อำนาจของภาษาและข่าวสารในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก (ตอนที่ 2) 1/2/2548

อำนาจของภาษาและข่าวสารในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก (ตอนที่ 2) 1/2/2548



อำนาจของภาษาและข่าวสารในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก (ตอนที่ 2)



ภาษา ข่าวสาร ความรู้ และระดับจิต มีความเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองจากมุมมองของ "ความเป็นระเบียบ" กับ "ความไร้ระเบียบ" ซึ่งเป็น คุณสมบัติพื้นฐาน ของข่าวสาร ภาษา และความรู้ทั้งปวงในความหมายที่ว่า ข่าวสารเป็นแบบแผนที่ตายตัวในพื้นที่และเวลาของสสาร-พลังงานที่ให้ความเป็นระเบียบแก่ระบบ หรือทำความไร้ระเบียบให้มีความเป็นระเบียบยิ่งขึ้น การมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่อง "ข่าวสาร" ตามมุมมองข้างต้นนี้เป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้าง สังคม "ความรู้" ขึ้นมาในสังคมนี้ ซึ่งจะยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเชิงลึกอย่างพอจับต้องได้ด้วย เพราะมันเกี่ยวพันกับ การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการรับรู้ และเรียนรู้ ของคนเรานั่นเอง


สมมติอย่างเช่น เราไปเที่ยวชายทะเล แล้วพบก้อนหินรูปร่างประหลาดก้อนหนึ่ง ถ้าหากเราเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มากพอ ขนาดที่สามารถเข้าใจถึงโครงสร้างอะตอมหรือโครงสร้างโมเลกุลที่ประกอบขึ้นมาเป็นก้อนหินก้อนนั้นได้ ในสมองของเราก็จะ "รับรู้" เป็น "ข่าวสาร" หรือ "แบบแผนที่เป็นโครงสร้างอะตอมอย่างเป็นระเบียบชนิดหนึ่ง" ของก้อนหินนั้นได้ โดยที่ก้อนหินที่ดำรงอยู่อย่างเป็น รูปธรรม เบื้องหน้าเรานั้นคือ ตัวรับรองข่าวสาร (แบบแผนที่ตายตัว) อันนี้


ถ้าหากเราใช้ค้อนทุบก้อนหินก้อนนี้ให้แหลกละเอียด เราอาจกล่าวในอีกแง่หนึ่งได้ว่า เราได้ทำให้ข่าวสารหรือแบบแผนที่ตายตัวอันนี้แตกสลายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก้อนหินจึงมิกลายเป็นก้อนหินอีกต่อไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่า "ระเบียบอันหนึ่ง" ได้กลายมาเป็นสภาพที่ "ไร้ระเบียบ" ไป จึงทำให้รูปร่างของก้อนหินก้อนนั้นอยู่อย่างเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว


จากแง่มุมนี้ก็จะเห็นได้ว่า สรรพสิ่งต่างๆ ทั้งปวงที่ดำรงอยู่ในธรรมชาตินั้น จะต้องตั้งอยู่บนระบบ "ข่าวสาร" อย่างใดอย่างหนึ่งของสิ่งนั้นเสมอ ต่อให้ในขั้นตอนปัจจุบัน ที่เราอาจยังไม่มีความสามารถที่จะรับรู้หรือค้นคว้าไปถึงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเรายังอยู่ในช่วงระหว่างแห่งการรับรู้ค้นคว้าอยู่ สิ่งนั้นจึงยังเป็นความยุ่งเหยิง เป็นความไร้ระเบียบ เป็นอนาธิปไตย สำหรับตัวเราในความนึกคิดรับรู้ของเราตลอดไป ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพียงแต่เพราะตัวเรายังไม่รู้ ยังรับรู้ไม่ถึงต่างหาก


เพราะคนเราขาด "ความรู้" ต่างหาก โลกจึงช่างดูวุ่นวายสับสนสิ้นดี! แต่สำหรับ คนที่มีปัญญาความรู้แล้ว เขาจะมองเห็นความเป็น "ระเบียบ-ระบบ ในสิ่งที่ดูเหมือนสับสนวุ่นวายนั้นได้เสมอ


นักวิทยาศาสตร์คือ ผู้ที่พยายามจะค้นหาความเป็น "กฎ" ความเป็น "หลักการ" (แบบแผนที่ตายตัว) ในท่ามกลางความสับสนยุ่งเหยิงเหล่านี้ และพยายาม "ตั้งชื่อ" ให้กับมัน โดยใช้ "สัญลักษณ์" ต่างๆ ในการทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นตัวตนที่สัมผัสได้ เพราะตราบใดที่เรายังไม่อาจตั้งชื่อให้กับมัน และยังไม่อาจค้นพบ "ความเป็นกฎ" ของสิ่งนั้นได้ ตราบนั้นโลกของสิ่งนั้น ก็ยังคงอยู่ในความมืดมิดก็ยังคงอยู่ในความเป็นอวิชชา ก็ยังคงอยู่ในความยุ่งเหยิงในสายตาเราตลอดไป


การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และทางสังคมศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์สามารถ "เห็น" ในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่เคยเห็น และทำให้ "รู้" ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนโดยใช้อำนาจของภาษาในการ "ตั้งชื่อ" และ "ให้สัญลักษณ์" แก่สิ่งนั้น จึงได้กลายมาเป็น "ความรู้" (knowledge) แก่มนุษย์ในเวลาต่อมา


ในทัศนะของพวกโพสต์โมเดิร์นนั้น อำนาจของภาษานั้น เป็นอำนาจแฝงเร้นที่ใช้ชักจูงให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งเป็นความจริงระดับหนึ่งในสายตาของคนที่มีระดับจิตแบบโพสต์โมเดิร์น (มีมสีเขียว) ที่ชอบ "รู้ทัน" แต่ในที่นี้เราจะมองอำนาจของภาษาจากระดับจิตแบบบูรณาการ (มีมสีเหลือง) ซึ่งมองอำนาจของภาษาอย่างเป็นกลางกว่าคือ มองว่า อำนาจของภาษาอยู่ที่การตั้งชื่อ และให้สัญลักษณ์แก่สิ่งต่างๆ ซึ่งได้กลายมาเป็น "ความรู้" ซึ่งในขั้นตอนปัจจุบันนี้ "ความรู้" ในศาสตร์ต่างๆ ไม่ได้เป็นแค่แหล่งความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดอำนาจแฝงเร้น และความสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคมด้วย นั่นเป็นเพราะระดับจิตของผู้ที่ใช้อำนาจของความรู้นั้นยังไม่สูงส่งพอที่จะก่อให้เกิดวิวัฒนาการของสังคม และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกนั่นเอง


ความจริง การค้นพบทางศาสนาหรือทางจิตวิญญาณก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และทางสังคมศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์สามารถ "เห็น" ธรรมะ หรือ "หลักธรรม" ที่เป็นจริง ที่ดำรงอยู่จริงในจักรวาฬ (Kosmos) อย่างไม่ขึ้นต่อกาลเวลา มนุษย์จึงสามารถ "รู้" ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยผ่านการตั้งชื่อ และให้สัญลักษณ์แก่สิ่งนั้นจนกลายมาเป็น "ภูมิปัญญา" (wisdom) ของมนุษยชาติในที่สุด


เราจึงอาจกล่าวในอีกแง่มุมหนึ่งได้ว่า


เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์สามารถค้นพบ "กฎของสิ่งนั้น" และตั้งชื่อกับให้สัญลักษณ์แก่สิ่งนั้นได้แล้ว มนุษย์ย่อมสามารถที่จะ "ควบคุม" สิ่งนั้นได้ด้วยการใช้ข่าวสารที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งนั้นนั่นเอง นี่เป็นความจริงทั้งในมิติของจิตใจ มิติของวัฒนธรรม และมิติของการผลิต (เศรษฐกิจ)


ใน มิติของจิตใจ มนุษย์ย่อมสามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้ในระดับหนึ่ง เมื่อมนุษย์ตั้งชื่อ และให้สัญลักษณ์แก่จิตใจว่าประกอบขึ้นมาจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดย "รู้" ในหลักธรรม (กฎ) ของจิตใจว่ามีสังขารขันธ์เป็นตัวคอยปรุงแต่ง เหมือนกับที่ใน มิติของวัฒนธรรม ที่สามารถ ครอบงำทางวัฒนธรรมได้ โดยผ่านการสร้างให้วาทกรรมของพวกตนเป็นวาทกรรมหลัก


อีกทั้งมนุษย์ยังสามารถควบคุมวัตถุภายนอก เช่น การผลิตสิ่งของได้ด้วยเช่นกัน โดยการตั้งชื่อให้กับมัน (วัตถุดิบ) และเข้าไปกระทำต่อมัน (แปรรูปวัตถุดิบ) โดยปกติเมื่อมนุษย์เข้าไปกระทบต่อโลกภายนอก พร้อมกับได้รับผลสะท้อนกลับมาจากโลกภายนอก สิ่งนี้จะกลับกลายเป็น "ข่าวสารภายใน" (internalized information) ตัวของมนุษย์ผู้นั้น เมื่อข่าวสารภายในได้รับการสั่งสมอยู่ภายในตัวมนุษย์ผู้นั้นมากขึ้นเรื่อยๆ (มีประสบการณ์มากขึ้น มีความรู้มากขึ้น) และยิ่งถ้าได้ผ่านการวิเคราะห์แยกแยะ ทบทวน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นข่าวสารที่ปรากฏออกมาสู่ภายนอก (externalized information) โดยผ่าน "กิจกรรม" ต่างๆ ของมนุษย์ผู้นั้น


ข่าวสารที่ปรากฏออกมาสู่ภายนอกนี้ อาจจะปรากฏออกมาในรูปเชิงอักษร คำพูด น้ำเสียง สูตรวิทยาศาสตร์ ภาพวาด งานศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหวของร่างกาย (กีฬา เต้นรำ การแสดง) ฯลฯ ซึ่งจะทำให้มนุษย์แต่ละคนมีอาชีพ การงาน มีบทบาทที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของข่าวสารที่ปรากฏออกมาสู่ภายนอก


เวลาชาวสวนปลูกผัก ข่าวสารภายในตัวของชาวสวนที่เกี่ยวกับการปลูกผักนั้น ซึ่งหมายถึง ความรู้ทั้งปวงที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ ชนิดของปุ๋ย และพันธุ์ผัก ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า ตัวชาวสวนย่อมมี "ระบบข่าวสารที่แน่นอน" อันหนึ่งเกี่ยวกับการปลูกผัก แม้ว่าตัวเขาอาจจะไม่สามารถอธิบายหรือเขียนออกมาอย่างเป็นระบบเป็นวิชาการได้ ทั้งๆ ที่ตัวเขารู้ดีก็ตาม เพราะบทบาทของเขาคือ การปลูกผัก หาใช่การสอนหรือเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับการปลูกผักไม่


ในสังคมเกษตรกรรม หรือแม้แต่สังคมอุตสาหกรรม "ระบบข่าวสารที่แน่นอน" อันหนึ่งของชาวสวนที่เกี่ยวกับการปลูกผักนี้ จึงยังคงเป็นแค่ "ทักษะ ความชำนาญ" และ "ประสบการณ์" ส่วนบุคคลของตัวชาวสวนผู้นั้นเท่านั้น แต่ใน สังคมความรู้ หลังจากนี้ไป สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไปภายใต้ สังคมความรู้ ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์จะสามารถปลูกผักได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับทักษะ ความชำนาญและประสบการณ์ส่วนตัวของชาวสวนอีกต่อไปแล้ว แต่ มันจะต้องเกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ขนานใหญ่ ซึ่งต้องเกิดพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก สังคม ความรู้ถึงจะสามารถปักหลักมั่นในสังคมไทยได้


ทั้งนี้เพราะจะต้องมีการนำเอาทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ของชาวสวนมาทำให้เป็นข่าวสารที่ปรากฏออกสู่ภายนอก ด้วยการทำให้เป็นตัวเลขหรือโปรแกรม เช่น ระบุเงื่อนไขอุณหภูมิ ความชื้น ความแรงเข้มของแสงแดด ปริมาณปุ๋ยที่เหมาะสม ฯลฯ แล้วควบคุมโปรแกรมเงื่อนไขการเพาะปลูกทั้งปวงเหล่านี้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์อีกต่อหนึ่ง มนุษย์ที่ไม่มีความรู้เรื่องการปลูกผักเลย แต่คุมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ ก็จะสามารถปลูกผักได้เช่นกัน มิหนำซ้ำผักที่ปลูกได้นี้ยังไม่ขึ้นต่อฤดูกาลอีกด้วย คือสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล


แนวคิดอันเดียวกันนี้ เมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสำนักงานและกระบวนการผลิตในภาคหัตถอุตสาหกรรม ก็จะได้ผลเหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าหากระบบทำงานในสำนักงานหรือในโรงงานนั้น มีลักษณะที่แน่นอนตายตัวดำรงอยู่แล้ว ก็ย่อมสามารถทำให้ลักษณะแน่นอนตายตัวส่วนนั้น กลายเป็นข่าวสารที่ปรากฏออกสู่ภายนอก คือทำให้เป็นโปรแกรมได้


ผลก็คือ มนุษย์สามารถที่จะควบคุมวัตถุภายนอก หรือโลกของสิ่งของวัตถุได้ใน สังคมความรู้ ด้วยการตั้งชื่อ ให้สัญลักษณ์หรือทำให้เป็นโปรแกรมแก่สิ่งของนั้น โดยผ่านการควบคุมข่าวสารของสิ่งของวัตถุนั้น ด้วยการบริหารข่าวสารนั้น แทนที่จะบริหารสิ่งของวัตถุนั้นโดยตรง (ควบคุมในความหมายของการเคลื่อนไหวของสิ่งของวัตถุนั้น)


สิ่งนี้แหละคือ พื้นฐานทางวัตถุของ สังคมข่าวสาร ซึ่งเป็นรากฐานของ สังคมความรู้ อีกทีหนึ่ง และเป็นทิศทางในอนาคตของสังคมไทยอย่างแน่นอน ภาษา, ข่าวสาร, ความรู้ และการพัฒนาระดับจิต จึงเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญมากสำหรับการปฏิรูปสังคมนี้อย่างบูรณาการ








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้