ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 4 (20/10/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 4 (20/10/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย ตอนที่ 4

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การฝืนกลไกตลาดโดยการตั้งตัวเป็นพระเจ้าเสียเองเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ก็เปรียบเสมือนการกระโดดออกจากชั้น 10 และหวังว่าจะฝืนแรงโน้มถ่วงโลกได้

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของค่าบาท “แข็ง” ในปัจจุบัน เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพราะเงินบาทมิได้ “แข็ง” ค่าด้วยส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่เพียงปัจจัยเดียวดังที่หลายฝ่ายพยายามจะโยนความผิดให้ ธปท. ความไม่สมดุลดังกล่าวจึงมีสาเหตุมาจากทั้ง (1) การบริโภคเกินตัวในสหรัฐฯ พร้อมๆ กับ (2) แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งออกของประเทศที่เป็นคู่ค้าและเกินดุลกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี หรือไทย

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาเงินออมจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการบริโภคเกินตัวของตนเองที่เศรษฐกิจภายในประเทศไม่สามารถสนองตอบได้ แทนที่จะเป็นไปในทางตรงกันข้ามตามทฤษฎีที่เชื่อกันว่าประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาเช่นไทยต่างหากควรจะเป็นเช่นสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

สภาพแวดล้อมที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีข้ามพรมแดนโดยที่กฎระเบียบที่เป็นข้อกีดขวางได้นข้อกีดขวคลายตัวลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น เช่น อินเทอร์เน็ต ทำให้ต้นทุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามประเทศมีราคาถูกลงเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา

การปรับสมดุลให้สหรัฐฯ บริโภคน้อยลงและหาประเทศใดขึ้นมาเป็นตัวแทนสหรัฐฯ ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ของโลกแทนจึงมิใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยข้อเสนอที่ “ง่ายและดูดี” แต่มิได้แก้ปัญหาที่แท้จริงด้วยการทำให้เป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ โดยอาศัยการปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง หยวนกับดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการให้ค่าเงินหยวน “แข็ง” ขึ้น เพราะจีนคงไม่อยากเป็น “แพะ” ดังเช่นที่ญี่ปุ่นเคยเป็นเมื่อทศวรรษที่ 1980-90

เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ที่แม้จะมีศักยภาพและความเหมาะสมมากกว่าจีนในการเป็น “ตัวปรับ” สมดุลของโลกแทนที่สหรัฐฯ เพื่อมิให้เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาถดถอยเมื่อสหรัฐฯ ต้องถอยฉากปรับตัวลดการบริโภคที่เกินตัวลง แต่ฝ่ายการเมืองของประเทศทั้งสองก็ไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจของตนเองแต่อย่างใด การเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลร่วม เช่น ยูโร ที่ตรึงค่าให้คงที่ระหว่างสมาชิก ยิ่งทำให้เยอรมนีมีข้ออ้างมากขึ้นในการไม่เป็น “ตัวปรับ” สมดุลของโลกแทนที่สหรัฐฯ ทั้งในด้านการยอมให้ค่าเงินตนเองให้ “แข็ง” ค่าขึ้นหรือการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อลดการเกินดุลการค้า

การบีบให้จีนยินยอมให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นโดยการสร้างภาพให้เป็นเรื่อง “ทวิภาคี” ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจึงน่าจะเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่าด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเพราะด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏจีนไม่สามารถทดแทนสหรัฐฯ ในการบริโภคของโลกได้

ปัญหาค่าบาท “แข็ง” จึงมิใช่ปัญหาระยะสั้น มิใช่ปัญหาที่จะแก้ได้โดยไทยฝ่ายเดียว หากแต่เป็นปัญหาที่ควรจะใช้ให้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมิให้บิดเบี้ยวโดยพึ่งพาแต่การส่งออกแต่เพียงลำพังอันเป็นที่มาของการฉวยโอกาส “ข่มขู่” ของคนที่เกี่ยวข้อง

วิวาทะเรื่องค่าบาท “แข็ง” ในสังคมไทยได้เปิดเผยถึงตัวตนที่แท้จริงและความโลภที่แต่ละคนมีอยู่อย่างล่อนจ้อนไม่มีอะไรมาปิดบัง

ประเทศไทยได้ออกจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ที่ใช้อยู่มากว่า 2 ทศวรรษเมื่อ 2 ก.ค. 40 ด้วยสาเหตุที่สำคัญก็คือไม่มีเงินทุนสำรองเหลือให้นำไปแทรกแซงค่าเงินบาทให้ “คงที่” กับดอลลาร์สหรัฐอีกต่อไป หากไม่แทรกแซงรับซื้อส่วนเกินหรือขายส่วนขาดให้กับผู้ที่ต้องการดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนก็จะไม่สามารถ “คงที่” ตามที่ต้องการได้ เป็น “มือที่มองเห็น” ดุจเดียวกับนายบ่อนที่ตั้งอัตราต่อรองเอาไว้ หากจะให้อัตราต่อรองของตนศักดิ์สิทธิ์คงที่ก็ต้องรับซื้อรับใช้ไม่จำกัด ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ก็เช่นกันที่รัฐต้องทำตัวเป็นนายบ่อนที่ว่า

ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกประกาศใช้หลังจากเวลานั้นก็คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว สิ่งที่พลเมืองเข้มแข็งควรจะทราบต่อไปก็คือเมื่อเป็นแบบลอยตัว ค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินสกุลอื่นๆ จะถูกกำหนดโดยกลไกตลาดหรือเป็นไปตาม “หัตถ์ของพระเจ้า” ที่เป็น มือที่มองไม่เห็น (invisible hands) เป็นสำคัญ

หากมีดอลลาร์สหรัฐเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบเป็นบาทก็จะมีราคาลดลงหรืออีกนัยหนึ่งก็คือเงินบาทมีค่า “แข็ง” ขึ้นเพราะมีจำนวนดอลลาร์สหรัฐในตลาดมากขึ้นนั่นเอง ความผันผวนในราคาของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหรือที่เรียกว่าอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีมากกว่าเมื่อเทียบกับระบบแบบคงที่ ค่าบาทจะ “แข็ง” มากหรือน้อยขึ้นเร็วหรือช้าอยู่กับว่ามีดอลลาร์สหรัฐเข้าออกประเทศไทยมากน้อยและรวดเร็วเพียงใด

การแทรกแซงและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นประเด็นสำคัญ ประเทศไทยจึงต้องเลือกระหว่าง “มือที่มองเห็น” กับ “มือที่มองไม่เห็น” ในการเข้ามาแทรกแซงกำหนดค่าอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แต่หากมีการแทรกแซงด้วย “มือที่มองเห็น” อยู่เป็นประจำภายใต้ข้ออ้างของการลดความผันผวน ความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทยประกาศใช้ก็จะเสื่อมลงเพราะประกาศอย่างทำอย่าง

สิ่งสำคัญที่จะติดตามมาจากการเข้าแทรกแซงก็คือผลกำไรหรือขาดทุนจากการแทรกแซงซึ่งเป็นสิ่งที่ “มือที่มองเห็น” ไม่อยากทำเพราะฝ่ายการเมืองส่วนใหญ่จะไม่เข้ามารับผิดชอบเมื่อเกิดเป็นปัญหาดังเช่นกรณี เริงชัยกับอำนวย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 ถึงต้นปี พ.ศ. 2540 จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ว่า ธปท.เพียงคนเดียวจะสามารถทำความเสียหายได้สูงขนาดแสนล้านบาทโดยที่รัฐมนตรีที่ดูแลไม่รู้เห็นและไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเป็น “ธง” ในการดำเนินนโยบายการเงินในขณะที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวในสภาพแวดล้อมของการเคลื่อนย้ายเงินข้ามประเทศได้อย่างเสรีจึงเป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องทำให้สอดคล้องกัน

วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้สอนบทเรียนที่แสนจะเจ็บปวดให้กับคนไทยทุกคนแล้วว่า หากจะเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนโดยเสรีแล้วไซร้ นโยบายที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามไปด้วยกันก็คือต้องเลือกระหว่างระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่กับอำนาจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หากจะเลือกแสดงอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจให้เห็นเป็นประจักษ์โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศได้เอง อัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องปล่อยให้เป็นแบบลอยตัว

จะเลือกทั้ง 3 อย่างคือเงินทุนเคลื่อนย้ายได้โดยเสรี คงที่อัตราแลกเปลี่ยนและกำหนดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศไปพร้อมกันนั้นทำไม่ได้ เพราะเงินทุนที่ไหลเข้าออกโดยเสรีจะทำให้ทางการเข้ามาแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ได้ยากเพราะฝืนธรรมชาติและใช้ต้นทุนสูง ยิ่งกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่โดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากเท่าใดก็เปรียบเสมือนทำตัวฝืนแรงดึงดูดของโลก ทำให้ต้นทุนในการแทรกแซงมีมากและในที่สุดก็ไม่สามารถฝืนธรรมชาติหรือกลไกตลาดได้ ประสบการณ์เมื่อคราววิกฤตเมื่อปี พ.ศ. 2540 น่าจะสอนให้รู้ว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่สามารถถูกนำมาแทรกแซงจนหมดได้โดยง่าย เพราะอะไรที่บิดเบือนไม่เป็นไปตามธรรมชาติก็จะอยู่ได้ไม่นาน

ข้อเสนอการกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จึงไม่เหมาะสมในสภาพทางเศรษฐกิจปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การโยกย้ายเงินทุนโดยเสรีข้ามประเทศ และทางการต้องการอำนาจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย จะต้องให้ ธปท.เอาเงินของคนไทยทุกคนมาแทรกแซงช่วยคนกลุ่มเดียวได้อย่างไรเพราะมีหลายคนอาจมิได้เกี่ยวข้องกับการส่งออก

ในทำนองเดียวกันการมุ่งเน้นลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเคลื่อนย้ายเงินทุนก็เป็นการแสดงความเห็นแก่ตัวของบรรดานักอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่อ้างรายเล็ก เช่น SME บังหน้าเพราะรายใหญ่ได้ประโยชน์จากการเพิ่มลดดอกเบี้ยมากกว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีอยู่นั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการชดเชยความเสี่ยงในการลงทุน นอกจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ซ่อนเอาไว้จะทึกทักให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเท่ากับไทยได้อย่างไร แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือการกดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้ามากเกินทำให้บาท “แข็ง” จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดปัญหาคนไม่ต้องการออมเนื่องจากผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อซึ่งเป็นผลเสียต่อส่วนรวมในเชิงโครงสร้างมากกว่าผลได้ของคนบางกลุ่ม

แม้เงินเฟ้อจะต่ำในขณะนี้ แต่เป้าหมายเงินเฟ้อก็ยังเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมกว่าเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเพราะการคงดอกเบี้ยเพื่อรักษาเงินเฟ้อมีผลต่อส่วนรวม ต่างกับการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าบาท “อ่อน” ที่มีทั้งคนได้คนเสียใกล้เคียงกันหากทำสำเร็จ แต่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของปัจเจกชนมิใช่หรือที่จะต้องดูแลปกป้องตนเอง

ประเด็นวิวาทะเรื่องการแทรกแซงและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจึงอยู่ที่การผลักภาระความรับผิดชอบในการดูแลตนเองของปัจเจกชนมาให้รัฐดูแลโดยใช้เงินส่วนรวม

ค่าเงินบาทจะ “แข็ง” หรือ “อ่อน” ประเด็นปัญหาของปัจเจกชนอยู่ที่ currency mismatch หรือการมีรายรับกับรายจ่ายในเงินต่างสกุลกัน ซึ่งสามารถแก้ไขได้แต่มีต้นทุน เอกชนบางกลุ่มจึงพยายามผลักมาให้คนไทยทุกคนร่วมรับภาระด้วยภายใต้ข้ออ้างต่างๆ นานา ดังนั้น จึงมีเหตุผลสมควรหรือไม่ที่ต้องเอาเงินของส่วนรวมไปใช้เพื่อใครบางคน?

เช่นเดียวกับความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนที่เอกชนบางกลุ่มพยายามโยงให้คนในสังคมเข้ามาร่วมรับภาระในการแทรกแซงให้ขึ้นลงอย่างช้าๆ ซึ่งผิดธรรมชาติ หากเป็นสินค้าที่พวกเขาขายอยู่หรือเป็นราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หากมีใครพยายามจะแทรกแซงให้ขึ้นราคาช้าๆ เจ้าของสินค้าหรือหุ้นเหล่านั้นจะยอมหรือไม่?

เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ในด้านหนึ่งหลายฝ่ายต่างพอใจและประโคมข่าวเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยที่เติบโตสูงได้เพราะส่งออกได้มาก แต่เมื่อถึงเวลาที่จะอยู่กับความสำเร็จกลับประพฤติตนในทางตรงกันข้าม ยังเรียกร้องให้มีการ “อุ้ม” หรือ “แทรกแซง” อัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ทั้งที่มีต้นทุนสูงและยากที่จะกระทำเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ตกลงแล้วนี่เป็นความสำเร็จหรือความแข็งแกร่งที่ “จอมปลอม” ใช่หรือไม่?

อัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นดังเช่นราคาน้ำมันที่มักถูกนำมาเป็นสินค้าทางการเมืองให้มี “มือที่มองเห็น” เข้ามาแทรกแซงฝืนธรรมชาติของมันทั้งที่รู้อยู่ว่ามีต้นทุนและจะไม่ประสบความสำเร็จแทนที่จะให้ “มือที่มองไม่เห็น” เข้ามาจัดการแทน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พลเมืองเข้มแข็งควรจะเรียนรู้ อย่าให้นักการเมือง นักวิชาการ หรือใครก็ตามแต่มาทำตัวเป็นพระเจ้าหลอกลวงท่านอีกต่อไป






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้