8. ความสามารถในการชนะกับปรัชญาของมูซาชิ

8. ความสามารถในการชนะกับปรัชญาของมูซาชิ



ความสามารถในการชนะกับปรัชญาของมูซาชิ


ไม่ใช่นักธุรกิจทุกคนและทุกกลุ่มหรอกที่เจ็บตัวและเจ็บปวดจากฟองสบู่แตก ผลกระทบจากฟองสบู่แตกนั้น ไม่เท่ากันแม้จะอยู่ในวงการธุรกิจเดียวกัน ผู้ที่มีความสามารถเชิงกลยุทธ์ ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำกว่า ย่อมเอาตัวรอดได้เสมอ


ผมรู้จักนักธุรกิจใหญ่ท่านหนึ่งที่สามารถนำพาธุรกิจของเขาฝ่ามรสุมและภัยพิบัติครั้งนี้ได้ เพราะเขาได้ศึกษา "ความสามารถในการชนะ" จากหนังสือ "มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์" (คบไฟ. 2538 ) ของผมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนผมยังจำได้ดีว่า ในตอนนั้นเขาได้โทรศัพท์ติดต่อขอให้ผมถ่ายทอดวิชาซามูไรและเคล็ดการฝึกกาย-จิต-ปราน แบบตะวันออกให้แก่เขาหลังจากที่เขาเพิ่งอ่าน "มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์" จบลง แต่ความที่เขามีธุรกิจยุ่งมาก และมีเวลาน้อย ไม่สามารถฝึกเป็นประจำร่วมกับศิษย์สำนักยุทธธรรมคนอื่นได้ผมเลยเสนอ หลักสูตรอบรมพิเศษแบบตัวต่อตัวให้แก่เขาเป็นเวลา 3 วัน โดยเราไปเช่าโรงแรมที่อยู่ใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง โรงแรมนี้มีสวนใหญ่มาก เราฝึกกันตอนเช้ามือกับตอนค่ำ โดยตอนกลางวัน ต่างคนต่าง ไปทำงาน แล้วกลับมาเจอกันที่โรงแรมและค้างคืนกันที่นั่น ผมได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาต่าง ๆ ที่นักธุรกิจใหญ่อย่างเขาสามารถนำไปฝึกใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะการคลายเครียดด้วยการอาบน้ำเย็นสลับกับการเข้าซาวน่า และการฝึกสมาธิแบบเต๋า


หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ติดต่อกับเขาอีกเลย จนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองที่เขาได้ติดต่อผมเพื่อที่จะขอให้ผมเผยแพร่หนังสือ "มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์" ออกไปในวงกว้าง เนื่องจากตัวเขาได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้เช่นกัน เพราะหนังสืออย่าง "มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์" นี้แหละที่คนไทยควรอ่านมากที่สุดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันนี้.....


ในที่นี้ผมขอถ่ายทอด "ปรัชญาของมูซาชิ"เพื่อเพิ่มพูน "ความสามารถที่จะรบชนะ" ให้แก่พวกเราทุกคนนะครับ


มิยาโต้ มูซาชิ คือ จอมดาบอัจฉริยะผู้หนึ่งอย่างแท้จริง ในชีวิตของเขา มูซาชิได้ผ่านการต่อสู้ที่ต้องเอาชีวิตมาเดิมพันกว่า 60 ครั้ง และก็ไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว มิหนำซ้ำคู่ต่อสู้แต่ละคนของเขาล้วนไม่ใช่ย่อยเลย ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคู่มือที่ถ้าหากหมูน้ำซาชิพลาดแม้เพียงก้าวเดียว เขาต่างหากที่จะเป็นฝ่ายตายก่อน แต่เหตุที่หมูน้ำซาชิสามารถเอาชนะและรอดตายมาได้คงเป็นเพราะเขามี "ความสามารถที่จะรบชนะ" นั่นเอง "ความสามารถที่จะรบชนะ" นี้แหละคือ บทเรียน ที่มีความหมายที่สุดที่คนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้จากหมูน้ำซาชิได้ เพื่อชนะปัจเจก ชนะฝูงชน และชนะยุคสมัยของตน ยุคสมัยที่มูซาชิมีชีวิตอยู่เป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองวุ่นวายเป็นอย่างยิ่ง การมีชีวิตรอดของมูซาชิจึงต้องเป็นกระบวนการเดียวกันกับการหล่อหลอมฝึกฝนตนเองให้ฉลาดและเข้มแข็งด้วย การที่มูซาชิสามารถก้าวไปถึงระดับนั้นได้ก็เพราะเขาได้ใช้ความมานะพยายามวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวดอย่างไม่อยุดหย่อนทั้งในการคิด ปรับปรุงและฝึกฝนเพื่อขัดเกลาพรสวรรค์ที่มีอยู่ภายในตัวเขาให้เปล่งประกายเจิดจ้าขึ้นมาโดย พึ่งการเรียนรู้ด้วนตนเองเป็นหลัก หมูน้ำซาชิจึงเป็นตัวแทน ของบุคคลที่สามารถบ่มเพาะพัฒนาบุคลิกภาพที่โดดเด่นอันหนึ่งขึ้นมาภายหลังจาก ที่ได้ผ่านการขัดเกลาตนเองอย่างถึงที่สุดแล้วนั่นเองและเขามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันรับรองบุคลิกภาพอันนี้ของเขาด้วย


การดึงบทเรียนจากหมูน้ำซาชิจากมุมมองของ "ความสามารถที่จะรบชนะ" ตามที่เขาได้เขียนเอาไว้ใน "คัมภีร์ห้าห่วง" จะทำให้เราสามารถสรุปออกมาได้เป็นคำคมและหลักการดังต่อไปนี้

(1) ไม่ถูกความคิดเก่า ค่านิยมเก่า และประเพณีที่คร่ำครึครอบงำ(คุณสมบัติเช่นนี้จำเป็นมากสำหรับความสำเร็จในการทำรีเอ็นจีเนียริ่ง)

(2) ไม่ขายวิชาเพื่อการพาณิชย์ สนใจที่ฝึกฝนตนให้เก่ง แต่ไม่สนใจ ที่จะทำให้รวยเป็นเป้าหมายหลัก

(3) แม้ยามสงบก็หมั่นลับเขี้ยวเล็บเอาไว้เสมอ หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา และหมั่นฟิตร่างกายจิตใจของตนให้เข้มแข็งมีพลังเสมอ

(4) จิตใจมิใช่สิ่งที่ฝึกฝนได้ด้วยตำรา แต่จะต้องฝึกฝนโดยผ่านการปฏิบัติที่เป็นจริง

(5) "การเมือง" คือวิทยายุทธ์ของการต่อสู้แบบรวมหมู่

(6) หลักการต่อสู้ที่เอาชนะปัจเจกได้ย่อมสามารถประยุกต์ใช้กับการต่อสู้เพื่อเอาชนะคนหมู่มากได้

(7) จงใช้อาวุธทุกชนิดที่มีอยู่ทั้งหมดในการต่อสู้

(8) จะต้องสำเหนียกให้ดีว่า อาวุธที่ตนเองมีอยู่คืออะไร

(9) ไม่ยึดติดกับการใช้อาวุธประเภทเดียว

(10) จงมีจิตใจที่หนักแน่น ราบเรียบ ไม่หวั่นไหวโดยง่าย จิตใจเช่นนี้จะได้มาจากการฝึกฝนเท่านั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอันขาด

(11) การลำเอียงเข้าข้างตัวเองเป็นอุปสรรคของการพัฒนาจิตใจ

(12) จงพยายามรักษาความคึกคักและกระตือรือร้นในชีวิตประจำวันเอาไว้ตลอดเวลา

(13) อย่าติดกับ กระบวนท่า หรือสามัญสำนึกที่ตัวเองมีอยู่

(14) มีกระบวนท่าก็เหมือนไม่มี ยามมีกระบวนท่าก็คือยามไม่เคลื่อนไหว

(15) อ่านคู่ต่อสู้ให้ออก มองให้เห็นธาตุแท้ของเขาให้ได้

(16) หัดวางตัวให้อยู่ในฐานะของคู่ต่อสู้

(17) ศัตรูมักอยู่ในพวกเดียวกันเอง

(18) ศัตรูเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร เพราะศัตรูคือความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสถานที่ เวลา และผู้คนซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้

(19) ก้าวแรกของชัยชนะอยู่ที่การขจัดเงื่อนไขของการเป็นศัตรู

(20) จงสร้างความหวั่นไหวให้กับจิตใจของคู่ต่อสู้

(21) จงแสวงหาวิธีที่จะเปล่งพลังและศักยภาพของตัวเองออกมาได้จนถึงที่สุด

(22) เป้าหมายคือ สิ่งที่ตัวเองสามารถบรรลุได้

(23) จงอย่ากลัวการมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว

(24) การฝึกฝนตนเองนั้นไม่มีที่สิ้นสุดและสุดท้าย

(25) จงต่อสู้เมื่อคิดว่าจะชนะ

(จากเศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น พิมพ์ครั้งที่ 3, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์วิชั่น แวนควิช)


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้