การบูรณาการ "หยู"กับการแก้ปัญหาความตกต่ำทางศีลธรรมของสังคมไทย 8/2/2548

การบูรณาการ "หยู"กับการแก้ปัญหาความตกต่ำทางศีลธรรมของสังคมไทย 8/2/2548



การบูรณาการ "หยู" กับการแก้ปัญหาความตกต่ำทางศีลธรรมของสังคมไทย



สิ่งที่ทำให้เราหมกมุ่นกับมันได้ทั้งวัน โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายก็มีแต่ ความรู้ เท่านั้น (ขงจื๊อ)


นับวันเสียงของผู้คน โดยเฉพาะ "ผู้ใหญ่" ในสังคมนี้ที่พร่ำบ่นถึงความตกต่ำทางศีลธรรมของคนไทย และสังคมไทยก็ยิ่งดังกึกก้องมากยิ่งขึ้นทุกที ลำพังการพึ่งแค่อำนาจรัฐ อำนาจของกฎหมายในการเพิ่มความเข้มงวดในการจัดระเบียบสังคม คงไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน และอย่างแท้จริง เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาในระดับรากเหง้าที่เกี่ยวพันกับระบบคุณค่า วัฒนธรรม ความเชื่อของปัจเจกแต่ดั้งเดิมที่กำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง อันเนื่องจากการถาโถมของกระแสข่าวสารแห่งโลกาภิวัตน์ และลัทธิบริโภคนิยมอย่างที่ตัวรัฐไทยเองก็ไม่อาจยับยั้งได้


มีทางเป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมเราจะปลูกฝัง "คุณธรรม ให้แก่คนรุ่นใหม่ พร้อมๆ กับการปูฐานการไปสู่ "สังคมความรู้" ด้วยไปในตัว?


ทางหนึ่งที่พอเป็นไปได้ และมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมรองรับอยู่พอสมควร ในทัศนะของผู้เขียนก็คือ การหันมาบูรณาการ "หยู" หรือ "คำสอนของขงจื๊อ" ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคมความรู้ไปพร้อมๆ กัน


ในทัศนะของคนจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาตะวันออกไม่ลึกซึ้งนัก คำสอนของขงจื๊อดูเป็นสิ่งที่เชย ล้าสมัยและเข้าใจยาก ทั้งๆ ที่คำสอนของขงจื๊อได้ผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลาอันยาวนาน จนสามารถคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ มิหนำซ้ำ บางด้านของคำสอนขงจื๊อยังเคยมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาด้วย แม้จะเคยมีบางช่วงที่คำสอนของขงจื๊อถูกปิดกั้น และทำลายในแผ่นดินจีนช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่คำสอนของขงจื๊อก็สามารถฟื้นฟูฐานะเป็นที่ยอมรับได้ไม่เสื่อมคลาย นั่นเป็นเพราะ มีความจริงแท้ดำรงอยู่ในบางส่วนของคำสอนของขงจื๊อ ที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างถ่องแท้ โดยที่ในช่วงสองพันกว่าปีมานี้ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในระดับโครงสร้างเชิงลึก


จุดเด่นในคำสอนของขงจื๊อที่สังคมไทยควรบูรณาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของตนก็คือ คำสอนที่โน้มน้าวให้คนเราใฝ่รู้ รักการศึกษา และรู้จักนำความรู้ที่ได้ไปทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง และสังคมโดยรวม โดยผ่านการเดินบนวิถีของวิญญูชน (บัณฑิตปัญญาชนผู้เปี่ยมคุณธรรม) ที่สามารถครองชีวิตอย่างสงบ ซื่อสัตย์ สุจริต และสมบูรณ์พูนสุขในโลกภายในได้โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


ขงจื๊อเป็นปัญญาชนจีนที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เขาเป็น บรมครู ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของจีน เขาเป็นบัณฑิต (ปัญญาชน) ที่มีชีวิตอยู่ในยุคแผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวาย เขาเป็นแบบอย่างในอุดมคติที่ทำได้จริงตามที่ตัวเองเชื่อ และสั่งสอนผู้อื่นถึงการใช้ชีวิตแบบ "ปัญญาชนสาธารณะ" ของตัวเขาในยามที่เขาสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ ที่บางคนเป็นทรราชด้วยซ้ำ ครั้นเวลาผ่านไป ผู้คนรุ่นหลังอาจจดจำ "ความยิ่งใหญ่ ของเหล่าทรราชเหล่านั้นไม่ได้แล้ว แต่ความยิ่งใหญ่ของตัวขงจื๊อและคำสอนของเขายังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีวันตาย แม้จนทุกวันนี้ และคงเป็นเช่นนั้นไปอีกนานแสนนาน


คำสอนของขงจื๊อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง อุดมคติของปัญญาชน อย่างเขา คือคำสอนที่ว่าด้วย ความประพฤติของชาว "หยู" (ผู้ที่เชื่อในวิถีของวิญญูชน) ซึ่งไม่ล้าสมัยเลย แม้มองจากสายตาของคนยุคนี้ ขงจื๊อกล่าวว่า...


ชาวหยูที่แท้ จะต้องแสวงหา ความรู้ สร้างเสริม คุณธรรม ความสามารถอย่าง ไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ เขาจะต้องพยายามทำสิ่งที่ตนศึกษาเล่าเรียนมาให้ปรากฏเป็นจริง และพร้อมที่จะรับใช้บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส


ชาวหยูที่แท้ ต้องมี กิริยานอบน้อมอ่อนโยนไม่ก้าวร้าว แต่ยามที่ตัวเขายืนหยัดในหลักการ จะปฏิเสธการประนีประนอมและจะแสดงออกถึงที่สุดราวกับไม่มีน้ำใจไมตรี แต่ สำหรับความรู้ที่ตัวเขามีเหนือผู้อื่นนั้น เขากลับนอบน้อมถ่อมตัวอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ยามเคร่งครัดเขาจะมีศักดาอย่างเป็นไปเอง จนผู้อื่นมิกล้าล่วงละเมิด แต่ยามอ่อนโยน เขากลับว่านอนสอนง่าย ไม่แก่งแย่งช่วงชิง ยอมถอยให้และสละหลีก นี่คือ กิริยามารยาทของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้ จะระวังคำพูดและความประพฤติ ตั้งใจทำงาน และ รักษาสุขภาพเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน เพราะพวกเขามีอุดมคติที่สูงส่งที่ยังไม่ได้ทำให้ปรากฏเป็นจริง และมีความรับผิดชอบต่อราษฎรทั่วแผ่นดินที่ยังไม่ลุล่วง การถนอมรักร่างกาย และชีวิตของตัวเองเพื่ออุดมคติ จึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้จะไม่ถือเงินทอง อัญมณีและที่ดินเป็นสมบัติวิเศษสุด แต่จะถือ ความซื่อสัตย์ สัจจะ เมตตา และการอยู่ในทำนองคลองธรรมเป็นสมบัติวิเศษสุด ชาวหยูจะไม่ยอมให้ทรัพย์สินความมั่งคั่งมาเป็นภาระถ่วงความเจริญของจิตใจ สำหรับผู้มีอำนาจแล้ว ชาวหยูเป็นพวกที่ครองใจชนะใจยาก แต่ถ้าครองใจชนะใจพวกเขาได้แล้ว ก็ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นวัตถุจำนวนมาก โดยที่พวกเขายินดีร่วมมือด้วยเป็นเวลายาวนาน ที่กล่าวว่าครองใจ ชนะใจยาก ก็เพราะผู้มีอำนาจมิได้ประพฤติตัวอยู่ในครรลองคลองธรรม ส่วนที่กล่าวว่า ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนด้วยวัตถุเป็นจำนวนมาก ก็เพราะ เป้าหมายของชาวหยูอยู่ที่การบรรลุอุดมคติอันสูงส่ง มิได้อยู่ที่ค่าตอบแทนทางวัตถุ การทุ่มเททั้งกำลังกาย และกำลังใจของพวกเขาเพื่อการบรรลุอุดมคติโดยตัวมันเองมีค่าเหนือกว่าวัตถุมากมายนัก


ชาวหยูที่แท้จะไม่โลภในทรัพย์สิน จะไม่ลุ่มหลงการท่องเที่ยวเสพสำราญ จะไม่หวาดกลัวอำนาจอิทธิพล และจะไม่จำนนต่อการข่มขู่ด้วยกำลัง ผลประโยชน์ไม่อาจทำลายคุณธรรมของพวกเขา ความตายไม่อาจเปลี่ยนอุดมคติของพวกเขา เพราะฉะนั้น พวกเขาจะไม่เสียใจกับเรื่องอดีต จะไม่วิตกกังวลกับเรื่องในอนาคต ไม่มีการทำผิดพลาดซ้ำสอง และจะไม่ผูกใจเจ็บกับคำนินทาว่าร้ายใดๆ นี่คือ เอกลักษณ์ของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้ จะตีสนิทได้ง่าย แต่ข่มขู่บังคับลำบาก ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้ พวกเขาใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย หากเขาทำผิดพลาด จะยินดีรับฟังคำวิจารณ์ และพร้อมปรับปรุงแก้ไข แต่จะไม่ยอมให้หยามประณามอย่างไร้เหตุผล นี่คือ ความทระนงของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้ จะใช้คุณธรรมป้องกันตัวเอง พวกเขาจะธำรงคุณธรรมไว้ในใจตลอดเวลา ถึงแม้จะอยู่ใต้การปกครองแบบทรราชย์ (ระบบทรราชย์) ก็สามารถอยู่อย่างปกติสุข โดยไม่จำเป็นต้องหลบหนีเร้นกาย นี่คือ ความเป็นอิสระของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้ แม้จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบกับคนยุคเดียวกันก็ไม่เคยลืมผู้ทรงธรรมผู้มีอุดมคติสมัยโบราณ แม้เขาจะประพฤติตัวเยี่ยงคนธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ก็สามารถเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง แม้ภยันตรายกรายถึงศีรษะ อุดมคติก็ไม่สั่นคลอน ยังคำนึงถึงราษฎรทั่วแผ่นดินดุจเดิม นี่คือ ปณิธานของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้ถึงมีความรู้ลึกซึ้งกว้างไกล ก็ยังคงศึกษาอย่างไม่เหนื่อยหน่าย ถึงได้รับการยกย่องว่ามีคุณธรรมสูงส่ง ก็ยังยืนหยัดปฏิบัติธรรม บ่มเพาะคุณธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ คือปณิธานอันยิ่งใหญ่ จึงไม่คิดเล็กคิดน้อยเรื่องผลประโยชน์เฉพาะหน้า ความดีงามที่พวกเขาสร้างไว้ ต่อให้ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครยกย่องก็ไม่เป็นปัญหา พวกเขายังสามารถอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างกลมกลืนมีความสุข นี่คือ ความใจกว้างของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้ จะให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพูนคุณธรรม และความรู้ของตัวเอง สำหรับพวกเขาแล้ว ถ้าได้อยู่ในอำนาจมีตำแหน่งสูงก็คือการมีโอกาสที่จะได้นำความรู้ที่ได้ศึกษามาปฏิบัติ จึงไม่มีอะไรควรแก่การเย่อหยิ่ง หลงระเริงเหลิงอำนาจ หากอยู่ในฐานะเบื้องล่างเป็นแค่คนธรรมดาไร้ซึ่งอำนาจ นั่นก็คือโอกาสที่เขาจะได้ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม จึงไม่มีอะไรต้องท้อแท้ทอดอาลัย เพราะฉะนั้นยามผู้อื่นยกย่อง พวกเขาก็ไม่สนิทสนมด้วยเป็นพิเศษ ยามผู้อื่นว่าร้าย พวกเขาก็ไม่ผูกใจเจ็บคิดล้างแค้นเมื่อมีโอกาส นี่คือ การวางตัวของชาวหยู


สำหรับ ชาวหยูที่แท้ หากผู้มีอำนาจไม่อยู่ในครรลองคลองธรรมถึงมีฐานะยิ่งใหญ่ปานใด ก็ไม่มีทางได้ตัวพวกเขาไปเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือ เพราะลาภยศอำนาจของผู้มีอำนาจเหล่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับ อภิมรรค ที่พวกเขาไขว่คว้าแสวงหาอย่างกระตือรือร้น นี่คือ ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของชาวหยู


ชาวหยูที่แท้ จะปฏิบัติต่อปัญญาชนเพื่อนร่วมอุดมคติ ด้วยการแนะนำวิจารณ์ และตักเตือนซึ่งกันและกัน ท่องในดินแดนแห่งความรู้และคุณธรรมที่ไร้ขอบเขตด้วยกัน ไม่มีช่องว่างทางใจเพียงเพราะอยู่ห่างไกลไม่เหินห่างเพียงเพราะถูกขวางกั้นในแง่เวลา ยามบ้านเมืองอยู่ใต้การปกครองของผู้มีอำนาจที่อยู่ในครรลองคลองธรรม จะพร้อมใจกันออกมาช่วยกันสนับสนุนส่งเสริม แต่ยามใดบ้านเมืองตกอยู่ใต้ระบบทรราชย์ก็จะพร้อมใจกันถอยห่าง


ในเส้นทางการพัฒนาตัวเองตามทัศนะของขงจื๊อนั้น ขงจื๊อได้จำแนกคนออกเป็น 5 ประเภทคือ สามัญชน บัณฑิต ปราชญ์ วิญญูชน และอริยบุคคล โดยเรียงลำดับจากขั้นต่ำมาขั้นสูง ซึ่งสะท้อน วิวัฒนาการทางจิต ของคนผู้นั้นด้วย กล่าวคือ


ระดับที่ 1 "สามัญชน" คือคนที่ไม่ค่อยเคารพปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่สามารถกล่าวเขียนวาจาที่สะท้อนความมีสติปัญญา ไม่เคยคิดที่จะคบนักปราชญ์ ชีวิตไม่มีเป้าหมาย รู้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่มีอุดมคติที่ลึกซึ้งกว้างไกล ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองในเชิงปณิธาน ชอบเปลี่ยนความคิดไปตาม "กระแส ที่เข้ามากระทบ และไม่ยืนหยัดในหลักการ


ระดับที่ 2 "บัณฑิต" คือบุคคลที่แม้ไม่เข้าใจเหตุผลที่ลึกซึ้ง ไม่สามารถบำเพ็ญคุณธรรมอย่างหมดจด แต่ก็มีความรู้และความเชื่อบางอย่าง ทำงานและประพฤติตัวตามหลักการบางอย่าง เพราะฉะนั้น ถึงระดับความรู้ความเข้าใจจะมีข้อจำกัดก็ยึดกุมความรู้ความเข้าใจได้ในระดับจำกัดนั้นอย่างแม่นยำ ถึงระดับความสามารถในการพูดจะมีข้อจำกัด ก็เข้าใจเหตุผลที่กำลังพูดอย่างแท้จริง ถึงระดับความสามารถในการสื่อด้วยความประพฤติจะมีจำกัด ก็ระมัดระวังความประพฤติของตัวเองเสมอ พวกเขาจึงสามารถเผชิญความจริงภายใต้ข้อจำกัดของตัวเอง


ระดับที่ 3 "ปราชญ์" คือบุคคลที่ประพฤติตัวอยู่ในทำนองคลองธรรมมีวาจาเที่ยงแท้เป็นที่น่าเชื่อถือ มีความรู้และคุณธรรมมากพอที่จะเป็นแบบอย่างแก่ราษฎรทั่วแผ่นดินได้


ระดับที่ 4 "วิญญูชน คือบุคคลที่ศึกษาความรู้บ่มเพาะคุณธรรมอย่างทุ่มเท พูดจริงทำจริง ไม่บ่นโทษ ไม่นินทา ไม่พยาบาท มีคุณธรรมสูงส่ง แต่ไม่เย่อหยิ่งทะนงตน มีสติปัญญาเลิศล้ำ แต่กลับมีท่าทีอบอุ่น นอบน้อม จนดูคล้ายไร้สติปัญญา ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้วมีความสามารถอันลึกล้ำหาผู้ใดเสมอยาก


ระดับที่ 5 "อริยบุคคล" คือบุคคลที่มีจิตใจสูงส่งน่าบูชาดุจฟ้าดิน แต่สามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม มีสติปัญญาแจ่มจ้าดุจแสงแห่งสุริยันจันทรา สามารถหยั่งรู้รากเหง้าของสรรพสิ่ง ยามดำเนินมรรคธรรมจะประหนึ่งฟ้าดินหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตโดยไม่ลำเลิก และเหล่าราษฎรทั้งปวงก็หารู้ไม่ว่ารับบุญคุณท่านแล้ว คนทั่วไปจึงไม่ทราบว่า ท่านได้ทำอะไรบ้าง ไม่ทราบว่าท่านมีคุณธรรมสูงส่งเพียงใด ดุจเดียวกับที่ไม่เข้าใจความลับของฟ้าดิน


การรุดหน้าไปสู่ สังคมความรู้ และ สังคมปัญญา โดยที่สามารถแก้ไขปัญหาการตกต่ำทางศีลธรรมได้ด้วยนั้น แท้ที่จริงก็คือ กระบวนการขัดเกลาประชาชน และให้การศึกษาประชาชนอย่างรอบด้านในทุกมิติอย่างบูรณาการ โดยไม่ละเลยด้านใดด้านหนึ่งหรือเน้นด้านใดด้านหนึ่งจนเสียสมดุล ซึ่งต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง และยาวนานพอที่สามัญชนส่วนใหญ่จะเริ่มกลายเป็นบัณฑิต ขณะที่บัณฑิตก็เริ่มกลายเป็นปราชญ์ และปราชญ์ก็เริ่มกลายเป็นวิญญูชน โดยที่วิญญูชนก็เริ่มกลายเป็นอริยบุคคล นั่นเอง แต่กระบวนการขัดเกลาประชาชนเช่นข้างต้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้มีอำนาจยังคงหลงผิดแลเห็นกงจักรเป็นดอกบัวอยู่







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้