พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 1) 1/3/2548

พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 1) 1/3/2548



พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 1)



สำหรับสังคมไทยในขั้นตอนปัจจุบันนี้ การเพิ่มพูนพหุปัญญา กับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก แทบจะเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้


สิ่งที่เป็น "มายา" เป็นความเชื่อผิดๆ ที่ยังฝังใจคนจำนวนมากในสังคมนี้ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ และการยกระดับจิตสำนึกของผู้คน ก็คือ ความเข้าใจผิดที่คิดว่า เหตุผลเชิงตรรกะ (ที่วัดได้ด้วย I.Q. test ที่เป็นการวัดเชาวน์ปัญญา) คือองค์รวมแห่งเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ ทั้งๆ ที่เหตุผลเชิงทักษะเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของทักษะในการคิด หรือการเรียนรู้เท่านั้น


เป็นความจริงที่ว่า I.Q. test ยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ดีในการทดสอบความสามารถบางด้านของมนุษย์ เช่น ด้านเหตุผลเชิงตรรกะ แต่มันไม่สามารถทดสอบได้ทุกด้าน และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ มันเป็นตัวส่งเสริมปลูกฝังให้เกิด ความเชื่อผิดๆ แก่ผู้คนว่า เชาวน์ปัญญาของคนเราติดตัวคงที่มาตั้งแต่เกิด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น เชาวน์ปัญญาของคนเราสามารถที่จะปรับปรุงแก้ไข และขยายเพิ่มพูนได้ไม่ว่าเราจะมีอายุมากแค่ไหนก็ตาม คนเรามิได้ถูกกำหนดมาให้มีสติปัญญาเท่านั้นเท่านี้ตั้งแต่เกิดหรอก


เท่าที่ผ่านมา คิดว่าคงมีคนไทยนับเป็นล้านๆ คนที่ชีวิตของพวกเขาได้ถูกบั่นทอนศักยภาพลงไปด้วยความเชื่อที่ผิดและไร้สาระนี้! คนไทยที่เริ่มสูงวัยทั้งหลาย คนไทยที่เริ่มย่างเข้าสู่วัยกลางคนทั้งหลาย มันยังไม่สายเกินไปที่พวกท่านจะเข้ามาช่วยกันแก้ไขแนวคิดนี้ให้ถูกต้อง ด้วยการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มพูนสติปัญญา เชาวน์ปัญญาของพวกท่านเองให้กลายเป็น พหุปัญญา" (multiple intelligences) เพื่อพิสูจน์ความผิดพลาดของความเชื่อผิดๆ ข้างต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบในตัวของพวกท่านเอง เพื่อความหมายแห่งการมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี สมภาคภูมิในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตของพวกท่านเอง และเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาอันหลากหลายแห่งพหุปัญญาเหล่านี้ให้แก่ลูกหลานในสังคมของพวกเรา เพื่อที่ลูกหลานของเราจะได้สามารถพัฒนาศักยภาพความสามารถของพวกเขาได้ในทุกด้าน โดยมิได้ถูกจำกัดให้พัฒนาสติปัญญาได้ในวงแคบๆ แค่เหตุผลเชิงตรรกะ และภาษาเหมือนอย่างที่พวกเขากำลังถูกยัดเยียดโดยระบบการศึกษากระแสหลัก และโรงเรียนกวดวิชาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้เท่านั้น


ปัจจุบันเริ่มเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักศึกษาศาสตร์ระดับโลกแล้วว่า มนุษย์แต่ละคนมี ศูนย์แห่งเชาวน์ปัญญา ไม่น้อยกว่า 7 ด้าน (ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับจำนวนศูนย์พลังงานหลักๆ ในตัวมนุษย์ที่เรียกกันว่า จักระ ในวิชา โยคะ) ซึ่งได้แก่


(1) ความฉลาดทางภาษา (linguistic intelligence) คือ ความสามารถในการที่จะพูดหรือเขียนได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปพบได้ใน นักประพันธ์ จินตกวี นักเขียน นักข่าว คนเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ องค์ปาฐก ผู้นำทางการเมือง คอลัมนิสต์เหล่านี้ เป็นต้น คุณลักษณะของปัญญาแบบนี้ พบได้ในคนที่จัดลำดับเก่งเป็นระบบ จับรูปแบบได้ไว ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบอ่าน และมีความสามารถในการใช้เหตุผล เป็นต้น


(2) ความฉลาดทางตรรกะ-คณิตศาสตร์ (logical-mathmatical intelligence) คือ ความสามารถทางด้านการใช้เหตุผล การคำนวณ และการคิดอย่างเป็นตรรกะ โดยทั่วไปพบได้ใน นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักเล่นหมากล้อม วิศวกร นักกฎหมาย พนักงานสืบสวนของตำรวจ นักบัญชี คุณลักษณะของปัญญาแบบนี้ พบได้ในคนที่ชอบคิดแบบนามธรรม ชอบความถูกต้องแม่นยำ สนุกกับการนับชอบใช้โครงสร้างที่เป็นตรรกะ สนุกกับการแก้ปัญหา สนุกกับการทดลองในเชิงตรรกะ ชอบทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน ชอบใช้วิธีคิดแบบอนุมาน ชอบจัดระเบียบ ชอบจัดตั้ง เป็นต้น


(3) ความฉลาดทางการมอง-มิติสัมพันธ์ (visual-spatial intelligence) คือ ความสามารถในการวาดภาพ ระบายสี การถ่ายภาพ การปั้น การหล่อ โดยทั่วไปพบได้ใน สถาปนิก จิตรกร ประติมากร นักเดินเรือ นักสำรวจ นักเล่นหมากรุก นักเล่นหมากล้อม นักธรรมชาตินิยม นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี นักยุทธศาสตร์การสงคราม คุณลักษณะของปัญญาแบบนี้ พบได้ในคนที่ชอบคิดเป็นภาพ ชอบสร้างสรรค์จินตนาการทางสมอง ชอบเห็นภาพรวม ชอบศิลปะ ชอบวาดภาพ ระบายสีและปั้น ชอบอ่านแผนที่ แผนภูมิ และแผนภาพ เป็นต้น


(4) ความฉลาดทางด้านร่างกาย-การเคลื่อนไหว (bodily-kinesthetic intelligence) คือ ความสามารถในการใช้มือหรือร่างกายของตนในการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยทั่วไปพบได้ใน นักเต้นรำ นักแสดง นักกีฬา นักประดิษฐ์ นักเลียนแบบ ศัลยแพทย์ ครูฝึกกังฟู (มวยจีน) นักขับรถแข่ง และผู้ที่มีพรสวรรค์ทางกลไก คุณลักษณะของปัญญาแบบนี้ พบได้ในคนที่สามารถควบคุมร่างกายได้ดีกว่าคนอื่น คนที่มีความยืดหยุ่นดีทางร่างกาย คนที่ชอบเล่นกีฬาทางกายภาพ คนที่มีทักษะทางหัตถกรรม คนที่ชอบแสดง คนที่ชอบเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหว คนที่จำสิ่งที่ทำได้มากกว่าสิ่งที่พูด คนที่ชอบเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ คนที่ชอบลงมือลุย คนที่ชอบสัมผัส เป็นต้น


(5) ความฉลาดทางดนตรี (musical intelligence) คือ ความสามารถในการแต่งเพลง ขับร้องหรือเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ โดยทั่วไปพบได้ใน นักแสดง นักประพันธ์เพลง วาทยกร นักดนตรี ผู้ทำเครื่องดนตรี คุณลักษณะของปัญญาแบบนี้ พบได้ในคนที่มีประสาทสัมผัสไวในการรับรู้จังหวะลักษณะของเสียงดนตรี คนที่มีประสาทสัมผัสไวในพลังทางอารมณ์ของดนตรี คนที่ใช้ดนตรีช่วยผ่อนคลาย คนที่ฝึกดนตรี คนที่เปลี่ยนอารมณ์ของตนด้วยดนตรี เป็นต้น


(6) ความฉลาดในการเข้าสังคมหรือสัมพันธ์กับผู้อื่น (interpersonal or "social" intelligence) คือ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ โดยทั่วไปพบได้ใน นักการเมือง ครู ผู้นำทางศาสนา นักประชาสัมพันธ์ นักการตลาด ผู้จัดการ และคนที่เป็น คนของประชาชน" คุณลักษณะของปัญญาแบบนี้ พบได้ในคนที่เจรจาต่อรองเก่ง มีมนุษยสัมพันธ์ดี คนที่สนุกกับการอยู่กับคน สามารถอ่านใจของผู้อื่นได้ คนที่มีเพื่อนมาก คนที่สนุกกับกิจกรรมของกลุ่ม คนที่สื่อสารดี คนที่ชอบให้ความร่วมมือ คนที่อ่านสถานการณ์ทางสังคมได้เก่ง และคนที่ชอบเป็น "กาวใจ" ชอบไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้ง เป็นต้น


(7) ความฉลาดในเชิงญาณทัสนะ หรือในการรู้จักตนเอง (intrapersonal or intuitive intelligence) คือ ความฉลาดในเชิงจิตวิญญาณ ในเชิงรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนตามความเป็นจริง หรือจะเรียกว่าเป็นความฉลาดในทางธรรมก็ได้ โดยทั่วไปพบได้ ในนักเขียนนวนิยาย นักแนะแนวในการแก้ปัญหาชีวิต ปราชญ์อาวุโส นักปรัชญา ผู้นำทางจิตวิญญาณ (คุรุ) นักรหัสนัยผู้มีประสบการณ์ลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ คุณลักษณะของปัญญาแบบนี้ พบได้ในคนที่ตระหนักอย่างลึกซึ้งในความรู้สึกในตนเองของตน คนที่มีประสาทสัมผัสไวในจุดมุ่งหมายในชีวิตของตน คนที่ไวในเรื่องการประเมินคุณค่าในตัวเอง คนที่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง คนที่มีสัมผัสพิเศษ คนที่มีความเป็นส่วนตัวมาก และคนที่ต้องการแตกต่างจากกระแสหลัก เป็นต้น


(8) ความฉลาดในการรักษ์ธรรมชาติ (naturalist) คือ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ปรองดองกับธรรมชาติ ซึ่งเป็น การบูรณาการ ความฉลาดทั้ง 7 อย่างข้างต้นได้อย่างมีสมดุล แล้วนำไปปรับตัว ปรองดอง จนกระทั่ง มีศักยภาพในการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ได้ในที่สุด

คนที่ยังอยู่ในวัยเด็ก หรือในวัยเรียนจะไม่สามารถเติบโตอย่างมี "พหุปัญญา" ได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครอง ปู่ย่าตายายของเขาไม่มีความเข้าใจในเรื่องของพหุปัญญา หรือไม่สามารถเป็น แบบอย่างในเชิงพหุปัญญา ให้พวกเขาได้เป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ในวัยเด็กได้
คนที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ในวัยที่ยังหมกมุ่นอยู่กับการทำมาหากิน การสร้างเนื้อสร้างตัว อาจจะมี "ข้ออ้าง" ได้ว่าพวกเขา "ไม่มีเวลา" ในการฝึกฝนพัฒนาตัวเขาเองในเชิงพหุปัญญาได้ แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า ความสามารถในเชิงพหุปัญญานี้ต่างหากที่จะช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีความสำเร็จในชีวิต ในการ "ล่าฝัน" ของพวกเขาแต่ละคนได้ ในยุคโพสต์โมเดิร์นเช่นยุคนี้


แต่สำหรับคนที่สูงวัยที่เริ่มมีอิสระในเรื่องของเวลา และมีเงินทองที่สะสมไว้มากพอในระดับหนึ่งแล้ว ช่วงเวลานี้แหละคือโอกาสทองของพวกท่านที่จะพัฒนาพหุปัญญาของพวกท่านให้เปล่งศักยภาพถึงขีดสุด ซึ่งจะทำให้พวกท่านสามารถใช้ชีวิตอีกสิบปีถึงสามสิบปีหรือกว่านั้นในช่วงบั้นปลายของชีวิตของพวกท่านได้อย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในตัวเองได้ และยังสามารถมีคุณูปการต่อการยกระดับองค์ความรู้ และระดับจิตใจของผู้คนในสังคมได้อีกด้วย แต่เนื่องจากปัญญาบางอย่างในพหุปัญญานี้ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการฝึกฝน (เช่น ดนตรี หมากล้อม มวยจีน) เพราะฉะนั้น หากพวกท่านสามารถเริ่มสนใจ เริ่มเตรียมตัวฝึกฝนตั้งแต่ในช่วงวัยกลางคนได้จะเป็นการดีมาก หรือถ้าเริ่มสนใจการพัฒนาตัวเองอย่างพหุปัญญานี้ตั้งแต่วัยหนุ่มวัยสาวก็จะยิ่งวิเศษเข้าไปใหญ่ เพราะพวกท่านจะได้ "กำไรชีวิต" มากกว่าคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตอย่างสามัญอย่างนึกไม่ถึงเลยทีเดียว




 

ตาราง ต่อไปนี้เป็น โมเดลการพัฒนา "พหุปัญญา" อย่างบูรณาการสำหรับคนสูงวัย และคนวัยกลางคน อันเป็น ไลฟ์สไตล์เชิงบูรณาการ (integral lifestyle) ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเชิงลึก (integral transformative practices) ในสังคมนี้ได้ อนึ่งหากคนหนุ่มคนสาวใดจะ ทดลอง ปฏิบัติตามไลฟ์สไตล์นี้ตั้งแต่บัดนี้ก็ไม่ได้มีข้อห้ามแต่ประการใด กลับน่าสนับสนุนส่งเสริมด้วยซ้ำ เพราะมันจะถูกยกระดับจนอาจกลายเป็น วิถีชีวิต ทั้งชีวิตของคนผู้นั้นไปเลยก็เป็นได้








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้