ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 3 (13/10/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 3  (13/10/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย ตอนที่ 3

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จริงหรือเปล่าที่ “กูรู้” ทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเก็งรัฐมนตรีคลังตลอดกาลของสื่อมวลชนบอกว่า บาท “แข็ง” เป็นเพราะ ธปท.ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจมหภาค ไม่ยอมตรึงค่าเงินบาทให้ “อ่อน”และ “คงที่” เหมือนที่หลายๆ คนคุ้นเคยมาในอดีต

“กูไม่รู้” ทั้งหลายโปรดพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า ใครกันแน่ที่ “ไม่รู้”

ข้อเสนอที่ “ง่ายและดูดี” แต่มิได้แก้ปัญหาที่แท้จริงของการปรับสมดุลการขาดดุลคู่แฝดของสหรัฐฯ ในปัจจุบันก็คือ การทำให้เป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ โดยอาศัยการปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างหยวนกับดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการให้ค่าเงินหยวน “แข็ง” ขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูปเงินตราเพื่อการค้าที่เป็นธรรม (Currency Reform for Fair Trade Act) เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถคว่ำบาตรการค้า ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีพฤติกรรมแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีจุดมุ่งหมายที่อ้างว่าจะกดดันให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัวขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลอันเนื่องมาจากการบริโภคเกินตัวของสหรัฐฯ สมาชิกสภาคองเกรสซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมายจำนวนมากเชื่อว่า จีนจงใจทำให้เงินหยวนมีมูลค่าต่ำเกินไปมากถึง 25-40% เพื่อให้บริษัทของจีนมีความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมและอาศัยกฎหมายมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ความเชื่อดังกล่าวจึงมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงทั้งในเชิงทฤษฎีและข้อเท็จจริง การปรับสมดุลของการบริโภคเกินตัวของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่มิใช่จะกระทำได้โดยลำพัง 2 ฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในทางตรงกันข้ามกลับจะก่อให้เกิดปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้โดยง่าย

ประสบการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ที่ผ่านมาของญี่ปุ่นที่เคยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ ในยุคทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ได้ทำให้เกิดกรณีการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลจากการบริโภคเกินตัวของสหรัฐฯ ด้วยการให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่น “แข็ง” ขึ้นหลังการประชุม G-7 ด้วยข้อตกลงที่รู้จักในชื่อ Plaza Accord ในช่วงทศวรรษที่1980 ซึ่งได้ปรากฏให้เห็นในภายหลังว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเกินดุลการค้าที่สะท้อนมาจากการบริโภคเกินตัวอย่างมโหฬารของสหรัฐฯ ที่มีกับญี่ปุ่นในช่วงนั้นได้ด้วยการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเยนกับดอลลาร์สหรัฐแต่เพียงลำพัง

แม้เงินเยนจะมีค่า “แข็ง” ขึ้นมานับจากการมีข้อตกลงดังกล่าวประมาณ 2 เท่าตัวแล้วก็ตาม สหรัฐฯ ก็ยังมีปัญหาการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอยู่เหมือนเดิม แต่การ “แข็ง”ค่าของเงินเยนได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการผลิตภายในของญี่ปุ่นจนทำให้ต้องมีการโยกย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศครั้งใหญ่ไหลบ่าไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกอื่นๆ รวมทั้งไทยเพื่อบรรเทาปัญหา

คำอธิบายจึงอยู่ที่ความหลงผิดในเชิงทฤษฎีความยืดหยุ่นในการส่งออกและนำเข้าอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยน (elasticity approach) ที่ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในยุคที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีระหว่างประเทศ

ทุนและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนระหว่างประเทศได้โดยเสรีมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตเช่นกันแต่มีข้อจำกัดมากกว่า ดังนั้น การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจึงไปตกอยู่ในที่ที่มีแรงงานจำนวนมากและราคาถูก ในสมัยหนึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายและปัจจุบันกลายเป็นจีนที่รับทุนและเทคโนโลยีเข้าไปเป็นจำนวนมากในขณะที่ยังเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ ในทศวรรษที่ 2000 แทนที่ญี่ปุ่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้

ความหลงผิดที่ทำให้เชื่อว่า หากค่าเงินหยวน “แข็ง” ก็จะคาดหมายได้ว่าจีนจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในขณะที่มีการส่งออกที่ลดลง เป็นการปรับดุลการค้าของจีนให้เกินดุลลดลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการส่งออก (X) และนำเข้า (M) ที่ยืดหยุ่น (elastic) กับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการพิจารณาเพียงด้านเดียวของสมการเอกลักษณ์รายได้ประชาชาติ

(X - M) = (S – I) = Trade (Saving) Surplus

ดังนั้น การออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจีนไม่เข้ามาแทรกแซงและปล่อยให้ค่าเงินหยวนลอยตัวโดยเสรีกับดอลลาร์สหรัฐจึงน่าจะเป็นนโยบายที่ “ง่ายและดูดี” แต่มิได้แก้ปัญหาที่แท้จริงในการปรับสมดุล เพราะคาดหมายว่าหากทางการจีนไม่มีการแทรกแซง ค่าเงินหยวนก็จะ “แข็ง” การปรับสมดุลก็จะเกิดขึ้น

แต่จะมีใครคิดบ้างหรือไม่ว่าในอีกด้านหนึ่งของการปรับสมดุลนอกเหนือจากด้านดุลการค้าระหว่างประเทศ (X - M) ส่วนต่างระหว่างการออมและการลงทุน (S – I) ก็ต้องมีการปรับตัวไปด้วยเช่นกันเพราะเป็นอีกด้านหนึ่งของสมการ

ประเทศเช่นจีนที่เกินดุลการค้าหรือส่งออกมากกว่านำเข้า หากค่าเงินหยวน “แข็ง” ค่าขึ้น (เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ) ก็จะทำให้มีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมากขึ้นหรืออีกนัยหนึ่งก็คือการออมน้อยลง ส่วนต่างระหว่างการออมกับการลงทุนจึงต้องลดลงไปด้วยพร้อมๆ กับดุลการค้า จะมองเพียงด้านเดียวของเหรียญไม่ได้

สิ่งที่คนทั่วไปมักลืมคิดไปจากสมการข้างต้นก็คือ เมื่อมีโลกาภิวัตน์ มีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศโดยเสรีมากกว่าเดิม สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของคู่ค้าของจีน หากสามารถกดดันให้ค่าเงินหยวน “แข็ง” สหรัฐฯ จะออมมากขึ้นด้วยเงินดอลลาร์ที่ “อ่อน” ค่าลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างไร

ในทางตรงกันข้าม ค่าเงินหยวนที่ “แข็ง” แม้จะทำให้นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นคนจีนหรือไม่มองว่าการลงทุนในจีน “แพง” ขึ้นและน่าจะหันไปลงทุนในสหรัฐฯ แทนเพราะถูกกว่าด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไป แต่ด้วยขนาดการลงทุนเมื่อคิดเทียบกับ GDP ของจีนที่มีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ การลดลงในการลงทุนของจีนจะมีมากกว่าการเพิ่มขึ้นในการลงทุนของสหรัฐฯ ผลก็คือเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง ทำให้การสั่งซื้อสินค้านำเข้าของจีนลดลงตามไปด้วย สหรัฐฯ จะปรับดุลการค้าที่ขาดดุลกับจีนไปได้อย่างไร

นี่คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเมื่อค่าเงินเยนถูกทำให้ “แข็ง” แล้วดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้และจะมี “ไอ้บ้า” มาเรียกร้องอีกว่าที่ยังไม่สำเร็จเป็นเพราะเยนยัง “แข็ง” ค่าไม่พอทั้งๆ ที่ปรับตัวเพิ่มค่ามาแล้วกว่า 200% จีนคงไม่อยากที่จะเดินตามความผิดพลาดนี้เป็นแน่

ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาค่าบาท “แข็ง” โดยไม่พิจารณาบริบทของความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นการสะท้อนให้เห็นความอับจนซึ่งปัญญา เป็นกบฉลาดแต่ยังอยู่ในกะลาที่ครอบเอาไว้ เพราะเงินบาทมิได้ “แข็ง” ค่าด้วยส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่เพียงปัจจัยเดียว และก็มิได้เป็นปรากฏการณ์บาท “แข็ง” ค่าในระยะสั้นที่สามารถบรรเทาด้วยการแทรกแซงให้ “อ่อน” ค่าลงได้ด้วยการซื้อดอลลาร์สหรัฐมาเก็บไว้และขายบาทออกมาอย่างไม่มีขอบเขต ดังที่ “กูรู้” เศรษฐกิจที่ชื่อ วีรพงษ์ รามางกูร ได้วิจารณ์เอาไว้ (26 ก.ย. 53 ประชาชาติธุรกิจ) หากแต่เป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับการแข็งค่าและผันผวนของมัน

ประเทศไทยจึงไม่สามารถย้อนเวลากลับไปหา บาท “อ่อน” และ “คงที่” โดยให้ประชาชนทุกคนต้องแบกรับต้นทุนการแทรกแซงของ ธปท.อย่างที่วีรพงษ์ต้องการ

การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนและเป็นผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งที่อ้างถึงในข้อเขียนของวีรพงษ์ก็คือ การ “แข็ง” ค่าของเงินบาททำให้อุตสาหกรรมที่ส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้จะมีสัดส่วนการนำเข้าปัจจัยการผลิตสูงก็ไม่ทำให้ได้ประโยชน์จากการ “แข็ง” ค่าของเงินบาท

ดูไปก็อาจจะจริง เพราะแม้จะมีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 95% หรือมากกว่านั้นของราคาขาย แต่การ “แข็ง” ค่าของเงินบาทเกินกว่า 5% ก็จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ขาดทุนไม่ได้ประโยชน์อันใดขึ้นมา แต่สิ่งที่วีรพงษ์หรือคนในสภาอุตฯ จะลืมคิดหรือบอกไม่หมดก็คือ “การปรับตัว” ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึงอยู่เสมอๆ นั้นหมายถึง อุตสาหกรรมหรือกิจการใดที่มีกำไรหรือมูลค่าเพิ่มน้อยและต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบสูงในยุคนี้สมควรที่จะต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนกำไรสูงและใช้ปัจจัยการผลิตนำเข้าต่ำหรือไม่ เพราะอุตสาหกรรมประเภทหลังจะมีภูมิต้านทานและเป็นที่ต้องการของประเทศไทยมากกว่าประเภทแรกใช่หรือไม่

อุตสาหกรรมประเภทแรกโดยมากจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศโดยอาศัยฐานแรงงานราคาถูกและความไม่เข้มงวดในมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และมักได้สิทธิพิเศษจากรัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้อยู่เหนือผู้ประกอบการไทยทั่วไปซึ่งเป็นนโยบายเห็นต่างชาติดีกว่าไทยที่ล้าสมัยไปแล้ว

เครื่องจักรและวัตถุดิบจึงถูกนำเข้ามาจากบริษัทแม่จากต่างประเทศเพื่อผลิตและขายผลผลิตกลับไปให้ในราคาที่ไม่ต้องมีกำไรก็ได้เพราะเป็นบริษัทในเครือ กำไรขาดทุนไปคิดรวบยอดที่บริษัทแม่ได้อยู่แล้ว การ “แข็ง” หรือ “อ่อน” ของบาทจึงไม่มีผลอันใด ยกเว้นแต่เพียงค่าใช้จ่ายแรงงานที่ต้องจ่ายเป็นบาทเท่านั้น กิจการแบบนี้หาดูได้ไม่ยากตามนิคมอุตสาหกรรมทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณมาบตาพุด มีทั้งที่ร่วมทุนหรือไม่ร่วมทุนกับคนไทย

Ugly Truth ก็คืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงและร่ำร้องว่าอยู่ไม่ได้เนื่องจากบาท “แข็ง” ก็อยู่ในข่ายที่ต้อง “ปรับตัว” เช่นกันมิใช่หรือ

ประเด็นสำคัญก็คือ ทำไมไม่ใช้บาท “แข็ง” เป็นโอกาสในวิกฤต ประเทศมีทรัพยากรจำกัด คุ้มหรือไม่กับกำไร 5% หรืออาจน้อยกว่านั้นในสินค้าที่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่ได้บริโภคแต่ต้องมาเสียสละทรัพยากรและสุขอนามัยให้กับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ สัดส่วนนำเข้าสูงเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ยังมีทางเลือกอีกมากในการพัฒนาโดยไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่แค่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นการส่งออกสูงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมันได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่สมดุล ทำให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาตนเองไม่ได้เพราะขาดภูมิคุ้มกันต่อความผันผวน เช่น บาท “แข็ง” ในระยะยาว

หากยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี อย่างน้อยก็เก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ให้คนรุ่นหน้าตัดสินใจดีกว่าล้างผลาญโดยในคนรุ่นนี้ให้หมดไป

โรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือพลังงานความร้อนจากถ่านหิน หรือโรงงานเปรโตเคมี ที่ส่วนใหญ่คนไทยเป็นเจ้าของไม่ได้และหรือต้องพึ่งพาทุนหรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ต้องแลกมาด้วยทรัพยากรที่มีค่า เช่น ชายหาด วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น คุ้มหรือไม่ creative economy เช่น การเกษตรปลอดสารพิษ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นตัวอย่างที่ดี ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การนำเข้าต่ำ ที่คนไทยสามารถเป็นเจ้าของและพึ่งพาตนเองได้เพราะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองทำไมจึงกลับไม่ส่งเสริมให้ความสำคัญทั้งที่ทนทานต่อบาท “แข็ง” ได้ดีกว่า

ผู้อ่านคิดว่าใครควร “ปรับตัว” มากกว่ากัน หากรู้แล้วช่วยบอก “กูรู้” เศรษฐกิจที่ชื่อวีรพงษ์ รามางกูรด้วย




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้