใจออก
(14) สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ความคลายออกได้ หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ความคลายออกได้ หายใจออก
(15) สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ความดับไป หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ความดับไป หายใจออก
(16) สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ความสละคืน หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณา เห็น ความสละคืน หายใจออก
จะเห็นได้ว่า ในการจะบรรลุสติปัฏฐานหรืออานาปานสติ 16 ขั้นดังข้างต้นนี้ การฝึกสติกับการฝึกลมปราณ และการ "เห็น" ด้วยปัญญาในสมาธิ เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้เลย ในการปฏิบัติพุทธธรรมเพื่อบรรลุความเป็นพุทธะในตน
ในพระไตรปิฎกได้ถ่ายทอด "มหาสติปัฏฐานสูตร" (ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐานสูตรใหญ่) มีใจความดังนี้
สติปัฏฐาน 4
(1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือ การพิจารณากายอย่างมีสติรู้ตัว แบ่งการฝึกออกเป็น 6 ส่วนคือ
หนึ่ง พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปานบรรพ)
สอง พิจารณาอิริยาบถของกาย เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน (อิริยาบถบรรพ)
สาม ทำความรู้สึกรู้ตัวในความเคลื่อนไหว เช่น ก้าวไปก้าวมา คู้แขน เหยียดแขน กิน ดื่ม เป็นต้น (สัมปชัญญบรรพ)
สี่ พิจารณาความน่าเกลียดของร่างกาย (ปฏิกูลมนสิการบรรพ)
ห้า พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุทั้ง 4 หรือดิน น้ำ ลม ไฟ (ธาตุบรรพ)
หก พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ โดยพิจารณาโครงกระดูกเป็นหลัก (นวสีวถิกาบรรพ)
การพิจารณากายนี้ก็เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นมาว่า กายนี้มีอยู่ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่ได้อาศัยตัณหาและทิฐิอยู่เลย จนเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลกนี้
(2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือ การพิจารณาเวทนา (อารมณ์) ต่างๆ อย่างมีสติรู้ตัว ซึ่งมี 9 อย่างคือ สุข, ทุกข์, ไม่สุขไม่ทุกข์, สุขประกอบด้วยอามิส (มีเหยื่อล่อเช่น รูป เสียง), สุขไม่ประกอบด้วยอามิส, ทุกข์ประกอบด้วยอามิส, ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส, ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส และไม่ทุกข์ไม่สุขไม่ประกอบด้วยอามิส
การพิจารณาเวทนานี้ ก็เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นมาว่า เวทนานี้มีอยู่ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่ได้อาศัยตัณหา และทิฐิอยู่เลย จนเกิดความไม่ยึดมั่น ถือมั่นอะไรๆ ในโลกนี้
(3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือ การพิจารณาจิตอย่างมีสติรู้ตัว มี 16 อย่างคือ จิตมีราคะ, จิตปราศจากโมหะ, จิตมีโทสะ, จิตปราศจากโทสะ, จิตมีโมหะ, จิตปราศจากโมหะ, จิตหดหู่, จิตฟุ้งซ่าน, จิตถึงฌาน, จิตไม่ถึงฌาน, จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า, จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า, จิตเป็นสมาธิ, จิตไม่เป็นสมาธิ, จิตหลุดพ้นแล้ว และจิตไม่หลุดพ้น
การพิจารณาจิตนี้ ก็เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นมาว่า จิตนี้มีอยู่ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่ได้อาศัยตัณหาและทิฐิอยู่เลย จนเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลกนี้
(4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือ การพิจารณาธรรมอย่างมีสติ แบ่งออกเป็น 5 ส่วนคือ
หนึ่ง พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิคือ นิวรณ์ 5 (นิวรณบรรพ)
สอง พิจารณาขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธบรรพ)
สาม พิจารณาอายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6 (อายตนบรรพ)
สี่ พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ที่เรียกว่า โพชฌงค์ (โพชฌงค์บรรพ)
ห้า พิจารณาอริยสัจ 4 (สัจบรรพ)
การพิจารณาธรรมนี้ก็เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นมาว่า
ธรรมเหล่านี้มีอยู่ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น
ไม่ได้อาศัยตัณหาและทิฐิอยู่เลย จนเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลกนี้
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่พระไตรปิฎกก็มีให้อ่าน และหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุความเป็นพุทธะ ก็มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกอย่างชัดแจ้ง แต่กระนั้นพุทธธรรมก็ดูเหมือนยังคงเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ยากหรือเข้าถึงได้ยากสำหรับคนทั่วไปอยู่ดี
อุปมาดั่งหลอดไฟก็มีอยู่ สายไฟก็มีอยู่ ปลั๊กไฟก็มีอยู่ แต่พอเสียบปลั๊กแล้วไฟในหลอดไฟกลับไม่สว่าง นั่นเป็นเพราะ
ไม่มีกระแสไฟไหลเข้าหลอดไฟ นั่นเอง!
ผู้เขียนหวังว่า ข้อเขียนต่อจากนี้ไปที่จะกล่าวถึง ศิลปะแห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4 คงพอจะทำให้มีกระแสไฟไหลเข้าหลอดไฟได้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี
สิ่งแรกที่จำเป็นที่สุดในการเจริญ
มหาสติปัฏฐาน ก็คือ การมีศรัทธาว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้เราฉลาด สะอาด สว่าง สงบได้ หรือเป็นพุทธะได้
ในการฝึกสติ จิต สมาธิ และปราณนั้น เราต้องมีสติก่อน เมื่อมีสติแล้ว จิตย่อมตั้งมั่น สมาธิปรากฏ
ปราณกับจิต สติ และสมาธิจักผสมผสานกัน
ยามฝึกลำตัวต้องตั้งตรง สายตาทอดต่ำ นั่งด้วยความผ่อนคลาย เดินลมหายใจเข้าเบาๆ ลึก หายใจออกนิ่มนวล ผ่อนคลาย
จนกายกับใจรวมกันเป็นหนึ่ง
การฝึกรวมกายกับใจให้เป็นหนึ่งเดียว จะทำให้ผู้นั้นพ้นจากภาวะปรุงแต่งของอารมณ์ ทำให้มีพลังและสามารถเข้าถึงแหล่งพลังอันไม่มีวันสิ้นสุดได้
เริ่มจากการหมั่นส่งความรู้สึกเข้าไปสำรวจโครงสร้างของร่างกายตั้งแต่หัวจดเท้า ในการส่งความรู้สึกลึกๆ ลงไปภายในกายตัวเอง จงพยายามจับโครงกระดูกภายในกายตนให้ได้ ด้วยการตรวจสอบโครงสร้าง และกระดูกทุกข้อภายในตน จนกระทั่งไม่ปรากฏอารมณ์ใดๆ ไร้ความคิด สิ้นความรู้สึกใดๆ เพราะกายกับใจของตนผนึกแนบแน่นรวมกันเป็นหนึ่ง ขณะที่นึกแต่ "กายในกาย" ในการสำรวจโครงสร้างกระดูกของตน
สมองของผู้ฝึกจะค่อยๆ โล่ง ความคิดจะไม่ปรากฏ อารมณ์จะไม่ปรุงแต่ง เพราะกายกับใจรวมกันจนเกิดเป็นสมาธิ แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ฝึกเผลอวูบไปคิดเรื่องอื่นๆ เมื่อรู้ตัวก็ต้อง
หยุดหายใจ
ทันทีคือ ไม่หายใจเข้า และไม่หายใจออก จนกว่าร่างกายจะทนไม่ได้แล้วจึงเริ่มหายใจใหม่
เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะ ธรรมชาติของกายกับใจนั้นสัมพันธ์กัน ใจจะกลับมาเพื่อดูแลระวังรักษากาย เมื่อเราเลิกหายใจ สิ่งที่มันหลุดออกไปคิดเรื่องอื่นๆ ก็จะกลับเข้ามาที่กาย เพื่อเตือนให้เราหายใจ มิให้เราตาย เราก็จะเริ่มหายใจยาวๆ สูดเข้ายาวๆ แบบสุภาพนิ่มนวล และอ่อนโยนเสร็จแล้วก็ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกอย่างผ่อนคลาย ปล่อยวาง และหมดจด จากนั้นจึงเริ่มสำรวจโครงสร้างของร่างกายต่อ โดยทำอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
การเจริญสติและสมาธิแบบนี้ สามารถทำได้ทุกขณะ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ไม่จำเป็นต้องหาที่วิเวกหรือเวลาที่ปราศจากการงานใด จึงเป็นสมาธิแบบวิถีธรรมชาติ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วก็ใช้จิตนั้นพิจารณาความจริงของขันธ์ 5 อันไม่เที่ยง และไม่มีตัวตน จนจิตเกิดปัญญาญาณสามารถละวางและเข้าหาความหลุดพ้นได้
กายกับใจที่รวมกันจะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ชนะต่อสรรพสิ่ง เราไม่จำเป็นต้องคอยเวลารวมใจกับกายให้เป็นหนึ่งเดียวในตอนเย็นหรือตอนเช้า
แต่เราควรจะรวมกายกับจิตให้เป็นหนึ่งได้ทุกเวลาที่มีโอกาสที่จะทำ และนำพลังนั้นไปสร้างสรรค์กิจกรรมอันมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า
เคล็ดสุดยอดของสมาธิแบบพระพุทธเจ้านั้นคือ กายรวมกับใจ
มหาสติปัฏฐานจึงมีเรื่อง 2 เรื่องเท่านั้นที่ต้องให้ทำคือกายกับจิต ถ้าพ้นกายกับจิตไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน
ความหมายของมหาสติปัฏฐานคือ การฝึกดูกายและการฝึกดูจิต โดยเฝ้าดูความเป็นไปของกายนี้ และความเป็นไปของอารมณ์ภายในตัวเรานี้ โดยใช้ "สติ" ดูกาย ดูจิต
สติเป็นสิ่งที่ต้องฝึก
วิธีการฝึกสติทำได้ด้วยการระลึกรู้ลมหายใจ ด้วยการดูโครงกระดูกของตัวเอง จนกระทั่งอารมณ์ทั้งปวงรวมเป็นหนึ่ง แล้วให้สติจับอยู่ในอารมณ์นั้น รวมทั้งให้สติจับอยู่ในอิริยาบถต่างๆ
หากจิตของผู้ฝึกยังหยาบเกินกว่าที่จะฝึกสติด้วยการระลึกรู้ลมหายใจอย่างต่อเนื่อง ก็อาจใช้ศิลปะต่างๆ ที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้ว มาฝึกให้จิตละเอียดลงก่อนก็ย่อมได้
แม้ว่าการฝึกเจริญสติจะเป็นการฝึกที่สำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตก็จริง
แต่การมีสติ การใช้สติพิจารณาความคิด และทุกๆ การกระทำของตัวเอง ก็ยังไม่ใช่สุดยอดและปลายทางของการฝึกจิตในระดับอทวิภาวะ (mondual) ซึ่งเป็นระดับขั้นตอนสูงสุดในวิวัฒนาการของจิต
เพราะในการเจริญสติยังเป็นการกระทำอยู่ และยังมีตัวผู้นั้นกำลังเป็นผู้พิจารณาผู้เจริญสติอยู่ จึงยังมีอัตตาตัวตนหลงเหลืออยู่อย่างเบาบางในระดับประณีตมาก เพราะจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า การเจริญสตินี้ยังมีการแบ่งแยกออกเป็นคู่ระหว่าง
ผู้รับรู้
กับ
สิ่งที่ถูกรับรู้
โดยที่ผู้รับรู้เป็น
องค์ประธาน
แห่งการกระทำในการเจริญสตินั้น
การเจริญสติจึงยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง
ผู้กระทำ
กับ
สิ่งที่ถูกกระทำ
หรือระหว่างผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้อยู่ แต่
สภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง
ดุจบ่อน้ำใสที่สะท้อนจันทร์ได้ ไม่ใช่เช่นนั้นและเป็นมากกว่านั้น
เพราะใน
ภาวะจิตแบบอทวิภาวะดุจจันทร์ในบ่อ
มันจะไม่มีผู้กระทำใดๆ และก็ไม่มีสิ่งที่ถูกกระทำใดๆ มันไม่มีผู้รับรู้ใดๆ และก็ไม่มีสิ่งที่ถูกรับรู้ใดๆ ด้วย มันจึงไม่มีผู้กำลังเจริญสติพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นใคร และก็ไม่มีใครหรือสิ่งใดที่กำลังถูกพิจารณาด้วยเช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่า
ภาวะจิตแบบอทวิภาวะ
นี้เป็น
บูรณาการแห่งการกระทำและธรรมทั้งปวง
มันจึงมิได้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำใดๆ ทั้งสิ้น แต่สิ่งเหล่านี้ได้ถูกหลอมรวมจนสูญสิ้นซึ่งอัตลักษณ์แห่งตน ไม่มีตัวตนอัตลักษณ์ของใคร และก็ไม่มีสิ่งใดที่ถูกจับจ้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ
การปรากฏของภาวะจิตแบบอทวิภาวะ จึงมี ลักษณะเป็นแบบทั้งหมดทั้งสิ้น มันเป็นปรากฏการณ์เดี่ยวของผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น ในขณะที่การเจริญสติยังมีความเป็นคู่ ระหว่างผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำดำรงอยู่อย่างชัดเจน แต่คนทั่วไปนั้น ยากที่จะเข้าถึงภาวะจิตแบบอทวิภาวะได้ ถ้าหากไม่ฝึกเจริญสติให้ได้เสียก่อน
การเจริญสติ
จึงเป็นการถมช่องว่างระหว่าง
การขาดสติ
(ไม่ได้พิจารณา 'เห็น' ความคิดของตัวเอง) กับ
ภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง
การเจริญสติจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง และเป็นวิธีการที่สำคัญยิ่งในการไปสู่ภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองแบบอทวิภาวะดุจจันทร์ในบ่อ
แต่การเจริญสติก็ยังไม่ใช่ภาวะจิตดุจจันทร์ในบ่ออยู่ดี
ผู้มีสติย่อมประเสริฐกว่าผู้ขาดสติ แต่ผู้ที่อยู่ในภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ย่อมประเสริฐยิ่งกว่าผู้มีสติสมบูรณ์เสียอีก!
เพราะ
ภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองนี้เป็นการตื่นอย่างพุทธะของพุทธะ
จิตสำนึกนำไปสู่การเจริญสติได้ฉันใด การเจริญสติย่อมนำไปสู่การตื่นอย่างพุทธะได้ฉันนั้น แต่การตื่นอย่างพุทธะจะไม่นำไปสู่อะไรทั้งสิ้น เพราะไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะต้องไปบรรลุไปเข้าถึง
การตื่นอย่างพุทธะจึงเป็นปลายทางสิ้นสุดแห่งวิวัฒนาการทางจิตของผู้นั้นดุจวงกลมที่ไร้ซึ่งศูนย์กลาง และมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง
จิตแบบอทวิภาวะที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองนี้ เป็นจิตของพุทธะอันเป็น ระดับจิตของธรรมจิต (Spirit) แต่
การเข้าใจว่าระดับจิตของพุทธะเป็นปลายทางสิ้นสุด หรือระดับที่สูงสุดในวิวัฒนาการของจิต ก็ยังเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น!
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 6) 5/4/2548
พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 3) 15/3/2548
พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 2) 8/3/2548
พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 4) 22/3/2548
Powered by
MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว
และ
นโยบายคุกกี้
ตั้งค่าคุกกี้
ยอมรับทั้งหมด