ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย

ข้อเสนอให้เศรษฐกิจไทยกลับไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของหลายๆฝ่ายรวมถึงอดีตนักวิชาการ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมพยายามที่จะ “หยุด” เวลาให้อยู่กับที่โดยไม่แสวงหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมของอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นอยู่ ข้อเสนอล่าสุดของโอฬารที่นำเสนอในงานเสวนาพรรคเพื่อไทยเมื่อเร็วๆ นี้(ตีพิมพ์บางส่วนในกรุงเทพธุรกิจ 20 ต.ค. 53) ให้รัฐโดย ธปท.เข้ามาแทรกแซงกำหนดค่าเงินบาทโดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่แต่กำหนดช่วงการผันผวนหรือ target zone เหมือนเช่นระบบที่เคยใช้มาในอดีต เช่น ดอลลาร์ในช่วง Bretton Woods System (ค.ศ.1946-1973) หรือ ยูโร ใน European Monetary System (ค.ศ.2000 - ปัจจุบัน)

เงินบาทในปัจจุบัน “แข็ง” ค่าเกินไปไม่ “เหมาะสม” ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ใช้อยู่ก็ไม่“เหมาะสม” อะไรคือความ “เหมาะสม” ใช่สิ่งเดียวกับที่นักการเมืองไทยชอบอ้างเพื่อสนับสนุนการกระทำของตนเองหรือไม่

ไม่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนใดที่จะเหมาะสมในทุกช่วงเวลาและกับทุกประเทศ ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์อีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ มีประเทศที่เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับประเทศที่ใช้ระบบแบบคงที่หรือแบบกึ่งกลางที่เรียกโดยทั่วไปว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบมีการจัดการที่มีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ

การฝืนกลไกตลาดโดยการตั้งตัวเป็นพระเจ้าเสียเองเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ก็เปรียบเสมือนการกระโดดออกจากชั้น 10 และหวังว่าจะฝืนแรงโน้มถ่วงโลกได้ ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของค่าบาท “แข็ง” ในปัจจุบัน เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพราะเงินบาทมิได้ “แข็ง” ค่าด้วยส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่เพียงปัจจัยเดียวดังที่หลายฝ่ายพยายามจะโยนความผิดให้ ธปท. ความไม่สมดุลดังกล่าวจึงมีสาเหตุมาจากทั้ง (1) การบริโภคเกินตัวในสหรัฐฯ พร้อมๆ กับ (2) แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งออกของประเทศที่เป็นคู่ค้าและเกินดุลกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี หรือไทย

จริงหรือเปล่าที่ “กูรู้” ทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเก็งรัฐมนตรีคลังตลอดกาลของสื่อมวลชนบอกว่า บาท “แข็ง” เป็นเพราะ ธปท.ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจมหภาค ไม่ยอมตรึงค่าเงินบาทให้ “อ่อน”และ “คงที่” เหมือนที่หลายๆ คนคุ้นเคยมาในอดีต “กูไม่รู้” ทั้งหลายโปรดพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า ใครกันแน่ที่ “ไม่รู้” ข้อเสนอที่ “ง่ายและดูดี” แต่มิได้แก้ปัญหาที่แท้จริงของการปรับสมดุลการขาดดุลคู่แฝดของสหรัฐฯ ในปัจจุบันก็คือ การทำให้เป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ โดยอาศัยการปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างหยวนกับดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการให้ค่าเงินหยวน “แข็ง” ขึ้น

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นเรื่องระหว่างการบริโภคเกินตัวของสหรัฐฯ ในด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งก็คือแนวทางการพัฒนาที่ไม่สมดุลของอีกหลายๆประเทศที่เอาแต่พึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ ความเสี่ยงของโลกจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำเมื่อมีการปรับตัว การบริโภคเกินตัวของสหรัฐฯ และยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศของคู่ค้าไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และอาเซียนที่เน้นบทบาทของการลงทุนและการส่งออกได้ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความไม่สมดุลอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

จริงหรือที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ต้อง “ปรองดอง” นิรโทษกรรม ยอมคนทำผิดให้เป็นคนถูก และจะถอยหลังเมื่อไม่มีโทรศัพท์ระบบ 3G ใช้ ทำไมจึงเข้าใจผิดไปได้ถึงขนาดนี้? เศรษฐกิจไทยในอนาคตจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร พลเมืองเข้มแข็งทั้งหลายควรรู้ข้อเท็จจริงเอาไว้ เพราะแม้แต่คนขายไก่ในปัจจุบันยังรู้เศรษฐกิจมหภาคมากกว่าอดีตนักวิชาการที่เคยเป็นรัฐมนตรีเสียอีก วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เรียกโดยย่อว่าเป็นวิกฤตเงินกู้ของผู้กู้ต่ำกว่าระดับ (subprime crisis) ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้และส่งผลถึงเศรษฐกิจไทยเมื่อปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่ามีที่มาจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก (global imbalance) ที่มีประเทศสหรัฐฯ เป็นตัวการเป็นสำคัญ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้