10. 5 ปีหลังฟองสบู่แตก : ทัศนะ รศ. ดร. สุวินัย ภรณวลัย

10. 5 ปีหลังฟองสบู่แตก : ทัศนะ รศ. ดร. สุวินัย ภรณวลัย


5 ปีหลังฟองสบู่แตก :ทัศนะ รศ. ดร. สุวินัย ภรณวลัย


 

ฟองสบู่เริ่มในยุค BIBF

รศ.ดร.สุวินัย ได้เขียนหนังสือเรื่อง "เศรษฐกิจฟองสบู่ : บทเรียนและทางรอด" เมื่อปี 2541 และมีประสบการณ์ตรงจากฟองสบู่แตก เพราะไปสอนหนังสือที่ญี่ปุ่นในขณะนั้น

รศ.ดร.สุวินัย มีความเห็นว่า ยุคของเศรษฐกิจฟองสบู่ เริ่มต้นขึ้นสมัยรัฐบาลชาติชายจนถึงปัจจุบัน นับถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ 14 โดยไทยเข้าสู่ขบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบที่เป็นบวก จากปีละ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ในยุคฟองสบู่กลายเป็น 7-10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เกินมาจะอธิบายด้วยอะไร คงต้องเริ่มกันที่นิยามของเศรษฐกิจฟองสบู่ก่อน

เศรษฐกิจฟองสบู่คือภาวะบูมทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากมายาภาพของคนส่วนใหญ่ที่มีความเชื่อร่วมกันว่า ราคาของสินค้าที่อยู่ในเศรษฐกิจสต็อก เช่น หุ้น ที่ดิน สมาชิกสนามกอล์ฟ บ้าน รูปภาพ ใบจองรถ ฯลฯ จะมีราคาสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกคนจึงหันมาเล่นเกมเงินตรา เพื่อแสวงหากำไรจากหลักทรัพย์ที่ได้จากการเก็งกำไร แล้วกำไรชนิดนี้เป็นตัวสร้างดีมานด์เทียมในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เกมเงินตรานี้จะไม่มีปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ถ้าไม่มีการกู้เงินจำนวนมหาศาลจากสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศเข้ามาใช้ เกมนี้เดิมทีพวกเศรษฐีเล่นกัน สิ่งที่เกิดคือการสูญเสียเงินของเศรษฐีคนหนึ่ง ไปให้เศรษฐีอีกคนหนึ่งเท่านั้น โดยที่ปริมาณเงินทั้งระบบจะไม่เปลี่ยนแปลง (Zero-sum Game)

แต่ถ้ามีการกู้เงินจำนวนมหาศาล จากสถาบันการเงินเข้ามาเล่น ประกอบกับมวลชนและบริษัทเอกชนจำนวนมาก แห่เข้ามาเล่นเกมเก็งกำไรนี้อย่างบ้าคลั่งด้วยแล้ว การเล่นเกมเงินตรานี้จะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติไปในทันที (Non Zero-sum Game)

ตามทฤษฎีเศรษฐกิจฟองสบู่ แบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือช่วงก่อตัว ช่วงพองสุด (สมัยชวน 1 และขยายมาเรื่อยๆ) กระทั่งฟองสบู่แตกเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งเรียกว่า "หลังยุคฟองสบู่" ปัจจุบันไทยอยู่ในช่วงนี้

ปกติแล้ว "ที่ดิน" ใช้เพื่อการเพาะปลูกในภาคเกษตร แต่ในการเกิดฟองสบู่ ที่ดินกลายเป็น "สินค้า" ของการเก็งกำไร ทำให้มูลค่าสูงขึ้น เกมเงินตรามีจุดเริ่มต้นจากการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งขยายไปเรื่อยๆ จนเกือบจะเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ โดยปกติเราถือเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอย-เก็งกำไร หรือเพื่อการฉุกเฉิน โดยเงินที่จับจ่ายใช้สอยเป็นตัวกำหนดขนาดของเศรษฐกิจ

ปัญหาคือ เวลาเกิดฟองสบู่ "เงินเพื่อเก็งกำไร" กลายเป็นตัวกำหนดขนาดเศรษฐกิจที่สำคัญพอๆ กับเศรษฐกิจจริง (คือเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอย หรือการลงทุน) เศรษฐศาสตร์นีโอ-คลาสสิกไม่เคยมองว่าเงินเก็งกำไรกลายเป็น "ปัจจัยหนึ่ง" ในการกำหนดรายได้ประชาชาติ

คนเกิดมายาภาพรวมหมู่ว่าเศรษฐกิจต้องดี จึงเกิดการ "เล่นเกมการเงิน"

คนไทยชินกับเรื่องแบบนี้ เพียงแต่ในอดีตมีขนาดที่เล็กกว่า เช่นกรณีราชาเงินทุน แชร์แม่ชม้อย ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อขนาดของเศรษฐกิจ เพราะสมัยก่อนเป็นแบบ ซีโร-ซัม เกม คือเก็งกำไร (มีคนเสีย/ได้ แต่เงินยังอยู่ในวงนั้น) แต่ฟองสบู่เป็นแบบ "นอน ซีโร-ซัม เกม" เพราะคนกู้เงินแบงก์มา

การเก็งกำไรเริ่มต้นจาก "ที่ดิน" แล้วมาสะดุดในช่วงเกิดสงครามซัดดัม ฮุสเซน จากนั้นย้ายมาเป็น "ตลาดหุ้น" จนเกิดกรณีเสี่ยสอง (สอง วัชรศรีโรจน์) แต่ยังไม่น่ากลัวมากนัก เพราะความเสียหายอยู่ในระดับหมื่นล้านบาท ยังเป็นฟองสบู่แบบโบราณ ไม่กระทบต่อคนจำนวนมาก

ทว่า หลังพฤษภาทมิฬ และประเทศไทยเปิด BIBF กลายเป็นว่าทุกบริษัทเข้ามากระทำ ความรุนแรงของปัญหาจึงมีมาก เป็นฟองสบู่แบบญี่ปุ่น (ดูจากขนาดเมื่อเทียบกับรายได้ประชาติ) อาจทำให้ล้มละลายได้ เพราะดึงเงินจากที่อื่นมา รวมทั้งมีผลกระทบต่องบดุลด้วย (ปัจจุบัน ฟองสบู่ต่อลมหายใจออกมาในรูปของการพนันบอลทางอินเทอร์เน็ต)

คำว่า "งบดุล" ภาษาเศรษฐกิจการเมืองเรียก "เศรษฐกิจสต็อก" (Stock Economy : คือมีมูลค่าปัจจุบันหรือมูลค่าตามตัวเลขในบัญชีที่สูงมาก แต่ยากจะปรากฏเป็นจริงได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน เช่น เวลาที่มีการกล่าวกันว่า เหตุการณ์หนึ่งๆ ทำให้มูลค่าในตลาดหุ้นขาดทุนไปถึง 1 แสนล้านบาท คำว่ามูลค่าแสนล้านบาทนี้ เป็นเพียงตัวเลขบนกระดาษเท่านั้น มูลค่าปัจจุบันที่ลดลงของเศรษฐกิจสต็อก มิได้หมายความว่าเงินได้สูญหายไปจากระบบ 1 แสนล้านบาทในทันที)

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจกระแส (พิจารณาจากรายได้ประชาติ ค่าจ้างเงินเดือน อัตราดอกเบี้ย คือ จากจุดหนึ่งถึงจุดหนึ่ง ภายในเวลา 1 ปี ตัวแปรเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร) ปกติสต็อกไม่มีปัญหา แต่เศรษฐกิจฟองสบู่ต้องรู้เรื่องสต็อก เพราะเป็นภาวะที่ผิดปกติ พูดง่ายๆ เหมือนเป็นโรคที่หมอไม่เคยเจอ ไม่มีอยู่ในตำรา ต้องเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก จึงจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้

""เพราะสต็อกเป็นระดับในมูลค่าขณะนั้นอยู่แล้ว เช่นคุณมีเงินในกระเป๋าอยู่ ชาวบ้านไม่เกิดคำถามเรื่องเครดิต เพราะสต็อกไม่มีปัญหา แต่ฟองสบู่แตกคือเงินหมดกระเป๋าๆ เครดิตไม่มี ต่อไปคนไม่มาลงทุน แบงก์ไม่กล้าปล่อย กลายเป็นปัญหาอย่างที่เกิดทุกวันนี้""


"เก็งกำไร" ปัจจัยหลักฟองสบู่

กรณีที่มีข้อสงสัยว่าประชาชนมีเงินออมสูง แต่ทำไมตัวเลขการบริโภคยังสูงอยู่ ตรงนี้อธิบายได้ว่า ปกติแล้วคนเอเชียมีเงินออมสูง หากเปรียบเทียบกับที่อื่น หรืออเมริกาๆ อย่างมากมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นเพราะเราหวั่นไหวในอนาคตจึงมีการออมมาก

""ทำไมคนซื้อรถเบนซ์เป็นว่าเล่น เพราะเงินที่ได้มาเป็นเงินพิเศษ เหมือนได้พนันบอล ได้หุ้น จึงใช้แบบไม่คิด ถือเป็นลาภลอย ผมจึงเห็นว่าไม่ได้ขัดแย้งกัน""

""การแปลงจากเงินออมไปสู่การลงทุน ในช่วงฟองสบู่เป็นลักษณะการเก็งกำไร สภาพที่เกิดขึ้นผิดวิสัยของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่มันเป็นภาวะปกติของฟองสบู่ ที่ปัจจัยของการเก็งกำไรเป็นปัจจัยหลักของเศรษฐกิจ...""

รศ.ดร.สุวินัย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยช่วงไม่กี่ปีนี้ ในอเมริกาใช้เวลา 100 กว่าปี และต่อเนื่องกันมา ขณะที่ อเมริกาเวลาเกิดจะทิ้งช่วง เพราะวิวัฒนาการทุนนิยมสมัยก่อนมันช้า อเมริกาพังเพราะหุ้นในปี ค.ศ.1929 กว่าที่จะมาเป็นฟองสบู่ในเรื่องธุรกิจดอทคอม ทิ้งเวลา 50-60 ปี ตรงนี้เกี่ยวกับเรื่องคลื่นยาวของระบบทุนนิยมด้วย แต่เมืองไทยเป็นนิกส์หลังสุด ระยะเวลาจึงถูกบีบให้สั้นลง

""เราควรเรียนรู้ ปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่น อเมริกา เพื่อทำความเข้าใจกับเศรษฐกิจไทย และนำมาแก้ปัญหา แต่ทุกวันนี้ไม่มี รัฐบาลควรให้ความสนใจ เพราะมันต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน เหมือนกับว่าโครงสร้างโกลบอล อีโคโนมี เป็นแบบนี้หมดแล้ว ดังที่ อ.รังสรรค์ เรียกว่าทุนวัฒนธรรม แต่ผมบอกว่าต้องเพิ่มเรื่องทุนเก็งกำไรเข้าไปด้วย เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน""

ปัญหาคือ เราจะเข้าใจยุคหลังฟองสบู่แตกอย่างไร?


หลังยุคฟองสบู่ ศก.โต 4%

เมื่อฟองสบู่แตกเกิดปัญหาคือ ความเชื่อถือ ความมั่นใจในสต็อกหมดลง พูดง่ายๆ คือไม่มีเครดิต ความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตก็ไม่มี ขณะที่ กระบวนการเศรษฐกิจโดยระบบมันต้องไหลเวียนไปตามปกติ แต่ครั้งนี้เราต้องไปซ่อมระดับสต็อก (หมายถึงทรัพย์สิน คือ ปัญหางบดุล)

NPL คือปัญหาสต็อกที่เกิดขึ้น ทำให้แบงก์จะล้ม เพราะไม่สามารถบริหารเงินได้ บริษัทเอกชนทั้งหมดมีปัญหางบดุล วิธีแก้คือต้องทำงบดุลให้สะอาดก่อน แต่ถ้าช่วงนี้ยิ่งยาวเท่าไรเศรษฐกิจยิ่งฟุบนาน กิจกรรมทุกอย่างหยุดหมด เกิดกับดักสภาพคล่อง

ขณะนี้เราอยู่ในช่วงหลังฟองสบู่แตก และรัฐบาลได้ออกพันธบัตร 3 แสนล้านบาท ในการแก้ปัญหาสต็อก ต่อไปเราจะเข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจเติบโตแบบมีเสถียรภาพ (stable growth) ซึ่งไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์

""สเตเบิล โกร์ท ของญี่ปุ่น 2-3 เปอร์เซ็นต์ เมืองไทยเราถึง 5 เปอร์เซ็นต์ก็ดีมากแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่า 4 จะเรียกว่าบริหารสำเร็จไม่ได้ อย่าลืมว่าพอเราเข้าสู่สเตเบิล โกร์ท ฟองสบู่อเมริกาก็จะแตก ฟองสบู่อเมริกาฟักตัวมา 10 ปีแล้วที่เรียก 'นิว อีโคโนมี' ตั้งแต่ยุคบิล คลินตันมา เศรษฐกิจดี แต่ผลเริ่มออกมาปีนี้ที่บริษัทใหญ่ๆ มีปัญหา หากฟองสบู่อเมริกาแตกจะมีอิมแพคทั่วโลก ฟองสบู่จะไปบูมในจีน และยุทธศาสตร์ที่คุณทักษิณทำการค้าเสรีในเอเชียเป็นหนึ่งเดียว ทวิภาคีไทย-จีน ถือว่ามาถูกทางแล้ว""

การที่รัฐบาลแก้ปัญหาโดยออกพันธบัตรล้างหนี้กองทุนฟื้นฟู ซึ่งจะทำให้รัฐบาลบริหารงานง่ายขึ้น ต่างชาติยอมรับว่าเริ่มทำธุรกรรมได้

ส่วนการแก้ปัญหาของรัฐบาลแบบดีมานด์ ไซด์ (demand side) คือใช้นโยบายการคลังเข้ามาอัดฉีด ได้ผลในระยะสั้น สถานการณ์ขณะนี้ดูเหมือนดี เพราะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ แต่ถ้าไม่แก้ที่ซัพพลาย ไซด์ ในระยะยาวเกิดปัญหาแน่นอน

กล่าวโดยสรุป การใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รศ.ดร.สุวินัย มองว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นนโยบายที่มีอคติ คือเข้าข้างคนจน จะสร้างความเคยตัวให้แก่ประชาชน ทำให้ไม่มีวินัยทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าด้วยแนวนโยบายนี้ เลือกตั้งสมัยหน้าทักษิณยังมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นนายกฯ ได้อีก ทว่า 8 ปีหลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะเป็นแบบอาร์เจนตินา (การใช้นโยบายประชานิยมจะมีผลรุนแรงต้อง ผ่าน 8 ปีไปแล้ว) หากเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจริง ใครจะรับผิดชอบ?

(จากเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 527 วันที่ 8-14 กค. 2545)






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้